ภาพประกอบได้รับการเอื้อเฟื้อจาก banrasdr photo
4 เม.ย. 62 ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง 3 ฉบับของจุฬาฯ กรณีเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และเพื่อน ฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหตุตัดคะแนนพ้นสภาพสมาชิกสภานิสิต
กรณีนี้สืบเนื่องจากเนติวิทย์ และกลุ่มเพื่อนรวม 8 คน เดินออกนอกแถวขณะดำเนินมีกิจกรรมปฏิญาณตนของนิสิตชั้นปีที่ 1 และอยู่ระหว่างทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนนิสิตใหม่ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 60 จนเกิดเหตุความวุ่นวายตามมา รวมถึงเหตุการณ์ที่อาจารย์คนหนึ่งได้ทำล็อกคอนิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรม
คดีนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 61 เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และเพื่อนนิสิตรวมแปดราย ยื่นฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อศาลปกครองกลางว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกคำสั่ง 3 ฉบับ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่
1.คำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4928/2560 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ลงวันที่ 30 ส.ค. 60
2.คำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4929/2560 เรื่อง ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง ลงวันที่ 30 ส.ค. 60 และ
3.คำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 0408/2561 เรื่อง แก้ไขคำสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ลงวันที่ 26 ม.ค. 61 ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิตของเนติวิทย์ กับพวก รวม 8 คน
เนื่องจากคำสั่งลงโทษทั้ง 3 ฉบับทำให้เนติวิทย์ กับพวกทั้ง 8 คน ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติยศ และขาดโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมหรือลงสมัครในตำแหน่งต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยในระยะเวลาที่เหลือของการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี และขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทั้ง 3 ฉบับ และให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชดใช้สินไหมทดแทนแก่นายเนติวิทย์กับพวกทั้ง 8 คน คนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะชำระให้เนติวิทย์กับพวกทั้ง 8 คนจนเสร็จสิ้น
สำหรับคดีนี้มีผู้ถูกฟ้องคดี 3 รายคือ 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 3.คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต
ประเด็นโต้แย้งของผู้ฟ้องคดี ขอให้เพิกถอนคำสั่งจุฬาฯ และทดแทนค่าสินไหม
10.00 น. ศาลปกครองขึ้นอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 438/2561 (คดีหมายเลขแดงที่ 376/2562) เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง
คดีนี้เนติวิทย์และพวก คือ ผู้ฟ้องทั้ง 8 คน โต้แย้งว่าคำสั่งทางปกครองของจุฬาลงกรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3 ประเด็นคือ
1.ขั้นตอนการออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก คณะกรรมการพิจารณาวินัยนิสิตไม่มีความเป็นกลาง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ากรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต 2 คน ซึ่งมีมติลงโทษตัดคะแนนความประพฤติ ไม่อาจพิจารณาทางปกครองด้วยความเป็นกลาง ได้แก่ ดร.ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตคณะนิติศาสตร์ เป็นบุคคลที่แสดงความเห็นต่อสาธารณชนเป็นปฏิปักษ์ต่อเนติวิทย์ (ผู้ฟ้องคดีที่ 1) ขณะที่นางสาวอุบล สาธิตะกร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานิสิต ได้เคยโต้เถียงด้วยวาจากับเนติวิทย์ด้วย โดยเฉพาะเมื่อเขาจัดงานเสวนาเรื่อง “ผู้ค้าสวนหลวงสแควร์เรียกร้องอะไร” ต่อมาพบว่ามีกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตอีก 1 คน คือรองศาสตราจารย์เพ็ญพรรณ ยังคง ซึ่งเคยเข้าร่วมประชุมกับสมาคมนิสิตจุฬาฯ เพื่อออกหนังสือให้กำลังใจผู้ถูกฟ้องคดีด้วย
ประเด็นต่อมาฝ่ายผู้ฟ้องคดีเห็นว่าทางจุฬาฯ ไม่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่เปิดโอกาสให้เนติวิทย์และเพื่อนได้โต้แย้งและปฏิเสธการแสดงพยานหลักฐานเพื่อคัดค้านการกล่าวหาอย่างเพียงพอตามมาตรา 30 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 โดยคณะกรรมการอนุญาตให้ส่งหลักฐานเพียงเท่าที่มีอยู่ในห้องระหว่างการสอบสวนเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดียังได้ขอตรวจดูเอกสารตามมาตรา 31 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจดูจนกระทั่งวันฟ้องคดี
2.เนื้อหาของคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจุฬาฯ ตีความหรือใช้กฎหมายผิดพลาด โดยอ้างว่านิสิตต้องเชื่อฟังคำสั่งหรือคำแนะนำตักเตือนของอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยสิต พ.ศ. 2527 ซึ่งพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและถวายบังคมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เป็นการจัดงานพิธีการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาและพัฒนาทางวิชาการตามระเบียบดังกล่าว
3.เนื้อหาของคำสั่งขัดต่อหลักความได้สัดส่วน โดยฝ่ายผู้ร้องกล่าวว่าหากการกระทำของผู้เนติวิทย์และเพื่อนผิดจริง แต่ก็ถือว่าเป็นการทำผิดวินัยเล็กน้อยครั้งแรก ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อทรัพย์สินหรือการดำเนินพิธีการ รวมถึงไม่มีความผิดทางอาญา การตัดคะแนนความประพฤติถึง 25 คะแนน เป็นการใช้ดุลยพินิจที่รุนแรงเกินควร
4.คำสั่งมีมูลเหตุจูงใจบิดเบือนการใช้อำนาจตามระเบียบจุฬาฯ พ.ศ. 2527 ที่ต้องการปลดเนติวิทย์และเพื่อนออกจากตำแหน่งสมาชิกสภานิสิต เพราะแม้จะเคยแก้ไขคำสั่งแล้วในภายหลัง แต่ยังคงลงโทษตัดคะแนนความประพฤติที่ 20 คะแนน ทำให้ยังคงต้องขาดคุณสมบัติสมาชิกสภาฯ เช่นเดิม เพราะการลงโทษหนักขนาดนี้เทียบเท่าความผิดฐานลักทรัพย์หรือทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงขอให้ศาลพิพากษาหรือคำสั่ง เพิกถอน ทั้ง 3 ฉบับ และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 คน
ศาลพิพากษาเพิกถอน 3 ฉบับ – ตัดคะแนนความประพฤติไม่ชอบเกินควร – ยกคำร้องประเด็นชดใช้
ต่อมาศาลมีคำวินิจฉัยใน 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 คำสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤติเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ในทางรูปแบบการออกคำสั่งทางปกครอง ศาลปกครองเห็นว่า กรรมการผู้พิจารณาทำคำสั่งซึ่งผู้ฟ้องคดีโต้แย้งมานั้นไม่มีปัญหาสภาพความเป็นกลาง ประเด็นต่อมาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะต้องให้คู่กรณีมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและสามารถโต้แย้งรวมถึงแสดงพยานหลักฐานของตนได้อย่างเพียงพอ ซึ่งในกระบวนการพิจารณาทางปกครองของจุฬาลงกรณ์ถือว่าดำเนินไปตามมาตรา 30 พ.ร.บ.วิปฏิบัติฯแล้ว นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่าเอกสารที่เนติวิทย์และเพื่อนนิสิตขอตรวจดูตามมาตรา 31 พ.ร.บ.วิปฏิบัติฯ นั้นไม่จำเป็น เพราะพิจารณาจากอุทธรณ์ภายในของนิสิตนั้นมีข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ ข้ออ้างของเนติวิทย์ข้อนี้ไม่อาจรับฟังได้
ต่อกรณีการเดินออกจากแถวพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและถวายบังคมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า แม้ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย รวมถึงรัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพไว้ในมาตรา 34 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และ มาตรา 38 ว่าด้วยบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เสรีภาพดังกล่าวเกินกฎหมายกำหนด การที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบพิธีถวายสัตย์เป็นโค้งคำนับนั้นสามารถกระทำได้ แต่เมื่อจุฬาลงกรณ์ยังมิได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบพิธีการ ผู้ฟ้องคดีจึงยังต้องเคารพและปฏิบัติตามเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสามัคคี และความเป็นระเบียบเรียบร้อย การแสดงออกซึ่งความเห็นของผู้ฟ้องคดีนอกจากจะไม่เคารพความเห็นบุคคลอื่นแล้ว ยังสร้างความแตกแยกในหมู่คณะ เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยอันเป็นการกระทำความผิดตามข้อ 6 ระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิตพ.ศ. 2527 ศาลเห็นว่าการที่เนติวิทย์และเพื่อนเดินออกจากแถวไปโค้งคำนับทำความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายจริง แต่ถือเป็นการกระทำที่ไม่รักษาความสามัคคี
อย่างไรก็ตามพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นพิธีการที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยไม่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือคำสั่งของจุฬาลงกรณ์หรือคณะใด การเดินออกจากแถวไปโค้งคำนับ จึงไม่ใช่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือคำสั่งของจุฬาลงกรณ์หรือคณะใด อันเป็นการผิดวินัยนิสิต ข้อ 4 ทั้งไม่พอที่จะถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เป็นสุภาพชน
นอกจากนี้ศาลปกครองยังเห็นว่าการกระทำของเนติวิทย์และเพื่อนยังไม่ใช่การประพฤติตนอันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ตนเอง บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผู้ช่วยศาสตราจารย์เรืองวิทย์ บรรจงรัตน์ ทำการล็อกคอนายศุภลักษณ์ นิสิตที่เดินออกจากแถว ความเสียหายจึงไม่ใช่ผลโดยตรงจากการเดินออกจากแถวของเนติวิทย์และเพื่อน การกระทำของเนติวิทย์และเพื่อนจึงไม่เป็นความผิดวินัยตามข้อ 7 และแม้ผศ.ดร.สุพรรณี บุญเพ็งจะได้แจ้งกำหนดการ ก็เป็นเพียงการแจ้งให้ตัวแทนนิสิตและผู้ฟ้องคดี ไม่ใช่การออกคำสั่ง คำแนะนำและตักเตือนโดยชอบ การกระทำของเนติวิทย์และเพื่อจึงไม่ผิดวินัยนิสิต ข้อ 8
ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอน คำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4928/2560 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ลงวันที่ 30 ส.ค. 60
ประเด็นที่ 2 คำสั่งที่ให้เนติวิทย์และเพื่อน พ้นจากสมาชิกสภานิสิตสามัญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลเห็นว่า เนื่องจากศาลได้วินิจฉัยในประเด็นที่ 1 ไปแล้วว่า คำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4928/2560 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ลงวันที่ 30 ส.ค. 60 ให้ลงโทษตัดคะแนนความประพฤติของผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 คนละ 25 คะแนน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่อาจอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาเป็นเหตุในการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี พ้นจากตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภานิสิตสามัญ ประจำปีการศึกษา 2560 ได้ ดังนั้น คำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4929/2560 เรื่อง ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง ลงวันที่ 30 ส.ค. 60 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับคำสั่งจุฬาลงกรณ์ฉบับแรก
ประเด็นที่ 3 การแก้ไขคำสั่งตัดคะแนนความประพฤติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ต่อกรณีมีมติให้แก้ไขคำสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤติผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 คน จากเดิมลงโทษตัดคะแนนคนละ 25คะแนน เมื่อเนติวิทย์และเพื่อนได้อุทรณ์คำสั่งให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิจารณาอีกครั้ง มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งแก้ไขเป็นลงโทษตัดคะแนนความประพฤติเหลือ 20 คะแนน สำหรับการกระทำความผิดวินัยนิสิต ข้อ 6 และ 8 ของระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2527
ศาลเห็นว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 คน ผิดวินัยข้อ 6 แต่ไม่มีความผิดตามข้อ 8 ดังนั้นมติตามคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 0408/2561 เรื่อง แก้ไขคำสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ลงวันที่ 26 ม.ค. 61 ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิตของเนติวิทย์ กับพวก รวม 8 คน ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่ 4 จุฬาฯ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เนติวิทย์และเพื่อนหรือไม่ เพียงใด
ศาลเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีเดินออกจากแถวไปโค้งคำนับทำความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เป็นการกระทำที่สร้างให้เกิดความแตกแยกในหมู่คณะ เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยอันเป็นความผิดตามระเบียบวินัยนิสิตข้อ 6 ก่อนจะมีคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 0408/2561 เรื่อง แก้ไขคำสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ลงวันที่ 26 ม.ค. 61 ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิตของเนติวิทย์ กับพวก แสดงให้เห็นแล้วว่า จุฬาลงกรณ์ไม่ได้จงใจกลั่นแกล้งให้เนติวิทย์และเพื่อนต้องถูกลงโทษทางวินัยนิสิตที่หนักกว่ากฎหมายกำหนด ทั้งไม่ใช่การกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออีกด้วย ดังนั้น จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 คน
ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งตัดคะแนนความประพฤตินิสิตสองฉบับบางส่วน คงเหลือไว้เฉพาะส่วนที่ตัดคะแนนความประพฤติตามข้อ 6 ของระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ. 2527 คงเหลือตัดคะแนนความประพฤติ 10 คะแนน ส่วนคำสั่งซึ่งให้เนติวิทย์และเพื่อนพ้นสภาพสมาชิกสภานิสิตนั้นศาลให้เพิกถอนทั้งฉบับและมีผลย้อนหลังไปถึงวันทำคำสั่ง ส่วนคำขอกรณีละเมิดศาลพิพากษายกคำขอ
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่: คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 438/2561 (คดีหมายเลขแดงที่ 376/2562)