คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลภายหลังรัฐประหาร ใช้อำนาจปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก การรวมกลุ่ม และการชุมนุม ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย ส่งผลกระทบต่อสิทธิในด้านต่างๆ ตามมาอีกมากมาย หนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบคือ ประชาชนที่อยู่กับทรัพยากร หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนา ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งโครงการที่มีมาก่อนการรัฐประหาร และโครงการที่ผุดขึ้นจากนโยบายหลังรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ การให้สัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม เขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 กรณีทรัพยากรแร่ เพื่อนำเสนอภาพต่อ (jigsaw) อีกหนึ่งชิ้นของสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ให้เห็นโดยสังเขป
ในตอนแรกของรายงาน จะได้กล่าวถึงภาพรวมของปัญหาและการละเมิดสิทธิในกระบวนการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ ทั้งในระดับนโยบายและในระดับพื้นที่ ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชน ผ่านมุมมองของ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ภาคประชาชนที่คลุกคลีและติดตามประเด็นดังกล่าวมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านทรัพยากรแร่
- อดีตและปัจจุบันของกระบวนการทำเหมืองแร่
- ก่อนการทำเหมือง : ลัดขั้นตอนและสร้างข้อมูลเท็จ
ในเรื่องทรัพยากรแร่มักพบเห็นปัญหาพื้นฐานอยู่เสมอว่า มีการลัดขั้นตอนและสร้างข้อมูลเท็จในการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ หรือมีกลโกงในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น มีการประชุมหมู่บ้าน อบต./เทศบาล ในวาระอื่น ๆ แต่มีการจัดทำบันทึกการประชุมแทรกเนื้อหาการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ลงไปในภายหลัง หรือมีการประชุมหมู่บ้าน อบต./เทศบาล ในวาระเรื่องการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่จริง แต่จัดทำบันทึกการประชุมเท็จว่าประชาชนหรือสมาชิก อบต./เทศบาลส่วนใหญ่เห็นชอบให้มีการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ได้ ทั้ง ๆ ที่เสียงส่วนใหญ่ในวันประชุมจริงไม่เห็นชอบ เป็นต้น
ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มักถูกหลอก ล่อลวง เช่นนี้เสมอ และก็ยากที่จะดำเนินการเอาผิดทั้งในทางฟ้องร้องต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและฟ้องต่อศาล เนื่องจากหน่วยงานราชการมักสนับสนุนหรือให้ท้ายเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นที่มีการทำความผิดเช่นนี้อยู่เสมอ โดยอ้างหลักฐานไม่เพียงพอ ไม่ชัดเจน หรือเป็นอำนาจหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นสามารถตัดสินใจได้เองไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานกำกับดูแลแต่อย่างใด ในส่วนของการฟ้องคดีต่อศาล โดยเฉพาะศาลปกครองก็มีความล่าช้ามาก บางคดีมีคำพิพากษาออกมาว่าขั้นตอนเหล่านั้นผิดชัดเจน ก็ไม่สามารถนำไปบังคับย้อนเหตุการณ์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลปกครอง หน่วยงานรัฐได้ดำเนินการอนุญาตประทานบัตร (สัมปทานทำเหมืองแร่) ให้แก่ผู้ลงทุนไปแล้ว พอศาลพิพากษาว่า ขั้นตอนเริ่มต้นของการขอสัมปทานทำเหมืองแร่ผิดจริง เช่น มีการทำประชาคมเท็จ มีการรังวัดไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรอันเป็นเท็จ ก็ไม่ส่งผลให้การทำเหมืองแร่ที่กำลังดำเนินการอยู่ตามใบอนุญาตประทานบัตรยุติลงได้
- ระหว่างการทำเหมือง : ไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เข้มงวดเพียงพอ
กฎหมายในประเทศไทย โดยเฉพาะกฎหมาย 4 หมวดที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล เฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุม ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบการเหมืองแร่ ได้แก่ กฎหมายแร่ กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายควบคุมมลพิษ และกฎหมายโรงงาน ไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพที่เข้มงวดเพียงพอ จนนำมาซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพอย่างรุนแรงหลายพื้นที่ ตัวอย่างสำคัญของเหมืองขนาดใหญ่ที่ยังคงดำเนินการอยู่จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ได้แก่ การปนเปื้อนของสารพิษแคดเมียมจากการทำเหมืองแร่สังกะสีในร่างกายมนุษย์ที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก จนทำให้ประชาชนมีสารแคดเมียมปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานประมาณ 1,000 คน การเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจของชาวบ้านที่อำเภอแม่เมาะ จากการทำเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเจ็บป่วยจากสารพิษโลหะหนัก เช่น ไซยาไนด์ สารหนู ปรอท ตะกั่ว แมงกานีส ปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในร่างกายจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 2 แห่ง ที่จังหวัดเลย และพิจิตร-เพชรบูรณ์ การสูบน้ำเกลือในภาคอีสานหลายจังหวัดเพื่อนำมาต้มและตาก ส่งผลให้นาข้าวและแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคไม่สามารถใช้งานได้จากความเค็มที่ปนเปื้อนลงไป เป็นต้น
- หลังเลิกกิจการ : เหมืองร้างไร้มาตรการฟื้นฟู
กฎหมายที่บังคับใช้ 4 หมวด ตามข้อ ข. ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในเรื่องการฟื้นฟูเหมืองไว้เลย จึงมักพบเหมืองร้างที่มีสารพิษและโลหะหนักสะสมอยู่ในบ่อกักเก็บกากแร่ กองกลางแจ้งอยู่เช่นเดิม โดยไร้การเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ควบคุมดูแล และแก้ไขปัญหา ตัวอย่างสำคัญของเหมืองขนาดใหญ่ที่เลิกกิจการไปแล้วที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพอย่างรุนแรง ก็คือการทำเหมืองตะกั่วที่ลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ตะกรันตะกั่วไหลรวมกันไปอยู่ในท้องน้ำแล้วลุกลามเข้าไปในห่วงโซ่อาหารโดยการปนเปื้อนอยู่ในสัตว์น้ำ พืชอาหารริมน้ำ จนทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่ลุ่มน้ำลำห้วยคลิตี้ต้องเจ็บป่วยและล้มตายจากการมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่ในร่างกายเกินค่ามาตรฐานเกือบทั้งหมู่บ้าน การทำเหมืองดีบุกที่ร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ทิ้งมรดกโรคไข้ดำที่เกิดจากสารหนูให้กับชาวบ้านหลายร้อยคน เป็นต้น
2. การละเมิดสิทธิมนุษยชน
ยุคประชาธิปไตย: รัฐและทุนจับมือ หลบเลี่ยงประชาชนตรวจสอบ
ส่วนใหญ่แล้ว แทบทุกพื้นที่ที่รัฐอนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในประเทศไทยมักมีปัญหากับประชาชนในพื้นที่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากไม่มีพื้นที่สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ใดที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน แหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน เช่น ไร่ นา สวน ป่าชุมชน ป่าใช้สอย ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน ฯลฯ
ประชาชนในพื้นที่สัมปทานส่วนใหญ่มักขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนและกระบวนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ จึงทำให้ไม่รู้ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนและกระบวนการขออนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่เหล่านั้นอย่างไรได้บ้าง จึงมักพบเห็นเป็นปัญหาอยู่เสมอว่า มีการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ลงทุน ทำการลัดขั้นตอนและสร้างข้อมูลเท็จในการอนุญาตสัมปทาน โดยเฉพาะขั้นตอนที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การเข้าไปสำรวจแร่ในที่ดินที่ประชาชนมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง การรังวัดปักหมุดขอบเขตเหมืองแร่ การปรึกษาหารือเบื้องต้นก่อนดำเนินการขอสัมปทานทำเหมืองแร่ การไต่สวนประกอบคำขอสัมปทานทำเหมืองแร่ การทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาตัดสินใจว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยให้ผู้ลงทุนดำเนินการขอสัมปทานทำเหมืองแร่ต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร การทำประชาคมหมู่บ้านเพื่ออนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้, ส.ป.ก. หรือพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่นเพื่อนำไปสำรวจและทำเหมืองแร่ การประชุมเพื่อลงมติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต./เทศบาล) การจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)/ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ฯลฯ
ยุค คสช.: ยิ่งหนุนนายทุน กดประชาชน
นอกจากรูปแบบการละเมิดสิทธิดังที่กล่าวมาข้างต้น จะยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่การขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ต่าง ๆ ของไทย การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ของ คสช. ในการห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป ส่งผลให้การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชนถูกระงับยับยั้งไว้แทบทั้งหมด เช่น ห้ามชุมนุม ประชุม รวมกลุ่ม สัมมนา ห้ามพูด เขียน ห้ามติดป้ายคัดค้าน ฯลฯ บางครั้งอาจได้รับการอนุโลมให้ทำได้ภายใต้เงื่อนไขบีบคั้นจนไม่สามารถแสดงเจตนาหรือบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมได้ คำสั่งเหล่านี้ได้ปิดกั้นความคิดเห็น การมีส่วนร่วม การคัดค้าน การแสดงออก การชุมนุมสาธารณะ ของประชาชนไปอย่างหมดสิ้น แต่ในด้านตรงข้ามกลับส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ลงทุนในพื้นที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะไม่มีการสั่งห้ามกิจกรรมใด ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ลงทุน จึงแทบไม่มีการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบใด ๆ จากประชาชนเลย
ตัวอย่างเช่น เหมืองแร่ทองคำเขาหลวง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทหารเข้าไปประจำการในหมู่บ้าน 1 กองร้อย เพื่อปฏิบัติการบังคับ กดดัน ข่มขู่ ให้ชาวบ้านยอมให้บริษัทฯ ขนแร่ออกมาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้เอาป้ายคัดค้านลง ห้ามประชุมรวมกลุ่มกันในหมู่บ้าน ห้ามให้นักศึกษา เอ็นจีโอ สื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศเข้าไปพบปะ เยี่ยมเยียน รับรู้สถานการณ์ สังเกตการณ์ในพื้นที่ และเรียกแกนนำชาวบ้านหลายคนเข้าไปปรับทัศนคติหลายครั้งหลายหน ห้ามแม้กระทั่งการจัดค่ายเยาวชนเพื่อเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพราะเกรงว่าจะมีกลุ่มคนภายนอกยุยงปลุกปั่นให้เยาวชนในพื้นที่เกลียดเหมืองทอง สุดท้ายทหารได้เป็นกำลังหลักคุ้มกันรถขนแร่ออกไปจากหมู่บ้าน
ในพื้นที่การขอสัมปทานทำเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ทหารได้สนับสนุนให้ผู้ลงทุนขอสัมปทานทำเหมืองแร่โปแตชใต้ดินในเขตทหารได้อย่างเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายหวงห้ามบังคับไว้ และในช่วงสิบกว่าปีของรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา ทหารได้แสดงเจตนาไว้ชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ทหารเพื่อการดังกล่าว นอกจากนี้ ทหารยังเข้าไปกดดันและสอดส่องในพื้นที่จนทำให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีไม่สามารถดำเนินการจัดประชุม ชุมนุมคัดค้านใด ๆ ได้เลย
คณะรัฐบาลของ คสช. ยังได้ทำเรื่องระดับนโยบายอีก 3 เรื่องสำคัญ หนึ่ง คือ ใช้กฎอัยการศึก (และมาตรา 44) ทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาเห็นชอบรายงาน EIA/EHIA (ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม_พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535) โครงการพัฒนาต่าง ๆ ให้สั้นลง สอง คือ เห็นชอบร่างกฎหมายแร่ (ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ….) ซึ่งหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 59 สนช. มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คณะกรรมาธิการวิสามัญจะพิจารณารายละเอียดในประเด็นต่างๆ ภายใน 60 วัน ก่อนส่งกลับให้ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ สาม คือ ประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ส่งผลให้ประชาชนในทุกพื้นที่ที่คัดค้านโครงการพัฒนาไม่สามารถชุมนุมเคลื่อนไหวใด ๆ ได้อีก เพราะไม่ว่าการประชุมสัมมนา การจัดค่ายเยาวชน การดูงาน ทัศนศึกษา การยื่นหนังสือ ฯลฯ ล้วนถูกตีความว่าเข้าข่ายการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ต้องขออนุญาตก่อนทั้งสิ้น
3.ร่างกฎหมายแร่: ประชาชนยิ่งถูกละเมิดสิทธิร่วมจัดการทรัพยากร
ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี หมวด 7 การบริหารจัดการแร่ในพื้นที่พิเศษ มาตรา 98 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี กำหนดพื้นที่ใด ๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ ทดลอง ศึกษา และวิจัยเกี่ยวกับแร่ รวมทั้งรัฐมนตรีสามารถอนุญาตให้ยื่นคำขออาชญาบัตรหรือประทานบัตรได้
มาตรา 99 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวน หวงห้าม หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้น โดยพื้นที่ต้องเป็นแหล่งแร่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และมิใช่พื้นที่ตามกฎหมายเฉพาะเรื่องการห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด รวมถึงพื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงของชาติ
มีแหล่งแร่ทองคำจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยสำคัญของสัตว์ป่า หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งอพยพของนก คำถามคือ กฎหมายนี้จะให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศให้พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ได้หรือไม่ อย่างไร
เมื่อดูเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจะเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้นำพื้นที่อ่อนไหวทางระบบนิเวศตั้งแต่พื้นที่สูงบนภูเขาจนถึงที่ราบต่ำและชายทะเล และพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่น เช่น พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ทางโบราณวัตถุ โบราณสถาน หรือแหล่งฟอสซิลที่ควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์ไว้ ฯลฯ ต้องคำนึงถึงการนำพื้นที่เหล่านั้นมาเปิดประมูลก่อนคำนึงถึงการสงวนหวงห้าม หลักกฎหมายเช่นนี้ เป็นการลบล้างหรือครอบกฎหมายอื่นไปสิ้น จนทำให้แทบไม่เหลือพื้นที่ใดเลยในประเทศที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์หรือรักษาไว้เพื่อประโยชน์ที่ไม่ใช่การสำรวจและทำเหมืองแร่อีกต่อไป
หลักการเช่นนี้ ดูเหมือนจะมีสภาพดุลพินิจ หมายความว่าหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่หยิบยกพื้นที่หวงห้ามต่าง ๆ มาประกาศเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อสำรวจและทำเหมืองแร่ก็ย่อมได้ แต่จริง ๆ แล้วบทบัญญัติหรือหลักการดังกล่าวมีสภาพบังคับมากกว่า หมายความว่าหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ดำเนินการหยิบยกพื้นที่หวงห้ามต่าง ๆ มาประกาศเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อสำรวจและทำเหมืองแร่ ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนบังคับได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าพบ ร้องเรียน เรียกร้อง หรือฟ้องต่อศาล ให้รัฐมนตรีต้องดำเนินการ เพราะหลักการตามบทบัญญัติดังกล่าวมันแสดงเจตนาชัดว่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายใดต้องคำนึงถึงการนำพื้นที่เหล่านั้นมาเปิดประมูลให้สำรวจและทำเหมืองแร่ก่อนคำนึงถึงการสงวนหวงห้าม
ดังนั้น ประเทศไทยไม่สมควรนำเสนอร่างกฎหมายที่มีสภาพลบล้างกฎหมายอื่นอย่างรุนแรงเช่นนี้ จนไปทำลายพื้นที่ที่มีความสำคัญหรือมีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศ หรือพื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์รักษาไว้เพื่อประโยชน์อื่นมากกว่าการทำเหมืองแร่
เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ จึงขอให้ยุติการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. เข้าสู่กระบวนการตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ในขั้นตอนต่อไป โดยให้ประชาชนมีช่องทางนำเสนอร่างกฎหมายด้วยการเข้าชื่อ เมื่อประเทศไทยมีประชาธิปไตยมากขึ้นกว่านี้
4. การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำ
กระบวนการทำเหมืองแร่ทองคำมีการปนเปื้อนไซยาไนด์ สารหนู แคดเมียม แมงกานีส ตะกั่ว ปรอท เหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย ตั้งอยู่บนภูเขาซึ่งเป็นต้นน้ำของลำน้ำฮวยและลำห้วยผุก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคของ 6 หมู่บ้าน บ้านนาหนองบง บ้านกกสะท้อน บ้านภูทับฟ้า บ้านห้วยผุก บ้านโนนผาพุงพัฒนา บ้านแก่งหิน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ช่วงปี 2550 – 2554 มีหลายหน่วยงานดำเนินการตรวจคุณภาพน้ำในลำห้วย น้ำใต้ดิน สัตว์น้ำและพืชอาหารในลำน้ำ และตรวจเลือดผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยได้ออกประกาศ 2 ฉบับ ให้ประชาชนงดการใช้น้ำบริโภคหรือประกอบอาหารและห้ามนำหอยขมมาบริโภค เพราะมีสารหนู แคดเมียม และแมงกานีส เกินค่ามาตรฐาน ในปี 2554 กรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพบว่า ลำน้ำห้วยเหล็กมีสารหนูและไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐาน ผลการตรวจเลือดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยจำนวน 758 ราย พบไซยาไนด์ในเลือดเกินค่ามาตรฐาน 124 ราย นับแต่มีประกาศแจ้งเตือนจากสาธารณสุขในปี 2552 คนเขาหลวงต้องซื้อน้ำเพื่อบริโภคอุปโภคมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
เหมืองแร่ทองคำในพื้นที่เชื่อมต่อจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ในพื้นที่เขาหม้อซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร ต้นน้ำลำธารของชุมชน ต่อเนื่องกับพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ผลการตรวจเลือดของชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมืองโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 ครั้ง พบค่าสารหนูในปัสสาวะ และค่าแมงกานีสในเลือดเกินค่าปกติ 400 คน จากผู้รับการตรวจ 731 คน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิตตรวจ DNA และ Micronucleus พบความผิดปกติ 208 คน จากผู้รับการตรวจ 646 คน นับเป็นใน 1 ใน 3 ซึ่งโดยทั่วไปจะพบไม่เกิน 5 ใน 1,000 คน เดือนมีนาคม 2558 หน่วยอาชีวเวชกรรมสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลพิจิตร ตรวจสุขภาพของประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำ พบว่ามีสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐานแต่ยังไม่ป่วยรวม 306 คน พบแมงกานีสในเลือดเกินค่ามาตรฐาน 269 คน จากผู้รับการตรวจ 502 คน และพบสารหนูในปัสสาวะ 37 คน จาก 273 คน ในเบื้องต้นพบว่าน้ำอุปโภคบริโภคมีความสัมพันธ์กับแมงกานีสในเลือดและฝุ่นละอองจากกองหินทิ้งที่ได้จากการสกัดแร่ทองคำออกไป
ตอนต่อไป การจัดการทรัพยากรเหมืองแร่กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร (2) รูปธรรมการละเมิดสิทธิหลังการรัฐประหาร ใน 2 พื้นที่ พร้อมบทสรุปเรื่องบูรณาการการใช้อำนาจของทหารกับการปฏิรูปที่ไม่มีประชาชนในสายตา