“พรชัย” สะท้อนปัญหาการใช้ ม.112 สถานการณ์เรือนจำแออัด จนมีการโยกย้ายผู้ต้องขัง

เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นมีนาคม 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม พรชัย วิมลศุภวงศ์ ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ เขาถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาจำคุก 12 ปี จากการถูกฟ้องว่าโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ และถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2567 รวมระยะเวลาเกือบครบ 1 ปีแล้ว

เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน ฝุ่นควันปกคลุมไปทั่วฟ้าภาคเหนือจนเป็นสีเทา พรชัยยังยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ดูอิดโรยกว่าครั้งก่อน ผอมลงอย่างเห็นได้ค่อนข้างชัด  รวมทั้งสังเกตเห็นว่าที่จมูกของเขามีรอยแดงเป็นปื้น เมื่อถามถึง เขาหัวเราะแล้วตอบว่า “เป็นสิว เจ็บมาก อากาศแย่ PM 2.5 เพียบ ไม่มีแมสอะไรให้เลย”

.

กฎหมายไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์: “เมื่อเขียนได้ ก็ต้องแก้ไขได้”

พรชัยเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการสะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ที่แม้อยู่ในเรือนจำ ยังพอได้ทราบข่าวสารภายนอก 

พรชัยอยากพูดถึงกรณีของ 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ที่ลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ว่า รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการแสดงออกอยู่แล้ว การเสนอกฎหมายไม่ใช่เรื่องผิดจริยธรรม การตั้งคำถามถึงมาตรานี้ไม่ใช่การล้มล้าง แต่เป็นความพยายามทำให้กฎหมายยุติธรรมขึ้น

“รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิในการเสนอแก้ไขกฎหมาย แล้วทำไมการแก้กฎหมายจึงถูกมองว่าผิดจริยธรรม? มันเป็นอำนาจหน้าที่ของ สส. อยู่แล้ว”

พรชัยตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขกฎหมายนั้นไม่ได้แก้กันได้ภายใน 10-20 นาที เพราะยิ่งเป็นประเด็นเปราะบาง ก็ยิ่งมีขั้นตอนที่ละเอียดมากขึ้น จะต้องผ่านกรรมาธิการ ผ่านกระบวนการทางสภามากมาย ทั้งต้องรับฟังความเห็นของประชาชนอีก

“ในอีกแง่หนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 60 ต่างหากที่มาจากการถูกเขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับโดยคณะรัฐประหาร ลองคิดเทียบกันดูว่ากรณีไหนน่าจะเป็นการประพฤติที่ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงมากกว่ากัน ทั้งที่การเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นการกระทำที่ผ่านกระบวนการทางสภาและตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง ตามกติกาประชาธิปไตยทุกประการ ผมว่าน่าทบทวนดูนะครับ”

พรชัยย้ำว่า “เมื่อเขียนกฎหมายได้ ก็แก้ไขกฎหมายได้” และกล่าวเหตุผลต่อไปว่า “มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกดปราบผู้เห็นต่าง ไม่ใช่เพื่อความยุติธรรม” 

พรชัยยังพูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศในมุมมองของเขา โดยเห็นว่ารัฐบาลควรกระจายอำนาจให้เร็วที่สุด และทำให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม เขาร่วมเสนอประเด็นสำคัญ 4 ข้อหลัก ได้แก่

  1. ที่ดินทำกิน – ควรให้ประชาชนที่ยากจนมีที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง
  2. การศึกษา – ระบบการศึกษาต้องได้รับการปรับปรุง ให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเรียนในระบบการศึกษาที่พัฒนาขึ้น และมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้ทันสมัยมากขึ้น  โดยเฉพาะในชนบท
  3. ภาคเกษตร – ต้องกระจายอำนาจและงบประมาณเพื่อพัฒนาการเกษตรและลดต้นทุนการผลิต
  4. สิทธิของชาติพันธุ์ – ผู้ที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ควรได้รับการรับรองสิทธิพื้นฐานโดยไม่ต้องถูกกีดกัน เช่น ควรเดินทางได้อย่างอิสระ

.

ปัญหา ม.112: เสียงสะท้อนซ้ำแล้วซ้ำอีก

เรือนจำไม่ได้กักขังเพียงร่างกาย แต่มันคือกรงที่รัฐใช้เพื่อทำให้ใครบางคนเงียบเสียง — พรชัยรู้ดีถึงเรื่องนี้

ภายใต้กำแพงเหล็กและห้องขังแน่นขนัด เสียงของเขายังคงดังออกไปข้างนอก เขายังพูดถึงกระบวนการยุติธรรมที่เต็มไปด้วยอำนาจที่ไม่อาจโต้แย้ง ถึงข้อกล่าวหาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากคนที่เห็นต่าง

“กระบวนการทางคดี 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ ของผมทั้งยะลาและเชียงใหม่ คนที่ฟ้องเป็นคนที่เห็นต่างกันทางการเมือง ลักษณะคือใครก็ได้แจ้งความดำเนินคดีกับใครก็ได้ อัยการบรรยายฟ้องพร้อมภาพและนึกคิดว่าผมมีเจตนาในด้านลบ”

พรชัยมองว่าการใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับเขา เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อทำให้เขาหยุดเคลื่อนไหว “เขาไม่ให้ผมเคลื่อนไหว เพราะผมเป็นคนชาติพันธุ์ที่แสดงออกทางการเมืองอย่างเปิดเผย

“เราไม่ควรถูกจองจำเพียงเพราะพูดเรื่องประชาธิปไตย ไม่ควรมีใครต้องถูกคุมขังเพราะแสดงออกทางการเมือง มันมีขอบเขตที่กว้างเกินไป ให้อำนาจจนเกินเหตุ คนที่เห็นต่างไม่สามารถพูดคุยหรือปกป้องสิทธิของตัวเองได้เลย เพราะกฎหมายนี้ขวางอยู่” พรชัยให้ความเห็น

เมื่อถามถึงอนาคตของมาตรานี้และเสรีภาพในการแสดงออกในไทย พรชัยตอบว่า “ต้องแก้ที่โครงสร้าง แต่คนที่รับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ยังคงใช้กฎหมายนี้เพื่อขจัดฝ่ายตรงข้าม ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม”

.

สถานการณ์ในเรือนจำ: ความแออัดและปัญหาปากท้อง

เมื่อพูดคุยเรื่องประเด็นความเป็นอยู่ในเรือนจำ “แดน 5 ตอนที่ผมเข้ามามีคนอยู่ 1,400 คน ตอนนี้เพิ่มเป็นเกือบ 1,600 คน อาหารไม่ได้เพิ่มขึ้น มีแต่น้อยลง”

พรชัยเล่าย้ำปัญหาเดิมที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขว่าปัญหาความแออัดในเรือนจำ ส่งผลเป็นทอด ๆ ต่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง อาหารที่ได้รับลดลงทั้งในปริมาณและคุณภาพ โดยมีแต่วิญญาณเนื้อสัตว์ และน้ำประปาก็ไม่สามารถดื่มได้

“น้ำที่ใช้ดื่มคือน้ำประปา น้ำที่ใช้ล้างจาน ซักผ้า มันไม่สะอาดเลย คนเป็นโรคมากขึ้น ถ้าอยากดื่มน้ำสะอาดก็ต้องใช้เงินซื้อน้ำจากร้านค้าสงเคราะห์

นอกจากนี้พรชัยมีความกังวลเรื่องการย้ายเรือนจำไปยังเรือนจำอื่น ซึ่งขณะนี้กำลังมีการทยอยย้ายผู้ต้องขังไปเรือนจำในจังหวัดอื่น ๆ โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า อาทิไปที่เรือนจำที่จังหวัดกำแพงเพชร ตาก หรือแม่ฮ่องสอน โดยพรชัยเองก็มีภูมิลำเนาอยู่แม่ฮ่องสอน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกย้ายเหมือนกัน

.

ฝากถึงคนข้างนอก ขอให้ “รวมพลังให้เข้มแข็ง”

“ถ้าผมมีอะไรฝากบอกคนข้างนอก ผมอยากบอกว่า ความกลัวจากการถูกกักขัง ไม่ได้น่ากลัวเท่าถูกกักขังทางความคิด ถ้าเรารวมพลังกันให้เข้มแข็ง เราจะแข็งแกร่งพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้” พรชัยกล่าว

แม้อยู่ในเรือนจำ พรชัยยังคงเชื่อมั่นว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรมไม่สูญเปล่า เขาส่งความหวังผ่านบันทึกเยี่ยมนี้ไปถึงทุกคนที่ยังคงยืนหยัดอยู่ภายนอก

“เราต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อให้วันหนึ่งข้างหน้าทุกคนได้ใช้สิทธิและเสรีภาพของตัวเองอย่างแท้จริง”

.

สามารถเขียนจดหมายถึงพรชัย

📍 จ่าหน้าซอง: “ฝากถึง พรชัย วิมลศุภวงศ์ แดน 5 เรือนจำกลางเชียงใหม่ 122 หมู่ 6 ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50150”

หรือเขียนจดหมายออนไลน์ผ่านโครงการ Free Ratsadon โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล

.

ย้อนอ่านเรื่องราวชีวิตของพรชัย การต่อสู้ของ “พรชัย”: จากคนบนดอย คนจร พ่อค้า ผู้ชุมนุม และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112

X