นิทานปลาดาวและการปรับตัวของ “วิจิตร” ผู้ต้องขังคดี พ.ร.บ.คอมฯ หลังถูกย้ายไปเรือนจำคลองเปรม

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2568 และ 11 เม.ย. 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม “วิจิตร” ผู้ต้องขังทางการเมืองผู้เผชิญข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) รวม 10 กรรม จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กพร้อมภาพประกอบทั้งสิ้น 10 โพสต์ ในช่วงปี 2557-2558 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารในขณะนั้น และมีบางโพสต์พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์

ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2568 ศาลอาญาพิพากษาว่าวิจิตรมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 10 กรรม เป็นจำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนที่วิจิตรจะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำโดยไม่ได้รับประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ 

ก่อนเข้าเรือนจำ วิจิตรเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำงานธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง การที่เขาถูกจองจำทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอยู่และอนาคตของคนในครอบครัว นอกจากนี้เขายังกังวลถึงลูกจ้างและครอบครัวของพวกเขาที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่เขาถูกคุมขังอีกด้วย 

จากวันแรกที่ใบหน้าดูความสับสน สู่วันที่เขาพยายามยืนหยัดหลังถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปที่เรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา  วิจิตรพยายามนำประสบการณ์บวชเณรและเดินธุดงค์ในอดีตมาเป็นเกราะป้องกันความทุกข์ยากที่เขากำลังเผชิญ 

การพบกับวิจิตรไม่เพียงเผยให้เห็นชีวิตยากลำบากในเรือนจำ แต่ยังสะท้อนพลังผ่านถ้อยคำเชิงปรัชญาและนิทานปลาดาวที่วิจิตรใช้ปลอบประโลมผู้ต้องขังคนอื่น เขาบอกให้เพื่อนผู้ต้องขังมองเห็นคุณค่าของปัจจุบันขณะ แทนที่จะจมปลักอยู่กับภาพอนาคตที่ไม่อาจมองเห็น 

ดั่งคำกล่าวท้าย ๆ ของบทสนทนา “แม้ผมจะอยู่ในเรือนจำ แต่ผมจะขอต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ ชีวิตของผมมีค่าเท่าธุลีดิน ผมจะยังคงต่อสู้จนตราบธุลีดิน” 

___________________________________________

25 มี.ค. 2568 

ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แดน 2 ทนายความพร้อมกับภรรยาของวิจิตรได้เข้าเยี่ยมเยียนเขาเป็นครั้งแรกหลังถูกคุมขัง  

ภาพแรกที่เห็นคือร่างของชายผู้สวมชุดนักโทษสีฟ้านั่งรออยู่ แต่กลับตัดกันอย่างน่าประหลาดกับใบหน้าที่ซีดเซียว ภรรยาเขาสังเกตผมที่ถูกตัดสั้นเกรียนทำให้เห็นใบหน้าที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง วิจิตรฉายแววสับสนและกังวล ก่อนกวักมือเรียกให้ไปนั่งที่โซนโทรศัพท์ แล้วชี้ให้ยกหูโทรศัพท์เพื่อสนทนากัน ม่านกระจกใสกั้นระหว่างคนสองฝั่งอย่างเด็ดขาด 

เมื่อเริ่มถามถึงความเป็นอยู่  วิจิตรนิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ “ผมยังไม่คุ้นชินครับ แล้วก็นอนไม่หลับด้วย เพราะเจ้าหน้าที่เปิดไฟตลอดเวลา” เขาเล่าต่อว่า “อีกทั้งช่วงที่ผมเข้ามาแรก ๆ ผมได้นอนบริเวณที่มีพัดลมพัด พัดลมไม่ได้สะอาดขนาดนั้น พอผมนอนไปฝุ่นต่าง ๆ จากพัดลมตกลงมา บวกกับสภาพอากาศ ทำให้ผมเป็นไข้ครับ”

ในวันที่เขาป่วยหนัก วิจิตรได้รับยาทันทีโดยไม่ต้องลงทะเบียน แต่พออาการเริ่มดีขึ้น การขอยาก็กลับสู่ขั้นตอนปกติที่ต้องรอ 1-2 วัน กว่าจะได้รับยา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนนอกเรือนจำมักไม่เข้าใจถึงความยากลำบากในการเข้าถึงสิ่งพื้นฐานที่สุดอย่างยารักษาโรค 

เมื่อพูดถึงเรื่องอาหาร ใบหน้าของวิจิตรดูผ่อนคลายลงเล็กน้อย “อาหารที่ได้ทานไม่มีรสชาติครับ แต่ก็ยังพอทานได้บ้าง” เขาเล่าพร้อมกับยิ้มบาง ๆ  “แล้วก็โชคดีครับที่คนจากข้างนอกช่วยซื้อเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงซื้ออาหาร และของทานเล่นมาให้ สิ่งเหล่านี้ช่วยได้เยอะเลยครับ ฝากขอบคุณด้วยครับ”

ในขณะที่สนทนากัน ความกังวลยังคงปรากฏชัดในแววตาของเขา วิจิตรเป็นเสาหลักของครอบครัว และเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของตนเอง โดยเฉพาะการสร้างโบสถ์วิหารให้วัด ความรับผิดชอบเหล่านี้กลายเป็นสิ่งบีบรัดจิตใจเขาไว้ แม้ในยามที่ร่างกายถูกจองจำ 

“ความกังวลของผมในขณะนี้ก็มีอยู่ 2 เรื่องครับ คือครอบครัว และธุรกิจครับ ผมมีหน้าที่ หรือเป็นเสาหลักในการดูแลทั้ง 2 เรื่องนี้ครับ และโดยเฉพาะในเรื่องธุรกิจ ผมเป็นตัวหลักในการดำเนินการ”

วิจิตรอธิบายว่าเขาเป็นผู้ติดต่อประสานงาน พูดคุยกับลูกค้า รวมถึงออกแบบต่าง ๆ แม้จะมีหุ้นส่วน แต่หุ้นส่วนก็มีเพียงหน้าที่ดำเนินเอกสารเท่านั้น ความวิตกกังวลของเขาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ครอบครัวตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงครอบครัวของลูกจ้างคนอื่น ๆ ที่ทำงานกับเขาด้วย

“หากมีการยื่นประกันตัวอีกครั้ง ผมสามารถยอมรับได้ทุกเงื่อนไขครับ” เขากล่าวทิ้งท้ายก่อนที่เวลาเยี่ยมจะหมดลง 

.

11 เม.ย. 2568 

หลังทราบข่าวการถูกย้ายเรือนจำของวิจิตร ทนายโทรไปสอบถามทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้รับความชัดเจนในเรื่องนี้ จึงตัดสินใจเดินทางมาเรือนจำกลางคลองเปรมเพื่อตรวจสอบด้วยตัวเอง เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ยื่นเอกสารใบรายชื่อให้ตรวจสอบ ใบรายชื่อดังกล่าวมีผู้ต้องขังถูกย้ายมาพร้อมวิจิตรจำนวน 50 คน การย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำหนึ่งไปอีกเรือนจำหนึ่งมักเกิดขึ้นเงียบ ๆ ไร้การประกาศล่วงหน้า เหมือนกับว่าพวกเขาเป็นเพียงตัวเลขที่ถูกเคลื่อนย้ายไปมาในระบบ

วันนี้ใช้เวลารอเยี่ยมค่อนข้างนาน กว่าหนึ่งชั่วโมงผ่านไป ในที่สุดวิจิตรก็ปรากฏตัวในห้องเยี่ยม สิ่งที่เห็นเป็นภาพที่แตกต่างจากการเยี่ยมครั้งก่อน วิจิตรในวันนี้สวมเสื้อสีฟ้าและกางเกงขาสั้นสีกรม แต่ที่น่าประหลาดใจคือสีหน้าของเขาที่เปลี่ยนไป ไม่มีอาการกังวลสับสนเหมือนครั้งก่อน แต่กลับมีสีหน้าแววตาที่บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นแน่วแน่มากขึ้น

วิจิตรแจ้งว่าเขาถูกนำตัวมาถึงที่เรือนจำคลองเปรมในวันที่ 9 เม.ย. 2568   “ตอนประมาณเที่ยง ๆ ก็มีการประกาศรายชื่อว่าจะถูกย้าย ผมหยิบของส่วนตัวมาทันอยู่ครับ ยกเว้นแค่ผ้าขนหนูที่ผมลืมหยิบไปด้วย”

เมื่อถามถึงความเป็นอยู่ที่เรือนจำแห่งใหม่ วิจิตรกลับตอบด้วยน้ำเสียงมีชีวิตชีวาว่า “ตอนที่ถูกย้ายมาที่เรือนจำนี้ ผมไม่มีความกังวลใด ผู้คุม เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ให้คำแนะนำดีเลย และรสชาติอาหารของที่นี่ก็ดีกว่าที่เดิมด้วยครับ”

แม้สภาพความเป็นอยู่จะดีขึ้น แต่ในความรู้สึกลึก ๆ วิจิตรยังแฝงไว้ด้วยความห่วงใยต่อครอบครัว “ถึงอย่างนั้นผมก็ยังคงมีความเป็นห่วงคนในครอบครัวครับ และฝากบอกพวกเขาด้วยครับว่ากำลังใจพ่อดีมาก พ่อเข้มแข็ง อย่าได้เป็นกังวล” ก่อนจะกล่าวว่า “ในเรื่องงานผมเชื่อว่าลูกน้องผมไว้ใจได้ครับ เขาสามารถรับช่วงต่อ และจะทำได้ดีครับ”

ระหว่างการสนทนา วิจิตรมีอาการไอเล็กน้อย ซึ่งเขาบอกว่าเป็นมาตั้งแต่ย้ายเรือนจำ ไม่ได้รุนแรงมากนัก และอาจจะทุเลาลงได้หากมียาอมบรรเทาอาการ

ผู้ต้องขังที่ถูกจองจำมักจะมีการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน บางคนอาจจมดิ่งลงไปในความทุกข์ แต่บางคนกลับพบความแข็งแกร่งในจิตใจที่ไม่เคยรู้มาก่อน สำหรับวิจิตรแล้ว เขาเลือกที่จะมองสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่มุมที่แตกต่างออกไป 

“การอยู่ในเรือนจำสำหรับผมนั้น ผมอยู่ได้ครับ เพราะในวัยเด็กนั้น ผมลำบากกว่านี้อีกครับ” วิจิตรเล่าด้วยท่าทีที่สงบ “ผมบวชมาตั้งแต่เด็กครับ บวชเป็นเณรประมาณ 3 พรรษา จากนั้นอีก 10 พรรษา ผมเดินธุดงค์ในป่า และในหลาย ๆ ครั้ง ผมไม่ได้ฉันข้าวหลายวัน ตอนนั้นผมยังอยู่ได้ เลยมองว่าไม่ลำบากเลยครับ”

ที่เรือนจำกลางคลองเปรม วิจิตรต้องอยู่ในแดนกักตัวเป็นเวลาหนึ่งก่อนที่จะถูกจำแนกไปยังแดนอื่น สภาพห้องนอนที่เขาได้พักอาศัยเป็นห้องรวมที่มีผู้ต้องขัง 25 คน ซึ่งเขาบอกว่าไม่แออัดเท่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ “เจ้าหน้าที่ให้ผ้า 3 ผืน ผมก็ใช้ผ้าผืนแรกปูกับพื้น ผืนที่ 2 ทำเป็นหมอน และผืนที่ 3 ไว้ห่มครับ” 

ชีวิตข้างในวิจิตรไม่เพียงแต่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ แต่เขายังกลายเป็นผู้ให้กำลังใจผู้ต้องขังคนอื่น ๆ อีกด้วย “ผมมาอยู่ที่นี่ผมต้องคอยปลอบใจผู้ต้องขังอื่น ๆ ครับ โดยยกเรื่องของพระอาจารย์ตะวัน ปัญญาวัฒฑโกพูดเพื่อให้เขาเข้าใจชีวิต”

วิจิตรเล่าเรื่องนิทานปลาดาวที่ครูบาตะวันที่เคยเป็นเชฟทำงานที่เกาะหลีเป๊ะ เล่าเปรียบเปรยว่า วันหนึ่งครูบาได้พบปลาดาวจำนวนมากเกยตื้นรอบชายหาด จึงพยายามช่วยเก็บปลาดาวโยนกลับลงทะเลทีละตัว แม้มีคนจะทักท้วงว่าปลาดาวเต็มหาดไปหมด ไม่มีวันเก็บได้หมด แต่ครูบาตะวันกลับตอบว่าการช่วยปลาดาวตรงหน้าแม้เพียงตัวเดียว ก็ทำให้ปลาดาวตัวนั้นมีชีวิตต่อ และจะเติบโตเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อไป

“ดังนั้นในตอนนี้ชีวิตของเรากำลังคือปลาดาวตรงหน้าตัวนี้ อย่าเพิ่งไปคิดว่าอีกกี่ปีถึงจะออกจากเรือนจำ อย่างน้อยต้องใช้ชีวิตในตอนนี้ไปก่อน และเมื่อถึงเวลาหนึ่งเราก็จะได้ออกไปเฉกเช่นปลาดาวตรงหน้า”  วิจิตรกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นขึ้น

ก่อนที่เวลาเยี่ยมจะหมดลง วิจิตรได้ทิ้งคำพูดสุดท้ายไว้  “แม้ผมจะอยู่ในเรือนจำ แต่ผมจะขอต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ ชีวิตของผมมีค่าเท่าธุลีดิน ผมจะยังคงต่อสู้จนตราบธุลีดิน”

จนถึงปัจจุบัน (20 เม.ย. 2568) วิจิตรถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์มาแล้ว 34 วัน 

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

“วิจิตร”: เมื่อเด็กชายในสงครามคอมมิวนิสต์ ผู้สร้างโบสถ์วิหาร ต้องเผชิญคดีการเมือง

X