เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2567 เวลาประมาณ 18.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า “กันต์” (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 20 ปี (ขณะเกิดเหตุอายุ 17 ปี) สมาชิกกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย ผู้ถูกกล่าวหาในคดี “ทำให้เสียทรัพย์ฯ” กรณีชุมนุมสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ตามหมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เหตุจากการไม่ไปรายงานตัวตามนัดของพนักงานอัยการ ก่อนได้รับการประกันตัว
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกจับกุมจากกรณีร่วมชุมนุมหน้าสโมสรตำรวจ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวทีมรถเครื่องเสียงที่ถูกจับหลังการชุมนุม #คาร์ม็อบ1สิงหา เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ไผ่” จตุภัทร์ กับพวก ได้ถูกพาตัวออกจากที่ควบคุมตัว บก.ตชด. ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี และพามายัง สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อลงบันทึกประจำวัน ก่อนจะปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยก่อนเดินทางกลับ กลุ่มมวลชนบางส่วนได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการพ่นสีและสาดสีใส่ป้าย สน.ทุ่งสองห้อง
จากเหตุดังกล่าวทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุฟ้า” และมีประชาชนบางส่วนถูกดำเนินคดีในข้อหาหลัก “ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 โดยแยกออกเป็น 2 คดี ได้แก่ คดีของผู้ใหญ่จำนวน 18 คน ซึ่งถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญา และคดีเยาวชนของกันต์ ซึ่งถูกแยกดำเนินคดี
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 กันต์ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เมื่อพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นจึงได้ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ โดยในระหว่างสอบสวนกันต์ไม่ถูกควบคุมตัว ต่อมาพนักงานอัยการได้ออกหมายเรียกให้กันต์มารายงานตัวในวันนัดฟ้อง แต่กันต์ไม่ได้เดินทางมาตามนัด จึงถูกร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางออกหมายจับ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2567
ต่อมา ในวันที่ 18 พ.ย. 2567 เวลาประมาณ 18.30 น. ที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ กันต์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จำนวน 5 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ ตำรวจสอบสวนกลาง (ศปรฟ.บช.ก.) อีกจำนวน 9 นาย แสดงหมายจับเข้าจับกุม โดยในขณะนั้นกันต์มีเพื่อนรุ่นพี่ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจอยู่ด้วยจำนวน 1 คน
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวกันต์ไปที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เพื่อทำบันทึกการจับกุม ต่อมาจึงนำตัวผู้ต้องหาไปยัง สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งเป็นสถานีตำรวจผู้รับผิดชอบคดี โดยทนายความได้เดินทางไปพบกันต์ที่ สน.ทุ่งสองห้อง พร้อมติดต่อผู้ปกครอง โดยมารดาจะเดินทางมาประกันตัวกันต์ในวันรุ่งขึ้น ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ในห้องขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง 1 คืน
ช่วงบ่ายวันรุ่งขึ้น (19 พ.ย. 2567) กันต์ถูกนำตัวไปฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดย ธีรภัทร์ เมฆฉา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 1 ได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาล สามารถสรุปคำฟ้องได้ดังนี้
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 จำเลยกับพวก ได้ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ โดยร่วมกันใช้สีสาดใส่ป้ายบอกชื่อ สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งเป็นทรัพย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จนเป็นเหตุให้ป้ายบอกชื่อ สน.ทุ่งสองห้อง ผนังตึกอาคาร และพื้นทางขึ้นอาคารได้รับความเสียหาย คิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท
มารดาของกันต์ได้เดินทางไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อยื่นขอประกันตัวกันต์ในระหว่างพิจารณาคดี โดยเจ้าหน้าที่ศาลได้ตีราคาประกันตัวเป็นเงินจำนวน 35,000 บาท แต่มารดาของกันต์ไม่มีเงินในการประกันตัว ทำให้กันต์ถูกส่งไปควบคุมตัวที่สถานแรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร อีก 1 คืน
ในวันรุ่งขึ้น (20 พ.ย. 2567) มารดาของกันต์ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 5,000 บาท ทั้งนี้ได้ขอศาลให้เวลาผู้ร้องในการหาเงินเพื่อมาวางเงินประกันตัวจำเลยเพิ่มหลังจากนี้เป็นเวลา 30 วันนับแต่วันนี้ เพื่อหาเงินประกันจำนวน 35,000 บาท มาให้ครบ
ต่อมา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางเงินสดเป็นหลักทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขว่าถ้าจำเลยไม่เดินทางมารายงานตัวต่อศาลตามนัด จะต้องชำระค่าปรับเป็นเงินจำนวน 35,000 บาท ทำให้กันต์ได้รับการปล่อยตัวจากบ้านเมตตา
ทั้งนี้ ในคดีที่ศาลอาญาของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าและประชาชนทั้งหมด 18 ราย นอกจากข้อหาทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหายแล้ว ยังถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ และร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 อีกด้วย
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2566 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหาแก่จำเลย 16 ราย เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นผู้กระทำการสาดสี ส่วนจำเลยอีก 2 ราย ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา มีลักษณะเป็นผู้สั่งการให้ผู้เข้าร่วมดำเนินการสาดสี และ ทรงพล สนธิรักษ์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้สาดสีใส่บริเวณสถานีตำรวจ ศาลเห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 360 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับคนละ 6,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยก