รายงานการเสวนา “ขนนกบนตราชู” : เมื่อทนายสิทธิชวน น.ศ.ม.อุบลฯ ล้อมวงเล่าเรื่องงานสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2568 ที่ห้อง 2303 อาคารเรียนรวม 2 (CLB2) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีงานเสวนา “ขนนกบนตราชู” : ชวนรู้จักงานทนายความสิทธิมนุษยชน จัดโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีนักศึกษาทั้งคณะนิติศาสตร์และคณะอื่น ๆ เข้าร่วมฟังเสวนาราว 50 คน 

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความเครือข่าย ศูนย์ทนายความฯ 1 ใน 10 ทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีบทสัมภาษณ์ในหนังสือ “ขนนกบนตราชู”, พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่าย ศูนย์ทนายความฯ และสุดารัตน์ จงสุขกลาง เจ้าหน้าที่ฝ่ายคดีศูนย์ทนายความฯ โดยมี วีรวรรธน์ สมนึก กองบรรณาธิการ “ขนนกบนตราชู” เป็นผู้ดำเนินรายการ

“ขนนกบนตราชู” เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่รวบรวมบทสัมภาษณ์ 10 ทนายความที่ทำงานคดีด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิต ประสบการณ์ และมุมมองด้านต่าง ๆ ของการทำงานด้านกฎหมายเพื่อความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย งานเสวนาในครั้งนี้ นอกจากเป็นการแนะนำและส่งต่อหนังสือ “ขนนกบนตราชู” ให้สถาบันการศึกษาในภูมิภาคแล้ว ยังเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านงานสิทธิมนุษยชน ดังเช่นที่ ดร.นิติลักษณ์ แก้วจันดี คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลฯ กล่าวเปิดเวทีเสวนาไว้ว่า

“หัวข้อเสวนา “ขนนกบนตราชู” : ชวนรู้จักงานทนายความสิทธิมนุษยชน เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะเป็นการบอกกล่าวเล่าถึงบทบาทของวิชาชีพทนายความกับงานด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว ผมคิดว่าผู้เข้าร่วมเสวนาในวันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนกฎหมายยังจะได้เห็นถึงช่องว่างของกระบวนการยุติธรรมของไทยที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อกระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผ่านประสบการณ์ของวิทยากร ผมหมายใจว่างานเสวนาในวันนี้จะมีส่วนในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนกฎหมายรุ่นใหม่ให้กลับไปสนใจในเรื่องของงานสิทธิและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานอย่างสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” 

.

วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความเครือข่าย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มการเสวนาด้วยการเล่าความเป็นมาในชีวิตที่ทำให้มาเป็นทนายความที่สนใจเรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชนว่า เขาเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก พ่อเป็นครู มีตู้หนังสือเล็ก ๆ ช่วงที่เรียนมัธยมก็ค้นหนังสือของพ่ออ่าน เจอหนังสือชื่อ “4 อดีตรัฐมนตรีภาคอีสาน” ก่อนหน้านั้นก็สนใจการเมือง “เหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจคือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่เขาขับไล่ 3 ทรราชย์ เราฟังวิทยุกรมประชาสัมพันธ์รู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นน่าสนใจ ตอนนั้นผมก็คงอายุประมาณสัก 11 ปี ชอบการเมืองเหมือนชอบมวย ชอบกีฬา” 

เขาอ่านเรื่อง 4 อดีตรัฐมนตรีอีสานที่ถูกซุ่มยิงฆาตกรรมแล้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะตายอย่างนั้น อยากจะตายโดยเสียสละให้กับสังคม ชีวิตเขาจึงตามรอย 4 อดีตรัฐมนตรีนี้ “ผมเกิดมหาสารคามผมก็ภาคภูมิใจจำลอง ดาวเรือง ผมพยายามจะเรียนที่จังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อที่จะตามรอยถวิล อุดล แล้วพยายามไปเรียนต่อที่สกลราชวิทยานุกูลซึ่งเป็นโรงเรียนของเตียง ศิริขันธ์ และสุดท้ายผมมาเรียนต่อจนจบ ม.ศ.5 ที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลฯ (โรงเรียนที่ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เรียนและเป็นครูใหญ่)” 

จากนั้นสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าไปเรียนไม่ชอบใจจึงเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง ไปทำกิจกรรมออกค่าย เข้าชุมนุมทางการเมือง ไปทำงานให้นักการเมืองเที่ยวติดโปสเตอร์ หัดปราศรัยทางการเมือง เพราะว่าชอบ เคยพาชาวบ้านเดินขบวนเรียกร้องราคาข้าว ปิดถนน ปิดศาลากลาง สุดท้ายไปเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในภายหลัง

ทนายวัฒนาเล่าประสบการณ์การว่าความที่ภาคภูมิใจก็คือ การมีโอกาสเป็นหนึ่งในทนายความหลาย ๆ คน ทำคดีจากชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงในอุบลฯ ในปี 2553 ซึ่งมีทั้งคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ คดีเผายางรถยนต์หน้าพรรคประชาธิปัตย์และหน้ากองบิน และอีกหลายคดี มีคนจำนวนเป็นร้อยเข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากนี้เขายังมีโอกาสได้เป็นทนายความคดีมาตรา 112 และ 116 ใน จ.อุบลฯ ด้วย 

“พูดในแง่ของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งผมถือว่าผมประสบความสำเร็จในความเป็นทนายความ เพราะในทัศนะของผมหมุดหมายที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่งของทนายความก็คือได้ว่าความคดีการเมือง ได้ว่าความคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นเมื่อผมมีโอกาสได้เป็นทนายความในคดีเหล่านั้นผมก็มีความรู้สึกว่า ชีวิตนี้ตายก็ไม่เสียดายแล้วหล่ะ” 

ในมุมของวัฒนา เขาเห็นว่า อาชีพทนายอย่างไรก็ตามก็จะพออยู่พอกิน สร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ในสังคมได้อย่างไม่อายใคร ถ้าอยากรวยมาก ๆ ก็ขี้โกงมาก ๆ แต่ถ้าอยากมีความภาคภูมิใจก็หันมาช่วยคนจนคนที่เสียเปรียบ การว่าความสู้คดีให้คนยากคนจนก็มีความสนุกอยู่ในตัว และสร้างความภาคภูมิใจให้กับเขา ถึงแม้ไม่ได้รวยแต่ก็เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้ 

วัฒนาย้ำว่า คนในสังคมเกี่ยวข้องกันทั้งหมดผ่านโครงสร้างทางการเมือง ความร่ำรวยของคนกลุ่มหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับความยากจนของคนจำนวนมาก ถ้ามนุษย์จะข่มเหงกันเราก็ควรจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง “วันนี้ผมอายุ 63 ผมยังแข็งแรงอยู่ ผมก็เข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนที่ทำได้จนกว่าจะเดินไม่ได้ พูดไม่ได้”

นั่นทำให้วัฒนาเห็นว่า การเมืองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะสิ่งที่สูงสุดในประเทศคืออำนาจของประชาชน ถ้าทนายความหรือนักกฎหมายไม่สนใจเรื่องการเมืองก็จะทำให้แก้ปัญหาได้ช้า ทนายความใช้กฎหมายตามที่สภาออก แต่ถ้ากฎหมายใดไม่สอดคล้องกับยุคสมัย อย่าง 112 ก็ต้องเปลี่ยน แต่วันนี้อำนาจของสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนก็ยังมีไม่เต็มที่ ยังมีการต่อสู้ขัดขวางของกลุ่มพลังต่าง ๆ “สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือ การแก้ไขกฎหมาย อย่าง 112 ถ้าแก้ไม่ได้มันก็จะเป็นบาดแผล เป็นอาวุธที่เอาไปใช้ทิ่มแทงใคร ๆ ก็ได้ อย่างทนายอานนท์ซึ่งน่าสงสารมาก” 

.

พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่าย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงความแตกต่างของทนายความทั่วไปและทนายสิทธิว่า ทนายความทั่วไปอาจจะทำคดีแพ่ง เช่น กู้ยืม ผิดสัญญา ซื้อของออนไลน์ไม่จ่าย ซึ่งเป็นปัญหาระดับปัจเจก แต่ทนายความสิทธิมนุษยชนจะพูดถึงปัญหาในภาพกว้างที่ใหญ่ขึ้นเพื่อยืนยันเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน 

ก่อนยกตัวอย่างสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่อยู่ใกล้ตัวจนเราไม่ทันรู้ตัว เช่น เรื่องรับน้อง และย้ำความสำคัญว่า สิทธิมนุษยชนเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ แต่ทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น ทำให้ความเป็นมนุษย์เราค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาได้ 

พัฒนะยังเล่าประสบการณ์การทำคดีสิทธิที่ต้องเจอแรงกดดันในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้นในชั้นตำรวจจนถึงชั้นศาล โดยเล่าถึงคดีที่ประชาชนหลายคนแชร์โพสต์ข้อความขอให้ตรวจสอบเกี่ยวกับข่าวลือการทุจริตของข้าราชการใน จ.อุดรฯ ในช่วงโควิด ก่อนถูกข้าราชการที่มีชื่อในโพสต์แจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเข้าลักษณะคดี SLAPPs หรือคดีฟ้องปิดปาก 

วันไปรับทราบข้อกล่าวหา ตำรวจถามคำถามแรกว่า ไปขอขมาผู้เสียหายหรือยัง และแนะนำให้เอากระเช้าไปขอโทษเนื่องจากผู้เสียหายเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ตัวผู้ต้องหายืนยันสู้คดี เพราะเขาเจตนาแชร์เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการทุจริต ไม่ได้กล่าวหาหรือใส่ร้ายใคร 

พอถึงชั้นศาลก็ถูกกดดันให้รับสารภาพ จนจำเลยบางคนร้องไห้ แต่ทุกคนก็ยังยืนยันสู้คดี ยืนยันว่าเป็นการติติงการใช้จ่ายงบประมาณประเทศในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น ทนายความจึงยืนยันกับศาลในหลักการที่ว่า จำเลยเพียงใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท สุดท้ายคดีนี้ศาลก็ยกฟ้อง  

สำหรับทนายพัฒนะ สิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนก็คือ ความยุติธรรมและความถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในใจและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของนักกฎหมายหลาย ๆ คน ไม่จำเป็นต้องเป็นทนายสิทธิเท่านั้น แม้แต่ในคดีแพ่งคดีกู้ยืมเงินกัน ทนายความก็ล้วนต่อสู้คดีเพื่อให้ลูกความได้รับความยุติธรรม 

นอกเหนือจากการต่อสู้คดีเพื่อให้เกิดความยุติธรรม พัฒนะเห็นว่า ทนายสิทธิก็มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมด้วย เนื่องจากงานทนายความทำให้เราได้เห็นความทุกข์ของประชาชน ซึ่งไม่เหมือนกับที่ศาล อัยการ หรือตำรวจมองเห็น ศาล อัยการ ตำรวจ อาจจะมองเห็นว่าสิ่งที่จำเลยทำเป็นสิ่งที่ร้ายแรง แต่ทนายความอยู่อีกด้านของกระจกจะมองเห็น รับรู้ที่มาที่ไปและเหตุผลในการกระทำของเขา เมื่อรับรู้มาแล้ว หากสะท้อนและส่งต่อเรื่องราวก็จะเป็นแรงผลักให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่อไป 

.

สุดารัตน์ จงสุขกลาง เจ้าหน้าที่ฝ่ายคดีศูนย์ทนายความฯ เล่าถึงความสนใจงานด้านสิทธิซึ่งเริ่มตั้งแต่เลือกเรียนในสาขานิติศาสตร์และสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้ได้เรียนวิชาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหลายรายวิชา โดยเฉพาะวิชาที่นักศึกษาเรียกกันว่า วิชาชายขอบ ซึ่งพูดถึงกลุ่มคนที่เปราะบาง ง่ายต่อการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ เมื่อเรียนจบจึงได้ไปทำงาน NGO ในประเด็นสุขภาพของผู้ติดเชื้อ HIV พบกรณีที่ผู้ติดเชื้อไปรับบริการทันตกรรรม แม้ไปคนแรกแต่จะได้รับบริการคนสุดท้าย ทำให้เห็นภาพการถูกเลือกปฏิบัติในชีวิตจริง 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้สุดารัตน์อยากลองมาทำประเด็นสิทธิทางการเมืองดูบ้าง เกิดขึ้นในปี 2563 ที่มีการชุมนุมทางการเมือง มีผู้ชุมนุมจำนวนมากออกมาเรียกร้องสิทธิ ปราศรัยวิจารณ์การบริหารของรัฐบาล แต่ถูกดำเนินคดี เธอเลยตั้งสมมติฐานว่า การที่ประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิ หรือแสดงความคิดเห็นยังทำไม่ได้ แล้วปัญหาสังคมอื่น ๆ หรือประเด็นที่เธอทำอยู่ก็คงไม่สามารถที่จะสื่อสารส่งไปถึงรัฐบาลได้ 

สุดารัตน์ให้คำจำกัดความของคำว่า สิทธิมนุษยชน โดยหยิบยกคำอธิบายของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในหนังสือ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” มาว่า คือสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ประกอบด้วย 1. สิทธิพลเมือง หมายถึงเด็กทุกคนเมื่อเกิดขึ้นมาก็ต้องมีใบเกิดเพื่อรับรองว่าเขามีตัวตนเกิดขึ้นในโลกแล้ว 2. สิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิในการเลือกตั้ง ทุกคนควรมีสิทธิเลือกคนที่มีนโยบายที่จะเข้ามาแก้ปัญหาชีวิตให้เขาได้ 3. สิทธิทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การมีงานทำ มีรายได้ 4. สิทธิทางสังคม ได้แก่ สิทธิทางสุขภาพ การรักษาพยาบาล และการศึกษา 5. สิทธิทางวัฒนธรรม ทั้ง 5 อย่าง ประกอบร่างให้เป็นมนุษย์ 1 คน 

สิ่งที่สุดารัตน์ภาคภูมิใจในการทำงานด้านสิทธิ คือ การได้มีโอกาสช่วยทนายความร่างอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลเยาวชนฯ ในคดีละเมิดอำนาจศาล ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเยาวชน 15 วัน จนกระทั่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้รอการกำหนดโทษเป็นเวลา 1 ปี ทำให้เธอรู้สึกดีใจที่มีส่วนในการช่วยทนายและช่วยเยาวชนคนดังกล่าวได้ 

ในช่วงท้ายสุดารัตน์กล่าวว่า การทำงานที่ศูนย์ทนายฯ ในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายกับเธอ เพราะเธอได้เห็นถึงความทุกข์ของคนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือทางคดี เขามีคดีความติดตัว ทั้ง ๆ ที่เขาคิดว่าสิ่งที่เขาออกไปทำหรือไปเรียกร้องเป็นสิ่งที่เขาทำได้ และเธอเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยเหลือทางกฎหมายพวกเขา แม้จะยังไม่ได้เป็นทนาย ซึ่งก็ส่งผลให้เธอมีแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นทนายความในวันข้างหน้าต่อไป 

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 

รายงานการเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ขนนกบนตราชู” : ชีวิตและประสบการณ์ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ทำงาน “รับใช้ประชาชน”

“ขนนกบนตราชู”: เรื่องราวนอกสำนวนของ 10 ทนายสิทธิฯ กับการต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด

X