เปิดมาตรการ จุฬาฯ กดดันไม่ให้นิสิตใช้สถานที่จัดกิจกรรม #เสาหลักจะหักเผด็จการ 

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 63 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้มาตราการกดดันไม่ให้นิสิตสามารถจัดกิจกรรมในวันที่ 14 ส.ค. 63 โดยไม่อนุญาตให้นิสิตใช้สถานที่ และพยายามเลี่ยงไม่ให้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับ “การเมือง” และต่อมาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ได้ออกประกาศไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่เนื่องจากผู้จัดยื่นหนังสือกระชั้นชิดและต้องหารือเรื่องความเหมาะสมของกิจกรรมก่อน

 

แม้เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ได้ออกมาแถลงกับสื่อมวลชนว่า ให้อิสระกับนิสิตในการแสดงความเห็นทางการเมือง ถ้าหากมีนิสิตถูกจับกุมจากการร่วมชุมนุม จะพร้อมให้ความช่วยเหลือโดยศูนย์กฎหมายของจุฬาฯ และคณาจารย์ของจุฬาฯ โดยไม่ได้ห้ามการจัดชุมนุมในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย แต่ขอให้ผู้จัดกิจกรรมแจ้งขออนุญาตกับทางมหาวิทยาลัยก่อน 

อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้จัดกิจกรรมได้ยื่นหนังสือขออนุญาตกับทางมหาวิทยาลัยแล้ว กลับพบกับเงื่อนไขหลายข้อที่บังคับให้เปลี่ยนทั้งรูปแบบและสถานที่จัดกิจกรรม 

ด้านรูปแบบของกิจกรรม

  1. แต่เดิมรูปแบบกิจกรรมเป็นลักษณะการเดินขบวนรอบจุฬาฯ พร้อมการปราศรัย แต่รองอธิการบดีขอให้ตัดกิจกรรมช่วงเดินขบวนออก ซึ่งทางผู้จัดได้ยอมรับข้อตกลงและปรับรูปแบบให้เหลือแค่การปราศรัยเท่านั้น 
  2. แม้ว่ารองอธิการบดีกล่าวกับสื่อมวลชนว่าอนุญาตให้นิสิตจัดกิจกรรมทางการเมือง แต่เมื่อนิสิตไปขออนุญาตกลับบอกว่าอนุญาตให้จัดชุมนุมได้ แต่ไม่ใช่ “ชุมนุมทางการเมือง” กล่าวคือ อนุญาตเฉพาะกิจกรรมชมรม กีฬา หรือในเชิงสร้างสรรค์ และถ้าหากจัดกิจกรรมเชิงการเมือง ควรจัดเป็นงานเสวนามากกว่าชุมนุม 
  3. จุฬาฯ อนุญาตให้เข้าร่วมแค่นิสิตจุฬาฯ ไม่ให้คนนอกเข้าร่วม โดยอ้างว่ากลัว “มือที่สาม” ก่อความวุ่นวาย และทราบมาว่ามีการนำป้ายห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปติดบริเวณประตูจุฬาฯ ฝั่งจามจุรีสแควร์ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 13 ส.ค  นอกจากนี้ยังพบว่ามีการประชาสัมพันธ์ “พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2499” เพื่อรณรงค์ให้ใส่เครื่องแบบนิสิต แม้ว่าจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่ทางออนไลน์ก็ตาม
  4. จุฬาฯ พยายามขอทราบเนื้อหาการปราศรัยและจำนวนคนเข้าร่วมจากผู้จัด ซึ่งนำไปสู่ความกังวลของผู้จัด ว่าอาจมีการปิดกั้นเนื้อหา และการไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ เนื่องจากข้ออ้างเรื่องความจุคนต่อสถานที่ไม่เพียงพอและต้องระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

ด้านการอนุญาตให้ใช้สถานที่

  1. จุฬาฯ ยื่นคำขาดว่าจะไม่ช่วยเรื่องสวัสดิการ การตรวจวัดอุณหภูมิ และการรักษาความปลอดภัย ถ้าหากไม่จัดในสถานที่ที่ทางมหาลัยเสนอให้จัด ได้แก่ สนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สนามจุ๊บ) และลานข้างหอประชุม ซึ่งที่แรกเป็นสถานที่ปิด และที่ที่สองเป็นพื้นที่ที่เล็กเกินไป
  2. ทางผู้จัดยอมใช้สถานที่ตามที่มหาวิทยาลัยเสนอ คือจัดที่สนามจุฬาฯ จึงได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่ แต่ไม่ทราบความคืบหน้าจากทางมหาวิทยาลัย เมื่อไปดูสถานที่ในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 13 ส.ค. จึงทราบว่าเรื่องยังไม่มาถึงหัวหน้าสนามกีฬาจุฬาฯ และมีคนจองสนามไปแล้วในช่วงเดียวกับเวลากิจกรรม จนช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 13 ส.ค. ทางมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ตอบรับเรื่องการใช้สถานที่ ทางผู้จัดจึงตัดสินใจใช้สถานที่ที่ลานพระบรมรูปสองรัชกาล และไม่ทราบความคืบหน้าจากทางจุฬาฯ ว่าจะอำนวยความสะดวกให้หรือไม่
  3. จนกระทั่งเวลาเที่ยงของวันที่ 14 ส.ค. ก่อนจัดกิจกรรมประมาณ 4 ชั่วโมง สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงออกประกาศไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรม โดยท้ายประกาศได้ระบุว่า นิสิตที่ขอจัดกิจกรรมและมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมจะถูกดำเนินการทางวินัย ถ้าหากมีการฝ่าฝืนประกาศข้างต้นและดำเนินการจัดกิจกรรมต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต

กรณีนิสิตถูกดำเนินการทางวินัยนั้น เคยเกิดขึ้นกับเนติวิทย์ โชติไพศาล อดีตประธานสภาจุฬาฯ เหตุเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตใหม่ โดยจุฬาฯ​ มีคำสั่งตัดคะแนนความประพฤติและให้พ้นสภาพจากสภานิสิต อย่างไรก็ตาม เมื่อยื่นคำร้องต่อศาลปกครองแล้ว ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งตัดคะแนนความประพฤตินิสิตสองฉบับบางส่วน คงเหลือไว้เฉพาะส่วนที่ตัดคะแนนความประพฤติตามข้อ 6 ของระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ. 2527 คงเหลือตัดคะแนนความประพฤติ 10 คะแนน และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้เนติวิทย์พ้นสภาพสมาชิกสภานิสิตฯ 

หลังการจัดกิจกรรม #เสาหลักจะหักเผด็จการ ผ่านไปแล้ว จึงต้องร่วมกันจับตาต่อไปว่าทางจุฬาฯ จะมีการดำเนินการใดติดตามมากับผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ ดังเช่นมีการ “ขู่” เอาไว้ในประกาศของสำนักบริหารกิจการนิสิต

แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยมักตั้งเงื่อนไขหรือใช้กฎระเบียบของมหาวิทยาลัยเพื่อบีบให้นิสิตนักศึกษาต้องเปลี่ยนรูปแบบหรือยกเลิกกิจกรรม แต่ตามหลักแล้ว สถานศึกษาไม่มีสิทธิสร้างเงื่อนไขปิดกั้นการจัดกิจกรรมและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยไม่มีสิทธิกดดันหรือขัดขวางการทำกิจกรรมของนักศึกษาหรือนักเรียน (อ่านเพิ่มเติม คู่มือปฏิบัติเมื่อถูกคุกคามก่อนหรือระหว่างจัดกิจกรรม)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:

“มือใหม่หัดม็อบ”: คู่มือว่าด้วยการรับมือทางกฎหมาย เมื่อเจอการปิดกั้น/คุกคามการชุมนุม

#เมื่อชาวชั่ยไม่ขอทนแต่ขอชน: สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม 95 ครั้ง หลังยุบอนาคตใหม่ 

 

X