วันที่ 17 ก.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดี “ละเมิดอำนาจศาล” ของ 3 สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ได้แก่ “ปีก” วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์, “เปา” ปวริศ แย้มยิ่ง และ พีรพงศ์ เพิ่มพูล จากกรณีขีดเขียนฝาผนังในห้องเวรชี้ศาลอาญา ขณะถูกควบคุมตัวเพื่อรอฟังคำสั่งประกันตัวคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 โดยคดีนี้ในศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษกักขังคนละ 15 วัน โดยไม่รอลงอาญา
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามไม่กระทบการพิจารณาคดี ไม่ร้ายแรง ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามอยู่ในระหว่างการศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้การรับสารภาพและสำนึกผิดมาโดยตลอด ให้ลงโทษจำคุกคนละ 15 วัน ลงโทษปรับคนละ 500 บาท ให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี คุมความประพฤติโดยให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน และให้ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง
.
คดีนี้ เดิมมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 6 คน รวมถึง “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์, “ไดโน่” นวพล ต้นงาม และ “ออ” วิโรฌา ชัชวาลวงศ์ แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสามคนข้างต้น เนื่องจากไม่ปรากฏภาพเคลื่อนไหวว่าได้เขียนข้อความหรือให้ความช่วยเหลือให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 – 3 (วชิรวิชญ์, ปวริศ และ พีรพงศ์) เขียนข้อความ มีหลักฐานปรากฏเพียงการพูดคุย นั่ง นอน เดินไปมา และอ่านหนังสือ ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า เป็นผู้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
ในส่วนของวชิรวิชญ์, ปวริศ และ พีรพงศ์ ซึ่งให้การรับสารภาพ ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล จึงมีคำสั่งลงโทษในข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล จำคุกคนละ 1 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 15 วัน และเมื่อพิจารณาอายุของผู้ถูกกล่าวหาและความสำนึกผิดแล้ว จึงให้ลงโทษกักขัง 15 วัน ต่อมาทั้งสามจึงยื่นฎีกาในคดีนี้ต่อ
วันนี้ (17 ก.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 714 เวลา 9.13 น. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามเดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมเพื่อนและครอบครัว โดยมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ ต่อมาผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาฎีกาโดยสรุปว่า
คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าสมควรรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดในห้องพิจารณา ขณะเกิดเหตุศาลชั้นต้นไม่ได้ออกนั่งพิจารณา ไม่มีบุคคลอื่นในห้องพิจารณา อยู่ในระหว่างรอการปล่อยชั่วคราว การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามไม่กระทบต่อการพิจารณาคดี ไม่ร้ายแรง ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามอยู่ระหว่างศึกษาในระดับอุดมศึกษา รับสารภาพและสำนึกผิดมาตลอด เห็นสมควรให้รอการลงโทษ แต่เพื่อให้หลาบจำให้ลงโทษปรับและคุมประพฤติ จะเป็นผลดีต่อผู้ถูกกล่าวหากับสังคมมากกว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้อง
พิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุกคนละ 15 วัน ปรับคนละ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้คุมประพฤติโดยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ภายในกำหนดเวลา 1 ปี และให้ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง