“ที่สำคัญคนที่ออกมาคือกลุ่มวัยรุ่นทั้งนั้น ผมถามน้องๆ นิสิตนักศึกษาว่า ถ้าวันหนึ่ง คนที่มันผิดหวัง คนที่ยั่วยุปลุกปั่น คนที่ใช้โซเชียล คนที่ใช้การโฆษณา propaganda มาปั่นสมองน้องๆ ให้ออกมาแบบฮ่องกง น้องๆ จะออกมาไหมครับ”
นั่นคือส่วนหนึ่งของคำบรรยายพิเศษของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ในหัวข้อเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกล่าวเชื่อมโยงการชุมนุมในฮ่องกง ที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและกลุ่มคนรุ่นใหม่ เข้ากับสถานการณ์ของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย
พล.อ.อภิรัชต์ ยังกล่าวถึงกลุ่มวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่นี้ ว่าเป็น “กลุ่มที่มีความอ่อนไหวมาก” และอ้างว่านักศึกษาหรือนักเรียนที่ตนเคยพบ ไม่รู้ “ความจริง” ทางการเมือง ทั้งเนื่องจากความไม่สนใจ หรือการมีกระบวนการทำให้ข้อเท็จจริงหายไป หรือค้นหาได้ยาก เช่น กรณี “การเผาบ้านเผาเมือง” เมื่อปี 2552-53 เป็นต้น (ดูการถอดคำบรรยายฉบับเต็มได้ในรายงานสำนักข่าวประชาไท)
ความเข้าใจของผู้นำของกองทัพเช่นนี้ ทำให้ดูเหมือนว่า “คนรุ่นใหม่” หรือกลุ่มนักเรียนนักศึกษา จะกลายเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” หนึ่งของกองทัพ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้าน “ความมั่นคง” และ “สงครามข้อมูลข่าวสารและการโฆษณาชวนเชื่อ” ในประเทศไทยด้วย ดังที่หลายบทตอนในคำบรรยายของ ผบ.ทบ. ดังกล่าว มีลักษณะมุ่งสื่อสารกับคนกลุ่มนี้โดยตรง และผู้ที่ถูกเชิญเข้าฟังบรรยายดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็ยังเป็นนิสิตนักศึกษาด้วย
ความเข้าใจดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องมุมมองของผู้บัญชาการทหารบกเท่านั้น แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ยังปรากฏปฏิบัติการของกองทัพเอง ในลักษณะการจัดตั้งมวลชนที่เน้นไปที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาโดยตรง ในนามของโครงการ “กตัญญูคลับ” ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารในแต่ละพื้นที่กำลังดำเนินการในการจัดตั้งกลุ่มชมรมในมหาวิทยาลัยขึ้น ภายใต้งบประมาณของงานด้านกิจการพลเรือนของกองทัพบก
รายงานชิ้นนี้ชี้ชวนพิจารณาความเคลื่อนไหวดังกล่าว จากรายงานข่าวที่ปรากฏออกมา เพื่อชี้ให้เห็นปฏิบัติการรุกคืบของกองทัพที่กำลังดำเนินอยู่ในพื้นที่ของสถาบันอุดมศึกษา
กตัญญูคลับ: ความร่วมมือของมทบ.–มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ “โครงการกตัญญูคลับ” นี้ เริ่มปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา และมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการป้องกันการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้กรมกิจการพลเรือนทหารบก งบประมาณการดำเนินโครงการจึงมาจากกองทัพบกเป็นหลัก
ตราสัญลักษณ์ของโครงการกตัญญูคลับ
เนื้อหาโครงการถูกระบุว่าเป็นโครงการระหว่างกองทัพและสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันตั้งชมรมและทำกิจกรรม ที่แสดงให้เห็นถึงความมีกตัญญู ของเยาวชนคนไทยทั้งหลายต่อสถาบันหลัก 4 สถาบัน หรือ “4 เสาหลัก” ได้แก่ บิดามารดา คณาจารย์ ชาติ/บรรพบุรุษ และสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งส่งเสริมการทำกิจกรรมจิตอาสาที่เป็น “ประโยชน์” ต่อชุมชน ชาติ และสถาบันด้วย
รูปแบบการดำเนินการ คือมณฑลทหารบกต่างๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศ จะเข้าจัดทำความร่วมมือกับสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่างๆ ให้มีการจัดตั้ง “ชมรมกตัญญูคลับ” ขึ้นในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ของมณฑลทหารบกนั้นๆ และยังสร้างให้เกิด “เครือข่ายกตัญญูคลับ” ที่เชื่อมโยงนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าด้วยกัน
โครงการมีเป้าหมายจำนวน 35 สถานศึกษาอุดมศึกษาทั่วประเทศ และบางมหาวิทยาลัยมีการรายงานถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่เป็นทางการระหว่างมณฑลทหารบกกับมหาวิทยาลัยด้วย
การลงนามข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งชมรม “กตัญญูคลับสาเกตนคร” ระหว่างผู้บริหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กับผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 (ภาพจากเว็บไซต์ มทบ.27)
การเปิดตัวชมรมกตัญญูคลับที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 62 มีทั้งผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เข้าร่วม (ภาพจากสยามโฟกัสไทม์)
การเปิดตัวชมรมในแต่ละมหาวิทยาลัย ทางเจ้าหน้าที่ทหาร นำโดยผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการของมณฑลทหารบกในพื้นที่ จะเป็นผู้เดินทางมาเป็นประธาน พร้อมกับผู้บริหารของสถาบันการศึกษานั้นๆ ถึงในมหาวิทยาลัย และมีการจัดการอบรมเรื่องความกตัญญูต่อสถาบันทั้งสี่ดังกล่าว รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ด้านจิตอาสา 904 วปร. ให้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่เข้าฟัง โดยวิทยากรอาจเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ทหารเอง หรือนักพูด/วิทยากรอบรมในเครือข่ายของกองทัพ
จากรายงานข่าวของกิจกรรมในแต่ละมหาวิทยาลัย มีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมการเปิดตัวดังกล่าวราว 100-200 คน โดยมีการแจกจ่ายเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของชมรม
กลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้น เท่าที่พิจารณาจากรายงานข่าวในพื้นที่ต่างๆ มาจากทั้งการเปิดรับสมัครโดยกองกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เอง, การดำเนินการผ่านสภานักศึกษา สโมสรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยหรือของคณะต่างๆ หรือนักศึกษาที่เข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) โดยที่การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร และยังมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาของชมรม ซึ่งอาจเป็นทั้งอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือครูฝึกนักศึกษาวิชาทหารอีกด้วย
ประกาศประชาสัมพันธ์ผ่านเพจ “วินัยนักศึกษา มข.” เปิดรับนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมโครงการกตัญญูคลับ ภายใต้ความร่วมมือของม.ขอนแก่น กับ มทบ.23
ตัวอย่างการเปิดตัวชมรมที่น่าสนใจ เช่น ชมรมกตัญญูคลับที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 62 รายงานข่าวระบุว่ามีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 237 คน โดยมีนายทหารยศพันโท ซึ่งเป็นผู้บังคับการหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ของมณฑลทหารบกที่ 37 พร้อมครูฝึกจากหน่วยฝึก จำนวน 7 นาย เป็นที่ปรึกษาของชมรม ในการบรรยายเปิดตัวหัวข้อ “กตัญญู กตเวที” ได้มีการเชิญนายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ มาเป็นวิทยากร ร่วมกับผู้บัญชาการมทบ.37 ที่มาเป็นผู้กล่าวเปิดชมรมด้วย
สถาบันการศึกษาที่มีการเปิดตัวชมรมแล้ว เท่าที่ปรากฏเป็นข่าว อาทิเช่น มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ร่วมกับ มทบ.14, มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี ร่วมกับ มทบ.16, มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ มทบ.23, มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด ร่วมกับ มทบ.27
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ร่วมกับ มทบ.31, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับ มทบ.33, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ร่วมกับ มทบ.36, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมกับ มทบ.37, มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ มทบ.39, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ ร่วมกับ มทบ.43 เป็นต้น
ภาพการปฐมนิเทศและเปิดตัวชมรมกตัญญูคลับ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีศิลปินแห่งชาติเข้าร่วมบรรยาย (ภาพจากเชียงรายนิวส์)
ภาพการเปิดตัวชมรมกตัญญูคลับที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 62 (ภาพจาก Policemagazine24)
เอกสารเชิญคณาจารย์เข้าร่วมพิธีเปิดชมรมกตัญญูคลับ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค๋ (ภาพจากเว็บไซต์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์)
แต่ละชมรมในมหาวิทยาลัยต่างๆ อาจมีการกำหนดชื่อชมรมของตนเอง เพื่อบ่งบอกมหาวิทยาลัยและพื้นที่ของ มทบ. และมีการเปิดเพจเฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารเรื่องกิจกรรมอีกด้วย อาทิเช่น “ชมรมกตัญญูบูรพา 14 คลับ” ที่มหาวิทยาลัยบูรพา, “ชมรมกตัญญูคลับ @เพชรบูรณ์ 36” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์, “ชมรมกตัญญูคลับ PSRU” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, “ชมรม NSRU กตัญญูคลับ” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เป็นต้น
นักศึกษากับทหาร ทำกิจกรรมร่วมกันเดือนละ 1-2 ครั้ง
นอกจากการจัดเปิดตัวชมรมแล้ว มณฑลทหารบกและชมรมกตัญญูคลับในมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังมีการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยชมรมของบางมหาวิทยาลัยระบุว่าจะจัดให้มีกิจกรรมทุกๆ เดือน เดือนละ 1-2 ครั้ง โดยลักษณะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างนิสิตนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ทหาร มีการระบุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการลักษณะนี้ ว่า “นอกจากจะเป็นการปลูกฝังเรื่องของความกตัญญูแล้ว ยังทำให้สมาชิกชมรมมีความสมัครสมานสามัคคี รวมถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทหารกับเยาวชน”
จากการสืบค้นกิจกรรมของชมรมในมหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ พบว่ามีทั้งกิจกรรมในลักษณะ “จิตอาสา” ในลักษณะกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ หรือกิจกรรมส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ, กิจกรรมรณรงค์การงดใช้ถุงพลาสติก, กิจกรรมทำความสะอาด เก็บขยะ หรือพัฒนาแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น
หรือการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การจัดงานทำบุญร่วมกัน และรับฟังธรรมะจากพระสงฆ์, การจัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 หรือแม้แต่การเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่จากโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. อาทิ การร่วมบรรจุสิ่งของเครื่องอุปโภค-บริโภค เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจาก “พายุโพดุล” หรือเข้าร่วมกิจกรรม “จิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ”
กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ ของชมรมกตัญญูคลับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วม 20 คน และมีกำลังพลทหารเข้าร่วม 10 นาย (ภาพจากดีดีโพสต์นิวส์)
กิจกรรมแสดงออกถึงความกตัญญูต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ของชมรมกตัญญูคลับ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีหัวหน้ากองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 14 เป็นประธานในพิธี (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมในลักษณะของการที่แต่ละพื้นที่ ส่งตัวแทนของชมรม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เข้าร่วมกิจกรรมของทางกองทัพ เช่น กิจกรรมของโครงการ “ปลูกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน” ซึ่งเป็นกิจกรรมด้านกิจการพลเรือนของกองทัพบก โดยในการเปิดนิทรรศการและมอบรางวัลของโครงการนี้เมื่อเดือนกันยายน 2562 ทางมณฑลทหารบกต่างๆ ก็ได้ให้ตัวแทนนักศึกษาจากชมรมกตัญญูคลับของมหาวิทยาลัยต่างๆ เดินทางไปเข้าร่วมที่กองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพมหานครด้วย
ภาพตัวแทนของชมรมกตัญญูคลับจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมโครงการ “ปลูกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ปีที่ 8” ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 62 (ภาพจากเว็บไซต์ดีดีโพสต์นิวส์)
การรุกคืบด้านกิจการพลเรือนของกองทัพ สู่ “มหาวิทยาลัย”
โครงการกตัญญูคลับดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงการดำเนินการของกองทัพในการพยายามจัดตั้งกลุ่มนิสิตนักศึกษา รวมทั้งความพยายามปลูกฝังความคิดหรืออุดมการณ์แบบของกองทัพ ต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบ
การดำเนินการจัดตั้งมวลชนฝ่ายพลเรือนของกองทัพนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นมรดกสำคัญที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ในยุคสงครามเย็น โดยนอกจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีบทบาทในการจัดตั้งมวลชนของตนเอง ให้กลายมาเป็นกลไกที่ทำงานให้กับรัฐแล้ว ภายในกองทัพบกเอง งานด้านกิจการพลเรือนก็ค่อยๆ ถูกสถาปนาอย่างเป็นระบบนับแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมาเช่นกัน
กองทัพบกได้มีการจัดตั้งกรมการกำลังพลสำรองขึ้น ในปี 2513 โดยมอบหมายให้รับผิดชอบงานกิจการพลเรือนด้วย เช่น งานการช่วยเหลือประชาชน และการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมือง จนกระทั่งปี 2525 จึงได้มีการจัดการงานด้านนี้ใหม่ ผ่านการตั้งกรมกิจการพลเรือนทหารบกขึ้นโดยตรง กรมนี้มีฐานะเป็นกรมฝ่ายเสนาธิการกรมหนึ่ง รับผิดชอบงานด้านการปฏิบัติการกิจการพลเรือน การปฏิบัติการจิตวิทยา การประชาสัมพันธ์ และการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมือง
ระหว่างความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน กรมกิจการพลเรือนทหารบกมีการดำเนินการโครงการอย่าง “โครงการปลูกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน” ตั้งแต่ปี 2555 โดยระบุวัตถุประสงค์เรื่องการช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดจากการแตกแยกทางความคิดในสังคม ผลักดันให้คนไทยมีจิตสำนึกแห่งความกตัญญูรู้คุณต่อแผ่นดิน และจงรักภักดีต่อสามสถาบันหลัก ได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
โครงการนี้ในแต่ละปีจะมีแนวคิดประจำปี และมีกิจกรรมต่างๆ ที่ทางกองทัพเข้าไปดำเนินการร่วมกับพลเรือน เช่น การเชิญนักพูดหรือผู้มีชื่อเสียงมาบรรยายตามแนวคิดของโครงการ, การจัดนิทรรศการต่างๆ, การประกวดภาพวาด-ภาพยนตร์สั้น, มีการนำดารานักร้องมาเป็นบุคคลต้นแบบ เป็นต้น
ในปี 2562 นี้ โครงการ “ปลูกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน” ถูกดำเนินการเป็นปีที่ 8 ภายใต้แนวคิด “We Do Volunteer ทำให้ ด้วยใจ” โดยโครงการถูกระบุเรื่องเน้นการสร้างมวลชนที่มีความคิดบวกต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งการสร้างจะเริ่มตั้งแต่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ในระดับประถมศึกษา, ระดับมัธยมศึกษา, ระดับอุดมศึกษา (ดูในรายงานข่าว)
การเปิดโครงการ “ปลูกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ปีที่ 8” เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 62 โดยโครงการมีเป้าหมายสร้างมวลชนคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดบวกต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)
จะเห็นได้ว่าทั้งเป้าหมายในปีนี้ของโครงการนี้ และการดำเนินการโครงการกตัญญูคลับภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ล้วนเจาะจงไปที่ “การสร้างมวลชน” ในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างมาก
ก่อนหน้านี้ กองทัพอาจยังไม่ถึงกับจัดตั้งมวลชนกลุ่มนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบมากนัก แต่การดำเนินในลักษณะโครงการกตัญญูคลับนี้ได้ชี้ให้เห็นความพยายามจัดตั้งกลุ่มมวลชน ในลักษณะเป็นกลุ่มชมรมภายในมหาวิทยาลัย แต่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานของทหารเอง และมีการผลักดันให้มีการร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ กับทางทหารและเจ้าหน้าที่รัฐ
คำถามสำคัญคือการดำเนินการในลักษณะการสร้างมวลชนของตนเอง และการนำเอาอุดมการณ์แบบของกองทัพเข้าไปในพื้นที่ที่อย่างมหาวิทยาลัย สมควรเป็นบทบาทของกองทัพในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และในทางกลับกัน พื้นที่อย่างมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคุณค่าสำคัญเรื่องเสรีภาพทางความคิด และความมีอิสระในการเรียนรู้ สมควรให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปดำเนินโครงการในลักษณะนี้หรือไม่