รายงานการเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ขนนกบนตราชู” : ชีวิตและประสบการณ์ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ทำงาน “รับใช้ประชาชน”

20 ก.พ. 2568 เนื่องในโอกาสวันทนายความ ที่ SCC Creative space (BTS ราชเทวี) มีงานเสวนาในหัวข้อ “บทบาททนายความในการปกป้องสิทธิมนุษยชน” พร้อมทั้งเปิดตัวหนังสือ “ขนนกบนตราชู : 10 บทสัมภาษณ์ชีวิตและประสบการณ์ทนายความสิทธิมนุษยชน” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชีวิต ประสบการณ์ และมุมมองด้านต่าง ๆ ของการทำงานด้านกฎหมายเพื่อความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยของ 10 ทนายความสิทธิมนุษยชน จัดโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ดูคลิป)

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ บรรณาธิการหนังสือ “ขนนกบนตราชู”, คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ และจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว 2 ทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีบทสัมภาษณ์ในหนังสือ และสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอดีตทนายความมูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ EnLaw ดำเนินรายการโดย วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

ก่อนเข้าสู่วงเสวนา ผู้ดำเนินรายการได้หยิบยกความหมายของชื่อหนังสือ “ขนนกบนตราชู” และส่วนหนึ่งของคำนำมากล่าวให้ผู้ฟังได้ร่วมรับรู้ไปด้วยกัน

.

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ บรรณาธิการหนังสือ “ขนนกบนตราชู” เริ่มวงเสวนาด้วยการเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสือว่า เริ่มจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีโปรเจคเล่าเรื่องชีวิตและประสบการณ์ของทนายความ 10 คน เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ที่สนใจเนื้องานด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย 

วีรพงษ์เล่าอีกว่า ทีมสัมภาษณ์เห็นตรงกันว่า อยากใช้วิธีเขียนบทสัมภาษณ์แบบร้อยเรียงเรื่องราว ซึ่งผู้เขียนสามารถใส่สิ่งที่มองเห็นเติมลงไปได้ เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ต้องการเล่าประสบการณ์ชีวิตคน 10 คน แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องการมองเห็นสภาพสังคมที่แวดล้อมพวกเขาด้วยว่าพวกเขาเติบโตมายังไง อะไรคือทองคำหรือปีศาจของยุคสมัยที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา เพื่อที่จะได้มองเห็นสถานการณ์สิทธิมุนษยชนในแต่ละช่วงเพราะทนายความทั้ง 10 คน มีช่วงอายุที่แตกต่างกัน   

วีรพงษ์กล่าวว่า จากการสัมภาษณ์ทนายความทั้งหมดเขามองเห็นจุดร่วมที่ชัดเจนคือทนายความทั้ง 10 คน ทำงานที่สามารถเรียกได้ว่า รับใช้ประชาชน ทุกคนมีอุปสรรคเฉพาะตัว แต่เขาสามารถทำงานเลี้ยงดูครอบครัวและดูแลสังคมไปได้พร้อมกัน 

“ผมรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนแผนที่ที่ทำให้เราเห็นเส้นทางในวิชาชีพของทนายความ โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกเล่าผ่านทนายความที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน” วีรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

.

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความเครือข่าย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกรรมการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เล่าถึงความเป็นมาในการเข้ามาทำงานทนายความสิทธิมนุษยชน จากการที่เติบโตในครอบครัวคนชั้นล่าง เห็นและรู้สึกกับความไม่เป็นธรรมเยอะ เข้าเรียนนิติศาสตร์เพราะน้าชายอยากให้เป็นผู้พิพากษา แต่เมื่อเข้าไปเรียนแล้วรู้สึกว่าเข้ากับวัฒนธรรมบางอย่างในมหาวิทยาลัยไม่ได้ จึงไปเข้าค่ายกับกลุ่มวัชพืชซึ่งเป็นกลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัย ได้ศึกษาปัญหาชาวบ้าน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ 

การทำกิจกรรมทำให้เธอเห็นว่า นิติศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือมากกว่านำไปใช้แก้ปัญหา พอเรียนจบจึงไปเป็นอาสาสมัครระยะสั้นกับโครงการด้านสิทธิมนุษยชนและไปทำงานที่มูลนิธิผู้หญิงเป็นที่แรก ก่อนเบนเข็มมาเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายรุ่น 1 พอจบโครงการก็ก่อตั้งเป็นเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จนกระทั่งมีการก่อตั้งเป็นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

จันทร์จิรากล่าวถึงความแตกต่างระหว่างงานของทนายสิทธิกับทนายความทั่วไปว่า ในคดีสิทธิมนุษยชนซึ่งครอบคลุมทั้งคดีทรัพยากรสิ่งแวดล้อม คดีการเมือง คดีผู้บริโภค ลูกความจะเป็นนักปกป้องสิทธิหรือประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิปกป้องสิทธิของตัวเอง หรือเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนบางอย่างให้ดีขึ้น เช่น ประชาชนที่ออกมาชุมนุมเพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นกรณีที่จะมีโรงงานไปตั้งที่บ้านเขา แต่สุดท้ายถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาท เป็นคดีฟ้องปิดปากซึ่งมีเยอะมาก

นอกจากนี้ ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องหรือปกป้องสิทธิให้ตัวเองไม่ได้มีทรัพยากรเพียงพอที่จะต่อสู้คดีหรือฟ้องคดี จึงมีองค์กรอย่างศูนย์ทนายฯ EnLaw หรืออีกหลายองค์กรทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยการจัดหาทนายความ ทนายสิทธิจึงให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านองค์กรเหล่านี้ โดยรับค่าวิชาชีพแบบทนายอาสาที่ไม่ได้มากมาย จึงเป็นความแตกต่างอีกเรื่องที่ชัดเจน คือเรื่องค่าตอบแทนของทนายสิทธิ ซึ่งในคดีทั่วไปบางคนถึงกับหมดตัวไปกับค่าทนาย ส่วนทนายสิทธิอยู่ได้ยังไงนั้น ส่วนใหญ่ก็จะทำคดีธุรกิจควบคู่ไปด้วย 

ตั้งแต่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาจันทร์จิราเห็นการเปลี่ยนแปลงในขบวนการสิทธิมนุษยชนไทยในด้านบวกคือ การชุมนุมปี 63 ช่วยผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนหลายประเด็นที่ยังไม่ถูกพูดถึงหรือสังคมยังไม่เข้าใจ ให้ถูกพูดถึง มีการแลกเปลี่ยนถกเถียง แล้วมีแนวโน้มก้าวหน้ามากขึ้น อย่างเช่นเรื่องความหลากหลายทางเพศ สิทธิในการแต่งกายและไว้ผมของนักเรียนนักศึกษา หรือแม้แต่มาตรา 112 

แต่ในแง่ลบก็คือ ขณะที่แนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนถูกขับเคลื่อนไปในสังคมแล้ว แต่รัฐบาลหรือแม้แต่กระบวนการยุติธรรมยังตามไม่ทันแล้วก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพราะมันไม่ได้ถูกทำให้หยั่งลึกลงไปในกระบวนการยุติธรรมหรือในบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเพียงพอ พอรัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมันก็ถูกทำให้หายไปโดยคำพิพากษาที่ไม่ได้ส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน 

ในเรื่องแรงกดดันที่เกิดกับทนายสิทธินั้น จันทร์จิรารับว่า ทนายที่อยู่กรุงเทพฯ จะไม่ค่อยถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่เหมือนทนายต่างจังหวัด แต่ที่มักจะเจอคือการใช้อำนาจของผู้พิพากษาที่เกินเลยไปจากขอบเขตอันสมควร ซึ่งสร้างแรงกดดันค่อนข้างมาก  

สุดท้ายในประเด็นผู้หญิงในแวดวงนักกฎหมาย จันทร์จิราเล่าว่า ตนไม่เคยเจอปัญหาในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากวัฒนธรรมในแวดวงสิทธิมนุษยชนไม่มีประเด็นพวกนี้ แต่เคยได้ฟังประสบการณ์จากเพื่อนที่อยู่ในสำนักงานว่า ทนายผู้หญิงอาจจะไม่ได้ถูกมอบหมายงานให้ว่าความ โดยเฉพาะคดีที่จะต้องไปต่างจังหวัด เพราะถ้าไปกับทนายผู้ชาย จะทำให้เปลืองค่าที่พักเป็น 2 ห้อง 

.

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการทำงานของทนายความสิทธิมนุษยชนว่า โดยหลักการแล้วการเป็นทนายความก็คือการยึดถือหลักนิติธรรมและหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ดังนั้น ทนายความก็คือนักสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าพูดจำแนกให้เห็นความแตกต่างจากทนายความทั่วไปที่ทำคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีธุรกิจ ทนายสิทธินอกจากต่อสู้คดีให้กับลูกความแล้ว มักจะมุ่งเน้นการทำงานไปในเชิงการปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการผลักดันประเด็นนั้น ๆ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้หญิง 

คุ้มเกล้าเล่าต่อไปถึงกระบวนการเรียนรู้งานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้ก่อนก็คือ หลักการที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งกฎหมายในประเทศ รัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศ ถ้ารู้แล้วเราจะเห็นถึงปัญหา และถ้าจะให้เข้าใจถึงต้นตอของปัญหา ในอดีตก็ต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ เช่น ไปอยู่กับกลุ่มแรงงานหรือสหภาพแรงงาน นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของเขาทั้งในเชิงนโยบายและการฟ้องคดี แต่ในปัจจุบันปัญหาการละเมิดสิทธิไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่ มันถูกสื่อสารผ่านทางสื่อโซเชียล คนรุ่นใหม่จึงสามารถเข้าใจปัญหาและสามารถทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในพื้นที่ 

สิ่งที่เห็นคุ้มเกล้าได้ชัดจากการทำงานเป็นทนายสิทธิในคดีทางการเมืองก็คือ ก่อนปี 63 กลุ่มลูกความอายุ 40 ขึ้นไปจนถึงคนที่เกษียณ แต่พอปี 63 มีลูกความที่เป็นเยาวชนอายุ 12 ไปจน 17 – 18 ปี หลายร้อยคน แสดงให้เห็นว่าคนมีความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น และยังคิดแบบมีความหวังว่า ประชาธิปไตยยังอยู่ในหัวใจของคนทุกเจน เพียงแต่ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายปราบปราม เป็นนิติสงคราม ทำให้ในช่วงนี้คนก็อาจจะไม่ได้ออกมาชุมนุมหรือแสดงออกมากนัก และคาดหวังไปใช้กลไกทางรัฐสภา แต่คิดว่าหากสถานการณ์ละเมิดสิทธิประชาชนมีมากขึ้น เราก็ต้องเตรียมรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่อายุน้อยอีกครั้ง

คุ้มเกล้าเห็นเช่นเดียวกับจันทร์จิราว่า ทนายสิทธิผู้หญิงไม่ได้เจอข้อท้าทายจากการถูกกีดกันไม่ให้ว่าความ แต่ลูกความบางคนก็อาจจะกังวลถ้าอัยการและศาลเป็นผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความไม่ว่าเพศไหน ถ้าทนายยืนยันถึงหลักการ ยืนยันในสิ่งที่เราต่อสู้เพื่อลูกความ ในสิ่งที่ลูกความยึดถือ ไม่ใช่ต่อสู้ตามความอำเภอใจหรืออีโก้ของทนาย ลูกความก็น่าจะเห็นและโอเค 

ข้อท้าทายอีกอย่างที่คุ้มเกล้าประสบก็คือ อคติของศาล ในคดีการเมืองถ้าข้อเท็จจริงในคดีชัดเจนว่าอาจจะไปชุมนุมจริง ลูกความก็จะถูกศาลถามก่อนเลยว่า รับสารภาพมั้ย ถ้าลูกความไม่รับ ศาลก็จะบอกว่า ไม่รับเพราะว่าทนายยุให้ลูกความสู้หรือเปล่า หรือว่ารับเงินต่างชาติมาต้องสู้หรือเปล่า ทนายก็ต้องยืนยันไปว่า ไม่ใช่ มันเป็นการยืนยันหลักการ ลูกความเขาสู้เรื่องเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รับเงินมาสู้คดี ทนายความก็มีจรรยาบรรณของวิชาชีพ ถ้าเราทำแบบนั้นเราก็อาจจะถูกตรวจสอบหรือว่าถูกถอนใบอนุญาตได้ แต่หลังจากศาลเห็นการทำงานของทนายสิทธิมากขึ้นว่าเราช่วยให้ลูกความให้เข้าถึงสิทธิ เรื่องไหนต้องรับสารภาพก็รับสารภาพ ช่วงปี 67 – 68 ก็ไม่ถูกศาลตั้งคำถามแบบนี้แล้ว 

ในบริบทสังคมปัจจุบันที่ยังมีสถานการณ์ละเมิดสิทธิอยู่ คุ้มเกล้าเห็นว่าทนายความสิทธิมนุษยชนยังมีบทบาทที่สำคัญ พร้อมทั้งมีข้อเสนอว่า ทนายสิทธิอาจจะลุ่มลึกกับประเด็นที่ตนเองเชี่ยวชาญ เช่น เรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ที่ดิน แต่ก็ต้องผลักดันเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ประชาธิปไตย และสิทธิทางการเมืองไปพร้อม ๆ กัน เพราะถ้าไม่ผลักดันเรื่องนี้ ประเด็นอื่น ๆ ก็ไม่สามารถที่จะขยับไปได้

สำหรับนักกฎหมายรุ่นใหม่ ๆ ที่สนใจจะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งที่คุ้มเกล้าอยากฝากถึง คือ สิทธิในการประกันตัว หรือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนที่จะศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นเรื่องสำคัญและเป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ มีผู้ต้องขังในคดีการเมืองอยู่มากมาย ถ้าคุณรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เป็นไปตามกฎหมาย มันผิดปกติ คุณเป็นนักกฎหมายสิทธิได้แล้วครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องที่ว่าคุณจะลงมาทำงานตรงนี้เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันมั้ย พื้นที่การทำงานด้านสิทธิมันเปิดรอให้คนอย่างพวกคุณที่รู้สึกถึงความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมเข้ามาทำงานอยู่

.

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการอ่าน “ขนนกบนตราชู” ว่า หนังสือเล่มนี้พูดถึงทนายความที่ทำงานเพื่อใช้กฎหมายเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่เขาเชื่อในคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อประกอบวิชาชีพอย่างเดียว ในบริบทนี้ทนายความกลุ่มนี้เชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาจึงใช้กฎหมายผลักดันให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นที่ยอมรับ ได้รับการรับรอง และเป็นวัฒนธรรมในสังคมไทย 

หลังจากอ่านเรื่องราวของทนายความทั้งสิบ สงกรานต์เห็นประเด็นร่วมกัน 4 ประเด็น ประเด็นแรก ความยากลำบากในการประกอบวิชาชีพ ปรากฏอยู่ในคำบอกเล่าของทุกคนไม่ว่าจะรุ่นอาวุโสหรือรุ่นใหม่ ทั้งงานเยอะ ความรับผิดชอบมาก ค่าตอบแทนน้อย ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ยากลำบาก แต่ความทุกข์ยากลำบากเป็นสิ่งที่ทนทานได้ เพราะเขาเห็นคุณค่าและความสำคัญของสิ่งที่เขาต้องการผลักดัน ทำให้พวกเขายังสามารถยืนหยัดทำงานอยู่ได้ 

ประเด็นที่ 2 การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ ทนายหลายท่านมีการพูดถึงเรื่องจิตใจที่รักความเป็นธรรม อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ซึ่งแต่ละคนก็ได้มาในมิติที่แตกต่างกัน จากครอบครัว มหาวิทยาลัย หรือจากประสบการณ์การฝึกงาน อย่างไรก็ตาม ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส เห็นว่า เริ่มต้นจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากทนายความต้องการใช้เครื่องมือที่ทรงพลัง ก็คือกลไกทางกฎหมาย ไปผลักดันประเด็นอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องพัฒนาให้เกิดความเชี่ยวชาญในวิชาชีพด้วย 

ประเด็นที่ 3 หลังจากทำงานไปสักระยะหนึ่ง ทนายความจำนวนมากพัฒนามุมมองที่มองกฎหมายและระบบกฎหมายอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่มองอย่างไร้เดียงสาว่า กฎหมายที่มีอยู่มันเป็นธรรมแล้ว แต่มองว่ามันมีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ระบบกฎหมายก็อาจจะมีความบิดเบี้ยว ทนายความจะมีบทบาทยังไงที่จะทำให้ช่องว่างระหว่างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมันแคบลง หรือบางกรณีมันไม่แคบเราก็บันทึกประวัติศาสตร์ไว้ว่า ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมบ้านเราทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอยู่ แล้วอนาคตจะเป็นคนตัดสินว่า ใครเป็นผู้มีบทบาทในการพิทักษ์ซึ่งหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน 

ประเด็นที่ 4 อนาคตของการทำงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน จากบทสัมภาษณ์ทั้งหมดเราจะเห็นพัฒนาการของการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งสมัยก่อนสำนักงานหนึ่งมีทนายความ 1 – 2 คน ช่วยกันทำคดีที่หลากหลาย ขณะที่ปัจจุบันศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีทนายความกับเจ้าหน้าที่ 40 คน เป็นสำนักงานกฎหมายที่ทำคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะที่มีทนายความและเจ้าหน้าที่ประจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน แสดงถึงการวางหลักปักฐานงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมากขึ้น 

สงกรานต์เสนอเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีทนายความที่มีใบอนุญาตว่าความประมาณ 60,000 คนทั่วประเทศ ถ้าเราสามารถดึงศักยภาพของทนายความเหล่านี้มาทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ คนละ 10-20 ชั่วโมงต่อปี จะมีทนายความมาช่วยเหลือคดีชาวบ้านคดีสิทธิมนุษยชนได้อย่างมหาศาล ซึ่งในหลายประเทศก็ทำในลักษณะนี้ 

ช่วงท้ายสงกรานต์ได้ยกบทสัมภาษณ์บางบทในหนังสือมากล่าวถึง โดยเฉพาะบทสัมภาษณ์ทนายอานนท์ นำภา ที่ว่า “ผมไม่เคยกลัวการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพราะผมมั่นใจในหลักการ เราทำในสิ่งที่ถูกต้องและสุจริตตามวิชาชีพ เมื่อเผชิญกับความกดดันผมมีหลักคิดว่า เราต่อสู้ด้วยเหตุผล ถ้าเขาเถียงสู้เราไม่ได้อย่างมากเขาก็ขังเรา” และ “การได้เรียนกฎหมายและใช้กฎหมายเพื่อพี่น้องผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมถือเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับผม อาจฟังดูกระแดะ แต่มันเป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด” รวมถึง “ความหวังไม่หมดหรอก มันริบหรี่ได้แต่ต้องไม่ให้ดับ ไม่หันหลังไปทำอย่างอื่นแล้วนอกจากการเป็นทนาย เราต้องบันทึกเรื่องราวความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นไว้ให้ได้มากที่สุด” 

สงกรานต์สรุปสุดท้ายว่า เมื่ออานนท์ที่อยู่ในเรือนจำยังไม่สิ้นหวัง พวกเราคนที่อยู่ข้างนอกซึ่งสนใจการทำงานด้านสิทธิก็คงไม่อาจจะสิ้นหวังได้ ต้องร่วมกันผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ยอมรับสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มีกลไกทางกฎหมายและระบบกฎหมายที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรายังต้องการนักกฎหมายสิทธิหรือทนายความด้านสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพใหญ่ของการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันประเทศไปสู่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต่อไป

X