อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง คดี “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – ชุมนุมมั่วสุมฯ” นักกิจกรรมและปชช. 9 ราย เหตุร่วม #ม็อบ18กรกฎา64 ชี้เป็นเสรีภาพตาม รธน.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุด ในคดีของนักกิจกรรมและประชาชนรวม 9 คน กรณีชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต หรือ #ม็อบ18กรกฎา เพื่อรำลึกครบรอบ 1 ปี การเริ่มชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ซึ่งมีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง, ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์และกองทัพเพื่อนำมาสู้โควิด และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA

ผู้ต้องหาทั้ง 9 คนที่อัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว, อรรถพล บัวพัฒน์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ธนกร (สงวนนามสกุล), เมทนี (สงวนนามสกุล), ใบบุญ (สงวนนามสกุล), เอกชัย หงส์กังวาน, กรกช แสงเย็นพันธ์ และ ชาญชัย ปุสรังสี 

ช่วงปลายปี 2564 พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย รอง ผกก. (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เป็นผู้ทยอยแจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โดยคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, มาตรา 216, ร่วมกันกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, ร่วมกันกองวัตถุใด ๆ บนพื้นถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ต่อมาคดีค้างคาในชั้นสอบสวนอยู่กว่า 3 ปีเศษ โดยก่อนหน้านี้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิตได้มีความเห็นไม่ฟ้องคดี แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นแย้ง เห็นว่าควรสั่งฟ้องคดี สำนวนจึงถูกส่งไปที่อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาด 

ล่าสุดพนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิต ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุด ลงวันที่ 1 เม.ย. 2568 ระบุโดยสรุปว่า อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การนัดหมายด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กชื่อเพจ “เยาวชนปลดแอก – Free Youth” ให้ไปชุมนุมรวมตัวกันในวันเกิดเหตุ มีข้อเรียกร้อง 3 ประเด็น คือ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก, ปรับลดงบสถาบันฯ และกองทัพสู้โควิด และเปลี่ยนวัคซีนเจ้าสัว CP เป็น mRNA แม้จะเป็นการนัดหมายชุมนุมเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องของผู้ร่วมชุมนุมผ่านทางการทำกิจกรรมรวมกลุ่มโดยทั่วไปเท่านั้น พฤติการณ์ยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่า เป็นการนัดหมายให้ไปมั่วสุมเพื่อกระทำการในทางที่ไม่ดีหรือเป็ยการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุ พบว่ามีมวลชนรวมกลุ่มเข้าร่วมชุมนุมช่วงแรกประมาณ 200 คน และเพิ่มจำนวนมากขึ้นประมาณ 900 คน มีการปราศรัยบนรถยนต์โจมตีรัฐบาลและมีการเผาหุ่นฟางบนถนนเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องของผู้ร่วมชุมนุมผ่านทางการทำกิจกรรมการรวมกลุ่มโดยทั่วไป 

จากภาพถ่ายเหตุการณ์ชุมนุมพบว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก มีพื้นที่ว่างให้บุคคลสามารถยืนโดยเว้นระยะห่างมากเพียงพอ ผู้ชุมนุมสามารถเคลื่อนไหวได้โดยอิสระ สถานที่ชุมนุมจึงไม่มีสภาพเป็นสถานที่แออัด 

แม้ในระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาลจะมีกลุ่มการ์ดปาพลุควันสีและขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พังแนวกั้นลวดหนามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการกระทำต่อเนื่องโดยการโยนสิ่งของ ยิงพลุใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และจุดไฟเผากองขยะ และก่อนที่จะเกิดความวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศและแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ตาม 

แต่คดีไม่มีประจักษ์พยาน ทั้งไม่ปรากฏภาพจากกล้องวงจรปิดหรือภาพถ่าย ยืนยันได้ว่า ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน เป็นบุคคลที่ใช้กำลังประทุษร้ายดังกล่าว หรืออยู่ด้วยในเหตุการณ์ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายดังกล่าว แต่ก็ปรากฏเพียงภาพผู้ต้องหาทั้ง 9 คน อยู่ในบริเวณสถานที่ชุมนุมในขณะยังไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น คงรับฟังได้เพียงว่าผู้ต้องหาทั้ง 9 คนได้เข้ามาร่วมชุมนุมตามวันเวลาเกิดเหตุเท่านั้น

เมื่อไม่ปรากฏผู้ต้องหาทั้ง 9 คนมีอาวุธ หรือมีการบุกรุกสถานที่ราชการ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริง ภาพถ่ายหรือพยานหลักฐานยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ได้ร่วมกันวางแผนหรือคบคิด กระทำการใด ๆ ในสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งใด ๆ จึงต้องถือว่าเป็นการเข้าร่วมชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับให้การรับรองตลอดมา คดีจึงไม่มีพยานหลักฐานพอฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 คน

อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดที่ลงนามในคำสั่ง ได้แก่ พ.ต.ท.ธรรมปพนธ์ วงศ์ชนะภัยพาล 

ทั้งนี้ คดีจากการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา64 นั้น ยังมีผู้ถูกกล่าวหาอีก 4 ราย ได้แก่ ปิยรัฐ จงเทพ, ชาติชาย แกดำ, พรหมศร วีระธรรมจารี และ อรุณวิชญ์ ศิระบริบูรณ์พร ซึ่งนอกจากถูกแจ้งข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกับนักกิจกรรมและประชาชน 9 ราย ในคดีข้างต้นแล้ว ยังถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 215 วรรคสาม เรื่องการเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าอำนาจของศาลแขวง ทำให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลอาญา และสำนวนคดีถูกส่งไปที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา โดยยังไม่ได้มีคำสั่งในคดีแต่อย่างใด

โดยภาพรวม มีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 71 คดี แต่ก็มีคดีจำนวนมากที่อัยการสั่งฟ้องต่อศาล โดยแนวโน้มคดีที่ต่อสู้ในชั้นศาล ศาลก็มีแนวโน้มจะยกฟ้องมากกว่าเห็นว่ามีความผิด

X