Never Again หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน: ข้อเสนอจัดการผลพวงรัฐประหาร คสช.

10 ส.ค. 62 ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดเปิดงานนิทรรศการ “NEVER AGAIN หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สามัญชน (Museum of the Commonners), ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ (CAN) และกลุ่มช่างภาพ Realframe จัดแสดง “พยานหลักฐาน” ของการควบคุม คุกคาม ปราบปรามด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นมากว่า 5 ปี ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวสรุปถึงภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 5 ปี 1 เดือนเศษ ในยุค คสช. และข้อเสนอบางส่วนของการจัดการผลพวงจากการรัฐประหาร ซึ่งยังดำรงอยู่ต่อมา แม้ คสช. จะยุติบทบาทลงแล้ว

 

ทำไมเราต้องมีการจัดการผลพวงจากการรัฐประหาร?

ภัทรานิษฐ์ เริ่มต้นด้วยการชี้ชวนให้ดูเสื้อของนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรมรณรงค์ด้านประชาธิปไตย โดยเป็นเสื้อตัวที่นายสิรวิชญ์สวมใส่ขณะที่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ 4 คน เข้ารุมทำร้ายร่างกาย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ที่เขาถูกทำร้ายภายในเดือนเดียวกันนั้น ก่อนหน้านั้น “จ่านิว” ถูกดำเนินคดีการเมืองถึง 13 คดี ในยุคของ คสช. อันเนื่องมาจากการจัดการชุมนุม จัดกิจกรรมการแสดงออก และเรียกร้องให้รัฐบาลทหาร ที่นำโดยคณะรัฐประหาร หรือ คสช. ลงจากอำนาจ และหลายคดีก็ยังสิ้นสุดจนถึงปัจจุบัน เรื่องราวของ “จ่านิว” เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของชีวิตคนธรรมดาสามัญ ที่ต้องเปลี่ยนไปหลังจากการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน โดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ภัทรานิษฐ์ ได้สรุปตัวเลขสถิติขั้นต่ำของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามข้อมูลตั้งแต่หลังรัฐประหาร มาจนถึง 5 ปี คสช. ได้แก่

929 คือจำนวนบุคคลที่ถูกเรียกมารายงานตัวในค่ายทหาร หรือเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติ อันถือว่าเป็นการคุกคามซึ่งสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และกลายเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

572 คือจำนวนบุคคลที่ถูกข่มขู่ คุกคาม และติดตามตัวถึงที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่รัฐในยุค คสช.

434 คือจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ทั้งด้วยการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

773 คือจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ด้วยการแจ้งข้อกล่าวหาตามประกาศและคำสั่ง คสช. และข้อหาตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งออกโดยสภาที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง

100 คือจำนวนขั้นต่ำที่คาดว่าเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากหวาดกลัวในภัยคุกคามต่อชีวิต อันเนื่องจากความเห็นต่างทางการเมืองในยุค คสช.

ภัทรานิษฐ์ กล่าวว่าตัวเลขทั้งหมดนี้ล้วนแต่เริ่มต้นมาจากการเข้ายึดอำนาจของคณะรัฐประหาร (คสช.) ที่ตามมาด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 การตั้งตัวเองเป็นรัฐฎาธิปัตย์ และดำเนินการออกกฎหมาย ทั้งที่อยู่ในรูปแบบประกาศ/คำสั่ง คสช. พระราชบัญญัติ และกฎหมายอันเป็นการรื้อสร้างและกำหนดโครงสร้างของความสัมพันธ์ใหม่ของทั้งสามอำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยประชาชนไม่มีสิทธิคัดค้านและไม่ได้มีส่วนร่วม

สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ มิได้ปรากฏอยู่ในรูปแบบของกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรมโดยการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาแทรกซึมและชี้นำกระบวนการสอบสวน สั่งคดี และพิจารณาคดี ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

2,408 คน คือจำนวนพลเรือนที่ต้องถูกพิจารณาโดยศาลทหาร และเผชิญกับการพิจารณาคดีที่ล่าช้าและปิดลับ และแม้คสช.จะประกาศให้โอนย้ายคดีทั้งหมดไปยังศาลยุติธรรม แต่เวลา 5 ปีที่ผ่านมา นานพอที่จะทำให้แนวคิดและวิธีปฏิบัติการแบบทหารรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่พลเรือนในภาคส่วนอื่น

ภัทรานิษฐ์ กล่าวว่าทั้งหมดนี้ แม้จะมีพยานหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ด้วยการบอกเล่าผ่านเรื่องราวของผู้คน ข้าวของเครื่องใช้ธรรมดาๆ ที่ถูกยึดเป็นของกลาง และความทรงจำของญาติที่มีต่อผู้ลี้ภัยทางการเมือง หรือนักโทษการเมือง แต่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่สถาบันตุลาการ หนึ่งในสามอำนาจหลัก กลับรับรองซึ่งความชอบด้วยกฎหมายและความสมบูรณ์ของการรัฐประหาร และรับรองเอกสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่มิให้ต้องรับผิดใด ผ่านการทำคำพิพากษาที่พบทั้งในศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แม้ประเทศไทยจะผ่านการเลือกตั้งทั่วไป มาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่เรายังคงอยู่ท่ามกลางกฎหมายนับพันฉบับ ชีวิตของผู้คนซึ่งได้รับผลกระทบอันมิอาจคำนวนเป็นตัวเลขได้ และยังมีบรรยากาศหรือภาวะของการลอยนวลพ้นผิดที่ยังคงอยู่ และยังคงอยู่ต่อไปแม้ คสช.จะยุติบทบาทไปแล้วก็ตาม

 

ข้อเสนอของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ภัทรานิษฐ์ ได้นำเสนอว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร และบันทึกเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลที่นำโดย คสช. มาตลอดระยะเวลา 5 ปี ในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาสำคัญ ที่เราต้องเริ่มสร้างความจดจำและเรียกร้องให้เกิดความรับผิดและเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ดูในรายงาน 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร

ภัทรานิษฐ์ สรุปข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงการรัฐประหารในทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะได้ทยอยนำเสนอต่อไป ประกอบด้วย 8 ประเด็นหลัก คือ

1. การแก้ไขและยกเลิกกฎหมาย อันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ภายใต้รัฐบาลที่นำโดย คสช.

2. การทำให้สิ้นผลไปซึ่งคำพิพากษา ที่ไม่ว่าออกโดยศาลใด แต่รับรองความสมบูรณ์ของการรัฐประหาร สร้างเอกสิทธิ์ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ และวินิจฉัยตามกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน อันนำมาสู่การลงโทษบุคคลดังกล่าว

3. การสนับสนุนให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และความเป็นธรรม โดยรับรองหลักความเป็นอิสระ ความเป็นกลางของสถาบันตุลาการ และต้องนำทหารออกจากกระบวนการยุติธรรม ด้วยการยุติการนำศาลทหารมาใช้พิจารณาคดีพลเรือน ตลอดทั้งยุติการนำพยานหลักฐานที่ได้มาจากการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาใช้ในพิจารณาคดีต่อบุคคลนั้น

4. การเปิดเผยข้อมูลที่จัดเก็บโดยหน่วยงานรัฐ ซึ่งนำมาสู่การข่มขู่ คุกคาม และละเมิดซึ่งสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานของประชาชน

5. การกำหนดหรือจัดตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง เพื่อตรวจสอบรูปแบบและลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการใช้อำนาจโดยมิชอบภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่นำโดย คสช.

6. การเยียวยาผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการกำหนดนิยามผู้เสียหาย ประเภท ลักษณะ และระดับความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลอันเนื่องมาจากการรัฐประหาร และเรียกร้องให้รัฐดำเนินการเยียวยาชดใช้ให้บุคคลดังกล่าวโดยวิธีการทั้งที่อยู่ในรูปแบบตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน

7. การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยอย่างน้อยที่สุด ต้องสามารถระบุบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในระดับการกำหนดนโยบาย การสั่งการ การปฏิบัติ และการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งนำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เพื่อประโยชน์ในการนำตัวบุคคลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

8. การติดตามการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่มีเหนือหรือแทรกซึมเข้าไปในงานพลเรือนในมิติต่างๆ

ภัทรานิษฐ์ สรุปว่าข้อเสนอที่จัดทำขึ้นจากพยานหลักฐานบางส่วนที่จะได้ชมในนิทรรศการ Never Again เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเบื้องต้นเท่านั้น ที่จะสร้างการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการ ไปสู่สังคมที่เคารพหลักนิติรัฐและปกป้องหลักสิทธิมนุษยชน เพราะท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนทุกคนมีความชอบธรรมที่จะคิด และกำหนดแนวทางสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ด้วยตัวเอง เพราะเราทุกคนล้วนแต่เป็นพยานหลักฐาน เป็นสิ่งยืนยันว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลกระทบต่อเรา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และหวังว่านิทรรศการนี้จะเป็นจุดริเริ่มให้ทุกคนได้รู้ ได้ค้นหา และได้เข้ามาก่อร่างสร้างนิติรัฐให้กับสังคมใหม่

 

***สำหรับงานนิทรรศการ “NEVER AGAIN หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน”  เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 10-16 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00-17.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) บริเวณชั้น 2 ของหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ดูรายละเอียดงาน)  และติดตามหนังสือข้อเสนอการจัดการผลพวงรัฐประหาร คสช. ฉบับเต็ม โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เร็วๆ นี้***

 

อ่านเพิ่มเติม

วงเสวนา Never Again เสนอจัดการมรดกคสช. ปฏิรูปกองทัพ ยุติการรับรองรัฐประหารของศาล

เอกอัครราชทูตแคนาดาเปิดงาน “NEVER AGAIN” ย้ำแต่ละสังคมต้องร่วมกันหันไปมองประวัติศาสตร์บาดแผล

 

 

X