รอมฎอน ปันจอร์: “การใช้ภาษาด้านความมั่นคง เพื่อสร้างบทสนทนาในการปฏิรูปกองทัพ”

29 ตุลาคม 2562 เวลา 18.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเสวนา “หยุด ย่ำ ซ้ำ รอยเดิม” เพื่อเปิดตัวหนังสือ “ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร: ทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

สามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังสือได้ที่ https://tlhr2014.com/?wpfb_dl=112

หลังการแนะนำหนังสือ ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือและข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร โดยมีวิทยากร คือ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และรอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ดำเนินรายการโดย ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านคำอภิปรายของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=14254

และคำอภิปรายของเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=14269

 

ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ทดลองของกองทัพ ก่อนขยายเครื่องมือในระดับประเทศ

รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงหนังสือข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหารเป็นบันทึกที่น่าจะเป็นคุณูปการไม่ใช่แต่ในห้วงปัจจุบัน แต่จะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญในอนาคตด้วย ว่าตอนนี้เราเจอกับความวิปริตอะไรบ้าง

รอมฎอนกล่าวถึงสถานการณ์ในชายแดนใต้ ที่กินระยะเวลาถึง 15 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งก็เกิดภาวะวิปริตเยอะมากเหมือนกัน เมื่อพิจารณาข้อเสนอของศูนย์ทนายฯ จากสายตาของคนทำงานภาคใต้ ทำให้นึกทวนว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่มันวิปริตในสังคมไทยในหลายปีที่ผ่านมา มันดูเหมือนกับว่าในชายแดนใต้หรือในภูมิภาคปัตตานี มันเป็นพื้นที่นำร่อง เป็นพื้นที่ทดลองเครื่องมือบางอย่าง เป็นพื้นที่ทดลองการใช้อำนาจที่มันวิปริตเหล่านั้น ก่อนที่มันจะขยายลุกลามมาใช้จริงในระดับประเทศ พูดอีกแบบคือคนในชายแดนใต้ต้องเจอความซวยก่อนเพื่อน แล้วคนทั้งประเทศก็ตามมาซวยในระดับชาติ

รอมฎอนกล่าวถึงคำอภิปรายของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่บอกว่าเรื่องวิปริตที่สุดเรื่องหนึ่ง คือหัวหน้า คสช. ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีชายแดนใต้มีเรื่องน่าสนใจคือเจ้าหน้าที่รัฐ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เจ้าหน้าที่ที่ถืออาวุธ พูดหลายครั้งว่าตนเองไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งในความขัดแย้งที่ถึงตาย ทั้งที่คนตายตอนนี้มากกว่า 7,000 คน เพราะฉะนั้นเรื่องภาษาสำคัญมากๆ เพราะมันเฟรมความคิดเรา ตีกรอบให้ว่าเราจะคิด มองปัญหาอย่างไร และจินตนาการถึงทางออกอย่างไรด้วย  สิ่งที่รัฐไทยทำในชายแดนใต้ จุดแข็งอันหนึ่งไม่ใช่เรื่องการใช้กำลัง แต่คือการตีกรอบให้คนเห็นปัญหา และก็บังไม่ให้เห็นบางอย่าง

 

การปฏิรูปกองทัพ กับมิติเชิงอุดมการณ์

รอมฎอนกล่าวว่าเมื่ออ่านงานข้อเสนอเหล่านี้ ตนพบว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดึงเรื่องความมั่นคง ให้กลับมาสู่มือของพลเรือน คือข้อเสนอส่วนใหญ่ของศูนย์ทนายฯ เป็นข้อเสนอทางเทคนิค เป็นเรื่องข้อกฎหมาย มันเหมือนช่าง คือรถคุณมีปัญหา ต้องแก้ที่กลไกบางอย่าง เช่น เสนอว่ารัฐธรรมนูญบางอย่างที่ให้การรับรอง คสช. ต้องแก้ตรงนั้น กฎหมายบางอย่างมีปัญหาต้องแก้ หรือต้องยกเลิก

แต่ว่ามันมีอีกมิติ ที่ในรายงานก็พูดถึงอยู่บ้าง คือมิติเชิงอุดมการณ์ พูดถึงกระบวนการ Militarization การทำให้แนวทางทางการทหารครอบงำสังคมไทย ซึ่งอันนี้กรณีชายแดนใต้จะชัดเจนมาก และมันยังมีผลต่อกระบวนการทางการเมือง อย่างการเจรจาสันติภาพด้วย มันถูกทำให้กลายเป็นเรื่องทหาร เรื่องยุทธวิธี

แม้กระทั่งเรื่องการเยียวยา ซึ่งในชายแดนใต้มีการใช้มาตรการเยียวยามาตั้งแต่แรกๆ ซึ่งก็เป็นคุณูปการอันหนึ่งในการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม คือทำให้กลไกของรัฐตอบสนองต่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่มันถูก politicize ถูกใช้งานเพื่อหวังประโยชน์ในทางการเมือง เพื่อหวังสถาปนาความภักดีต่อฝ่ายรัฐ และต่อต้านฝ่ายตรงข้าม

รอมฎอนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรม การเยียวยา กระบวนการเจรจา กระบวนการต่างๆ ที่ถูกใช้โดยรัฐทหาร มันถูกมองผ่านสายตาของทหาร คือหนึ่ง กำหนดว่าภัยคุกคามคืออะไร และกำหนดว่าข้าศึกคืออะไร มันจึงไม่แปลกที่จะมีแผนผังต่างๆ อันนี้คือวิธีการที่จะกำหนดฝ่ายตรงกันข้าม จริงหรือไม่จริง ไม่รู้ แต่เป็นวิธีการแบบทหาร ที่ต้องกำหนดว่าเรากำลังเผชิญกับภัยคุกคามแบบไหน แล้วทำให้เขาได้แรงสนับสนุน ตรรกะแบบนี้ได้ครอบงำวิธีการแก้ไขปัญหา

ในชายแดนใต้ ได้มีการทดลองใช้สิ่งเหล่านี้มาอย่างน้อยตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 ซึ่งในเนื้อหาของรายงานศูนย์ทนายฯ ก็พูดย้อนกลับไปถึงพัฒนาการที่กองทัพขยายบทบาทเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง หรือในกิจการของพลเรือน ทั้งการผ่านพ.ร.บ.การจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ไปถึงการออกพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ปี 51 ทั้งหมดนี้มันเป็นการสะสมกำลัง และเป็นการทดลองในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยหนึ่งในบรรดาเหตุผลการออก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และการฟื้นกอ.รมน. ปี 2551 ก็คือการเผชิญภัยคุกคามในชายแดนใต้

 

มรดกของ คสช. ต่อปัญหาชายแดนใต้

รอมฎอนระบุว่าแม้ในงานชิ้นนี้ได้ออกตัวไว้ว่าไม่ได้แตะเรื่องชายแดนใต้โดยตรง แต่มีมรดกของ คสช. ที่เปลี่ยนหลายเรื่องในชายแดนใต้ด้วยเหมือนกัน เช่น คำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ก็ไม่ค่อยถูกอ้างถึงเท่าไร แต่มันสะท้อนถึงความไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองของรัฐทหารด้วย คือการให้ยกเลิกการดำรงอยู่ของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสภานี้คนไม่ค่อยรู้จัก เพราะมันมีชีวิตอยู่จริงๆ 2-3 ปี หลังจากมีพ.ร.บ.การบริหารชายแดนภาคใต้ ปี 2553  สะท้อนการต่อสู้กันระหว่างกองทัพกับฝ่ายการเมือง ที่มีมาตลอดตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 49

รัฐบาลประชาธิปัตย์พยายามจะฟื้นคืน ศอ.บต. ให้มีน้ำหนัก บาลานซ์กับ กอ.รมน. ที่มีกฎหมายปี 51  พูดอีกอย่างคือหลังปี 53 เรามีหน่วยงานที่ดูแลปัญหาในชายแดนใต้มีสองเสาหลัก และบาลานซ์กัน คือ ศอ.บต.เป็นเหมือนพลเรือน เน้นการพัฒนา  กอ.รมน. เป็นหน่วยงานความมั่นคง หลังปี 57 คสช. ลดบทบาทของศอ.บต. ให้ไปอยู่ใต้  กอ.รมน. ด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559

ในขณะเดียวกัน คุณูปการหนึ่งของปี 53 คือ การสร้างสภาที่ปรึกษาฯ เป็นตัวแทนของประชาชนที่ผ่านการคัดสรรจากกลุ่มอาชีพ กลายเป็นพื้นที่ช่องทางให้เสียงของผู้คนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ได้สะท้อนออกมา และมีอำนาจทั้งการให้การเห็นชอบกับนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การให้ความเห็นในการโยกย้ายข้าราชการที่ประพฤติไม่ดี อำนาจสูงมาก แต่ในยุค คสช. กลไกเหล่านี้ถูกตัดออกไป และสร้างกลไกใหม่ขึ้นมาเป็นข้อต่อระหว่างศูนย์กลางอำนาจ กับพื้นที่สามจังหวัดฯ

 

การประเมินความสามารถในการแก้ไขปัญหาของกองทัพ และความกล้าหาญในการเผชิญปัญหา “ความเป็นไทย”

รอมฎอนเสนอว่าการจัดการกองทัพให้อยู่ในร่องในรอย จำเป็นต้องพิจารณาสองเรื่อง ถ้ามองจากปัญหาชายแดนใต้ขึ้นมา หนึ่งคือความสามารถในการคลี่คลายปัญหา ความสามารถที่จะบรรลุความสำเร็จในประเด็นปัญหาที่กองทัพทำ และสอง คือเรื่องความกล้าหาญ

เราต้องมีการถกเถียงเรื่องนี้ในพื้นที่สาธารณะว่าตกลงแล้วปัญหาที่กองทัพเผชิญ และถูกมอบหมายให้จัดการ มันเวิร์คหรือเปล่า มันคลี่คลายปัญหาได้หรือไม่  ในกรณีชายแดนใต้ กลไกต่างๆ กฎหมาย ทรัพยากร งบประมาณ กำลังพล ที่ทุ่มเทมาตลอด 15 ปี ตัวชี้วัดที่สำคัญคือเหตุการณ์ลดลง แต่เสียงของผู้คนจำนวนมากในพื้นที่เวลานี้ ก็ประเมินว่าความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย กองทัพหรือรัฐบาลได้กดสภาพปัญหาเอาไว้ไม่ให้ปรากฎ รวมทั้งการใช้ถ้อยคำด้วย ความขัดแย้งที่เป็นรากเหง้าของปัญหาทางการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนาน ยังไม่ได้ถูกจัดการ ยังไม่นับปัญหาการละเมิดสิทธิ ความเป็นธรรมอีกมากมาย ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างจริงจัง

ในเรื่องความกล้าหาญ รอมฎอนเห็นว่า เรามีความจำเป็นต้องทบทวนว่าตกลงแล้ว เราต้องการความกล้าหาญในการจัดการกับปัญหาในชายแดนใต้นี้ยังไง มีข้อสังเกตคือว่าต่อให้มีทรัพยากร มีอำนาจเยอะ แต่รัฐไทยที่นำโดยทหาร ไม่มีทั้งความสามารถและความกล้าหาญพอที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง คือความขัดแย้งที่ยาวนานหลายทศวรรษ ต้องการการเผชิญกับรากเหง้าของปัญหา ที่แน่นอนว่าอาจต้องแตะกับเรื่อง “ความเป็นไทย” แต่เพดานที่กองทัพไทยให้ ไม่กล้าที่จะเผชิญกับสิ่งนี้  บทเรียนในที่อื่นๆ คือคนที่กล้าจะเผชิญสิ่งนี้ ต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมืองแบบพลเรือน มีแต่ความกล้าหาญแบบพลเรือนเท่านั้น ที่จะหยิบยกเรื่องนี้ได้

การใช้ภาษาด้านความมั่นคง เพื่อสร้างบทสนทนาในการปฏิรูปกองทัพ

รอมฎอนเห็นว่า ถ้าไปไกลกว่าเรื่องกลไกกฎหมายต่างๆ แล้ว จำเป็นต้องหนุนเสริมให้เสียงการตั้งคำถามเหล่านี้ปรากฎขึ้น คำถามคือปรากฏได้ที่ไหนบ้าง พื้นที่หนึ่งคือพื้นที่แบบรัฐสภา ในข้อเสนอหนังสือเล่มนี้ก็ได้พูดถึงการให้บทบาทมากขึ้นของรัฐสภา ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของกองทัพ และยังจำเป็นต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ หรือแง่มุมของพลเรือน ในการจะเข้าไปถกเถียง

“อาจารย์เบญจรัตน์เสนอว่าเราสามารถสนทนาเรื่องแบบนี้ ผ่านภาษาแบบสิทธิมนุษยชน จำเป็นเหมือนกัน แต่ผมอยากจะเสนอต่อสาธารณะ ทั้งสื่อมวลชนและคนที่ทำงานเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง คืออาจจำเป็นจะต้องใช้ภาษาด้านความมั่นคง เพื่อที่จะประเมินฝ่ายความมั่นคงเอง คือต้องเข้าไปสนทนากับเขา เพราะถ้าเกิดข้อเสนอเหล่านี้จะมีผล จะมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ คือมันเป็นข้อเสนอการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงจากข้างใน ผมก็ยังเชื่อว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ มีความไม่พอใจอยู่เยอะ ในแวดวงฝ่ายความมั่นคงเอง เพราะมันเกี่ยวพันกับความกล้าหาญและเกียรติภูมิของกองทัพด้วย”

รอมฎอนเสนอว่าจำเป็นต้องเฟ้นหาฝ่ายที่ก้าวหน้าและฝ่ายที่เห็นปัญหานี้ ในหน่วยงานความมั่นคงเอง และวิธีการหนึ่ง เราต้องพูดในภาษาเดียวกับเขา พูดในภาษาที่จะสามารถสื่อสาร และเสริมกำลังกับฝ่ายที่ก้าวหน้าในกลไกความมั่นคงเหล่านี้ อันนี้ยังเป็นสิ่งที่ขาดไป เพราะหนังสือเล่มนี้มาจากมุมของคนทำงานด้านสิทธิฯ ซึ่งก็ไม่เป็นไร แต่สิ่งที่ต้องทำมากขึ้น คือการหนุนเสริมพลังของฝ่ายที่ก้าวหน้าในฝ่ายความมั่นคง

 

ความจำเป็นของการยกเลิกกฎอัยการศึก

รอมฎอนยังกล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะทุกการรัฐประหารมักประกาศกฎอัยการศึก ในชายแดนใต้ก็ใช้กฎอัยการศึกนานกว่าเพื่อน กฎหมายนี้มันตั้งแต่ปี 2457 หลายคนบอกว่าต้องแก้ไข ข้อเสนอในหนังสือบอกว่าต้องยกเลิก ซึ่งตนเห็นด้วย แต่ในกรณีชายแดนใต้ ได้มีการห้ามใช้การอธิบายสถานการณ์ชายแดนใต้ว่าเป็น “ความขัดแย้ง” ความขัดแย้งกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ประชาคมความมั่นคงไทย ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา คือมีคำสั่งจาก ทบ. ลงไป เมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคม 2552 สั่งให้ทุกหน่วยอย่าใช้คำว่า “ความขัดแย้ง” อย่าเอ่ยถึง BRN และให้เปลี่ยนจากการใช้คำว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” ไปเป็นคำว่า “ผู้ก่อเหตุรุนแรง”

ประเด็นคือสำหรับกองทัพ คำว่า “ความขัดแย้ง” จะทำให้เกิดการยกระดับฝ่ายตรงข้ามและสถานการณ์ และทำให้ประเด็นปัญหาชายแดนใต้กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ นี่คือสิ่งที่ถูกกำหนดทิศทางมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 49 เป็นต้นมา กำหนดการตีกรอบการมองปัญหาเรื่องภาคใต้ ให้เป็นประเด็นภายในประเทศ

แต่ประเด็นคือกฎอัยการศึก มันควรจะใช้เมื่อยามศึกสงคราม มันกลายเป็นความอิหลักอิเหลื่อ เพราะในพื้นที่ใช้กฎอัยการศึก ใช้กฎหมายของสงคราม ฉะนั้นช่องทางหนึ่งที่จะชวนสนทนา ระหว่างนักสิทธิมนุษยชน และประชาคมที่สนใจเรื่องความมั่นคง คือการรื้อกฎอัยการศึก แล้วสร้างสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายการขัดกันทางอาวุธ หรือว่า Armed Conflict ไปเลย และใช้มันเฉพาะภัยคุกคามจากข้างนอก เรื่องนี้น่าจะเป็นหมุดหมายได้ เพราะกฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือต้นๆ แรกๆ ในการเคลื่อนกำลังพลเพื่อยึดอำนาจ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน ตนคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสนทนาเรื่องนี้ในประชาคมความมั่นคง

 

X