พิพากษาแก้ คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง #ARMY57 ข้อหาใช้เครื่องเสียง จากโทษปรับอาญา เป็นปรับพินัย 200 บาท หลัง “เอกชัย” อุทธรณ์

วันที่ 1 เม.ย. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์คดีแกนนำผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง หรือ “คดี ARMY57” เหตุชุมนุมและปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้ากองบัญชาการทัพบก ในวันที่ 24 มี.ค. 2561 ในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ หลัง “เอกชัย หงส์กังวาน” อุทธรณ์ว่าไม่ใช่เจ้าของเครื่องขยายเสียง จึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงาน

เดิมคดีนี้ จำเลยประกอบด้วยแกนนำที่ถูกฟ้อง 10 ราย ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, สิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ปกรณ์ อารีกุล, อานนท์ นำภา, กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, ณัฏฐา มหัทธนา, ศรีไพร นนทรี, ธนวัฒน์ พรหมจักร, โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ และเอกชัย หงส์กังวาน 

ทั้งหมดถูกฟ้องด้วยกัน 4 ข้อหา ได้แก่ “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ร่วมกันเดินขบวนขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยาน>> เปิดคำเบิกความพยานโจทก์คดีแกนนำ ARMY57 ก่อนเริ่มสืบพยานจำเลยต่อ

ต่อมาวันที่ 15 พ.ย. 2565 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, พ.ร.บ.จราจรทางบก และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ลงโทษปรับคนละ 200 บาท

ในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ศาลอาญาเห็นว่า แม้จะมีตัวแทนมายื่นหนังสือขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม แต่ไม่ได้ยื่นหนังสือขออนุญาตกับเจ้าพนักงานเขตท้องที่ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งขออนุญาตดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดความฟ้อง

เฉพาะเอกชัย (จำเลยที่ 10) ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยสรุปว่า ไม่ใช่เจ้าของเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงาน

วันนี้ (1 เม.ย. 2568) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 709 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ กำหนดให้ผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงาน ดังนั้น ถึงแม้ไม่ใช่เจ้าของเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า แต่ทำการโฆษณาก็มีหน้าที่ต้องขออนุญาต

เห็นว่า จำเลยทั้งสิบร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า จึงต้องมีผู้ใดผู้หนึ่งขออนุญาต เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งขออนุญาต จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับพินัยฯ มีผลบังคับใช้ ความผิดฐาน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มีโทษปรับสถานเดียว จึงเป็นความผิดทางพินัย เนื่องจากข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 – 9 จะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ การกระทำของจำเลยทั้งสิบจึงเป็นความผิดทางพินัย จึงให้ปรับตาม พ.ร.บ.ปรับพินัยฯ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากโทษปรับอาญาเป็นปรับพินัยคนละ 200 บาท

ทั้งนี้ การแจ้งขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงดังกล่าว แม้ถูกกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 แต่ก็มีลักษณะที่ซ้ำซ้อนและสร้างภาระให้กับผู้จัดการชุมนุมจนเกินกว่าเหตุ โดยผู้แจ้งการชุมนุมต้องไปแจ้งการชุมนุมสาธารณะที่สถานีตำรวจท้องที่จัดชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ พ.ศ. 2558 และยังต้องแจ้งขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อสำนักงานเขตหรือเทศบาลด้วย  แม้ในแบบฟอร์มการแจ้งการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ก็มีการให้กรอกแจ้งเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงเอาไว้แล้วด้วย 

นอกจากนั้น แนวทางการตีความผู้ที่ต้องมีหน้าที่แจ้งขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงยังไม่มีความชัดเจน มีทั้งศาลที่ตีความว่าเฉพาะผู้เป็นเจ้าของเครื่องขยายเสียงหรือผู้จัดการชุมนุมเท่านั้นที่มีหน้าที่ต้องไปแจ้ง ขณะที่ในหลายคดีก็มีการตีความว่าผู้ปราศรัย ไม่ว่าเป็นเจ้าของเครื่องขยายเสียงหรือผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ ก็มีหน้าที่ต้องแจ้งขอใช้เครื่องขยายเสียงด้วย แต่การตีความลักษณะนี้ ก็สร้างปัญหาทำให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ร่วมปราศรัยทุกราย กลายเป็นมีหน้าที่ต้องไปแจ้งขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงด้วย 

X