เบื้องหลังกรงขังของ ‘ราชานักฝัน’: เสียงจากใจ ผกก.หนัง School Town King ถึง “บุ๊ค” ในวันที่ห่างไกลกันกว่าเดิม

“เวลาเราไปเยี่ยมเนี่ย เราก็ไปพร้อมกับนิว แฟนบุ๊ค เราก็เหมือนกับเราก็ไป… มันก็คือคนรัก มันก็คือน้องเรา เราก็รู้สึกว่านี่เป็นครั้งแรกเลยที่เราจะต้องมาเยี่ยมคนในเรือนจำ”

เสียงของ “เบสท์” วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับเจ้าของผลงานภาพยนตร์สารคดี School Town King ย้อนเล่าความรู้สึกถึงครั้งแรกของการไปเยี่ยม “บุ๊ค” ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ Eleven Finger ศิลปินฮิปฮอปและนักแสดงนำในภาพยนตร์ของเขา ที่กลายเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองจากเหตุตรวจพบการครอบครองระเบิดปิงปอง, ประทัด และพลุ ในช่วงชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2565 บุ๊คได้รับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเรื่อยมา 

ในขณะที่โทษเหลือราว 5 เดือนกว่า แต่แล้วเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2568 ก็มีเหตุการณ์ที่บุ๊คถูกย้ายตัวไปเรือนจำกลางบางขวาง ท่ามกลางความชุลมุนและการอารยะขัดขืนการบังคับย้ายเรือนจำ จนทำให้บุ๊คได้รับบาดเจ็บ ปากแตก มือถลอก แต่นั่นก็ไม่เท่ากับการถูกย้ายที่คุมขังที่อาจจะทำให้การพบกันของบุ๊คและเบสท์ รวมถึงคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ญาติโดยตรงเป็นเรื่องยากขึ้นกว่าเดิม

ย้อนเรื่องราวชีวิตไปก่อนหน้านี้ เบสท์จบการศึกษาด้านนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบการสื่อสาร เขาเริ่มทำงานภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงมหาวิทยาลัยปี 2-3 ควบคู่ไปกับการก่อตั้งบริษัท Eyedropper Fill  ซึ่งในยุคแรก ๆ เน้นทำงานเกี่ยวกับภาพเคลื่อนไหวสำหรับคอนเสิร์ต มิวสิควิดีโอ โมชั่นกราฟิก รวมไปถึง ศิลปะการจัดวาง (installation art)

หลังจากทำงานในวงการมาเกือบ 7 ปี เขาค่อย ๆ ขยับขยายขอบเขตงานออกไปสู่งานออกแบบพื้นที่และนิทรรศการ หลังจากนิรันดร์ราตรี (2560) ภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกปรากฏสู่สายตาผู้ชม  ก่อนที่ผลงานกำกับจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นจาก School Town King (2563) ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน”  ซึ่งติดตามถ่ายเรื่องราวชีวิตของเด็กวัยรุ่นจากสลัมคลองเตย ผ่านความฝันของตัวละครที่อยากเป็นศิลปินฮิปฮอป 

นอกจากภาพยนตร์ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา งานของเบสท์มุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิต หรือ Mental Health  ซึ่งเขาเห็นความสำคัญหลังจากที่สังคมเผชิญกับวิกฤตโควิด-19

“เรื่องการเมืองก็มีส่วน เพราะว่าเรารู้สึกว่าคนมันช้ำจากหลาย ๆ อย่าง จากโควิด จากเศรษฐกิจ จากรัฐประหาร เราเลยรู้สึกว่าอยากมาทำงานที่มันเหมือนกับใช้สื่อของเราพูดถึงประเด็นเรื่องพวกนี้”

.

ราวกับโลกหยุดหมุน

22 ก.ย. 2566 วันที่บุ๊คถูกตัดสินจำคุกเป็นวันที่โลกของเบสท์และคนรอบข้างแทบจะหยุดหมุน เบสท์เริ่มเยี่ยมบุ๊คตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ตัวละครในภาพยนตร์ของเขาถูกจองจำ จนต่อมาตัวละครคนนี้กลายมาเป็นน้องชายต่างสายเลือด

“จริง ๆ หลังจากนั้นเราก็เยี่ยมบุ๊คมาตลอดเวลาเลย”

โซนที่เข้าไปเยี่ยมเป็นห้องเยี่ยมญาติ ซึ่งแม้สภาพจะไม่ได้แย่ แต่เขาก็ไม่อาจเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงภายในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม จากส่วนที่พอจะมองเห็นได้ ทำให้เขารู้สึกถึง ความยากลำบากบางอย่างที่ผู้ต้องขังต้องเผชิญ

“บางทีก็อยากจะแบบจับมือมัน” เบสท์เล่าด้วยความอัดอั้น “แต่รู้สึกว่ามันทำไม่ได้เพราะว่าช่วงที่ผ่านยังไม่ได้มีเยี่ยมญาติแบบพบเจอ ก็จะถูกกั้นด้วยตัวลูกกรง ด้วยกระจกพลาสติก แล้วก็ต้องคุยทางโทรศัพท์เอา”

“บางทีมันก็เศร้า เพราะเรารู้สึกว่าเวลาการแสดงออกที่ดีมากกว่าแค่คำพูด มันคือการสัมผัสกัน เราก็รู้สึกว่าบางทีเราอยากจะกอดน้อง ได้มากที่สุดก็คือเอามือแตะไว้ที่ตัวกระจก”

การพบเจอเรื่องราวผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคน ทำให้เบสท์เริ่มเห็นภาพกว้างขึ้นของผลกระทบจากการจองจำด้วยเหตุผลทางความคิด  เขาเล่าถึง “ป้าอัญชัญ” ผู้ต้องขังสูงวัยที่ทำให้เขาสะเทือนใจ เพราะ “อายุเท่า ๆ แม่เราเลย” และต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำด้วยเหตุที่เขามองว่า “ไม่ได้ฆ่าใครตาย ไม่ได้ทำอะไรผิดร้ายแรง มันเป็นแค่ความคิดต่าง”

อีกรายหนึ่งคือ “บูม จิรวัฒน์” ผู้ต้องขังคดี 112 (ได้รับการประกันตัวภายหลัง) ซึ่งเบสท์ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ได้เจอบ้างตอนเขาไปเยี่ยมบุ๊ค และทราบว่าบูมถูกคุมขังเพียงเพราะแชร์โพสต์ในโซเชียลมีเดีย

“รู้สึกมันใจร้าย ใจดำมากเลยที่แบบว่าแค่แชร์ ยังไม่ทันแสดงความคิดเห็นอะไร ก็โดนจับเข้าไปอยู่ในนั้นฟรี ๆ ปีนึง”

เบสท์สังเกตว่าผลกระทบจากการจำคุกไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้ต้องขัง แต่ยังส่งผลต่อครอบครัวและคนรอบข้างอีกด้วย “มันไม่ใช่แค่คนในนั้นติดคุกไปด้วย แต่ว่าคนข้างนอกเหมือนติดคุกไปด้วย”

.

เมื่อบทเพลงถูกกักขัง 

บุ๊คเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว การถูกจำคุกไม่เพียงทำให้เขาสูญเสียอิสรภาพ แต่ยังส่งผลให้แฟนสาวของเขา “นิว” ต้องแบกรับภาระหลายอย่าง ต้องดูแลทุกอย่างแทน ดูแลย่า หาเลี้ยง หรือว่าอย่างน้อยก็ต้องมาเยี่ยมบุ๊คทุก ๆ วัน

“มันไม่ได้ดับความฝันของคนที่ติดข้างในอย่างเดียว แต่มันดับความฝันคนใกล้ตัว แล้วมันทำให้การใช้ชีวิตเหมือนถูกจองจำไปด้วย” เบสท์กล่าวด้วยน้ำเสียงอันหนักอึ้ง

เบสท์สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวบุ๊คอย่างชัดเจน สภาพจิตใจต่างไปแน่นอน เพราะว่าอยู่ข้างนอกบุ๊คก็เป็นเด็กมีอิสระในตัวเองสูง สิ่งที่น่าจะยากลำบากที่สุดสำหรับศิลปินฮิปฮอปอย่างบุ๊ค คือการไม่ได้สร้างสรรค์บทเพลง 

“อยู่ข้างในมันไม่ได้มันไม่ได้มีอะไรให้จด สภาวะมันหดหู่ มันอาจจะไม่ได้เหมาะกับการที่จะตอบสนองแรงบันดาลใจ”

ช่วงแรกที่ถูกคุมขังเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากทางจิตใจมากที่สุดสำหรับบุ๊ค แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นปี เขาก็ปรับตัวได้ดีขึ้น พยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองแม้จะอยู่ในเรือนจำ เช่น การไม่ยืนระหว่างเพลงในเรือนจำ หรือพยายามเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ต้องขังคนอื่นที่เขาเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ในปัจจุบัน บุ๊คอยู่ในช่วงของการรอคอยวันที่จะได้ออกมา พยายามประคองสภาพจิตใจให้มีความหวังและกำลังใจ

เมื่อไปเยี่ยมบุ๊ค เบสท์มักจะถามถึงสภาวะจิตใจและพูดคุยเรื่องทั่วไป “ส่วนมาก 60-70% เนี่ยจะเป็นเรื่องของบุ๊คมากกว่า อยากทำหน้าที่ของคนที่ไปรับฟังเรื่องของมัน แล้วก็ให้กำลังใจ”

บุ๊คมักจะถามถึงเรื่องทั่วไปจากโลกภายนอก เช่น วงการเพลง นักร้อง หรือชีวิตของเพื่อน ๆ ซึ่งเบสท์มองว่าสำหรับคนที่ถูกจำกัดการรับรู้ข้อมูล เรื่องธรรมดาเบสิก ไร้สาระ มันน่าจะเป็นเรื่องที่มีคุณค่าหรือมีความหมายกับเขา

“จิตใจของมันสำหรับเรานะ แข็งแกร่งมากเลย คือแบบเราเคยเห็นมันร้องไห้แค่แบบครั้งเดียว แต่ที่เหลือมันยังให้กำลังใจเราด้วยซ้ำ ว่าแบบ ‘พี่เบสท์เทคแคร์’ หรือแบบ ‘สู้สู้นะพี่ สู้ไปด้วยกันนะพี่'”

.

วัยหนุ่มสาวที่สูญหาย 

“บุ๊คเคยบอกเราไว้นานแล้วแหละว่าอยากทำอัลบั้มเพลงที่พูดถึงเสียงของคนชายขอบ อัลบั้มชื่อว่าเสียงของคนชายขอบ” เบสท์เล่าถึงความฝันของบุ๊คที่มีมาก่อนต้องโทษ “เคยพูดเล่นกับในวงเราว่า ถ้าผมได้เข้าไปในเรือนจำ ผมจะทำเพลงเกี่ยวกับคนข้างในนั้น แล้วพอได้เข้าไปจริง ๆ ก็สมพรปากมัน”

ในทุก ๆ วัน บุ๊คก็ยังคงแต่งเพลงจากเรื่องราวที่พบเจอภายในกำแพงเรือนจำ เบสท์มองว่านี่คือส่วนหนึ่งของการเยียวยาจิตใจ

“การแต่งเพลงแร็ปเนี่ย มันคือการเขียน มันก็เป็นไรท์ติ้ง มันก็เป็นการบำบัดแบบนึงเหมือนกัน” เบสท์กล่าว “การไรท์ติ้งด้วยแร็ป มันก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บุ๊คเหมือนกับเยียวยาตัวเองในเรือนจำ”

(ฮุค) (ทำนองอะคูสติก)

จดหมาย ฉันจะเขียนถึงเธอทุกวัน

ข้อความ จะเชื่อมใจของเราถึงกัน

ขอเพียงเธอได้อ่านพอ รู้เสมอเธอเฝ้ารอ

ให้ฉัน ได้กลับไปกอดเธอเหมือนเดิม

เหน็บหนาว ภายใต้รัตติกาลแสนนาน

ให้กาลเวลาเยียวยาจนเข้าใจ เขียนสิ่งดี ๆ ถึงเธอและส่งไป

กล่องของขวัญและเค้กก่อนนั้น ยังเป็นของเธอเสมอ แม้ดาวจะลบเลือน

ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง “จดหมายหลังกำแพง” หนึ่งในบรรดาหลายสิบบทเพลงที่บุ๊คเขียนอยู่จากเรือนจำ เป็นเพลงเกี่ยวกับการเขียนจดหมายถึงคนที่รัก ทำงานกับความรู้สึกของผู้ต้องขังทางการเมืองในนี้และครอบครัวของพวกเขาด้วย คนข้างในก็เขียนจดหมายออกไปหาด้วยความคิดถึง คนข้างนอกก็ต้องเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน 

สำหรับเบสท์ไม่เพียงแค่บุ๊คที่ต้องสูญเสียช่วงเวลาอันมีค่าของชีวิต แต่คนรอบข้างเขาก็ต้องแบกรับความทุกข์ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะนิว คู่รักของบุ๊ค ซึ่งต้องหยุดชีวิตของตัวเองเพื่อดูแลเขา

“นิวบอกว่า นิวอายุ 22 เอง ต้องมาเจออะไรไม่รู้ที่มันหนักเกินที่เด็กอายุนี้จะต้องเจอ” เบสท์เล่าด้วยน้ำเสียงสะเทือนใจผ่านคำพูดของบุ๊คที่ว่า “แล้วนี่คือวัยที่หาความฝันหาตัวตนของตัวเอง นิวอยากมีโอกาสเหล่านั้นบ้าง แต่นิวไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้จนกว่าผมจะออกมา”

เบสท์สะท้อนว่า “มันคือวัยกำลังโต วัยเรียนประมาณปี 3 ปี 4 แล้ว กำลังจะหางานทำ เอ้ย กูเอาไงต่อดีกับชีวิต หาตัวตน หาความฝัน ซึ่งตรงนี้มันถูกหยุดไปเลย”

หากบุ๊คได้รับการปล่อยตัว เบสท์มีแผนฟื้นฟูจิตใจคนที่เขาเปรียบเสมือนน้องชายต่างสายเลือด

“ก่อนอื่นจะให้ไปพักผ่อน ก็คุยกับนิวแล้วว่า เออ เดี๋ยวถ้าบุ๊คออกมาเราจะขับรถพาทั้งคู่ไปต่างจังหวัดไปเที่ยวกินข้าวอะไรอย่างนี้” เบสท์กล่าว “คือแบบไปพักอ่ะ เราว่ามันต้องการการพักมาก เพราะการอยู่ในนั้นเหมือนมันเครียดนะ คนที่อยู่ในนั้นหรือนิวเองก็เหนื่อยมาก”

นอกจากการพักผ่อน เบสท์ยังมีแผนสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปะของบุ๊ค โดยเขาหวังว่าจะช่วยเยียวยาบาดแผลทางจิตใจและสร้างคุณค่าให้กับสังคม

อีกหนึ่งความพยายามของเบสท์ ในการถ่ายทอดชีวิตของบุ๊คในระหว่างถูกคุมขัง คือการเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการที่รวมงาน 3 ศิลปินในโปเจกต์ Procession of Dystopia ภายใต้ชื่อผลงาน ร่างกายอยากปะทะ เพราะรักมันปะทุ (The Body Craves Impact as Love Bursts) ที่เขาหยิบเรื่องราวของบุ๊ค และ นิว  ในช่วงเวลาที่ถูกทำให้ห่างกันเพราะเหตุคดีทางการเมือง โดยทำออกมาในรูปแบบ Body Movement ผสมกับหนังสั้น ให้ผู้ชมมีส่วนในการเฝ้าดูไฮไลท์สำคัญ คือการปะทุรวมตัวกันของพลังงานความรัก กระทั่งหนังสั้นเรื่องนั้น ได้รางวัล “วิจิตรมาตรา” จาก Thai Short Film & Video Festival เมื่อปลายปี 2567

“ส่วนตัวอยากทำเป็นนิทรรศการที่พูดถึงเรื่องราวของบุ๊คกับนิว”  เบสท์เล่าถึงอีกไอเดีย “เราอยากทำประเด็นนี้ คนนอกและคนใน คนที่อยู่ในนั้นและคนที่อยู่ข้างนอก แล้วก็เรื่องของความรักหรือครอบครัว”

เขายังวางแผนที่จะสนับสนุนงานเพลงของบุ๊คด้วย “ถ้าบุ๊คต้องทำเพลงต่อ เราอยากทำพวกงานภาพให้ มันอาจจะต้องการคนทำงานภาพบางอย่างที่ทำให้เนื้อเพลงเค้า มันเห็นเป็นสื่อ เป็นงานสื่อสารทางสังคม”

สำหรับเบสท์การไร้ซึ่งอิสรภาพของบุ๊คและศิลปินคนอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงโศกเศร้าส่วนบุคคล แต่เป็นการสูญเสียของสังคมไทยโดยรวม 

“วงการฮิปฮอปถือว่าเสียคนนึงที่จริง ๆ นี่ก็ถือว่าไฟแรงมากในการพูดประเด็นเหล่านี้  แล้วคราวนี้ถ้าไม่นับแต่เคสบุ๊คเป็นตัวอย่าง มันมีศิลปินอีกหลายคน คนทำหนัง คนทำสื่ออีกหลายคนเลยที่แบบหยุดทำไป เพราะโดนคดีทางการเมือง”

“ประเทศที่ขาดศิลปินที่คอยเป็นกระจกสะท้อนเสียงหรือภาพปรากฏการณ์เกิดขึ้นในสังคมแบบนี้ มันโคตรขาดคนเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ” เบสท์แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา “เราว่ามันก็เป็นประเทศที่มันสำหรับเรามันก็น่าเศร้านะ”

เบสท์ปิดท้ายบทสนทนาด้วยความรู้สึกอึดอัด “ประเทศเราไม่ต้องการคนเก่ง คนฉลาด คนวิพากษ์ มันต้องการคนที่แบบ ‘มึงพูดได้เท่านี้ กูวางไว้ให้มึงพูดเท่านี้ กูก็พูดมึงพูดเท่านี้’”

แต่ท่ามกลางความมืดมิดของเรือนจำและความเงียบงันของสังคม ยังมีแสงเล็ก ๆ ส่องสว่างมิตรภาพและความหวังที่ไม่มีวันมอดดับ เพราะตราบใดที่ยังมีคนเช่นเบสท์ที่คอยเดินทางไปเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นจุดเชื่อมระหว่างโลกภายในและภายนอก ความหวังและความฝันของบุ๊คและผู้ถูกจองจำคนอื่น ๆ ก็จะยังคงมีลมหายใจ

“การเยียวยาจิตใจหรือความหวังหรือกำลังใจบางอย่าง เราว่าการที่เราไปเยี่ยมเขาเล็ก ๆ น้อย ๆ  มันเป็นสิ่งที่ช่วยเหมือนกับจุดให้ไฟนี้มันยังอยู่ในใจเขา”

เสียงที่ถูกจองจำอาจจะเงียบงันไปชั่วคราว แต่เมื่อใดก็ตามที่ประตูเรือนจำเปิดออก เสียงเหล่านั้นจะดังกึกก้องกลับมาอีกครั้ง และนั่นคือความหวังที่ทั้งเบสท์ บุ๊ค นิว และอีกหลายคนยังคงรอวันนั้น

.

ปัจจุบัน ( 5 เม.ย. 2567) บุ๊คถูกคุมขังมาแล้ว 562 วัน หรือ 1 ปี 6 เดือน กับ 16 วัน คดีของบุ๊คสิ้นสุดลง โดยต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ก่อนหน้านี้เขาได้ลดหย่อนโทษลงราว 6 เดือน หลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567  ทำให้บุ๊คยังเหลือโทษอยู่ประมาณ 5 เดือนกว่า โดยมีกำหนดพ้นโทษในช่วงเดือนกันยายน 2568 นี้ 

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

จับตา สถานการณ์ย้ายผู้ต้องขังทางการเมืองจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปเรือนจำอื่น ย้ายแล้ว 15 ราย

บันทึกเยี่ยม “บุ๊ค” ธนายุทธ:  บทเพลงจากพลังและความหวังผู้ต้องขังฯ ‘วัยหนุ่ม’

X