พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของประชาชนและนักกิจกรรม 6 คน ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, โชคดี ร่มพฤกษ์, รัชนก มหาวรรณ, ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล), วรวรรณ แซ่อั้ง และ วรรณวลี ธรรมสัตยา กรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ ‘ส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน’ เคลื่อนขบวนจากหน้าศาลอาญา ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 หลังคดีผ่านไปเกือบ 3 ปี
เหตุในคดีนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ ‘ส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน’ เคลื่อนขบวนจากหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งหนังสือถึงศาลอาญาเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เพื่อนที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ก่อนเคลื่อนขบวนเดินทางไปร่วมส่งกำลังใจให้กับเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำมากว่า 100 วัน โดยมีการจัดกิจกรรมปราศรัยหน้าเรือนจำเป็นเวลา 112 นาที
อ่านเหตุการณ์ชุมนุม >> คาร์ม็อบ ’ส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน’ : Mob Data Thailand
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม “ส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน”
ต่อมาประชาชนและนักกิจกรรมรวม 10 คน ได้แก่ จิตริน พลาก้านตง, ทรงพล สนธิรักษ์, ชาติชาย ไพรลิน, ชัยพัทธ์ ศักดิ์ศรีเจริญยิ่ง, เอกชัย หงส์กังวาน, โชคดี ร่มพฤกษ์, รัชนก มหาวรรณ, ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล), วรวรรณ แซ่อั้ง และ วรรณวลี ธรรมสัตยา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ออกหมายเรียกจึงทยอยเดินทางเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. 2564
ในคดีนี้ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาไม่เหมือนกัน โดย จิตริน, ทรงพล และชาติชาย ถูกแจ้งข้อหากีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, ตั้งวางวัตถุใด ๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีอัตราโทษปรับทั้งหมด ทั้งสามคนจึงให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับเป็นเงินคนละ 800 บาท ทำให้คดีสิ้นสุดลง อีกทั้ง ชัยพัทธ์ ถูกแจ้งข้อหา ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จึงได้ให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับเช่นกัน
ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 6 ราย ได้แก่ เอกชัย, โชคดี, รัชนก, ธนพัฒน์, วรวรรณ และวรรณวลี กลับถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคด้วย ทำให้ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ทราบเหตุผลชัดเจนว่าเหตุใดจึงมีการแจ้งข้อกล่าวหาแตกต่างกัน ทั้งที่ทั้งหมดร่วมในกิจกรรมเดียวกัน
หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนนัดส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนคดีไปให้อัยการ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 ได้ส่งหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องต่อผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ลงวันที่ 28 ต.ค. 2567
คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ โดยสรุประบุว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพียง 40-80 คน แม้จะไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ หรือจัดเจลแอลกอฮอล์ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่เกิดเหตุเป็นถนนสาธารณะ มีลักษณะโปร่งโล่ง พื้นที่ของสถานที่ที่ทำกิจกรรมมีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้เข้าร่วม สถานที่กว้าง โล่ง ไม่ได้มีการปิดกั้น อากาศถ่ายเทสะดวก โดยปรากฏภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้ยืนเบียดเสียดกัน และส่วนมากสวมหน้ากากอนามัย การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมดังกล่าว จึงไม่ใช่การชุมนุมในสถานที่แออัด และไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
ทั้งเมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาที่ผู้ต้องหาปราศรัย มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ทำกิจกรรมทางการเมือง และเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐาน วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อันเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้ผู้ต้องหาบางคนจะใช้ถ้อยคำหยาบคายบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
กรณีพ่นสีสเปรย์ข้อความบนพื้นถนน กำแพงรั้วเรือนจำ หรือสะพานลอย ทำให้สกปรก เลอะเทอะ แต่ก็ยังมีลักษณะเดิม ไม่ได้ถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่า และสามารถแก้ไขด้วยการทำความสะอาดกลับสู่สภาพเดิมได้ จึงไม่เป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อย อีกทั้งยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาทั้ง 6 คน เป็นผู้พ่นหรือยุยงให้ผู้ชุมนุมพ่นสีสเปรย์ดังกล่าว
การชุมนุมหรือทำกิจกรรมของผู้ต้องหาจึงไม่ถือว่าเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แต่เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกสิทธิทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 ได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ การชุมนุมทำกิจกรรมในคดีนี้จึงไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของสาธารณะ จึงไม่เป็นการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหกให้การปฏิเสธ คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องทั้ง 6 คน
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563-65 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 70 คดี ขณะที่หากคดีขึ้นสู่ศาล ก็พบว่าศาลมีแนวโน้มจะพิพากษายกฟ้องมากกว่า คือยกฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 102 คดี แต่อัยการในหลายคดียังคงมีคำสั่งฟ้องคดีต่อไป แม้สุดท้ายศาลจะยกฟ้อง แต่ก็ได้สร้างภาระทางคดีให้กับนักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกกล่าวหาอย่างต่อเนื่อง
จนถึงปัจจุบัน จากจำนวนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวกับการชุมนุมอย่างน้อย 673 คดี ยังมีคดีอยู่ในชั้นสอบสวน อีกไม่น้อยกว่า 281 คดี