เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2568 ที่ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานเสวนา “ขนนกบนตราชู : บทบาททนายความในการปกป้องสิทธิมนุษยชน” โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ร่วมกับ โครงการห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 4 LawLAB for Human Rights 4: Arbitrary Detention โดยมีนิสิตจุฬาฯ และประชาชนเข้าร่วมฟังเสวนาราว 50 คน
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ทนายความฯ, จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความเครือข่าย ศูนย์ทนายความฯ, และ ธัญมน รามัญจิตต์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ระหว่างประเทศ ศูนย์ทนายความฯ โดยมี ผศ.ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
“ขนนกบนตราชู” เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่รวบรวมบทสัมภาษณ์ 10 ทนายความที่ทำงานคดีด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิต ประสบการณ์ และมุมมองด้านต่าง ๆ ของการทำงานด้านกฎหมายเพื่อความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย โดยเยาวลักษ์และจันทร์จิราเป็น 2 ใน 10 ทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีบทสัมภาษณ์ในหนังสือ
งานเสวนาในครั้งนี้ นอกจากเป็นการแนะนำและส่งต่อหนังสือ “ขนนกบนตราชู” ให้สถาบันการศึกษาแล้ว ยังเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านงานสิทธิมนุษยชน ดังเช่นที่ ผศ.ดร.ภาวัฒน์ สัตยานุรักษ์ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดเวทีเสวนาไว้ว่า งานเสวนาในวันนี้ มีเป้าหมายหลักอยู่ 2 ประการ
ประการที่หนึ่ง สร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ โดยประเด็นที่มาร่วมพูดคุยกันเกิดจากคำถามสำคัญว่าในปัจจุบันการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Expression) ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย กำลังเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ซึ่งเป็นแนวหน้าหรือหน้าด่านในการเรียกร้องความเป็นธรรมที่เผชิญกับการดำเนินคดีเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี
“ในฐานะนักกฎหมาย เราไม่เป็นเพียงแต่เป็นตัวแทนของผู้รับบริการทางกฎหมายเท่านั้น แต่เรายังต้องทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์หลักนิติธรรมและความยุติธรรมซึ่งเป็นคุณค่าสากล”
ประการที่สอง เพื่อเปิดตัวโครงการห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชนหรือ LawLAB for Human Rights ซึ่งเป็นโครงการห้องปฏิบัติการทางกฎหมาย เป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ เพื่อเพิ่มความชำนาญให้กับอาจารย์ และช่วยเพิ่มความรู้และทักษะให้กับนิสิตที่เข้าร่วมในโครงการนี้ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของสังคมและฝึกให้นิสิตได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของคณะนิติศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เราหวังว่างานเสวนานี้จะไม่เป็นเพียงจุดประเด็นคำถามทางกฎหมาย แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกให้ฝังรากเข้าไปในหลักและกระบวนการคิดของนักกฎหมาย”
.
เพราะสิทธิเสรีภาพตกต่ำ จึงต้องมีทนายความสิทธิมนุษยชน
เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ทนายความฯ เล่าจุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนไว้ว่า ในสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เธอเป็นนักกิจกรรมทำค่ายอาสา และเป็นคนในยุคพฤษภาทมิฬ “พอเราทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของขบวนการนักศึกษา ในสมัยยุค 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 เรามีรุ่นพี่เรียนรู้และถ่ายทอดเจตจำนงที่จะจบมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน”
เมื่อจบจากรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง เยาวลักษ์ได้มีโอกาสไปทำวิจัยกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ และอาจารย์วิระดา สมสวัสดิ์ ซึ่งเป็นอาจารย์กฎหมายด้านผู้หญิง ทำให้เธอรู้สึกว่าอยากเป็นทนายความ จึงกลายเป็นนักกฎหมายซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นทนายความที่มูลนิธิเพื่อนหญิง โดยทำคดีด้านผู้หญิง เช่น ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence), รุมโทรม (Gang Rape), ค้ามนุษย์หญิงบริการ หรือคดีผู้หญิงฆ่าสามี
ต่อมาเยาวลักษ์ได้เบนเข็มไปทำคดีธุรกิจเพื่อสร้างเม็ดเงิน การทำงานที่สำนักงานกฎหมาย (Law Office) ทำให้เธอมีเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่เธอค้นพบว่าคดีธุรกิจไม่ตอบความต้องการและไม่ใช่ชีวิตของเธอ เธอจึงออกมาจากสำนักงานกฎหมายเพื่อเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนเต็มตัว โดยกลับเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับมูลนิธิเพื่อนหญิง
ในห้วงเวลานั้น เยาวลักษ์ได้มีโอกาสทำคดีผู้ลี้ภัยให้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งทำให้เธอรู้สึกสนุกและตอบสนองต่อความต้องการ
ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬช่วงปี 2535 – 2540 รัฐธรรมนูญปี 2540 ส่งเสริมให้เกิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายจำนวนมากเพื่อรองรับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“เราจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญมีชีวิต บทบาทหนึ่งคือทนายความทำให้มันมีชีวิต” ในตอนนั้นเยาวลักษ์ได้เข้าไปเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความและเดินทางให้ความรู้กับทนายความทั้งประเทศเพื่อให้ทนายความมีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชน
หลังจากนั้น เยาวลักษ์ได้เข้าไปเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านที่ดินป่าไม้, ค้ามนุษย์ และการฆ่านอกระบบ วิสามัญฆาตกรรม และการคุมขังนอกระบบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“นักกฎหมายถ้าไปเรียกรัฐประหารเข้ามา เราถือว่าศีลธรรมทางกฎหมายมันขาด” การรัฐประหารปี 2557 ทำให้เยาวลักษ์รวมตัวนักกฎหมายเพื่อตั้งศูนย์ทนายความฯ และทำงานศูนย์ทนายความฯ อย่างเต็มตัว
เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ของทนายความสิทธิมนุษยชน เยาวลักษ์เห็นว่า คนยุคแรกที่ถือว่าเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนคือ ฟัก ณ สงขลา ซึ่งเป็นทนายความในคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 เยาวลักษ์ยังกล่าวถึง ทองใบ ทองเปาด์ และ สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นทนายความร่วมยุคที่ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง อาทิ คดีคอมมิวนิสต์และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือหากให้ย้อนไปมากกว่านั้นก็มี เทียนวรรณ ทนายความในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ซึ่งเคยถูกจำคุกถึง 17 ปี
การทำงานในวงการองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) ทำให้เยาวลักษ์รู้จักทนายความหลายคนในแวดวงนี้ เช่น ทนายความที่ทำคดีวิสามัญฆาตกรรม ทนายความของกลุ่มชาติพันธุ์ ทนายความขององค์กรเด็ก ทนายความด้านผู้หญิง ซึ่งปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ
ต่อมาในปี 2540 สมชาย หอมลออ ทนายความที่เคยผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มาก่อนจึงสร้างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความขึ้น
“ทำไมถึงมีทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เพราะทางด้านสิทธิต่าง ๆ มันยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คือมันตกต่ำ ทนายความสิทธิมนุษยชนจึงเข้าไปดูแลคุ้มครอง ส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ๆ” เยาวลักษ์กล่าว
ส่วนศูนย์ทนายความฯ เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยเป้าหมายหลักของศูนย์ทนายความฯ คือ เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ที่ถูกดำเนินคดี
เยาวลักษ์ให้ความเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เสรีภาพในการแสดงออกถดถอยลง “เส้นในการที่จะพูด ในการที่จะแสดงออก มันต่ำกว่ามาตรฐานมาก และมันถูกดำเนินคดีได้ง่ายมาก แม้กระทั่งตัวทนายความเอง คดี SLAPPs มันเยอะมาก”
“ศูนย์ทนายความฯ เราเป็นองค์กรที่ยืนยันว่าหลักกฎหมายยังมีอยู่ ยืนยันหลักนิติรัฐที่ยังอยู่ในสังคมไทย” เยาวลักษ์เล่าย้อนไปว่า ในสมัยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉีกกฎหมายทุกฉบับรวมถึงรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายของตนเอง และทำลายหลักนิติรัฐ ทหารมีการนำตัวประชาชนไปคุมขังโดยที่ไม่ให้ญาติเยี่ยม ไม่แจ้งสถานที่คุมขัง ศูนย์ทนายความฯ เองก็มีการออกแถลงการณ์มาโดยตลอดถึงการกระทำที่ไม่ชอบเหล่านี้
“วิสัยทัศน์ขององค์กร คือ ก่อร่างสร้างนิติรัฐกลับมา” ผ่านไปกว่า 10 ปี หลัง คสช. ทำการรัฐประหารเยาวลักษ์เห็นว่า นิติรัฐยังคงไม่กลับมา มรดกของคณะรัฐประหารยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเป็นภารกิจของนักกฎหมายทั้งหมดที่ต้องนำหลักนิติรัฐกลับมา
“I’m a lawyer” เยาวลักษ์ตอบ หลังนักข่าวต่างประเทศถามว่า คุณไม่กลัวหรือ ในห้วงเวลา 1 เดือนหลัง คสช. ทำการรัฐประหาร ซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศของความหวาดกลัว เธอคิดว่าคำดังกล่าวสื่อว่า “เราเชื่อมั่นในหลักกฎหมาย” และการเป็นทนายความทำให้เยาวลักษ์มีเกราะป้องกันตน คือ หลักกฎหมายที่ถูกต้องและแข็งแรง
เยาวลักษ์เล่าว่า จากประสบการณ์ของเธอในช่วงปี 2540 กระบวนการยุติธรรมในคดีสิทธิมนุษยชนยังมีความตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตามหลังปี 2557 ในคดีทางการเมือง กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวมาโดยตลอด ไม่เพียงแต่ศาล แต่รวมถึง คสช. ที่ให้ทหารมีอำนาจร่วมกับพนักงานสอบสวน มีอัยการทหาร มีศาลทหาร โดยในช่วงเวลานั้นในคดีทางการเมืองหรือคดีเกี่ยวกับความมั่นคงฯ พลเรือนจะต้องขึ้นศาลทหาร
แม้ภายหลังย้ายกลับมาในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เยาวลักษ์ก็เห็นว่า ประชาชนยังถูกดำเนินคดีได้โดยง่ายแม้ในพฤติการณ์ที่ไม่น่าจะถูกดำเนินคดีได้ โดยเธอเคยเห็นเอกสารฉบับหนึ่งในชั้นศาลของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งระบุว่า “ให้ใช้กระบวนการยุติธรรม ให้ใช้กฎหมาย ให้ใช้คดี เป็นภาระแก่ประชาชน” เป็นดั่งใบอนุญาตให้ SLAPPs
ภายหลังวิกฤตการชุมนุมปี 2563 มีการใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามการชุมนุมและการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ รวมถึงการใช้มาตรา 112 ด้วย
เยาวลักษ์เห็นว่ามาตรา 112 มีปัญหาในตัวเองอยู่แล้ว และศาลที่วินิจฉัยยังนำความเชื่อและนำทัศนคติของตนเองมาใช้ด้วยในคดี
“ในกฎหมายฉบับเดียวกัน การวินิจฉัยขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความก้าวหน้าของผู้พิพากษา เราเริ่มเห็นคำพิพากษาที่มีความก้าวหน้าจากศาลชั้นต้น แต่พอศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเราเริ่มเห็นความ อนุรักษ์นิยม” เยาวลักษ์กล่าว “เราต้องการความกล้าหาญของผู้พิพากษา หากผู้พิพากษากล้าและยึดมั่นในหลักวิชา จึงจะเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐาน”
“คดีสิทธิมนุษยชน มันจะต้องไม่จบแค่ในห้องพิจารณาคดี มันจะต้องออกไปนอกห้องพิจารณาคดี เราจึงมีผู้สังเกตการณ์คดี มีกลไก UN มีการบันทึกเรื่องราวการละเมิดสิทธิ” เยาวลักษ์กล่าวเสริม
“ศูนย์ทนายความฯ เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่” เยาวลักษ์กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ของศูนย์ทนายความฯ มีสูงถึง 70% ของจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด โดยเป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำงานครั้งแรกหลังเรียนจบ (Frist Jobber) ค่อนข้างมาก “เรามีการตั้งค่าตอบแทนไว้ค่อนข้างสูง และมีสวัสดิการที่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับ NGOs ทั่วไป”
เยาวลักษ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนที่เรียนจบกฎหมายก็มีความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) โดยไปเป็นทนายความ และศูนย์ทนายความฯ ก็มีความพยายามในการโปรโมทให้เจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน โดยไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะทำงานมานานเท่าใดก็จะได้ทักษะในการทำงาน แนวคิด และอุดมการณ์
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความฯ ยังมี ‘ทนายความเครือข่าย’ ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากสำนักงานกฎหมายต่าง ๆ ทั่วประเทศ
เยาวลักษ์เล่าว่า เคยมีครั้งหนึ่งที่ลูกความกล่าวกับเธอว่า “ศูนย์ทนายความฯ ทำให้เขากล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพ” เธอจึงมีสโลแกนให้กับศูนย์ทนายความฯ ว่า “เมื่อคุณกลัว เราทำให้คุณกล้า”
แต่ในฐานะผู้อำนวยการ เธอมองว่าศูนย์ทนายความฯ เป็นองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน แต่ก็เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหว (Movement) เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในทศวรรษนี้ ในเส้นทางของศูนย์ทนายความฯ จึงไม่ได้เดินไปโดยลำพัง
ภารกิจของศูนย์ทนายความฯ คือ การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อทำให้เกิดประชาธิปไตย โดยการผลักดันทางนโยบาย นอกจากนี้ ปัจจุบันศูนย์ทนายความฯ ยังมีภารกิจผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรม
ในความเห็นของเยาวลักษ์ ปลายทางของศูนย์ทนายความฯ หากประเทศไทยกลับมาสู่ประชาธิปไตย ศูนย์ทนายความฯ จะกลายเป็นคลังความรู้ข้อมูลคดีสิทธิและเสรีภาพขนาดใหญ่และทำงานด้านการวิจัย (Think Tank) ร่วมกับนักวิชาการ และกลายเป็น ‘จดหมายเหตุคดีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก’
“เหมือนสถาบันพระปกเกล้าฯ ภาคประชาชน” เยาวลักษ์พูดติดตลก “นำเสนอข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิให้คนรุ่นหลัง และจะได้รู้ว่าเราไม่ควรที่จะกลับมาสู่การละเมิดสิทธิ์เช่นนี้อีก”
.
คดีทางการเมืองเรียกร้องคนที่มีแนวคิดคล้ายกัน ไม่ใช่ทนายความทุกคนจะทำได้
จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความเครือข่าย ศูนย์ทนายความฯ เริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนในตอนเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงชีวิตในการเป็นนักศึกษาเธอทำกิจกรรมมาโดยตลอด ทำให้เธอเห็นโลกที่ใหญ่มากขึ้นและเห็นประเด็นสังคมที่หลากหลาย ทำให้เธอได้คิดและวิเคราะห์กับประเด็นหลาย ๆ อย่างในสังคม เช่น ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมของชาวบ้านในพื้นที่ที่เธอไปลงเพื่อศึกษาปัญหา ทำให้เธอเห็นรากฐานและที่มาที่ไปของปัญหา
ก่อนหน้านี้ ทางบ้านอยากให้เธอเป็นผู้พิพากษา และเธอก็อยากเป็นเช่นนั้น แต่การทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยและการไปมีโอกาสไปสังเกตการณ์คดีในศาลกลับทำให้เธอเปลี่ยนความคิด “เราได้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ได้อยู่ข้างประชาชนอย่างไรบ้าง” จันทร์จิรากล่าว “เป็นศาลคงไม่ใช่ทางเราแล้ว”
“ที่ผ่านมาความคิดความเชื่อของเรอถูกหล่อหลอมมาเช่นนี้ แล้วเวลาทำงานเราจะไปทำงานแบบไหน เราจะไปรับราชการหรือ ก็ไม่น่าจะได้ เราน่าจะไปอยู่ในระบบราชการไม่ได้” เมื่อจันทร์จิราต้องเข้าสู่สนามการทำงาน เธอกลับมาคิดทบทวนกับตัวเอง และได้ข้อสรุปว่าสำหรับคนที่รักอิสระเช่นเธอ การเป็นทนายความคงตอบโจทย์มากที่สุด
“คดีสิทธิบางคดี มันเป็นคดีที่มีผู้มีอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง หรือมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การซ้อมทรมานโดยทหารหรือตำรวจ บางทีทนายความทั่วไปในพื้นที่ก็อยากจะช่วย แต่เขารับมือกับเรื่องความไม่ปลอดภัยหรือการคุกคามจากคนหรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่ไหว” จันทร์จิราเล่าถึงความสำคัญของการต้องมีทนายความสิทธิมนุษยชนที่มาจากส่วนกลางหรือสภาทนายความเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนและทนายความในท้องที่ต่าง ๆ ที่เกิดประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้น “ถ้ามีทนายนอกเข้ามา ทำคดีเสร็จก็ออกไปจากพื้นที่ ก็จะปลอดภัยมากขึ้น”
ส่วนเหตุผลว่าทำไมต้องมีทนายความที่ทำคดีทางการเมืองนั้น จันทร์จิราอธิบายว่า แนวคิดทางการเมืองเป็นเรื่องเฉพาะตัว “ทนายความบางคนยึดถือว่าถ้ามีการรัฐประหาร แล้วคณะรัฐประหารได้อำนาจรัฐไปก็ถือว่ามีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์แล้ว ถือว่าเป็นรัฐแล้ว” เธอเห็นว่า ถ้าทนายความไม่ได้เชื่อว่าประชาชนมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและออกมาคัดค้าน ก็จะทำคดีทางการเมืองแนวนี้ไม่ได้
“คดีการเมืองมันก็เรียกร้องคนที่มีแนวคิดทางการเมืองคล้าย ๆ กัน อย่างคดีมาตรา 112 ก็ไม่ใช่ทนายความทุกคนที่ทำได้” จันทร์จิรายกตัวอย่าง
‘ทนายสายไฟต์’ คือสมญานามที่เพื่อนร่วมงานให้ไว้กับจันทร์จิรา อันเนื่องมาจากการต่อสู้กับความท้าทายหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับคดีทางการเมือง
จันทร์จิราเล่าว่า ในกระบวนการยุติธรรมปกติจะมี 3 ฝ่าย คือ ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมอยู่ตรงกลาง คนร้ายหรือผู้ก่อเหตุเป็นฝ่ายหนึ่ง และผู้เสียหายเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เธอเห็นว่า ในคดีทางการเมืองจะมีความแตกต่างออกไป “ประชาชนที่ถูกรัฐนิยามว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามอำนาจรัฐอยู่ฝั่งหนึ่ง แล้วกระบวนการยุติธรรมหรือผู้มีอำนาจรัฐจะอยู่ฝั่งเดียวกัน มันมีแค่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเขาและฝ่ายเรา ไม่มีกรรมการอยู่ตรงกลาง”
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความท้าทายหลายเรื่องในกระบวนการยุติธรรมในคดีทางการเมือง เช่น การไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เช่น ในคดีมาตรา 112 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว โอกาสที่จะได้รับการประกันตัวมีค่อนข้างน้อยมาก
“เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่ได้อยู่ตรงกลาง มันก็จะทำให้หลักการ หลักกฎหมาย วิธีการพิจารณาคดีต่าง ๆ บิดเบี้ยว ผิดหลักการไปอยู่เสมอ” จันทร์จิราเล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อศาลไม่ได้ทำหน้าที่อยู่ตรงกลางก็ทำให้แรงกดดันจากศาลที่มาสู่ทนายความและจำเลยก็จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้เกิดพฤติการณ์บางอย่างที่เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และมีกระบวนการบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย
จันทร์จิรายกตัวอย่างคดีมาตรา 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 ของอานนท์ นำภา ซึ่งมีการถอดเสื้อประท้วงเนื่องจากศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้โดยอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และมีการสั่งพิจารณาคดีลับ และคดีละเมิดอำนาจศาลสืบเนื่องจากเหตุข้างต้น ที่ศาลอ่านคำสั่งที่ห้องเวรชี้ 2 โดยไม่ให้ประชาชนเข้าฟัง ซึ่งเธอเห็นว่าคำสั่งต่าง ๆ ของศาลไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามกฎหมาย
“เครดิตของศาลหรือกระบวนการยุติธรรมในคดีทางการเมืองมันไม่ค่อยน่าเชื่อถือถ้าพูดกันตรง ๆ เพราะฉะนั้นการเปิดเผยให้เห็นว่าศาลทำไปตามหลักการก็จะดีกับทุกฝ่ายและดีกับภาพลักษณ์ของศาลด้วย” จันทร์จิรากล่าวถึงความสำคัญในการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยในคดีทางการเมือง
เมื่อเจอกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวหรือผู้พิพากษาที่มีทัศนคติพิเศษบางอย่าง สิ่งที่จันทร์จิราทำคือการโต้แย้งด้วยเหตุผลและหลักกฎหมาย หากผู้พิพากษารับฟังก็สามารถจบลงด้วยดี แต่หากไม่รับฟังการโต้แย้ง ยังคงใช้อำนาจเช่นเดิมที่กระทบต่อการพิจารณาหรือพิพากษาคดีทำให้คดีเสียความยุติธรรมไป ในกรณีที่เป็นเรื่องทัศนคติและขัดต่อประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ เธอก็จะยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาลและยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และจะมีกระบวนการยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
จันทร์จิราเล่าว่า เวลาทำคดีการเมืองก็จะมีแรงกดดันในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งศาลก็สามารถพิจารณาคดีไปตามปกติได้ แต่ในความเป็นจริง ศาลกลับสร้างขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาเพื่อสร้างความยุ่งยาก สร้างความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย และสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรในการพิจารณาคดี “มันก็ต้องมีงานงอก เวลาเราจะไฟต์กับศาล ไม่ใช่แค่ความกล้าที่เราต้องมี แต่เราต้องขยันหมั่นเพียรที่จะทำอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรให้เป็นรูปธรรมเพื่อโต้แย้งคัดค้าน”
กล่าวคือ จันทร์จิราจะ ‘ไฟต์’ อยู่ในกฎหมายและกติกาเมื่อผู้พิพากษาเดินไม่ตรงและไม่อยู่ในรูปในรอย
“ทนายความสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นอริกับผู้พิพากษา แต่พึ่งพาผู้พิพากษาที่ตรงไปตรงมา และหวังว่าเขาจะทำสิ่งที่บิดเบี้ยวให้กลับมาตรงได้” ผศ.ดร.พัชร์ กล่าวสรุป
.
ใช้กลไกระหว่างประเทศช่วยให้กระบวนการยุติธรรมอยู่ในรูปในรอย
ขณะที่ ธัญมน รามัญจิตต์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ระหว่างประเทศ ศูนย์ทนายความฯ ยังเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอได้ทำกิจกรรมหลายอย่างและได้เห็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน
ในขณะที่ธัญมนเรียนมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ช่วงปี 2563 เธอจึงได้เห็นภาพในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมค่อนข้างชัด รวมไปถึงประเด็นอื่น ๆ เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิม
การเรียนจุฬาฯ ทำให้ธัญมนเข้าถึงแหล่งข้อมูลและสิทธิพิเศษ (Privilege) หลายอย่างมากกว่าคนอื่น ๆ ทำให้เธออยากใช้โอกาสที่ได้รับมาจากจุฬาฯ ทำให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้เธอตัดสินใจมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และมีโอกาสได้เข้ามาทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
“หากเราได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์คดีในศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม คดีเสรีภาพในการแสดงออก หรือคดี 112 เราจะเห็นได้ชัดว่า Law in Book กับ Law in Practice ต่างกันมากจริง ๆ” ธัญมนเห็นว่าบทบาทของทนายความสิทธิมนุษยชนมีความต่างจากทนายความทั่วไปพอสมควร “มันมีชาเลนจ์ที่เพิ่มขึ้นมา”
“ทุกคนควรได้รับสิทธิในการคุ้มครองทางกฎหมาย มันมีความสำคัญมากที่จะมีทนายเป็นคนดีเฟนส์ในเคสที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก เพราะเคสค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนมากจริง ๆ” ธัญมนกล่าวถึงความสำคัญที่ต้องมีทนายความสิทธิมนุษยชน
ธัญมนอธิบายงานของฝ่ายรณรงค์ระหว่างประเทศว่า มีหน้าที่ใช้กลไกระหว่างประเทศ เช่น กลไกของสหประชาชาติ (UN Mechanisms) มาใช้เป็นเครื่องมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม “มันมีความสำคัญในการใช้กระบวนการต่าง ๆ มาช่วยเหลือเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมอยู่ในรูปในรอยมากกว่านี้”
จากประสบการณ์ที่ทำงานในศูนย์ทนายความฯ ธัญมนได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่าง และได้เห็นมิติต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมไทย “เรามองว่าคนที่มาทำงานด้านนี้หรือทนายสิทธิเป็นคนที่มีแพชชั่นสูงมาก ๆ” เธออธิบายว่า คดีทางการเมืองต้องอาศัยแพชชั่น (Passion) ของคนทำงาน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เธอเกิดความประทับใจ
“อาชีพนี้อาจจะไม่ได้เหมือนลอว์เฟิร์มที่เงินเดือนสตาร์ทสูง ๆ แต่เรามาทำงานตรงนี้ด้วยแพชชั่น เราทราบข้อจำกัด แต่ถามว่าเงินเดือนจะน้อยเลยหรือไม่ก็ไม่ใช่ สามารถใช้ชีวิตและดำรงชีพได้” ธัญมนกล่าว