สำนักงานกองทุนยุติธรรม สังกัดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม และช่วยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการดังกล่าว เช่น การจัดหาเงินประกันตัว การจัดหาทนายความ และการจ่ายค่าทดแทนให้กับจำเลยในคดีอาญาที่ศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิด เพื่อชดเชยความเสียหาย และกระตุ้นให้รัฐมีความรับผิดชอบต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ได้กำหนดนิยามของผู้ที่มีสิทธิขอรับค่าชดเชยไว้อย่างจำกัด โดยให้สิทธิเฉพาะแก่ “จำเลย” ที่ถูกศาลพิพากษายกฟ้องเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า “ผู้ต้องหา” หรือผู้ที่ยังอยู่ในกระบวนการก่อนศาลตัดสิน เช่น ในระหว่างการสอบสวนของตำรวจหรือการพิจารณาของพนักงานอัยการ ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธินี้ แม้ว่าผู้ต้องหาเหล่านั้นอาจถูกควบคุมตัวในเรือนจำและท้ายที่สุดได้รับคำสั่งเด็ดขาดว่า “ไม่ฟ้อง” เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม
.
ติดคุกฟรีในชั้นสอบสวน โดยไม่มีกลไกเยียวยา: ช่องว่างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ช่องว่างในนิยามของคำว่า “จำเลย” ใน พ.ร.บ. ดังกล่าว ทำให้เกิดการละเลยสิทธิของผู้ต้องหาอย่างชัดเจน แม้จะมีความพยายามผลักดันให้แก้ไขกฎหมายเพื่อครอบคลุมถึงผู้ต้องหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิเช่น กระทรวงยุติธรรมพยายามทำแคมเปญ “หยุดติดคุกฟรี” ตั้งแต่ปี 2559 ในช่วง คสช. อ้างว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้, ความพยายามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ต่อสภา เมื่อปี 2564 แต่ปัญหานี้ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน รัฐยังไม่มีความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาที่ถูกจองจำโดยไม่มีความผิด
นอกจากนี้ แม้จะมีกองทุนยุติธรรมให้การช่วยเหลือด้านการเยียวยาในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมฯ แต่เป็นระเบียบที่ให้ “ดุลยพินิจ” แก่คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมในการพิจารณาว่ากรณีใดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังทำให้เกิดความไม่แน่นอนและขาดความชัดเจน
ในปี 2564 ได้มีการปรับแก้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ซึ่งหลายฝ่ายตั้งความหวังว่าอาจช่วยลดปัญหาช่องว่างนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การตีความว่า “การถูกจำคุกโดยไม่มีความผิด” จะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่นั้น ยังคงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม และดูเหมือนที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการฯ จะตีความการติดคุกฟรีโดยไม่มีความผิดในชั้นสอบสวน ไม่นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
.
กรณี “เจมส์” นักกิจกรรมเชียงใหม่: ติดคุกฟรี 7 วัน ก่อนอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่กองทุนยุติธรรมไม่เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กรณีของประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือ “เจมส์” เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่เผชิญกับปัญหาช่องว่างทางกฎหมายดังกล่สาว ในขณะเกิดเหตุเจมส์เป็นนักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นสมาชิกของกลุ่ม สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2560 – 2565
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือการเข้าร่วมชุมนุมม็อบ #เชียงใหม่จะไม่ทน เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 ที่ข่วงประตูท่าแพ เพื่อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของความยากลำบากในชีวิตของเจมส์
.
การถูกจับและควบคุมตัว
วันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 04.03 น. เจมส์ ซึ่งขณะนั้นเดินทางไปเตรียมร่วมการชุมนุมใหญ่ของ “ราษฎร 2563” ในกรุงเทพฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าจับกุมระหว่างเดินทางกลับที่พัก โดยตำรวจแสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาอื่น ๆ ที่เขาต้องเผชิญ จากเหตุร่วมปราศรัยในการชุมนุมที่เชียงใหม่ดังกล่าว
เจมส์ถูกจับพร้อมกับ อานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวคนสำคัญในคดีเดียวกัน ทั้งคู่ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวขึ้นเครื่องบินเล็กมายังเชียงใหม่ ก่อนเร่งรีบแจ้งข้อกล่าวหา และนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ในวันเดียวกันนั้น
ต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขัง และมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ทำให้เจมส์ และอานนท์ ถูกพาตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ทันทีในค่ำวันนั้น
ต่อมาหลังจากยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว วันที่ 21 ต.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเจมส์ โดยให้วางเงินประกันคนละ 200,000 บาท ทำให้เจมส์ได้รับการปล่อยตัว รวมแล้วถูกจำคุกไปรวม 7 วัน
.
แม้อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่สิทธิยังถูกละเลย กองทุนยุติธรรมปฏิเสธการจ่ายค่าทดแทน
เวลาผ่านไปกว่า 3 ปี อัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดและยุติการดำเนินคดีต่อ “เจมส์” ในคดีดังกล่าวในทุกข้อกล่าวหา โดยเห็นว่าการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 116 และการชุมนุมไม่มีลักษณะแออัด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19
วันที่ 13 มี.ค. 2567 เจมส์ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอค่าชดเชยจากกรณีที่เขาเชื่อว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เนื่องจากการถูกจำคุกโดยไม่มีความผิด เจมส์ให้เหตุผลว่าการจับกุมครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างมาก เขาเสียโอกาสในการทำงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจุดหมายของการเดินทางในวันเกิดเหตุ ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายสำหรับที่พักโรงแรม อีกทั้งยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในช่วงที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำโดยไม่รู้แน่ชัดว่าจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อใด และยังต้องสูญเสียงานสอนพิเศษในช่วงเวลานั้นไปด้วย
เหตุผลที่เจมส์ยื่นคำร้องตามระเบียบของคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม กรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ได้ยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.ค่าทดแทนฯ นั้น เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.บ.ค่าทดแทนฯ ไม่ได้คุ้มครองกรณีเป็น “ผู้ต้องหา” ถูกคุมขังและอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี แต่จะคุ้มครองกรณีถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้วเท่านั้น จึงจำเป็นต้องยื่นเรียกค่าชดเชยในกรณีอื่นแทน
ดังตัวอย่างในกรณีของ “เสาร์” ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกคุมขังในฐานะ “ผู้ต้องหา” คดีมาตรา 112 ระหว่างสอบสวน 84 วัน ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดี เขาได้พยายามยื่นเรื่องเรียกร้องค่าทดแทนการถูกคุมขัง ต่อมาทั้งคณะกรรมการพิจารณาฯ และศาลอุทธรณ์ ยกคำขอดังกล่าว โดยเห็นว่าไม่เข้าเกณฑ์การได้ค่าทดแทน เพราะกฎหมายกำหนดค่าทดแทนเฉพาะ “จำเลย” ในระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล ทำให้จำเป็นต้องหาช่องทางร้องเรียกค่าทดแทนในทางอื่น
จนถึงวันที่ 22 ม.ค. 2568 เจมส์ได้รับหนังสือตอบกลับว่า คณะอนุกรรมการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สำนักงานกองทุนยุติธรรม ได้พิจารณาคำร้องแล้ว มีมติไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรม เนื่องจากกรณีพนักงานอัยการไม่ฟ้องคดีเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น การคุมขัง และปล่อยตัวจึงเป็นอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตาม พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรรม พ.ศ. 2558
จากการพิจารณาดังกล่าว เจมส์ยังมีสิทธิยื่นขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าวได้อีกครั้งภายใน 30 วัน ซึ่งเขาเตรียมที่จะดำเนินการต่อไป
.
เมื่อ “ผู้ต้องหา” ถูกลืม: กองทุนยุติธรรม กับ สิทธิที่หายไป
กรณีของ “เจมส์” เป็นเพียงตัวอย่างล่าสุด ในกรณีปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างในกฎหมายเยียวยาผู้ต้องหาที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแม้ในท้ายที่สุดอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องและยุติคดี เจมส์กลับไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกคุมขังโดยไม่มีความผิด ทั้งในด้านโอกาสทางการงาน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และผลกระทบต่อชื่อเสียง
สถานการณ์ดังกล่าว ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปที่เผชิญกับการคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีต่าง ๆ แต่ต่อมาไม่ได้มีความผิด มากหรือน้อยเพียงใด
การยกคำร้องของคณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรม โดยอ้างว่าการคุมขังดังกล่าวว่าไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงความไม่ชัดเจนในเกณฑ์การพิจารณา รวมถึงความจำกัดของกฎหมายที่ให้นิยาม “จำเลย” ไว้แคบจนไม่ครอบคลุมถึง “ผู้ต้องหา” ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกคุมขังก่อนคดีจะถึงชั้นศาล
กรณีนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงช่องว่างทางกฎหมาย และปัญหาของตีความของหน่วยงานรัฐ แต่ยังเป็นบทเรียนสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการต้องเร่งรีบปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างแท้จริง
.