22 ตุลาคม 2562 หลังจากที่ทาง สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักแปลด้านการงาน และยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้ตีพิมพ์บทความเพื่อชี้แจงและแสดงความขอโทษต่อการเลือกใช้คำที่ไม่เหมาะสมในการวิพากย์วิจารณ์ศาลฎีกา ซึ่งทั้งสองได้ตกลงเรื่องข้อชี้แจงดังกล่าวแล้วกับทางโจทก์ สุประดิษฐ์ จีนเสวก อดีตเลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาในนัดพร้อมเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยสฤณี จำเลยที่หนึ่ง ได้ลงบทความในสื่อของกรุงเทพธุรกิจทั้ง 2 ทาง โดยได้โพสต์บนสื่อออนไลน์เป็นเวลาติดต่อกัน 7 วัน และลงในฉบับตีพิมพ์เป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน
>> คดีสฤณี: 2 ผู้ถูกกล่าวหายินยอมลงแถลงขอโทษ ด้านอดีตเลขาฯ ศาลยอมรับคำชี้แจง
>> ความคืบหน้าคดีสฤณี: ศาลฎีกาเลื่อนไต่สวน นัดพิจารณาใหม่ 11 ต.ค.
เมื่อตรวจพบว่าได้มีการตีพิมพ์ตามที่ระยะเวลาที่ตกลงไว้ ทางผู้กล่าวหาจึงขอให้ศาลทำการพิจารณาพร้อมกับยื่นหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจจำนวน 4 ฉบับ ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในสำนวน หลังจากที่ได้รับสำนวนไว้ ศาลได้มีคำสั่งหลังได้พิจารณาแล้ว โดยเห็นว่าทางจำเลยทั้งสองรู้สึกสำนึกผิดแล้วในการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม และได้ทำการเผยแพร่บทความชี้แจงเพื่อแสดงความขอโทษผ่านทางสื่อทั้งสองช่องทางของกรุงเทพธุรกิจจนเป็นที่พอใจของทางผู้กล่าวหา จึงไม่สมควรที่จะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้ต่อ จึงมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดี และจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ
>> แผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาออกหมายเรียกสฤณีฐานละเมิดอำนาจศาล
>> ว่าด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล: มาตรการเพื่อสร้างสถิตความยุติธรรม หรือคือเครื่องมือทางการเมือง
มูลเหตุแห่งคดี
คดีละเมิดอำนาจศาลนี้เริ่มต้นจากการตีพิมพ์บทความที่ชื่อ “อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที): กรณี “หุ้นสื่อ” ของผู้สมัคร ส.ส.” โดย สฤณี อาชวานันทกุล ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 14 พ.ค. 62 โดยในบทความดังกล่าวมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ต่อกรณีที่มีคำสั่งถอนชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสกลนคร จากพรรคอนาคตใหม่ จนเป็นเหตุให้ทางอดีตเลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา สุประดิษฐ์ จีนเสวก ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับทางสฤณีและยุทธนา
อ่านเพิ่มเติม:
10 เรื่องควรรู้ว่าด้วยข้อหา “ดูหมิ่นศาล”
สถานะ ‘ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ กับหลักสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความอาญาสมัยใหม่
ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย