วงเสวนา Never Again เสนอจัดการมรดกคสช. ปฏิรูปกองทัพ ยุติการรับรองรัฐประหารของศาล

10 ส.ค. 62 ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดงานเปิดนิทรรศการ “NEVER AGAIN หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สามัญชน (Museum of the Commonners), ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ (CAN) และกลุ่มช่างภาพ Realframe จัดแสดง “พยานหลักฐาน” ของการควบคุม คุกคาม ปราบปรามด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นมากว่า 5 ปี ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

หลังพิธีเปิด ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “NEVER AGAIN” ร่วมพูดคุยโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระ, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

 

.
นักศึกษา มช. เล่าประสบการณ์ถูกคุกคาม ถูกเจ้าหน้าที่บุกตามหาตัวถึงห้องเรียน

ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นผู้ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้งถึง 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06) และคดีชุมนุมครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร (UN62) ได้กล่าวถึงประสบการณ์การถูกคุกคามและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในพื้นที่มหาวิทยาลัย

ประสิทธิ์เล่าถึงความทรงจำแรกเกี่ยวกับรัฐประหาร 2557 ว่าในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตอนนั้นกำลังจะมีงานวิชาการเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง แต่ยังไม่ทันได้จัดงาน เกิดรัฐประหารก่อน และเวทีวิชาการนั้นก็ถูกปิดไป ถูกทหารและมหาวิทยาลัยผลักดันไม่ให้จัดงาน ในตอนนั้นตนก็ยังเด็กอยู่ ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือถูกทำอะไรเท่าไร

จนกระทั่งปี 2558 หลังจากมีการจับกุมกรณี 14 นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ที่กรุงเทพฯ  ในเชียงใหม่ก็ได้มีการจัดกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนนักศึกษา ตอนนั้นได้มีภาพของตนเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ หลังจากวันจัดงานอีกวัน ตนก็ได้รับการติดต่อจากมณฑลทหารบกที่ 33 ให้ไปพูดคุยกินกาแฟที่ค่ายทหาร จึงได้พูดคุยต่อรองให้ทหารมาพูดคุยในมหาวิทยาลัย เนื่องจากคิดว่าการเข้าไปในค่ายทหารไม่สามารถรับรองความปลอดภัยได้ แต่ทางทหารก็ไม่ได้มาคุยในมหาวิทยาลัย จึงปฏิเสธนัดกันไป

ประสิทธิ์เล่าต่อว่าหลังจากนั้นตนก็ยังทำกิจกรรมต่อมา แต่จุดที่เริ่มจะถูกคุกคามมากที่สุด คือการร่วมทำกิจกรรมเรียกร้องอยากเลือกตั้ง คือโดนดำเนินคดี 2 คดี โดยโดนที่เชียงใหม่ก่อนครั้งแรก ครั้งนั้นก่อนจัดกิจกรรม ตนได้ไปยื่นแจ้งการชุมนุมกับตำรวจก่อน หลังจากไปยื่นเอกสาร ก็มีการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยก่อนโทรมา เขาได้เข้าไปในห้องเรียนแล้ว ไปดักที่ห้องเรียนภาษาอังกฤษ และในคาบเรียนต่อมา มีตำรวจผลักประตูเข้าไปในห้องเรียน ถามคนในห้องว่า “ประสิทธิ์อยู่ไหน” แต่ตอนนั้นตนไม่ได้อยู่ในห้อง อาจารย์ก็เลยบอกให้ไปที่อื่นก่อน ยังไม่ต้องมา ตอนเที่ยงวันนั้น ตำรวจก็มาดักรอเจอที่ร้านกาแฟอีกด้วย

เมื่อมีการจัดกิจกรรมเสร็จแล้ว ตนกับเพื่อนก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีใช้เวลาเกือบ 1 ปี ศาลพิพากษาให้มีโทษปรับ 100 บาท เรื่องใช้เครื่องเสียง แต่ต่อมาก็ไปโดนคดีจากการชุมนุมที่กรุงเทพฯ อีก 1 คดี คดีนี้มีข้อหามาตรา 116 หรือยุยงปลุกปั่นด้วย และยังต้องไปขึ้นศาลที่กรุงเทพฯ

ประสิทธิ์ยังเล่าถึงกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอีกหลายกิจกรรมที่ถูกแทรกแซงหรือห้ามจัดจากทหาร และในช่วง คสช. การจะจัดเวทีวิชาการอะไรก็ต้องแจ้งกับทางทหารก่อน เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่ากระทบต่อชีวิตนักศึกษา ทั้งที่ก่อนรัฐประหาร เรามีความทรงจำว่ามีการจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยได้ แต่พอนักศึกษาจะจัดจุดเทียนต้านรัฐประหาร ก็โดนมหาวิทยาลัยสั่งห้าม ไม่ให้จัดตรงจุดที่จะจัด ต้องไปจัดที่อื่น

ประสิทธิ์เล่าถึงเพื่อนนักศึกษาอีกราย ซึ่งทำกิจกรรมละคร ได้ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไปถามตารางเรียนของเขากับเจ้าหน้าที่ที่คณะ แต่เจ้าหน้าที่คณะก็ไม่ได้ให้ การคุกคามจึงไปถึงการเรียน และไปถึงครอบครัวด้วย เพราะหลายคนหลังรัฐประหารจะถูกเจ้าหน้าที่ไปที่บ้าน อย่างของตน มีอยู่ช่วงหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านของตนทุกเดือน บางช่วงก็ถี่ถึงอาทิตย์ละครั้ง แม้ช่วงนั้นจะไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรก็ตาม

ประสิทธิ์เห็นว่าพอการคุกคามตัวเราไม่ได้ผล เจ้าหน้าที่ก็จะขยับไปกดดันกับคนในครอบครัวแทน โดยในต่างจังหวัด ก่อนมีการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ ก็มักจะมีเจ้าหน้าที่ไปบ้าน ทั้งที่หลายกิจกรรม ตนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการจัดด้วย

ประสิทธิ์กล่าวว่าแม้เจ้าหน้าที่ที่มาจะพูดด้วยดี แต่มันสะท้อนว่าเขารู้ข้อมูลของเรา รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน ทำอะไร มีเบอร์โทร มีไลน์ โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กอะไร ครั้งหนึ่งตนโพสต์ว่ามีตำรวจมาบ้าน สุดท้ายมีตำรวจโทรมาทันทีหลังโพสต์ไม่ถึง 10 นาที ว่าไม่เห็นต้องโพสต์เลย ทำไมต้องโพสต์ด้วย มันเลยรู้สึกว่าถูกคุกคาม เพราะความเป็นส่วนตัวของเรา ถูกเจ้าหน้าที่มาติดตาม ทำให้การใช้ชีวิตปกติ ต้องระวังตัวมากขึ้น รู้สึกไม่ปลอดภัย และยังทำให้น้องที่สนใจมาทำงานแบบนี้ ก็กลัวว่าจะโดนแบบเรา ทำให้คนที่อยากจะทำ ต้องคิดว่าจะได้รับความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยหรือเปล่า

 

ทนายสะท้อนปัญหาการใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยว และการรับรองการรัฐประหารของศาล

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าหลังรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ทนายฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายไปแล้ว 192 คดี ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คดีเหล่านี้จำนวนมากเป็นคดีในศาลทหาร และข้อหาเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่ง/ประกาศ คสช. ถึงตอนนี้หลายคนอาจจะบอกว่าเราย้ายคดีกลับไปศาลพลเรือนแล้ว กลับสู่ภาวะรัฐบาลปกติแล้ว ไม่มีศาลทหารและคำสั่ง คสช. แล้ว แต่ในความจริง 5 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าการรับรองอำนาจของคสช. และคณะรัฐประหาร กลับทำโดยศาลยุติธรรม

ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร จะพบว่าในหลายคดีมีการขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจของศาล และมีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมออกมาเป็นระยะ ในเชิงรับรองว่า คสช. เป็นรัฐฏาธิปัตย์ ประกาศ/คำสั่ง คสช. ถือว่าเป็นกฎหมาย ใช้บังคับได้ แม้คำสั่งนั้นจะออกโดยคนๆ เดียว คือหัวหน้า คสช. หรือออกโดยไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายใดๆ เช่น เรียกคนให้มารายงานตัว หรือการห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คน แต่ศาลพลเรือนก็ไปยอมรับกฎหมายเหล่านี้

ภาวิณีเห็นว่าปัญหาหลักที่สำคัญในวันนี้ คือ “กระบวนการยุติธรรมปกติ” ทั้งการเข้าไปรับรองอำนาจของคณะรัฐประหาร และการปฏิเสธจะถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจและการบังคับใช้กฎหมายของคณะรัฐประหาร ซึ่งใน 5 ปีที่ผ่านมา การพยายามตรวจสอบการใช้อำนาจ เช่น การยื่นต่อศาลเรื่องการควบคุมตัวโดยมิชอบโดยทหาร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 ศาลก็มักจะยกฟ้องหรือไม่รับฟ้อง และการพิจารณารับรองอำนาจของ คสช. ก็จะทำไปในทางเดียวกันหมด

ภาวิณีเห็นว่าถึงวันนี้ ไม่มี คสช. แล้ว ต้องมีการพูดให้มากขึ้นถึงความบิดเบี้ยวหรือบิดเบือนของการบังคับใช้กฎหมาย การตีความกฎหมาย ไม่ใช่เพียงเฉพาะศาล แต่รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานความมั่นคง ทหาร ตำรวจ หรืออัยการ เราอาจไม่แปลกใจที่อัยการทหารสั่งฟ้องทุกคดี เมื่อทหารเป็นผู้กล่าวหา อัยการทหารก็ฟ้อง แต่พอมาถึงอัยการพลเรือน ก็มีการสั่งฟ้องในหลายคดีที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเช่นกัน มีอยู่บ้างที่ไม่ฟ้อง เช่น คดี We Walk  แต่คดีอื่นๆ เช่น คดีคนอยากเลือกตั้ง ก็แทบจะสั่งฟ้องหมด

ภาวิณีเห็นว่าในช่วงหลัง เรายังไม่เห็นแนวคำพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทั้งหมด แต่เราก็พบว่าบางคดี ศาลค่อนข้างตีความไปในทางคุ้มครองสิทธิ คือแม้อัยการจะฟ้อง พอไปสู้กันในศาล ก็พบว่ายกฟ้อง ยกตัวอย่างกรณีช่วงการลงประชามติ ก็ยกฟ้องเกือบหมด แต่เส้นทางคือกว่าศาลจะพิพากษา ต้องไปรายงานตัวกี่ครั้ง ต้องประกันตัว อย่างคดีปราศรัยอยากเลือกตั้ง ต้องใช้หลักทรัพย์ 1 แสนบาท ในคดี ม.116 ยุยงปลุกปั่น หรือต้องเสี่ยงกับการถูกเจ้าหน้าที่เอาตัวไปแถลงข่าว อย่างการแชร์ล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ก็โดนจับดำเนินคดี

กรณีแบบนี้ แม้สุดท้ายศาลจะยกฟ้อง แต่ในระหว่างทาง ก็ต้องต่อสู้ มีภาระเยอะ และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงทนายความ ไม่ใช่ทุกคนได้รับการสนับสนุน คนที่ถูกดำเนินการอย่างโดดเดี่ยว สุดท้ายก็เลือกรับสารภาพไปก่อน กลายเป็นการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากคน โดยใช้อำนาจตามอำเภอใจต่อคนที่เป็นเป้าหมาย กระบวนเหล่านี้ อัยการก็เป็นส่วนหนึ่งในการสั่งฟ้องคดี ให้ไปต่อสู้ในชั้นศาลเอง

กระบวนการเหล่านี้ก็ยังคงดำรงอยู่สืบเนื่องมา แม้ไม่มี คสช. นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราไม่ควรเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น 5 ปี ไม่ใช่แค่ คสช. จบแล้ว ก็จบกันไป เริ่มต้นกันใหม่ ตอนนี้เราเป็นประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น แต่ทุกวันนี้ยังมีคนถูกใช้กระบวนการแบบนี้อยู่ แม้ไม่มีคำสั่ง คสช. แล้ว เรายังพบกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่เอาไปที่ไหนก็ไม่รู้ เอาไปซักถามเป็นเวลาหลายชั่วโมง แล้วให้เซ็นยินยอมว่าสมัครใจมาให้ข้อมูล หรือกรณีที่แสดงความเห็นบนเฟซบุ๊ก ก็มีถูกเจ้าหน้าที่เอาตัวมา ให้บอกพาสเวิร์ดน่ะ ถ้าเกิดคุณยอม เราจะไม่ดำเนินคดีคุณ มันยังมีกรณีแบบนี้อยู่ เพียงแต่อาจไม่ใช่ในนามของ คสช. แต่ในนามของหน่วยความมั่นคง สันติบาล หรือตำรวจ ซึ่งทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้ทำ

ภาวิณีกล่าวว่าตอนนี้เราจึงยังอยู่กับมรดก หรือซากเดนของการรัฐประหารอยู่ กฎหมายต่างๆ ที่ สนช. ออกมา ก็ยังดำรงอยู่ อย่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพ เราจึงยังจำเป็นต้องจัดการกับสิ่งเหล่านี้ และยังต้องทำให้แน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

 

เมื่อกองทัพกลายเป็นองค์กรทางการเมือง และการปฏิรูปกองทัพ ต้องเริ่มจากเจตจำนงร่วมของประชาชน

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระ กล่าวถึงปัญหาประเทศไทยในตอนนี้ ว่าไม่ได้เกิดมาแค่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่มันย้อนไปได้นานกว่านั้น ถ้าเอาไม่ไกลมาก ย้อนไปถึงปี 2535 ยุค รสช. ที่มีการเรียกร้องของประชาชนให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง และต้องการผลักดันให้ทหารกลับกรมกอง ตอนนั้นก็พูดกันเยอะว่ากองทัพต้องกลับกรมกอง ทหารต้องเป็นทหารอาชีพ แต่ว่าข้อเสนอตอนนั้นไปจบแค่ว่าทหารถอยกลับไป ไม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองอีก แต่เราไม่ได้ปฏิรูปกองทัพ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างในกองทัพ และปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับสังคม จนกระทั่งมาเกิดรัฐประหารปี 2549 และ 2557

ในการรัฐประหารครั้งล่าสุด กองทัพได้เตรียมการมาอย่างค่อนข้างดี และได้แทรกซึมเข้าไปอยู่สถาบันหลักๆ ของไทยจำนวนมาก และกองทัพยังแสดงบทบาทต่างจากอดีตพอสมควร ชี้ให้เห็นว่าการที่เราปล่อยให้กองทัพกลายเป็นสถาบันที่มีลักษณะอิสระในตัวเอง โดยประชาชนไม่เคยเข้าไปตรวจสอบ หรือไม่เคยเข้าไปปรับเปลี่ยนได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเอง ส่วนใหญ่ก็พยายามรักษาเสถียรภาพ โดยพยายามไม่เข้าไปก้าวก่าย หรือที่ถูกเรียกว่า “ไม่เข้าไปล้วงลูก” ทั้งเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง หรือบทบาทของกองทัพที่นอกเหนือจากการเป็นทหารอาชีพ อย่างการเป็นเจ้าของสื่อ เจ้าของที่ดิน มีงบลับที่ไม่ถูกตรวจสอบ การจัดซื้อจัดหาอาวุธที่ตรวจสอบไม่ได้ เรื่องพวกนี้ ทำให้กองทัพกลายเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลขึ้นมาในสังคมไทยมาก ทำให้เรามายืนอยู่ตรงจุดนี้

ในขณะที่กองทัพมีอิทธิพลในสังคมไทย แต่ความเข้าใจต่อสังคมของกองทัพเอง กลับอยู่ในระดับต่ำมาก ความคิดของทหารยังมองสังคมไทยเหมือนกับอยู่ในยุคสงครามเย็น และมองว่าประชาชนบางกลุ่มเป็นศัตรู พอทหารออกมาสู่สังคม เขาไม่สามารถเข้าใจสังคมพลเรือนได้ ว่าสังคมพลเรือนมีความคิดที่แตกต่างหลากหลาย มีความคิดที่ขัดแย้ง มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่กองทัพยังคงพยายามจะแช่แข็งสังคมไทยเอาไว้ และพยายามเอาอุดมการณ์ของตนเองเข้ามาฝังในสังคม พยายามทำให้คนคิดแบบทหาร ทำแบบทหาร ปกครองแบบทหาร ซึ่งจริงๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และไม่มีประสิทธิภาพในโลกยุคสมัยใหม่ด้วย

ภัควดีกล่าวต่อว่าปัญหาของลัทธิทหารในสังคมไทย ยังเริ่มจะมีลักษณะเคลื่อนตัวไปบางอย่าง จากเมื่อก่อนสมัยคอมมิวนิสต์ ทหารคิดว่ามันเป็นความคิดแตกต่าง เป็นแนวคิดที่ผิดและต้องการที่จะทำลายมันทิ้งไป และวิธีการกองทัพในสมัยก่อน คือพยายามใช้การกำราบและกดขี่ แต่ในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่ากองทัพมีการเคลื่อนตัวไปอีกแบบ สิ่งที่กองทัพทำ ไม่ใช่การกำราบความคิดเห็นแตกต่างเท่านั้น แต่ทหารทำตัวเป็นข้าราชการการเมือง ทำตัวเป็นนักการเมือง และกองทัพกลายเป็นองค์กรทางการเมืองหนึ่ง สิ่งที่เขาทำไม่ใช่เพียงการรักษาความมั่นคงภายในประเทศแล้ว แต่เป็นการรักษาความมั่นคงในอำนาจของเขา

ภัควดีเห็นว่าในช่วงหลังมา ตัวเลขของการถูกดำเนินคดีต่างๆ ที่เราเห็น ไม่ใช่แค่การกำราบความคิดที่แตกต่างเพียงอย่างเดียว แต่ใช้คดีพวกนี้ เป็นฐานในการไต่เต้าของนายทหารบางคน สร้างตำแหน่งแห่งที่ของตนในกองทัพ เพื่อจะทำให้ตนมีสถานะหรือความสำเร็จทางอาชีพ การกระทำแบบนี้กลายเป็นปัญหา เพราะทำให้ตัวบุคคลในสถาบัน ไปใช้ทรัพยากรหรือใช้ประชาชนเป็นฐานในการไต่เต้า ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงภายในประเทศ

จากประสบการณ์ที่เคยเข้าไปคุยกับผบ.มทบ.33 ในค่ายทหารมา 2-3 ครั้ง ทุกครั้งเขาก็จะพูดค่อนข้างตรงว่าคุณไปทำกิจกรรมที่ไหนก็ได้ แต่อย่าทำที่นี่ เขาจะมีลิสต์รายชื่อของคนที่อยู่ในความดูแลของเขา ในแต่ละจังหวัดก็จะมีลิสต์รายชื่อ บางทีลิสต์พวกนี้ ถ้าคุณไม่ใช่คนดังจริงๆ มันจะไม่ข้ามเขต เขาก็จะดูแลเฉพาะรายชื่อในเขตของเขา แต่ถ้าดังขึ้นมา ก็อาจจะไปโดนที่อื่น

ภัควดีเห็นว่าการที่เราเห็นคดีแปลกๆ เกิดขึ้น เห็นคดีที่ไม่น่าเป็นคดี ส่วนหนึ่งนอกจากการพยายามกำราบไม่ให้มีการเคลื่อนไหวแล้ว แต่ในแง่หนึ่ง กลับกลายเป็นการทำคะแนนให้กับสถานะของตนเองในกองทัพหรือไม่ เหมือนกับนักการเมือง ที่ต้องพยายามลุกขึ้นยกมือในสภาเพื่อเก็บแต้ม ทำให้กองทัพไทยตอนหลังมีลักษณะเปลี่ยนไปเป็นองค์กรทางการเมือง แล้วก็ลงมาเล่นการเมืองเอง

ในแง่นี้ ถ้าเราไม่ปฏิรูปกองทัพ ไม่ทำให้กองทัพกลายเป็นทหารอาชีพ ดูแลเฉพาะความมั่นคงระหว่างประเทศ เลิกยุ่งกับความมั่นคงภายใน เลิกส่งนอกเครื่องแบบเข้ามานั่งฟังแล้วจดบันทึก แล้วไปทำให้เกิดผังต่างๆ  ถ้าไม่แก้ไขสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

ภัควดีเห็นว่าการเริ่มต้นปฏิรูปกองทัพ อย่างแรกต้องมีเจตจำนงของประชาชนที่มั่นคงว่าจะต้องมีการปฏิรูป และต้องยอมรับว่าการปฏิรูปนี้ใช้เวลายาวนาน และในกระบวนการก็จะมีการชักเย่อ มีการก้าวหน้าถอยหลังอยู่ได้ตลอดเวลา อย่างกรณีอินโดนีเซีย ทหารถ้าต้องการจะลงมาเล่นการเมือง ก็ต้องลาออกและถอดยศทิ้งหมด หรือเกษียณแล้ว ก็จะไม่มียศนำหน้า ในหลายประเทศ ห้ามทหารใส่เครื่องแบบออกไปนอกเวลาราชการ ห้ามทำธุรกิจ ห้ามเป็นเจ้าของสื่อ หรือห้ามนำอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาภายในเมือง

ข้อเสนอเรื่องพวกนี้ก็มีอยู่พอสมควร แต่การสร้างเจตจำนงร่วมก็ยังเป็นเรื่องยาก อาจจะน่าเศร้า ที่เราต้องรอให้กองทัพแสดงความล้มเหลวในการบริหารประเทศไปถึงที่สุดก่อนหรือเปล่า จนกระทั่งทุกคนถึงจะยอมรับว่า Never again ไม่เอาอีกแล้ว

 

เลขาฯ อนาคตใหม่ชี้เทคนิคการใช้ “กฎหมาย” มาห่อปืนของเผด็จการยุคใหม่

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าในช่วง 5 ปีที่ คสช. ครองอำนาจ ได้สร้างอะไรที่เป็นที่สุดไว้หลายอย่าง ประการแรกในแง่ของจำนวนการออกประกาศ/คำสั่งมากที่สุดเป็นลำดับที่สอง รองจากสมัยจอมพลถนอมที่ออกประกาศ/คำสั่ง 966 ฉบับ ในเวลา 1 ปี 10 เดือน เฉลี่ยปีละ 480 ฉบับ  ในสมัย คสช. ออกทั้งหมด 559 ฉบับ ตกปีละประมาณ 111.8 ฉบับ  ออกมากกว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์เสียอีก แต่ในสมัยจอมพลถนอมไม่ได้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เลยออกกฎหมายผ่านคำสั่งคณะปฏิวัติแทน แต่ในยุค คสช. มี สนช. อยู่ตลอด แต่ก็ยังออกคำสั่ง/ประกาศ คสช. เยอะมาก

สถิติอีกเรื่องหนึ่ง คือมีการคุ้มกันการใช้อำนาจไว้อย่างรัดกุมแน่นหนา ทุกวันนี้ที่เห็นได้ชัดคืออยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 279 ที่รับรองประกาศ/คำสั่งทั้งหลายของคสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด นั่นหมายความว่าผลิตผลการใช้อำนาจทั้งหมดตลอด 5 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญเลย และยังรับรองล่วงหน้าไปถึงอนาคตไปอีก

อีกอันหนึ่งคือประกาศ/คำสั่งของ คสช. ถูกใช้ครอบคลุมทุกวงการ หลายประเด็น ทั้งการโยกย้ายข้าราชการ เรียกนักการเมืองมารายงานตัว ละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องผังเมือง เอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เรื่องประมง เรื่องท้องถิ่น แม้แต่เรื่องปราบเด็กแวนซ์ ทำให้ไม่ใช่แค่นักการเมืองที่ได้รับผลกระทบ แต่คนไทยทุกหย่อมหญ้าจากประกาศ/คำสั่ง คสช.  ทั้งระยะเวลาของการใช้อำนาจแบบพิเศษนี้ยังยาวนานมาก ถึง 5 ปี 1 เดือน และยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเกิดขึ้นแล้ว คสช. ยังมีอำนาจพิเศษอย่างต่อเนื่อง

ปิยบุตรยังพูดการดำเนินคดีประชาชนของ คสช. ว่าเป็นเทคนิคในการใช้อำนาจแบบใหม่ๆ ของเผด็จการทหาร ซึ่งทราบดีว่าไม่สามารถใช้อำนาจดิบเถื่อน อุ้มคน ตั้งศาลเตี้ย หรือวิสามัญฆาตกรรมไปเลยได้ จึงมีการทำให้การใช้อำนาจดูมีเหตุมีผลมากขึ้น ผ่านการแปลงอำนาจดิบเถื่อนนั้นให้เป็นกฎหมาย ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออยู่ตลอดเวลา ทั้งการออกประกาศ/คำสั่ง หรือการเอาไปให้ สนช. ซึ่ง คสช. ตั้งมาเอง ออกเป็นพระราชบัญญัติ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมาบังคับใช้ตามนั้น เวลามีใครบอกว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  คสช. ก็จะบอกว่านี่เป็นการทำตามกฎหมาย นานาชาติอยากจะเข้ามาสังเกตการณ์หรือตรวจสอบ ก็จะทำได้ยากขึ้น

ปิยบุตรเห็นว่าเวลาเราจะดูการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนของเผด็จการ อย่าดูเพียงจำนวนคนที่บาดเจ็บล้มตายเท่านั้น แต่การที่มีคนถูกดำเนินคดีมากขึ้นๆ แสดงว่าเผด็จการแนบเนียนมากขึ้นกว่าเดิม คือไม่ต้องใช้ปืน แต่ใช้ “กฎหมาย” ทั้งที่คนที่บอกให้ทุกคนเคารพกฎหมายนั้น เป็นคนละเมิดกฎหมายคนแรก คือการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ

วิธีการเหล่านี้ เรียกว่า “เอากฎหมายมาห่อหุ้มปืน” หรือบางทีก็ใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไปในทางลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หลายเรื่องไม่น่าจะเป็นข้อกล่าวหาด้วยซ้ำ แต่ก็ดำเนินคดีไว้ก่อน เพื่อให้มีคดีเป็นชนักติดหลัง ให้ก้าวเดินยากขึ้น ทำให้ต้องประเมินว่าจะไปชุมนุมอีกไหม เพื่อนๆ เห็นเราถูกดำเนินคดี ก็ไม่อยากออกไปอีก ทำให้คนเลือกจะจำกัดเสรีภาพตนเอง  ที่สำคัญที่สุด ก็คือเผด็จการทหารของไทยนั้นอยู่ตามลำพังโดดๆ ไม่ได้ หากไม่ได้นักกฎหมายเข้าไปช่วย คู่หูนี้กลายเป็นผีเน่ากับโลงผุมาหลายยุคสมัยแล้ว

 

ข้อเสนอ “จัดการ-แก้ไข-ลบล้าง-ป้องกัน” มรดกคณะรัฐประหาร

สำหรับด้านการหาหนทางแก้ไขปัญหาที่ยังดำรงอยู่จากคณะรัฐประหาร ปิยบุตรได้กล่าวถึงแนวคิดของเขาว่าต้องมีการ “จัดการ แก้ไข ลบล้าง และป้องกัน”

1.จัดการ คือแม้จะมีการยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ไปบางส่วน แต่ยังมีประกาศ/คำสั่งอีกหลายฉบับที่ยังอยู่ จึงจำเป็นต้องเอามาสังคายนาทบทวนกันใหม่ ฉบับไหนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื้อหาขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง ต้องยกเลิกให้หมด และต้องเยียวยาผู้เสียหายจากการใช้อำนาจด้วย

ส่วนกลุ่มที่เป็นประกาศ/คำสั่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวันปกติ อยากจะให้ใช้ต่อ ต้องแปลงมันให้เป็นกฎหมายปกติ คือออกเป็นพ.ร.บ. หรือกฎหมายระดับรอง  และที่สำคัญคือการต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่สร้างเกราะคุ้มกันการใช้อำนาจของ คสช. เอาไว้

2.แก้ไข คือกฎหมายเดิมหรือกฎหมายสมัย คสช. ที่ออกมาและมีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ต้องมีการแก้ไข เช่น เรื่องศาลทหาร ซึ่งกฎหมายศาลทหารไทยไม่ได้มาตรฐานกับหลักสากล ก็ต้องแก้ไข หรือเรื่องกฎอัยการศึก ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2457 สมัยรัชกาลที่ 6 ก็ต้องแก้ไข อย่างน้อยก็ต้องไม่อนุญาตให้ทหารประกาศกฎอัยการศึกกันเอง แต่ต้องประกาศโดยคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสร้างระบบความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก

ปิยบุตร ยังกล่าวถึงกฎหมายอีกหลายฉบับที่จำเป็นต้องแก้ไข ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล อย่างเช่นให้ศาลตรวจสอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, กฎหมายพ.ร.บ.ฯ คอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกใช้อย่างผิดเจตนารมณ์ตลอดมา คือมาห้ามการแสดงความคิดเห็นผ่านทางคอมพิวเตอร์ ทั้งที่เจตนารมณ์เป็นเรื่องการป้องกันแฮคเกอร์

ปิยบุตรยังกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาท ที่ถูกใช้เป็นความผิดอาญา และถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งไม่ให้คนแสดงความคิดเห็น เป็นไปได้ไหมจะให้เป็นความผิดทางแพ่งอย่างเดียว ไม่เป็นความผิดอาญา, การยกเลิกกฎหมายความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพราะทำให้กอ.รมน. เข้าไปแทรกแซงทุกหย่อมหญ้า, การแก้ไขกฎหมายการบริหารราชการในกระทรวงกลาโหม ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมหรือนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่แต่งตั้งโดยสภากลาโหม ที่ประกอบด้วยผู้บัญชาการทหารด้วยกันเอง และอาจจะกำหนดให้มีเรื่องการตั้งผู้ตรวจการกองทัพ (ombudsman) เพื่อตรวจการใช้อำนาจและการใช้งบประมาณของกองทัพ

3.ลบล้าง – หากดูประสบการณ์ต่างประเทศ ที่เคยมีรัฐประหาร แล้วทุกวันนี้ไม่มีอีกแล้ว สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้เยอะคือการเอาคนทำรัฐประหารไปดำเนินคดี ถ้าทำได้ คนชุดต่อๆ ไปก็จะไม่กล้าทำ ทุกวันนี้นายทหารกล้าทำทุกครั้ง เพราะรู้ว่ายึดอำนาจสำเร็จ ก็จะนิรโทษกรรมตัวเอง แล้วก็ตั้งตัวเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด ตัวอย่างมีทั้งที่กรีซ ตุรกี ฝรั่งเศส ที่นำคนทำรัฐประหารไปติดคุกได้ คนต่อๆ มาก็จะไม่กล้าทำ โดยเราต้องทำให้การนิรโทษกรรมตนเองเป็นโมฆะ เพื่อทำให้สามารถดำเนินคดีได้

4.ป้องกัน – การป้องกันรัฐประหารยังใช้เทคนิคทางกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ยังต้องปฏิรูปกองทัพ หรือนักการเมืองต้องมีคุณภาพมากขึ้น

ในทางกฎหมาย ปิยบุตรยังเสนอว่าความผิดฐานกบฏ มาตรา 113 อาจต้องมีการเขียนเปิดช่องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเป็นผู้เสียหาย ศาลจะบอกไม่ได้ว่านาย ก. ไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ทุกคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้เสียหาย และศาลต้องพิจารณาใน 24 ชั่วโมง เพราะมีการยึดอำนาจแล้ว ต้องรีบหยุดเอาไว้

อีกอันหนึ่ง คือศาลมักจะบอกว่าคนที่ยึดอำนาจสำเร็จ เป็นรัฐฏาธิปัตย์ ปิยบุตรเห็นว่าควรเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญ ว่าศาลห้ามพิพากษาว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฐฏาธิปัตย์ เรื่องนี้ถือว่าเป็นหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไป แม้จะฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่หลักนี้ก็ยังอยู่

ปิยบุตรสรุปว่ากฎหมายก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกัน แต่สุดท้ายเป็นเรื่องความคิดของคนในสังคมร่วมกัน ที่เห็นร่วมกันว่าเราไม่ยอมให้มีการรัฐประหาร โดยแม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่รัฐบาลที่ได้มา ยังเป็นการสืบทอดอำนาจ และประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง รัฐไทยตอนนี้มีลักษณะเป็นกึ่งรัฐทหาร (para-military state) เป็นรัฐแบบเผด็จการครึ่งใบ ยังเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ และรัฐทุนผูกขาด ถ้าไม่มีการแก้ไขปรับปรุง รัฐไทยก็จะเดินต่อไปแบบนี้อีก

 

งานนิทรรศการ “NEVER AGAIN หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน”  เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 10-16 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00-17.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) บริเวณชั้น 2 ของหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูรายละเอียดที่ https://tlhr2014.com/?p=13096

 

 

X