‘ธนพร’ ผู้ต้องขัง ม.112: พบหน้าลูกในรอบ 6 เดือน – เริ่มเรียนหนังสือในเรือนจำ

26 พ.ย. 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าเยี่ยม “พลอย” ธนพร แม่ลูกอ่อนชาวอุทัยธานีวัย 24 ปี ซึ่งถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 มาตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2567 หลังถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เมื่อช่วงปี 2564 ทำให้คดีสิ้นสุดลง  

ปัจจุบัน “พลอย” ธนพร ถูกขังมาแล้วเกือบ 6 เดือน เธอเล่าให้ฟังด้วยเสียงสั่นเครือว่าในที่สุดก็ได้พบกับลูกแล้ว หลังสามี พาแม่ของเธอและลูกทั้งสองมาที่เรือนจำ เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการพบหน้ากันจริง ๆ ครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ศาลฎีกาพิพากษา และต้องถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี

“หนูได้เจอลูกแล้ว หนูทรุดเลย มันรู้สึกใจเสียมากตอนที่เห็นลูก แม่หนูก็ร้องไห้ไม่หยุดเลย เขาคงเป็นห่วงเรา หนูได้เห็นแค่ลูกคนโต (อายุ 2 ขวบเศษ)  ลูกคนเล็ก (อายุ 1 ขวบ) ที่มาด้วยเข้ามาในพื้นที่เยี่ยมไม่ได้ เพราะไม่สบาย ลูกคนโตถามหนูว่าทำไมแม่อยู่ในนั้น แม่ไม่กลับบ้านเหรอ” ธนพรพรั่งพรูความตื้นตันกับผู้เข้าเยี่ยม เธอทั้งดีใจและกังวลในคราวเดียวกัน

“พอได้เจอเขาครั้งหนึ่งแล้ว ก็อยากเจออีกเรื่อย ๆ อยากกลับบ้าน อยากออกจากเรือนจำในนาทีนั้นเลย คิดเยอะไปหมด ทั้งเรื่องขอย้ายไปคุมขังที่เรือนจำใกล้บ้าน และวิธีการอะไรก็ตามที่จะทำให้ออกไปอยู่กับลูก ไปเลี้ยงลูกได้เร็วขึ้น”

เธอบอกว่าช่วงที่ผ่านมา เธอเบื่อและยังเศร้าเป็นพัก ๆ ในตอนกลางคืนที่ฝันถึงลูก ยังคงตื่นมาร้องไห้ 

“เวลาที่แฟนตีเยี่ยมมาทางไลน์ แล้วได้เห็นหน้าลูก หนูรู้สึกอยากถูกย้ายไปขังใกล้บ้านทุกครั้ง อย่างน้อยก็เพื่อให้ได้เจอกับลูกง่ายกว่าตอนนี้” อย่างไรก็ตามด้วยกระบวนการและข้อกำหนดของเรือนจำ ทำให้การทำเรื่องขอย้ายไปคุมขังเรือนจำใกล้ภูมิลำเนาของตัวเอง เป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป เนื่องจากกว่าจะถึงเกณฑ์ที่เธอจะสามารถย้ายกลับไปได้ เธอก็จะรับโทษจนเกือบครบพอดี

“เขาบอกยายว่า จะรอให้แม่มาส่งไปโรงเรียน ถ้าแม่ไม่มาก็จะยังไม่ไป รอให้แม่ไปทำงานหาเงินมาก่อน ถึงจะเข้าโรงเรียน” ธนพรพูดด้วยรอยยิ้มเศร้า พลางบอกว่าสามีลองให้ลูกคนโตเข้าเตรียมอนุบาลเพื่อให้มีเพื่อนและทำให้ครอบครัวทำงานได้สะดวกขึ้น แต่ลูกมักไม่ค่อยยอมไปโรงเรียน เนื่องจากอยากให้แม่เป็นคนไปส่ง

สำหรับชีวิตในเรือนจำช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ธนพรบอกว่าคนข้างในยังมาคอยถามเธอว่าไม่ได้อภัยโทษหรอกหรือ เมื่อไหร่จะได้ออก โดยเธอมองว่าเป็นการพูดในเชิงเสียดสีมากกว่าจะเห็นใจหรือใส่ใจกันจริง ๆ

“หนูยังเจอคนมาพูด มาถามอยู่เรื่อย เหมือนจะสงสารเรา แต่ก็ไม่ใช่ อาจเป็นเพราะว่าคดีแบบนี้ที่นี่มีคนเดียว เลยยังได้รับความสนใจอยู่เรื่อย ๆ”อย่างไรก็ตามเธอพยายามไม่สนใจคำถามเหล่านั้น เพราะมันอาจจะบั่นทอนกำลังใจในการใช้ชีวิตในเรือนจำ

ธนพรยังคงทำงานในกองงานผลิตมาลัย แต่ย้ายจากงานร้อยมาลัยมาอยู่ในงานปั้นดอก โดยเป็นการนำกระดาษทิชชู่มาปั้นเป็นทรงดอกมะลิแบบตูมและมัดด้วยด้าย ระยะเวลาการทำงานต่อวันอยู่ที่ 9.00-11.00 น.  และ 13.00-14.00 น. ในวัน ๆ หนึ่งจึงทำมะลิไปได้เยอะ เดือนที่ผ่านมา เธอได้รับเงินปันผลเป็นรายได้จากการทำงาน จำนวน 66 บาท จากการทำงานทั้งเดือน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เนื่องจากเธอคิดเสียว่าทำงานฆ่าเวลา

นอกจากจะได้เจอลูกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ถูกคุมขังแล้ว อีกความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้น คือการเริ่มสมัครเรียนจากในเรือนจำ “หนูลงเรียน กศน. แล้ว หนูจะเรียน ม.ปลาย ให้จบ” 

เธอรู้สึกว่าควรใช้เวลาในเรือนจำให้เกิดประโยชน์ และการใช้โอกาสนี้เรียนต่อก็เป็นทางเลือกที่ดี ทำให้เธอมีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตข้างในมากขึ้น เธอบอกว่าระบบการเรียนนี้ไม่ต้องยื่นเอกสารอะไรให้วุ่นวายเลย เพียงแค่ลงเรียนไปก่อน และเมื่อจะจบจึงค่อยเอาหลักฐานต่าง ๆ มาแสดงเพื่อรับวุฒิการศึกษาอีกที เธอรู้สึกว่าการอำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องขังเรียนหนังสือเป็นสิ่งที่ดีมาก

ธนพรเล่าถึงงานอดิเรกข้างในว่า เธอชอบอ่านหนังสือ อย่างไรก็ตามดูเหมือนจะไม่ค่อยมีหนังสือใหม่ ๆ ให้อ่านมากนัก  “หนูไม่ชอบอ่านนิยาย ชอบอ่านเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องจริง แบบเรื่องการเดินทาง เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติชีวิตคน วันก่อนหนูเจอหนังสือที่อายุเท่ากับปีเกิดหนู ปี 2542 แล้วมากกว่านั้น หนูเห็นว่านิตยสารปี 2536 ก็ยังมี หนังสือใหม่ ๆ ก็อาจจะมีละมั้ง หนูอาจหาไม่เจอเอง” 

หลังจากทางเรือนจำมีการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาคนใหม่ ธนพรบอกว่า “มีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง” เธอรู้สึกว่ากฎระเบียบเคร่งครัดขึ้น แม้ตัวเองไม่เคยทำอะไรผิดในทางส่วนตัวจนจะถูกลงโทษ แต่การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนถูกลงโทษตลอดเวลาสร้างความเครียดให้เธอไม่น้อย

“หนูไม่ได้ถูกลงโทษอะไรกับเขา แต่คนอื่นโดนอยู่เรื่อย ๆ เสียงที่มีคนโดนด่าโดนว่า แล้วเราต้องอยู่กับเสียงแบบนั้น มันทำให้รู้สึกตึงมาก หัวหนูตึงไปหมด จนอยากกินยา แต่ไม่กินเพราะมันจะทำให้ซึม เพื่อนหนูที่กินยาซึมเศร้า ดูเหมือนคนเหม่อลอยอยู่ตลอดเวลา เพราะยากดประสาท”

ธนพรเล่าว่า เมื่อมีใครถูกทำโทษ บางครั้งเป็นเรื่องการคุยกันเสียงดังมากเกินไป หรือมีการทะเลาะวิวาทกันในเรือนจำเนื่องจากความเป็นอยู่ที่แออัด ร้านค้าจะงดการขายอาหารและของใช้เป็นการลงโทษคนทั้งแดน “วันนั้นจะงดขายของไปเลย เราจะซื้ออะไรไม่ได้ทั้งนั้น ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด”

เธอพูดถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ในแดนไม่มีกาต้มน้ำ โดยเรือนจำบอกว่าเสีย และยังไม่มีน้ำต้มร้อน ๆ โดยน้ำร้อนจะถูกนำมาใส่คูลเลอร์ที่ไม่ได้เก็บความร้อนประมาณ 4-5 คูลเลอร์ ทั้งยังไม่เพียงพอต่อจำนวนคน และน้ำไม่ได้ร้อนอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากมาม่าเป็นอาหารที่คนในเรือนจำกินบ่อยที่สุด การไม่มีน้ำร้อนที่ร้อนเพียงพอ ส่งผลต่อการต้มมาม่า ทำให้ธนพรเองก็ต้องต้มมาม่าในน้ำเย็นบ่อยครั้ง

“หนูต้มในน้ำเย็นตลอด หนูแทบไม่เคยกดน้ำร้อนทันเลย” เธอพูดยิ้ม ๆ 

สิ่งที่สำคัญกว่าการไม่มีน้ำร้อน คือการไม่มีน้ำใช้ ธนพรบอกว่าช่วงเดือนที่ผ่านมามีวันที่ปั๊มน้ำเสียอยู่ 3-4 วัน ปั๊มน้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นสิ่งที่ใช้สูบน้ำขึ้นไปในห้องขังที่อยู่ชั้นสอง เมื่อทุกคนต้องเข้าห้องขังราว 3-4 โมงเย็น จะไม่มีน้ำใช้อีกเลยจนกว่าจะถูกปล่อยตัวลงมาข้างล่างช่วง 6 โมงเช้าของอีกวัน การที่ปั๊มน้ำเสียจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากต่อการใช้ชีวิตของผู้หญิงมาก

“ถ้าทุกคนเข้าห้องขังกันหมดแล้ว ใครจะต้องเข้าห้องน้ำ  หรือมีเรื่องที่จะต้องใช้น้ำ ก็จะลำบาก เรือนจำประกาศขอแรงผู้ต้องขังประมาณ 50 คน ช่วยกันขนน้ำขึ้นไปในห้องขัง ทุกคนจะยืนเรียงกันและส่งน้ำใส่กะละมังเป็นทอด ๆ ใส่ไปจนครบทุกห้อง” ธนพรบอกว่านั่นเป็นกิจกรรมที่ได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา 

เธอบอกว่าตอนที่เห็นภาพนั้นตรงหน้าก็รู้สึกว่า “นี่แหละคือคุกจริง ๆ” ภาพที่เธอเห็นเหมือนปลุกให้เธอตื่นจากฝันซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุกจริง ๆ ในความหมายที่ว่า มันช่างยากลำบากที่จะใช้ชีวิต ภาพที่เห็นคนถึง 50 คน ช่วยกันส่งน้ำ โดยต้องเอาน้ำใส่กะละมัง และส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ ขึ้นไปใส่ไว้ในห้องขังชั้นสอง ดูเหมือนจะเป็นภาพที่คงพบเห็นได้แค่ชีวิตในเรือนจำนี้

ธนพรบอกว่า “ที่อื่นเขาคงไม่ทำกันแบบนี้แล้ว” เธอคิดว่ามันควรมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้ เธอพยายามมองทุกอย่างให้เป็นเรื่องตลก  ถึงแม้บางครั้งมันจะดู “ขำไม่ออก” ก็ตาม 

X