29 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จากการปราศรัยในวันแรงงานสากล #แจกน้ำยาให้หมามันกิน จัดโดยกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการวัคซีนโควิด-19 และการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์
ศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 29 ต.ค. 2567 เนื่องจากฝ่ายจำเลยโต้แย้งเกี่ยวกับการอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์หลังการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว และจำเลยยังยื่นคำร้องขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวนจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ พ.ศ. 2565 ซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยข้อคัดค้านและคำร้องดังกล่าวก่อนอ่านคำพิพากษา
เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 707 ศาลอาญา โสภณถูกเบิกตัวมาในชุดนักโทษเพื่อมารอฟังคำพิพากษา โดยมีเครื่องพันธนาการคือกุญแจข้อเท้า โดยในห้องยังมีครอบครัวและประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจจนเต็มห้องพิจารณา ก่อนในเวลาประมาณ 09.30 น. ศาลจึงออกพิจารณาคดี
ก่อนอ่านคำพิพากษา ทนายจำเลยแถลงว่า ตามที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องฉบับลงวันที่ 8 ก.ค. 2567 โดยเป็นการขอเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับหมายเลขคดีแดงในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ซึ่งศาลมีคำสั่งว่ากรณีเป็นการแก้ไขเล็กน้อย อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้
ทนายจำเลยขอคัดค้านว่า การขอแก้ไขฟ้องดังกล่าวนั้นเป็นการขอแก้ไขภายหลังจากสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว มีความไม่ยุติธรรมแก่ตัวจำเลย เนื่องจากโจทก์ควรจะทราบดีก่อนหน้านี้แล้วว่าคดีหมายเลขดำที่ขอแก้ไขฟ้องดังกล่าวนั้น ศาลได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงแล้ว และยังมีข้อคัดค้านอื่นเกี่ยวกับคำสั่งศาลดังกล่าวอีกหลายประเด็น ทนายจำเลยประสงค์จะทำคำคัดค้านยื่นเป็นหนังสือต่อศาลภายในกำหนด 30 วัน ขอให้ศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษา
นอกจากนี้ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เป็นตัวแทนยื่นคำร้องของจำเลย,ครอบครัว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวม 6 ฉบับ เพื่อขอให้ศาลยุติการกระทำการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยอ้างเหตุว่า การที่กรมราชทัณฑ์ใช้กุญแจโซ่ล่ามขาทั้งสองของจำเลย เปรียบเสมือนว่าเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิด เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
การที่โสภณถูกเบิกตัวมาสืบพยานที่ศาลนี้ด้วยการใช้เครื่องพันธนาการลักษณะนี้ตลอดระยะทางระหว่างการเดินทางมาศาล การเดินขึ้นห้องพิจารณาในเขตศาล การใส่ระหว่างการพิจารณาคดีต่อหน้าศาล นั้นเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณะที่ทำให้โสภณถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกปฎิบัติเหมือนผู้กระทำความผิดและถูกตัดสินไปล่วงหน้าจากสาธารณชนและบุคลากรทั้งปวงในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขอให้ศาลพิจารณายุติการกระทำดังกล่าวและหามาตราการอื่นที่เหมาะสมโดยพลัน
ศาลได้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้พนักงานอัยการโจทก์ และอัยการแถลงว่าไม่ประสงค์จะคัดค้านคำร้องดังกล่าว
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อฝ่ายจำเลยยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ และจำเลยกับพวกยื่นคำร้องขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวนจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยข้อคัดค้านและคำร้องดังกล่าวก่อนอ่านคำพิพากษา
กรณีมีเหตุสมควร จึงให้เลื่อนไปนัดฟังคำวินิจฉัยในประเด็นที่คัดค้าน และในประเด็นที่มีการยื่นคำร้องขอให้ยุติการกระทำ และฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ต.ค. 2567 เวลา 09.00 น.
อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 ของโสภณที่จะมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้น คดีแรกคือ คดีจากการปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ซึ่งศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 จำคุกเก็ท 3 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และจำคุก 6 เดือน ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้เก็ทไม่ประสงค์จะยื่นประกันอีกและถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรื่อยมา
อีกคดีคือ ปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ที่ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาจำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุกใน 2 คดี 6 ปี 6 เดือนแล้ว และเก็ทถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปีเต็ม
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
บันทึกการต่อสู้คดีปราศรัยเรียกร้องวัคซีนของ “เก็ท โสภณ” วาดฝันขอให้ประเทศนี้ไม่มีความเหลื่อมล้ำ