ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ปรับ “โตโต้” และพวกคนละ 2,100 ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารเมียนมาปี 64

วันที่ 22 เม.ย. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครใต้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีชุมนุม #StandWithMyanmar หน้าสถานเอกอัครทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาธรเหนือ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ของ 3 นักกิจกรรมคือ ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ, ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 

คดีนี้ทั้งสามคนถูกกล่าวหาใน 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว และได้ใช้เครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งบนรถกระบะกล่าวปราศรัยกับผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน 

ในวันดังกล่าวยังมีการสลายการชุมนุมและการจับกุมผู้ชุมนุม หลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนได้พยายามเดินเข้ายึดพื้นที่บนถนนในช่วงท้ายของการชุมนุม

ต่อมา อัยการยื่นฟ้องคดีเมื่อเดือนมกราคม 2565 และศาลแขวงพระนครใต้นัดสืบพยานทั้งหมด 4 นัด ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ก่อนมีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 30 ม.ค 2566 โดยวินิจฉัยว่า บริเวณที่ชุมนุมไม่ใช่สถานที่แออัด และเป็นการแสดงออกทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อีกทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

.

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 9 ศาลออกพิจารณาคดีในเวลา 11.00 น. โดยเริ่มอ่านคำพิพากษามีสาระสำคัญโดยสรุปว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามคนตามฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ 3 ประเด็น ดังนี้

1.จำเลยฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือไม่

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงปรากฏตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่าการชุมนุมเกิดขึ้นบริเวณถนนหน้าสถานทูตเมียนมา ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณทางเท้าปิดช่องทางจราจร 1 ช่องทาง แต่ยังเหลืออีก 2 ช่องทางให้สัญจรได้ บริเวณดังกล่าวเป็นที่เปิดโล่ง ผู้ชุมนุมเว้นระยะห่างพอสมควร สถานที่ชุมนุมจึงไม่แออัด

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วเห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า มีการชุมนุมบริเวณช่องทางสัญจรหน้าสถานทูตเมียนมา โดยผู้ชุมนุมกว่า 200 คน ปิดช่องทางการจราจร 1 ช่องทาง เพื่อปักหลักชุมนุม โดยมีโตโต้ หรือ จำเลยที่ 1 เป็นแนวหน้าขึ้นปราศรัย จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นแนวร่วมในการปราศรัยพร้อมกับผู้ชุมนุมชาวเมียนมา ในการต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมา

จากคำเบิกความของพยานโจทก์รับฟังได้ว่า การชุมนุมของจำเลยเป็นการปิดเส้นทางจราจร ทำให้การสัญจรทางสาธารณะติดขัด ไม่สามารถสัญจรได้ แม้เจ้าหน้าที่จะขอให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยทั้งสามและผู้ชุมนุมยังยืนยันที่จะชุมนุมต่อไป

แม้จำเลยจะเบิกความว่า สถานที่ชุมนุมไม่เป็นที่แออัด เป็นสถานที่เปิดโล่ง และผู้ชุมนุมก็ได้กระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณหน้าสถานทูต แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ แม้การชุมนุมจะอยู่ในที่โล่งแจ้ง แต่มีผู้ชุมนุมราว 200 คน โดยไม่มีจุดคัดกรอง ตรวจโรค หรือจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ ทั้งยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนไม่สวมหน้ากากอนามัย และจำเลยที่ 1 ก็ได้ปราศรัยโดยไม่สวมหน้ากาก ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว กรุงเทพฯ จัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่โรคระบาด และเป็นพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรมมั่วสุมใด ๆ ในที่สาธารณะ

2. การกระทำของจำเลยเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนมาชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การมีข้อเรียกร้องให้ต่อต้านการรัฐประหารเป็นการแสดงออกทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย และจำเลยทั้งสามไม่อยู่ในที่เกิดเหตุตอนสลายการชุมนุม จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่น

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยวินิจฉัยแล้วเห็นว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะผ่านเพจ We Volunteer ซึ่งจำเลยเป็นแกนนำกลุ่ม ทั้งในการชุมนุม จำเลยได้กล่าวปราศรัยว่าจะดูแลรับผิดชอบผู้ชุมนุมชาวเมียนมาที่มาร่วมชุมนุมในพื้นที่เดียวกัน

แม้จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยทั้ง 3 คนเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่การเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยทั้งสามก็เป็นการเชิญชวนให้ชาวเมียนมาเข้าร่วมชุมนุม อันทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่สาธารณะ

ส่วนที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า การชุมนุมในคดีนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเบิกความยืนยันว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่การใช้เสรีภาพก็ต้องไม่เบียดเบียนเสรีภาพของผู้อื่น และไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพละเมิดกฎหมายได้ 

และที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความว่า มีการประกาศแจ้งให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยและพวกไม่ยอมยุติการชุมนุม อันเป็นเหตุให้ต้องมีการเข้าสลายการชุมนุมเพื่อความสงบเรียบร้อย เชื่อว่าพยานโจทก์ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน คำเบิกความของโจทก์มีน้ำหนักเชื่อถือได้

3. จำเลยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ 

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสามได้ใช้เครื่องขยายเสียงในการปราศรัย แม้จำเลยจะเบิกความว่าไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องขยายเสียง แต่บริเวณที่จำเลยกับพวกขึ้นปราศรัยก็อยู่บนรถกระบะซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ

ทั้งการใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต โดยไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมได้เข้าไปขออนุญาตเพื่อใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุมแต่อย่างใด

พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 3,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับคนละ 2,000 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เปลี่ยนโทษปรับอาญาเป็นปรับพินัย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับพินัย พ.ศ.2565 คนละ 100 บาท รวมปรับคนละ 2,100 บาท

X