“ขนนกบนตราชู”: เรื่องราวนอกสำนวนของ 10 ทนายสิทธิฯ กับการต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด

ในโลกที่ความยุติธรรมมักถูกบดบังด้วยเงาอำนาจเถื่อน “ขนนกบนตราชู” ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่คือประจักษ์พยานแห่งชีวิตของบรรดาทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้ยืนหยัดที่จะทำให้ ขนนก มีน้ำหนักและที่ทางในระบบที่ยังต้องควานหาความเป็นธรรม

.
รากเหง้าของหนังสือรวมบทสัมภาษณ์เล่มนี้เริ่มจากสัญลักษณ์อันทรงความหมายของ “ตราชู” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานจากอารยธรรมอียิปต์โบราณ ซึ่งตราชูไม่ใช่เพียงเครื่องชั่งธรรมดา แต่เป็นเครื่องมือตัดสินชะตากรรมหลังความตาย เทพแห่งความตายจะชั่งหัวใจของผู้วายชนม์เทียบกับ “ขนนกแห่งความจริง” เพื่อตัดสินความบริสุทธิ์

.
หากความยุติธรรมเป็นตราชู แล้วบนถาดชั่งนั้นวางอะไรได้บ้าง ?

.
หนังสือความยาว 213 หน้า รวบรวมเรื่องราวของ 10 ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้ซึ่งกลายเป็นปากเสียงแทนผู้ถูกกระทำในสังคมไทย พวกเขามาจากพื้นที่ต่างกัน ครอบครัวต่างกัน แต่มีจุดร่วมเดียวกัน – ความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 เส้นทางของทนายความสิทธิมนุษยชนยิ่งทวีความยากลำบาก พวกเขายืนหยัดบนความฝันในถนนสายเดียวกัน ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้คนที่ถูกกระทำ ถูกละเมิด และถูกกดทับด้วยอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม เพียงเพราะแสดงออกทางการเมือง

.
อย่างที่กล่าวไป ไม่เพียงเป็นหนังสือ ขนนกบนตราชู คือพยานหลักฐาน ของความอยุติธรรมในสังคม เป็นแรงบันดาลใจ สำหรับผู้ที่อยากยืนหยัดเคียงข้างความถูกต้อง รวมไปถึงเข็มทิศอีกทางเลือก สำหรับนักกฎหมายรุ่นใหม่

___________

“เศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้เขาประกอบวิชาชีพทนาย แต่ก็สามารถทำงานสังคมได้ด้วย ทำอย่างไร ให้ทนายอาสามีผลตอบแทนคุ้มค่าและสมควรแก่การดำรงชีวิต มีบุตรทายาทสืบสกุล มีหลักประกันให้ครอบครัว อย่าไปคิดว่าทนายรุ่นใหม่มีใจอาสาเป็นทุน แต่เราต้องคิดระบบตอบแทนให้เขาทำงานต่อไปได้”

รัษฎา มนูรัษฏา ทนายความอาวุโสผู้เริ่มต้นอาชีพทนายความเมื่อราว 40 ปี ก่อนหน้า ชี้ให้เห็นความท้าทายเชิงระบบ โดยตั้งคำถามสำคัญถึงการธำรงอยู่ของทนายความรุ่นใหม่ ท่ามกลางความท้าทายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

“ทนายก็มีความกลัว เรากลัวเขาติดคุก มีความกังวลตลอดเวลา อย่างคดีทั่วไปเราอาจตอบได้ว่าคุณรับสารภาพแล้วคุณจะโดนคดีแค่นี้ แต่ในคดีลักษณะนี้ไม่ใช่ (คดีสิทธิมนุษยชน) รับสารภาพไป คุณอาจจะโดนหนักก็ได้” 

ในขณะที่ทนายวัฒนา อีกผู้อาวุโสจากเชียงใหม่ เปิดเผยความกังวลอันแท้จริงของนักกฎหมายในคดีสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการต่อสู้ทางคดี แต่คือการต่อสู้กับระบบที่อาจลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม 

.

สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นคือความเข้าใจอันลึกซึ้งว่า งานด้านกฎหมายไม่ได้มีเพียงการชนะคดี หากแต่เป็นการท้าทายความอยุติธรรมเชิงระบบ  ดังสะท้อนในคำกล่าวของทนายเยาวลักษ์ อนุพันธุ์ และทนายคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ที่มองงานทางกฎหมายเป็นการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

“สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจทำคดีการเมืองต่อ เพราะอยากรู้ว่าเรื่องเหล่านี้จะไปต่ออย่างไร และกฎหมายทำกับคนได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ สำหรับเรา-กฎหมายไม่ได้ลอยขึ้นมาจากความว่างเปล่า แต่เกิดจากคนและเป็นฉันทามติเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันโดยไม่ละเมิดสิทธิกัน”

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สะท้อนมุมมองที่ลึกซึ้งว่า กฎหมายไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่เป็นผลมาจากฉันทามติทางสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยไม่ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน 

.

“อาจารย์สอนว่านักกฎหมายที่ไปสนับสนุนรัฐประหารก็เป็นหมือนพระศีลขาด ถ้าคุณเป็นนักรัฐศาสตร์ที่สนับสนุนรัฐประหาร อาจารย์ไม่ตำหนิ เพราะเป็นทฤษฎีการปกครองต่าง ๆ แต่คุณเป็นนักกฎหมาย คุณอยู่กับกฎหมาย แล้วไปฉีกกฏหมาย มันไม่ใช่”

เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหารปี 2557 บอกเล่าถึงจุดยืนอันแน่วแน่ต่อต้านรัฐประหาร ด้วยอุดมการณ์ของนักกฎหมายที่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ

“เราเห็นความไม่ชอบธรรมในสังคมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เห็นปัญหาของลูกคนจน ความคิดในการเป็นทนายของผมมีมาตั้งแต่ชั้นมัธยมแล้ว ตั้งใจว่าอยากจะเป็นทนาย คิดว่าถ้าเรารู้กฎหมาย เราน่าจะช่วยคนอื่นได้เยอะ”

ถาวร ปิยะวงศ์รุ่งเรือง อีกทนายความอาวุโสที่เพิ่งรีไทร์ได้ไม่นาน เล่าถึงแรงบันดาลใจตั้งแต่วัยเยาว์ ที่อยากใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้คน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส

“ความยุติธรรมไม่ได้อยู่แค่ปลายทาง ระหว่างทางก็ต้องยุติธรรมด้วย ทั้งกระบวนการในชั้นตำรวจ อัยการ ศาล หากระหว่างถูกดำเนินคดีผู้ต้องหาและจำเลยไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของตนเองได้ แม้สุดท้ายศาลจะพิพากษายกฟ้อง แบบนี้ก็ไม่อาจเรียกได้ว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยมีประสิทธิภาพ”

.

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความที่มาจากสายนักกิจกรรมธรรมศาสตร์ ย้ำถึงความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องยุติธรรมทุกขั้นตอน ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์สุดท้าย

และเรื่องราวอื่น ๆ ไม่เพียงเล่าถึงอาชีพทนายความ หากแต่เปิดเผยชั้นลึกของจิตใจมนุษย์ เราเห็นความเปราะบาง ความกล้าหาญ และพลังแห่งอุดมการณ์ที่ไม่เคยหวั่นไหว แต่ละเรื่องราวสะท้อนภาพสังคมไทยผ่านประสบการณ์ตรง ด้วยภาษาที่ไม่ได้เป็นเพียงการบันทึก แต่คือการร้อยเรียงอารมณ์ ความทรงจำ และพลังแห่งความหวัง

“ผมไม่เคยกลัวการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพราะผมมั่นใจในหลักการ เราทำในสิ่งที่ถูกต้องและสุจริตตามวิชาชีพเมื่อเผชิญกับความกดดัน ผมมีหลักคิดว่าเราต่อสู้ดวยเหตุผล ถ้าเขาเถียงสู้เราไม่ได้ อย่างมากเขาก็ขังเรา”

ในทัศนะของ อานนท์ นำภา ผู้เป็นทั้งผู้ต้องขังทางการเมืองและทนายความสิทธิมนุษยชนที่ยังยืนหยัดในหลักการแม้สิ่ง ๆ นั้นทำให้เขายังคงปราศจากอิสรภาพ

.

หากค่อย ๆ ละเลียดอ่านตั้งแต่หน้าแรกจวบจนบรรทัดสุดท้าย จะพบว่าภาษาในหนังสือราวกับจะกระซิบบอกถึงความยุติธรรมแม้จะดูเบาบาง แต่พลังของผู้มุ่งหวังความยุติธรรมจะไม่มีวันแพ้ ทุกประโยคบอกเล่าเรื่องราวของการต่อสู้ที่ไม่เคยหยุดยั้ง การยืนหยัดเคียงข้างผู้ถูกกระทำ และความเชื่อมั่นว่าความถูกต้องจะต้องชนะในที่สุด

ขนนกบนตราชู จึงไม่ใช่หนังสือที่จบลงด้วยจุดสิ้นสุด แต่เป็นการเริ่มต้นใหม่ของการเข้าใจ การต่อสู้ และความหวังที่ไม่เคยดับ สำหรับนักศึกษากฎหมาย คนทำงานสิทธิมนุษยชน หรือพลเมืองทั่วไป หนังสือเล่มนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เชื่อได้ว่า ความยุติธรรมไม่ได้อยู่ที่การชั่งน้ำหนัก 

แต่อยู่ที่ความกล้าหาญของผู้คนที่ยืนหยัดเคียงข้างความถูกต้อง ที่พวกเขาต่างเปล่งเสียงบอกว่าไม่มีอุดมการณ์ใดสูงส่งไปกว่าการยืนหยัดให้คนที่ถูกยัดเยียดว่ากระทำผิด เพราะแม้ขนนกอาจเบา แต่จิตวิญญาณแห่งความยุติธรรมนั้น หนักดั่งขุนเขา

____________________

ขอเชิญชวนรับหนังสือ “ขนนกบนตราชู” ฟรี! เพียงบริจาคสนับสนุนการทำงานและค่าจัดส่งให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นต่ำ 100 บาท

.

📌 ลงทะเบียนหรือสแกน QR Code เพื่อรับหนังสือได้เลย! : https://forms.gle/hbuC8aSK3UYMw6dt6

* หมายเหตุ : 

1) ดำเนินการจัดส่งหนังสือ ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป 

2) จำกัดการขอรับหนังสือ “ขนนกบนตราชู” เพียงท่านละ 1 เล่มเท่านั้น 

3) หากประสงค์ขอรับหนังสือ “ผู้ต้องหาเสรีภาพ” กรุณาระบุข้อมูลด้านล่าง 

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

รายงานการเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ขนนกบนตราชู” : ชีวิตและประสบการณ์ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ทำงาน “รับใช้ประชาชน”

X