กองทุนยุติธรรมยืนยันไม่เยียวยา ‘เจมส์ ประสิทธิ์’ หลังติดคุกฟรี 7 วัน: สะท้อนช่องว่างทางกฎหมายและปัญหาการตีความสิทธิผู้ต้องหา

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568 สำนักงานกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้มีหนังสือตอบกลับถึง ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือ “เจมส์” อดีตนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ในเรื่องผลการขอทบทวนการพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินกองทุนยุติธรรม กรณีที่สำนักงานยุติธรรมมีมติไม่อนุมัติเงินเยียวยา จากเหตุที่เขาต้องถูกคุมขังในคดีจากการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน โดยไม่มีความผิด เป็นเวลา 7 วัน 

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมีมติยืนยัน “ไม่อนุมัติ” เงินเยียวยา แม้ฝ่ายผู้ร้องจะยืนยันว่าการถูกคุมขังโดยไม่มีความผิด นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน

.

เมื่อกระบวนการยุติธรรมคุมขังล่วงหน้า แต่ไร้กระบวนการเยียวยา

กรณีของ “เจมส์” เป็นตัวอย่างของช่องว่างทางกฎหมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้ว่ากองทุนยุติธรรมจะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ แต่ปัจจุบัน พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544  ซึ่งให้การชดเชยค่าทดแทนยังคงให้สิทธิแก่เฉพาะ “จำเลย” ที่ศาลพิพากษายกฟ้องเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึง “ผู้ต้องหา” ที่ถูกคุมขังในระหว่างการสอบสวน แต่ต่อมาไม่ถูกฟ้องคดี

ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม 2563 เจมส์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกจับกุมโดยตำรวจจากข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เนื่องจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองที่เชียงใหม่ ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะมีคำสั่งให้ปล่อยตัว

ต่อมา อัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อกล่าวหา เมื่อเดือนมีนาคม 2567 เนื่องจากเห็นว่าการกระทำไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116

.

กองทุนยุติธรรมปฏิเสธการช่วยเหลือ อ้างการจำคุกฟรี 7 วัน ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2567 เจมส์ได้ยื่นคำร้องต่อกองทุนยุติธรรม ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่  โดยขอรับเงินค่าชดเชยกรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จากการถูกคุมขังตัวโดยไม่มีความผิดในเรือนจำ 7 วัน ทำให้เขาสูญเสียโอกาสในการทำงาน สูญเสียเงิน อย่างหาทางกลับคืนไม่ได้ 

อย่างไรก็ตาม ในการคณะอนุกรรมการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2568 มีมติ ไม่อนุมัติเงินช่วยเหลือ โดยให้เหตุผลว่า การคุมขังระหว่างกระบวนการสอบสวนไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย

กองทุนยุติธรรม ได้อ้างพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 และ ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2559 การพิจารณาให้เงินช่วยเหลือจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ ซึ่งหมายความว่าแม้กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้จะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกกรณีจะได้รับการเยียวยา เนื่องจากกฎหมายยังไม่มีข้อบัญญัติชัดเจนว่าผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังก่อนชั้นศาล และต่อมามีคำสั่งไม่ฟ้อง จะได้รับการชดเชยเยียวยา

.

.

“เจมส์” อุทธรณ์ ชี้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงและสมควรได้รับการเยียวยา

ต่อมาวันที่ 5 ก.พ. 2568 เจมส์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม โดยให้เหตุผลว่า การปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่เป็นธรรม และขัดกับหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนสากล หลักนิติธรรม รวมถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เนื่องจากการที่เขาถูกจับกุมและควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วัน โดยที่ภายหลังอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเขาถูกลิดรอนเสรีภาพโดยมิชอบ ทั้งที่ไม่มีความผิดตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ เจมส์ยังโต้แย้งว่าการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมที่ระบุว่า การคุมขังของเขาเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นการตีความที่ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนจากหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างชัดเจน การคุมขังบุคคลที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิด โดยเฉพาะเมื่อท้ายที่สุดอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ชีวิตความเป็นอยู่ และโอกาสทางอาชีพของบุคคลนั้น ซึ่งสมควรได้รับการเยียวยา

เขาเน้นย้ำว่าการตีความกฎหมายควรต้องคำนึงถึง หลักการคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อกฎหมายยังไม่มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมถึงผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวก่อนที่อัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมควรใช้ดุลยพินิจในทางที่เป็นคุณต่อผู้ถูกละเมิดสิทธิ 

อีกทั้งเจมส์ยังโต้แย้งว่า การที่เขาถูกคุมขังทำให้สูญเสียโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน โดยในขณะนั้นเขาเป็นนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีอาชีพเป็นครูสอนพิเศษ การถูกจับกุมและคุมขังโดยไม่มีความผิดส่งผลให้เขาสูญเสียรายได้ และต้องสูญเสียอาชีพไปอย่างถาวร นอกจากนี้ การถูกคุมขังโดยไม่มีความผิดยังส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างร้ายแรง

เจมส์อุทธรณ์ขอให้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมพิจารณาใหม่ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม และขอให้คณะกรรมการฯ มีมติอนุมัติเงินเยียวยาสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเขา เนื่องจากการถูกจำคุกโดยไม่มีความผิดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม วันที่ 11 มี.ค. 2568 คณะอนุกรรมการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มีหนังสือตอบกลับเจมส์แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของเจมส์ โดยมีมติยืนตามความเห็นเดิม คือ ไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรม โดยให้เหตุผลเพียงสั้น ๆ ว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริง รายละเอียด เหตุผล หรือพยานหลักฐานใหม่สนับสนุน 

.

จับตาสภาพิจารณร่างแก้ไข พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ให้รวมถึงการคุมขังชั้นสอบสวน

กรณีของเจมส์แสดงให้เห็นถึง ความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังโดยไม่มีความผิดจะได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรม ไม่ใช่เพียงจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเท่านั้น 

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 สภาผู้แทนราษฎรโหวตรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. …. ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้การทดแทนการถูกคุมขัง ให้รวมถึง ‘ผู้ต้องหา’ ในชั้นสอบสวนด้วย แต่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ

นอกจากนี้ ยังเป็นคำถามต่อกระบวนการพิจารณาของกองทุนยุติธรรมว่าการตีความ “การละเมิดสิทธิมนุษยชน” ควรครอบคลุมถึงกรณีถูกควบคุมตัวหรือขังโดยไม่มีความผิดหรือไม่

หากกระบวนการยุติธรรมยังคงมีช่องโหว่เช่นนี้ ประชาชนทั่วไปที่เผชิญกับการคุมขังโดยไม่ผิด จะไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของเจมส์คนเดียว แต่เป็นปัญหาของระบบกฎหมายไทยที่ต้องได้รับการแก้ไข

.

ย้อนอ่าน

“เจมส์” ประสิทธิ์ ติดคุกฟรี 7 วันไร้การเยียวยา: ช่องว่างของกฎหมายไม่ครอบคลุมค่าทดแทน ‘ผู้ต้องหา’

.

X