ในวันที่ 17 ก.ย. 2567 นี้ เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 714 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดี “ละเมิดอำนาจศาล” ของ 3 สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ได้แก่ “ปีก” วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์, “เปา” ปวริศ แย้มยิ่ง และพีรพงศ์ เพิ่มพูล จากกรณีขีดเขียนฝาผนังในห้องเวรชี้ศาลอาญา ขณะถูกควบคุมตัวเพื่อรอฟังคำสั่งประกันตัวคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 โดยคดีนี้ในศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษกักขังคนละ 15 วัน โดยไม่รอลงอาญา
.
เขียนข้อความในผนังห้องเวรชี้ ถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล 6 คน ศาลยกข้อกล่าวหา 3 คน
เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาได้แจ้งกับทนายความว่า ในวันที่ 18 ม.ค. 2565 สมาชิกทะลุฟ้าจำนวน 6 ราย ได้กระทำการขีดเขียนฝาผนังเป็นข้อความต่าง ๆ อาทิ ‘ปล่อยเพื่อนเรา’, ‘ยกเลิก 112’, ‘ประเทศทวย’ ขณะที่กำลังรอฟังคำสั่งประกันตัวในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง
ต่อมาศาลอาญาได้ตั้งเรื่องคดีละเมิดอำนาจศาลกับทั้ง 6 คน และทำการไต่สวนในวันที่ 3 ก.พ. 2565 โดยศาลได้วางข้อกําหนดห้ามผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาทุกคนจดบันทึกถ้อยคําของคู่ความ พร้อมทั้งห้ามเผยแพร่การพิจารณาคดีของศาล
ก่อนศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 4 ก.พ. 2565 พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้กล่าวหาและคำรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 (วชิรวิชญ์, ปวริศ และ พีรพงศ์) แล้ว และไม่มีผู้ถูกกล่าวหาใดคัดค้านข้อกล่าวหาในคดีนี้ ข้อกล่าวหาดังกล่าวได้สอดคล้องกับคำให้การของผู้ถูกกล่าวหา พฤติกรรมดังกล่าวกระทำในห้องเวรชี้ 1 ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล
ในส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6 (วิโรฌา, นวพล และทรงพล) ไม่ปรากฏภาพเคลื่อนไหวว่าได้เขียนข้อความหรือให้ความช่วยเหลือให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 เขียนข้อความ มีหลักฐานปรากฏเพียงการพูดคุย นั่ง นอน เดินไปมา และอ่านหนังสือ ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6 เป็นผู้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
จึงมีคำสั่งลงโทษเฉพาะวชิรวิชญ์, ปวริศ และพีรพงศ์ จำคุกคนละ 1 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 15 วัน และเมื่อพิจารณาอายุของผู้ถูกกล่าวหาและความสำนึกผิดแล้ว จึงให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนด 15 วัน และให้ยกคำกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6
.
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เห็นว่าข้อความไม่ได้เกี่ยวกับตำรวจตามที่อุทธรณ์
หลังทั้งสามคนได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ และได้ยื่นอุทธรณ์คดี โดยชี้แจงว่าการกระทำที่เกิดขึ้นในห้องขังเวรชี้เนื่องมาจากความโกรธเจ้าพนักงานตำรวจและราชทัณฑ์ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม มิได้มีจุดประสงค์จะล่วงละเมิดศาลแต่อย่างใด
อีกทั้งการกระทำทั้งหมดเกิดขึ้นภายในห้องขังใต้อาคารศาล มิได้เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีใด ๆ และในการพิจารณาคดีหรือการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ให้ความร่วมมือแต่โดยดีมาโดยตลอด มิได้ขัดขวางการพิจารณาคดีใด ๆ
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยเห็นว่าอุทธรณ์ในเรื่องว่าการกระทำเป็นการแสดงความโกรธต่อเจ้าพนักงานนั้น ยังไม่สอดคล้องกับพฤติการณ์ถ้อยคำบนฝาผนัง เช่น ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ หรือ ‘ยกเลิก112’ หรือ ‘ประเทศทวย’ เพราะการกระทำดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่
หลังฟังคำพิพากษาทั้งสามคนได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาต่อมา โดยวางหลักทรัพย์คนละ 10,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
.
ยื่นฎีกา ยันการกระทำไม่ได้สร้างความวุ่นวายให้การพิจารณาคดี ตามความมุ่งหมายของข้อหาละเมิดอำนาจศาล
ทั้งสามคนได้ยื่นฎีกาในคดีนี้ต่อ โดยสรุปยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มีเจตนาก่อความวุ่นวายให้กับการพิจารณาคดี อันเป็นความมุ่งหมายของข้อหาละเมิดอำนาจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30 การกระทำไม่ได้สร้างความวุ่นวายใด ๆ ไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดี หรือกระทำต่อการทำงานของศาล หรือพนักงานศาล
พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้มีลักษณะร้ายแรงจนถึงขนาดไม่สามารถรอลงอาญาได้ ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง เพียงแต่สร้างความสกปรกและมีทรัพย์บางส่วนเสียหาย แต่ยังพอซ่อมแซมได้ โดยผู้ถูกกล่าวหายินดีชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
ทั้งผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามยังไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และเมื่อถูกดำเนินคดี ก็ให้ความร่วมมือกับศาลมาโดยตลอด โดยเคยมีคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 4141-4142/2565 ซึ่งจำเลยมีอายุใกล้เคียงกับผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ คืออายุราว 20 ปี โดยศาลได้นำอายุของจำเลย อีกทั้งพิจารณาโทษที่ไม่ร้ายแรง จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ผู้ถูกกล่าวหาจึงเห็นว่าศาลฎีกาควรจะพิจารณาองค์ประกอบดังกล่าวในคดีนี้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้หากศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ทั้งสามคนจะถูกนำตัวไปกักขังที่สถานกักขังจังหวัดปทุมธานี
.