วันที่ 24 ก.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในคดีละเมิดอำนาจศาลของ “วอน” (นามสมมติ) อายุ 24 ปี กรณีใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ “หยก” นักกิจกรรมเยาวชน ที่นั่งหันหลังให้ผู้พิพากษาในห้องพิจารณาคดี ขณะตรวจสอบการจับกุมในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฯ พิพากษาแก้ว่า ให้รอการกำหนดโทษโดยมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษานี้ ให้ผู้ถูกกล่าวหารายงานผลการศึกษาและการสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีให้ศาลชั้นต้นทราบภายในระยะเวลาดังกล่าว
ทบทวนคดี ศาลเยาวชนกลางฯ พิพากษาจำคุก 1 เดือน ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 วัน ไม่รอลงอาญา
ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 วอน, “สายน้ำ” นภสินธุ์ (สงวนนามสกุล), “แบม” อรวรรณ (สงวนนามสกุล) และ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ศาลที่อ้างว่าจะนำตัววอนไปไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาล ทำให้นักกิจกรรมทั้ง 4 คน ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากเหตุการณ์ในวันดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 14 พ.ย. 2566 เมื่อวอนเดินทางไปศาลตามนัดในคดีตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ศาลข้างต้น ผู้พิพากษาได้แจ้งเขาว่ามีหมายจับในคดีนี้ โดยที่เขาไม่เคยทราบรายละเอียดมาก่อนเนื่องจากยังไม่เคยได้รับหมายเรียก และถูกนำตัวเข้าห้องพิจารณาคดีโดยไม่มีทนายความ ก่อนศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดไต่สวน
ต่อมาในวันที่ 22 ม.ค. 2567 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดไต่สวนในคดีนี้ วอนได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพ โดยยอมรับว่าตนได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพหยกจริง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตักเตือนก็ได้ลบภาพดังกล่าวออก และไม่ได้ทำการเผยแพร่ภาพแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำพิพากษาว่า วอนมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 1 เดือน ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 วัน
วอนได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์และยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษ ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ (24 ก.ย. 2567)
ทั้งนี้ คดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีหนึ่งของวอนกับนักกิจกรรมรวม 4 คน กรณีถูกกล่าวหาว่าตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ศาลนั้น ศาลพิพากษายกคำร้อง เนื่องจากคลิปกล้องวงจรปิดไม่ได้บันทึกเสียงเอาไว้ จึงไม่อาจทราบได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ด่าทอเจ้าหน้าที่ศาลอย่างไร
.
ศาลอุทธรณ์ฯ พิพากษาแก้ ระบุการกระทำกระทบต่อความเชื่อถือและศรัทธาของประชาชนต่อศาล แต่ผู้ถูกกล่าวหามีประวัติการศึกษาดี การลงโทษจำคุกไม่ส่งผลดีต่อตัวผู้ถูกกล่าวหาและสังคม ให้รอกำหนดโทษ 1 ปี
วันนี้ (24 ก.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณา 10 เวลา 09.00 น. วอนเดินทางมาศาล โดยมีผู้รับมอบฉันทะทนายความ, “ทนายด่าง” กฤษฎางค์ นุตจรัส และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายฯ รออยู่หน้าห้องพิจารณาเพื่อรอเจ้าหน้าที่ศาลเรียกเข้าห้องพิจารณาคดี
ก่อนที่ผู้พิพากษาจะออกนั่งพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้สอบถามผู้พิพากษาว่า อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมฟังคำพิพากษาได้หรือไม่ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า การอ่านคำพิพากษาจะเป็นไปโดยลับ ขอให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณาคดี แม้คดีนี้จะไม่ใช่คดีเยาวชนซึ่งต้องพิจารณาคดีเป็นการลับก็ตาม
ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องพิจารณาคดีมีเพียงวอนและผู้รับมอบฉันทะทนายความเท่านั้น ต่อมาผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาโดยสรุป ดังนี้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่า มีเหตุอันสมควรรอการกำหนดโทษหรือไม่
เห็นว่า เมื่อคำนึงถึงวัยของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมีอายุไม่มาก เพียง 23 ปีเศษ ขณะกระทำความผิดคดีนี้ โดยวัยเช่นนี้ผู้ถูกกล่าวหาย่อมเติบโตมาในขณะที่สังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ทั้งในช่วงก่อนเกิดเหตุคดีนี้ก็ได้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชนวัยหนุ่มสาว อันแสดงให้เห็นถึงช่องว่างทางความคิดทางการเมืองระหว่างบุคคลต่างวัยในสังคม
แม้รูปแบบแห่งการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะไม่มีการใช้ความรุนแรงกับบุคคลหรือสิ่งของ แต่มีความรุนแรงในเนื้อหาแห่งการกระทำเพราะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและศรัทธาที่ประชาชนมีต่อศาลยุติธรรม แต่การลงโทษที่รุนแรงก็ไม่ใช่วิถีทางเดียวที่จะระงับยับยั้งการกระทำที่มีความรุนแรงในเนื้อหาเช่นกรณีของผู้ถูกกล่าวหา หากแต่การสร้างความเข้าใจและให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดต่างหากที่อาจเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้
เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวผู้ถูกกล่าวหา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหายังศึกษาอยู่ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระดับมัธยมศึกษาผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่อไปศึกษาที่สาธารณรัฐอิตาลี บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีประวัติการศึกษาที่ดี โดยได้รับการดูแลเอาใจใส่และส่งเสริมสนับสนุนจากครอบครัว ผู้ถูกกล่าวหามีความใฝ่ดี ขยันหมั่นเพียร มีความมุมานะในการศึกษาหาความรู้เพื่อความก้าวหน้าในชีวิต
เมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติในเรื่องละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว ก็เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทบัญญัติให้อำนาจศาลในการลงโทษผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เพื่อให้สามารถควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งในศาลและนอกศาลให้เป็นไปเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม ศาลเองก็จำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายในเรื่องนี้เท่าที่จำเป็นและด้วยความระมัดระวัง
ในกรณีของผู้ถูกกล่าวหา แม้การกระทำจะมีความรุนแรงในเนื้อหา แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลชั้นต้นด้วยตนเองโดยไม่จำต้องมีการจับกุมตัวตามหมายจับ ทั้งยังให้การรับสารภาพโดยมิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงใด ๆ เกี่ยวกับการกระทำผิดของตนบ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหารู้สำนึกในการกระทำความผิดของตนแล้ว และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งการลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาในระยะสั้นย่อมไม่ส่งผลดีต่อตัวผู้ถูกกล่าวหา เพราะจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาและการประกอบสัมมาอาชีพของผู้ถูกกล่าวหา และยังไม่ส่งผลดีต่อสังคมโดยรวมเพราะผู้ถูกกล่าวหาจะกลายเป็นภาระของสังคมต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อผู้ถูกกล่าวหามีอายุมากขึ้นย่อมมีประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีความสุขุมรอบคอบในการใช้ชีวิตของตน
ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงยังไม่สมควรพิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งศาลชั้นต้น แต่ควรรอการกำหนดโทษไว้ก่อน โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องปฏิบัติ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการกำหนดโทษผู้ถูกกล่าวหาไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษานี้ ให้ผู้ถูกกล่าวหารายงานผลการศึกษาและการสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีให้ศาลชั้นต้นทราบภายในระยะเวลาดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ สุรางคนา กมลละคร, ปารณี มงคลศิริภัทรา และ วิชาญ เทพมาลี