นักเรียนจัดชุมนุมโดยสงบ ไม่เป็น “เหตุพิเศษ” ตามระเบียบกระทรวงฯ ในการสั่งปิดโรงเรียน

จากกรณีเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 65 นักเรียนกลุ่ม #บอดินไม่อินเผด็จการ ได้นัดหมายจัดกิจกรรมชุมนุม #ทุบกะลาตาสว่าง ที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แต่ทางผู้อำนวยการของโรงเรียนได้ประกาศสั่งปิดโรงเรียนในวันดังกล่าว โดยอ้างเหตุเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น โรงเรียนซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับบดินทรเดชา ทางผู้อำนวยการโรงเรียนกลับมีการสั่งปิดสถานศึกษาเช่นเดียวกันด้วย ทั้งที่นักเรียนไม่ได้จัดกิจกรรมในโรงเรียนดังกล่าวแต่อย่างใด อาทิ โรงเรียนอุดมศึกษา ผู้อำนวยการได้สั่งปิดสถานศึกษาในวันที่ 25 ก.ย. 63 โดยอ้างเรื่องความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงปัญหาอันอาจเกิดขึ้นเช่นกัน ทั้งยังระบุไว้ด้วยว่าโรงเรียนได้รับการแจ้งเรื่องจากสน.วังทองหลางด้วย

 

หนังสือของโรงเรียนบดินทรเดชาและโรงเรียนอุดมศึกษาในการประกาศปิดสถานศึกษาเนื่องจากเหตุพิเศษ

 

ล่าสุด ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ก็ได้ประกาศสั่งปิดสถานศึกษา ในวันที่ 1 ต.ค. 63 หลังกลุ่มนักเรียน #เกียมพัฒนาประชาธิปไตย ประกาศจัดกิจกรรม “ชมพูพันธ์ทิพย์แตกกิ่งใบ ประชาธิปไตยจะผลิบาน” บริเวณลานอเนกประสงค์ของโรงเรียน โดยโรงเรียนอ้างเช่นกันว่าปิดเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ได้เป็นการปิดกั้นการแสดงทางการเมือง

 

หนังสือของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการในการประกาศปิดสถานศึกษาเนื่องจากเหตุพิเศษ

 

ผลของการปิดโรงเรียนทั้งสองแห่ง ทำให้กลุ่มนักเรียนผู้จัดกิจกรรมต้องย้ายสถานที่จัดชุมนุมไปอยู่ด้านหน้าโรงเรียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ภายนอกโรงเรียนแทน

ในหนังสือการสั่งปิดโรงเรียนทั้งสามแห่งดังกล่าว ล้วนอ้างไปถึงอำนาจของผู้อำนวยการโรงเรียนในการสั่งปิดสถานศึกษาเนื่องจากเหตุพิเศษ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558

จากการตรวจสอบระเบียบกระทรวงศึกษาดังกล่าว พบว่าเดิมนั้นในระเบียบกระทรวงศึกษาฯ ฉบับปี พ.ศ. 2549 ได้กำหนดนิยาม “เหตุพิเศษ” อันอาจเป็นเหตุให้สั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราว เพียงสั้นๆ ว่าหมายถึง “เหตุที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติสาธารณะ”

ต่อมาในฉบับปีพ.ศ. 2558 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฯ ที่ออกมาใหม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิม โดยเพิ่มนิยามของ “เหตุพิเศษ” ว่าหมายถึง “สาธารณภัยอันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย”

ในข้อ 9 ของระเบียบนี้ได้กำหนดให้ผู้มีอำนาจในการสั่งปิดสถานศึกษาเนื่องจากเหตุพิเศษ “เพื่อระงับเหตุหรือเพื่อป้องกันภยันตรายอันอาจจะเกิดขึ้น” ได้แก่ หัวหน้าสถานศึกษา (สั่งปิดได้ไม่เกิน 7 วัน) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สั่งปิดได้ไม่เกิน 15 วัน) เลขาธิการ (สั่งปิดได้ไม่เกิน 30 วัน) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สั่งปิดได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น)

จะเห็นได้ว่าโดยฐานนิยามของ “เหตุพิเศษ” ตั้งแต่ในระเบียบกระทรวงศึกษาฯ ฉบับแรก เจาะจงให้หมายถึงสถานการณ์ที่เกิดจากภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งจะทำให้สถานศึกษาไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ แม้ได้เพิ่มเติมนิยามในระเบียบกระทรวงศึกษาฯ ฉบับใหม่แล้ว ก็ให้ความหมายในลักษณะหมายถึงสาธารณภัยที่จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของสาธารณะ ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติหรือบุคคล

จากการสืบค้นจะพบว่าที่ผ่านมา การอ้างเหตุพิเศษในการปิดสถานศึกษา จึงเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ เป็นหลัก เช่น สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ  ทำให้ไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ หรือสถานการณ์พายุฝนทำให้น้ำท่วมและถนนชำรุด กระทบต่อการเดินทางมาเรียน หรือสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างรุนแรง ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียน หรือล่าสุดคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับประเทศ เมื่อเดือนมี.ค. 63 ก็มีการระบุให้เป็นเหตุพิเศษในการประกาศปิดสถานศึกษาได้

การสั่งปิดสถานศึกษา โดยอ้าง “เหตุพิเศษ” มาจากนักเรียนในโรงเรียนของตนเองจัดกิจกรรมการชุมนุมสาธารณะ แม้อาจจะมีคนภายนอกเข้าร่วมด้วย จึงน่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่น่าจะเข้าข่ายเป็น “เหตุพิเศษ” ที่ใช้กล่าวอ้างในการปิดโรงเรียนชั่วคราวได้ ภายใต้ระเบียบกระทรวงศึกษาฉบับนี้

นอกจากนั้น การอ้างเหตุพิเศษเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนและหลีกเลี่ยง “ปัญหา” ที่อาจเกิดขึ้นลักษณะนี้ ขณะที่โรงเรียนแต่ละแห่งดังกล่าว ก็ยังไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “ปัญหา” ที่อาจเกิดขึ้นคืออะไร อันเป็นเหตุให้ปิดสถานศึกษาได้ และยังมีปัญหาอย่างยิ่งในด้านสมมติฐานตั้งแต่ต้นของผู้บริหารโรงเรียน คือทำให้เสมือนว่าการชุมนุมของนักเรียนที่จะเกิดขึ้นมีความไม่ปลอดภัย หรือจะมีความรุนแรงลักษณะต่างๆ เกิดขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีการสั่งปิดสถานศึกษา ซึ่งขัดแย้งกับสมมติฐานที่ควรจะถือว่าการชุมนุมโดยพื้นฐานของนักเรียนจะเป็นไปได้สงบสันติ และยังถือได้ว่าเป็นการไม่เคารพต่อเสรีภาพในการชุมนุมของนักเรียน ซึ่งได้รับการรับรองทั้งตามรัฐธรรมนูญไทยและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบัน 

 

กิจกรรม #ทุบกะลาตาสว่าง นักเรียนต้องย้ายไปจัดพื้นที่ด้านหน้าโรงเรียนบดินทรเดชาซึ่งอยู่ภายนอกประตูโรงเรียนแทน

 

โดยหลักการแล้ว โรงเรียนต้องเปิดพื้นที่ให้นักเรียนในการแสดงออก โดยมีสันนิษฐานเป็นเบื้องต้นว่าการแสดงออกหรือการชุมนุมนั้นๆ จะเป็นไปโดยสงบสันติ และจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยภายในโรงเรียนในการแสดงออกของนักเรียน แต่หากมีเหตุการณ์ที่รุนแรงหรือไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดแจ้ง จึงจะมีมาตรการระงับเหตุเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนได้

การอ้างปิดสถานศึกษาในลักษณะนี้ยังมีความย้อนแย้งอย่างมากอีกด้วย เพราะผลักดันให้นักเรียนยุติกิจกรรมลง เพราะโรงเรียนไม่เปิดพื้นที่ให้ใช้ หรือไม่ก็ผลักดันให้นักเรียนย้ายสถานที่จัดกิจกรรมไปอยู่ภายนอกโรงเรียน ซึ่งยิ่งอาจเพิ่มความไม่ปลอดภัยให้กับนักเรียนมากขึ้น ทั้งยังเกี่ยวกับเนื่องกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดในตัวบทว่าไม่บังคับใช้ในพื้นที่สถานศึกษา แต่หากจัดในพื้นที่สาธารณะภายนอกสถานศึกษา จะทำให้กฎหมายชุมนุมสาธารณะนี้ อาจส่งผลต่อนักเรียนผู้จัดการชุมนุมในลักษณะต่างๆ ได้

การกล่าวอ้าง “เหตุพิเศษ” ในการสั่งปิดสถานศึกษาของโรงเรียนต่างๆ จากเหตุการณ์จัดกิจกรรมชุมนุมของนักเรียนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ จึงนอกจากจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน ยังเสมือนเป็นการปัดความรับผิดชอบของโรงเรียนในการดูแลนักเรียนของตนไปให้พ้นตัว แทนที่จะสร้างความปลอดภัยและป้องกันภยันตรายให้กับนักเรียนให้เกิดขึ้นจริง ตามที่ประกาศปิดสถานศึกษาดังกล่าวกล่าวอ้าง

 

 

X