ในวันที่ 29 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จากการปราศรัยในวันแรงงานสากล #แจกน้ำยาให้หมามันกิน จัดโดยกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการวัคซีนโควิด-19 และการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์
สำหรับคดีนี้มี ร.ต.อ.ทองธาดา การเกด ฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้ง เป็นผู้กล่าวหา และเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาขณะที่โสภณถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในอีกคดีหนึ่ง
ต่อมาในวันที่ 15 มี.ค. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องโสภณต่อศาลอาญา โดยได้บรรยายฟ้องระบุถึงคำปราศรัย ของโสภณใน 4 ช่วง ได้แก่
1. จำเลยได้ปราศรัยถึงในช่วงสภาวะการขาดวัคซีนที่มีคุณภาพ โดยกล่าวถึงเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี และกลุ่มเพื่อนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ก่อนหน้าประชาชน
2. จำเลยได้ปราศรัยถึงวัคซีนแอสตราเซนเนกา โดยกล่าวว่ากลุ่มราชวงศ์เป็นกลุ่มที่ได้วัคซีน จากการเข้าถือหุ้น แต่ประชาชนไม่ได้วัคซีน
3. จำเลยได้ปราศรัยกล่าวถึงเครื่องมือทางการแพทย์ โรงพยาบาล ตลอดจนเงินซื้อวัคซีนและซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ก็เป็นเงินบริจาคจากประชาชน ไม่ใช่เงินของกษัตริย์
4. จำเลยได้ปราศรัยว่า ชีวิตหนึ่งที่เกิดมาได้ใช้คุ้มแล้วที่ไม่ยอมตกเป็นทาสให้ศักดินา และขอจงศรัทธาในศักดิ์ศรีของมนุษย์ของคุณ ถ้าหากทุกคนถูกลิดรอนสิทธิ ขอให้เรียกร้องสิทธิออกมา
อัยการบรรยายฟ้องว่า ถ้อยคำที่โสภณปราศรัยนั้นถือเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ทำให้ประชาชนที่ได้ฟังเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อสถาบันกษัตริย์ และโสภณยังได้ใช้เครื่องขยายเสียงในการปราศรัยโดยไม่ได้รับอนุญาต
ภาพรวมการสืบพยาน
คดีนี้มีการสืบพยานในระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย และ 2-3 ก.ค. 2567 โดยตลอดการสืบพยานโสภณได้แถลงต่อศาลว่าจะขอถือรูป “บุ้ง” เนติพร นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังที่เพิ่งเสียชีวิตจากการอดอาหารไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 เพื่อร่วมแสดงออกว่าข้อเรียกร้องของเธอที่ต้องการให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้นยังไม่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ประชาชนเกือบทุกคนที่มาให้กำลังใจโสภณในห้องพิจารณาก็ได้ร่วมถือรูปเนติพรไปตลอดการพิจารณาคดีด้วยเช่นกัน
ในการสืบพยานอัยการโจทก์นำพยานบุคคลเข้าเบิกความรวม 8 ปาก ได้แก่ ตำรวจสืบสวนและสอบสวน 4 ปาก, ผช.ผอ.เขตดุสิต, ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา, สมาชิก ศปปส. และทนายความที่มาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความ โดยโจทก์นำสืบว่า ถ้อยคำปราศรัยของโสภณทั้งหมด เป็นการใส่ร้ายต่อสถาบันกษัตริย์และรัชกาลที่10 ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังรู้สึกเกลียดชังสถาบันกษัตริย์ และทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความทั้งสิ้น 6 ปาก ได้แก่ เก็ท, ผู้นำแรงงานและสมาชิกสหภาพคนงานที่ร่วมฟังปราศรัย, นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและกฎหมาย โดยมีข้อต่อสู้ว่า สิ่งที่เก็ทปราศรัยล้วนเป็นข้อเท็จจริง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงโควิด โดยมีเจตนาเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งการปราศรัยถึงเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีไม่ผิดมาตรา 112 เนื่องจากไม่ใช่บุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง นอกจากนี้ ประชาชนต้องวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจที่กษัตริย์ถือหุ้นได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
ในการสืบพยานวันสุดท้ายซึ่งเก็ทต้องเข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง เก็ทขอศาลใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวที่พ่อเตรียมมาให้แทนชุดผู้ต้องขัง โดยผู้พิพากษาอนุญาตตามที่เก็ทขอ ขณะที่ “สายน้ำ” ก็ถอดรองเท้าคัตชูสีดำให้เก็ทสวม ภายหลังจากที่เก็ทเบิกความเสร็จสิ้นและผู้พิพากษาออกจากห้องพิจารณาแล้ว ประชาชนที่มาให้กำลังใจเก็ทได้ร่วมกันร้องเพลง “ด้วยรักและผูกพัน” ก่อนเก็ทจะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวออกจากห้องพิจารณาเพื่อกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 ของเก็ทที่ศาลจะมีคำพิพากษา คดีแรกคือ คดีจากการปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ซึ่งศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 จำคุกเก็ท 3 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และจำคุก 6 เดือน ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้เก็ทไม่ประสงค์จะยื่นประกันอีกและถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรื่อยมา อีกคดีคือ ปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ที่ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาจำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุกใน 2 คดี 6 ปี 6 เดือนแล้ว และเก็ทถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปีเต็ม
รองสารวัตรสืบ สน.นางเลิ้ง ผู้กล่าวหา อ้าง คำปราศรัยของเก็ท 4 ข้อความ มีลักษณะ ดูหมิ่น ใส่ความ สถาบันกษัตริย์ แต่รับว่ากล่าวถึง ร.10 เพียงครั้งเดียว
ร.ต.อ.ทองธาดา การะเกด เบิกความในฐานะผู้กล่าวหาว่า ขณะเกิดเหตุเป็นรองสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง ในช่วงปี 2565 มีผู้เห็นต่างทางการเมืองเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้บังคับบัญชาจึงให้พยานคอยจับตาดูและสืบสวนหาข่าว
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 พยานพบชื่อเฟซบุ๊ก “เครือข่ายสิทธิแรงงานเพื่อประชาชน” ได้โพสต์ข้อความว่า “วันจักรีแค่น้ำจิ้ม วันที่ 1 พ.ค. กรรมกรสากลโลกเราเจอกัน” และวันที่ 30 เม.ย. 2565 ได้โพสต์อีกว่า “พรุ่งนี้แล้วนะ เจอกันหน้าทำเนียบ แจกน้ำยาให้หมามันกิน” พยานจึงได้จัดทำรายงานการสืบสวนเอาไว้
ต่อมา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันหน้าบ้านพิษณุโลก ก่อนเคลื่อนขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อถึงแยกพาณิชยการ ตำรวจควบคุมฝูงชนเหนี่ยวรั้งไม่ให้ข้ามไปทำเนียบ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ปักหลักปราศรัยอยู่บริเวณดังกล่าว โดยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยบนรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง กระทั่งเวลา 11.00 น. พยานเห็นโสภณขึ้นปราศรัย
พยานได้บันทึกภาพและเสียงขณะจำเลยขึ้นปราศรัย พร้อมทั้งจัดทำรายงานการสืบสวนเอาไว้ ภายหลังได้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวน และมีการถอดเทป โดยพยานได้ตรวจดูแล้ว พบว่ามีข้อความตรงกับที่จำเลยปราศรัย
ข้อความที่จำเลยปราศรัยกล่าวถึงวัคซีนไฟเซอร์ พยานเห็นว่า มีลักษณะเป็นการดูถูก ดูหมิ่น ทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกเกลียดชัง ประชาชนเสื่อมศรัทธา
ส่วนข้อความที่จำเลยปราศรัยกล่าวถึงวัคซีนแอสตราเซนเนกา พยานเห็นว่า มีลักษณะเป็นการใส่ความสถาบันกษัตริย์และในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังรู้สึกเกลียดชังสถาบันกษัตริย์
ในส่วนที่จำเลยปราศรัยว่า ชีวิตหนึ่งที่เกิดมาได้ใช้คุ้มแล้วที่ไม่ยอมตกเป็นทาสให้ศักดินา พยานเห็นว่า เป็นการใส่ความ เพราะปัจจุบันไม่มีทาสในประเทศไทยแล้ว หากคนทั่วไปได้ยินอาจจะเข้าใจผิด ถือเป็นการจงใจใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ด้วยข้อความอันความเท็จ ทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
สำหรับข้อความสุดท้ายที่จำเลยปราศรัยเกี่ยวกับการบริจาคเครื่องมือแพทย์ว่า มาจากเงินบริจาคของประชาชน พยานเห็นว่า มีลักษณะเสียดสี ดูหมิ่น ใส่ร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา
พยานเห็นว่า ข้อความที่จำเลยปราศรัยเป็นความผิดตามมาตรา 112 พยานจึงไปร้องทุกข์ที่ สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีจำเลย โดยได้มอบรายงานการสืบสวนให้พนักงานสอบสวนใช้ประกอบในการดำเนินคดี
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ร.ต.อ.ทองธาดา เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีจำเลยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
รายงานการสืบสวนที่โจทก์อ้างส่งต่อศาล ระบุว่า กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เป็นผู้จัดทำ ส่วนข้อความที่มีการถอดเทปก็ระบุแหล่งที่มาจากคลิปของสํานักข่าวราษฎร ไม่ใช่คลิปที่พยานเป็นคนบันทึก พยานอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ทราบว่ากลุ่มที่จัดการชุมนุมคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แต่ไม่มีใครแสดงตนอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้จัด
พยานทราบว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยเป็นนักศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ และรับว่า จำเลยเป็นเพียงคนที่ถูกเชิญให้ขึ้นไปปราศรัยเท่านั้น เนื้อหาที่จำเลยปราศรัยก็เป็นการเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงานในกลุ่มแพทย์และพยาบาล แต่มีส่วนหนึ่งที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์
ในช่วงเกิดเหตุมีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พยานทราบดีว่าขณะนั้นวัคซีนมีไม่เพียงพอ การปราศรัยของจำเลยก็เกี่ยวกับวัคซีนที่แจกจ่ายให้ประชาชนไม่ทั่วถึง
พยานทราบว่า มาตรา 112 คุ้มครอง 4 บุคคล แต่ไม่ทราบว่า เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีเป็นรัชทายาทหรือไม่ ทราบเพียงว่าเป็นลูกของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะต้องพิจารณาเองว่า ผิดมาตรา 112 หรือไม่
พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า ฟ้าหญิงสิริวัณณวรีได้โพสต์เฟซบุ๊กว่าได้รับวัคซีนไฟเซอร์และไปเที่ยวฝรั่งเศสจริงหรือไม่
พยานทราบจากข่าวว่า วัคซีนแอสตราเซนเนกาผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นอยู่ 99.9 เปอร์เซนต์ แต่ไม่ทราบว่าข่าวดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่
จําเลยปราศรัยระบุชื่อรัชกาลที่ 10 เพียงครั้งเดียว คือเรื่องการถือหุ้นในบริษัทที่ผลิตวัคซีนแอสตรา นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ได้ระบุชื่อรัชกาลที่ 10 อีก
ที่พยานให้ความเห็นว่า คำปราศรัยของจําเลยมีลักษณะดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ อาจทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังนั้น เป็นความคิดเห็นของพยานเอง ส่วนประชาชนคนอื่นที่รับฟังนั้นจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกันหรือไม่ พยานไม่ได้สอบถาม
ตลอดการชุมนุมไม่ได้มีเหตุการณ์วุ่นวายใด ๆ เกิดขึ้น และเครื่องเสียงที่จำเลยใช้ปราศรัยก็เป็นเครื่องเสียงที่กลุ่มแรงงานเตรียมมา
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาให้ความเห็น ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย แม้สิ่งที่พูดจะเป็นความจริง
อัยการโจทก์นำพยานคนที่สองเข้าเบิกความคือ พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา โดยที่ศาลอนุญาตให้สืบพยานผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจาก พล.ร.ต.ทองย้อย พักอาศัยอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ไม่สะดวกเดินทางมาศาล แต่โสภณคัดค้านโดยระบุว่า อาจจะทำให้จำเลยเสียสิทธิ เพราะทนายจำเลยไม่สามารถถามค้านได้โดยสะดวก เนื่องจากมีเอกสารหลายอย่างที่ต้องให้พยานโจทก์ดูประกอบการถามค้าน
อย่างไรก็ตาม ศาลได้ให้ พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความตอบโจทก์ไปก่อนและให้พยานมาศาลเพื่อให้ทนายจำเลยถามค้านในภายหลัง
พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความว่า ตนเป็นข้าราชการบำนาญ เคยรับราชการที่หอสมุดแห่งชาติในตำแหน่งนักภาษาโบราณ จากนั้นได้รับราชการในกองทัพเรือในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ มีหน้าที่อบรมศีลธรรมในกองทัพเรือ
สำหรับข้อความข้อความที่จำเลยปราศรัยเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์และการถือหุ้นในบริษัทผลิตแอสตราเซนเนกา พยานเห็นว่า ผู้กล่าวมีเจตนาให้ผู้ฟังเข้าใจว่าบุคคลในสถาบันกษัตริย์เอาเปรียบประชาชน
ส่วนข้อความที่จำเลยปราศรัยกล่าวถึงการบริจาคเครื่องมือแพทย์และวัคซีน ว่า มาจากเงินบริจาคของประชาชน พยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าวผู้พูดเจตนาให้ผู้ฟังเข้าใจว่า บุคคลในสถาบันกษัตริย์โอ้อวดว่าช่วยเหลือประชาชน แต่แท้จริงแล้วไม่ได้ช่วยเหลือ เงินทั้งหลายเป็นเงินของประชาชนทั้งสิ้น
และข้อความสุดท้ายที่จำเลยปราศรัยว่า ชีวิตหนึ่งที่เกิดมาได้ใช้คุ้มแล้วที่ไม่ยอมตกเป็นทาสให้ศักดินา พยานเห็นว่า ผู้กล่าวมีเจตนาให้ผู้ฟังเข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์กดขี่ประชาชน เห็นประชาชนเป็นข้าทาส
ทั้งนี้ พยานเห็นว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ต้องมีขอบเขต กล่าวคือ ต้องไม่ผิดกฎหมาย ไม่ไปละเมิดให้ผู้อื่นเสียหาย หากเป็นการนำข้อมูลของบุคคลอื่นไปพูดในที่สาธารณะก็ควรมีการตรวจสอบให้รอบคอบ โดยเฉพาะควรไปสอบถามกับบุคคลนั้นก่อน
ในชั้นสอบสวนพยานได้ไปให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ตามที่ปรากฏในบันทึกคำให้การ
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พล.ร.ต.ทองย้อย ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พนักงานสอบสวนได้โทรศัพท์เชิญพยานไปให้การเป็นพยาน โดยพนักงานสอบสวนนำถ้อยคำมาให้ดูและถามความเห็น พยานไม่ได้ดูคลิปที่จำเลยปราศรัย และไม่ทราบว่า โดยรวมจำเลยปราศรัยเรื่องอะไร หากพยานได้ดูคลิปการปราศรัยทั้งหมด อาจจะมีความเห็นต่อถ้อยคำที่พนักงานสอบสวนถามเปลี่ยนไป แต่ถึงกระนั้นพยานก็จะแสดงความคิดเห็นตอบเฉพาะข้อความที่ถามมาเท่านั้น
พยานรับว่า ถ้อยคำปราศรัยของจำเลยส่วนมากจะเกี่ยวกับความยากลำบากในการทำงานของบุคลากรทางแพทย์ ซึ่งต้องทำงานหนักในช่วงการระบาดโควิด-19 แต่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร การจัดสรรวัคซีนก็เป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม
ฟ้าหญิงสิริวัณณวรีเป็นธิดาของในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไรก็ตาม บุคคลทั่วไปทราบว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
ถ้อยคำปราศรัยของจำเลยไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นการกล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ซึ่งในความเข้าใจของพยาน สถาบันกษัตริย์หมายความรวมถึงองค์ประกอบทุกอย่างของพระมหากษัตริย์
เงินส่วนหนึ่งที่สถาบันกษัตริย์นํามาใช้สอยเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชน และเงินที่สถาบันกษัตริย์บริจาคเพื่อสร้างโรงพยาบาลหรือเป็นสาธารณกุศล ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ประชาชนบริจาคให้เพื่อให้ใช้ตามพระราชอัธยาศัย ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ด้วย ซึ่งการบริจาคในลักษณะดังกล่าวมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การแสดงความคิดเห็นโดยการพูดความจริงนั้น หากเป็นการผิดต่อกฎหมายหรือผิดระเบียบ ซึ่งรวมถึงระเบียบปฏิบัติของประเพณีในอดีต ก็ไม่สามารถกระทำได้
ตอบโจทก์ถามติง
พล.ร.ต.ทองย้อย ตอบโจทก์ถามติงว่า คำปราศรัยของจำเลยที่เกี่ยวกับการถือหุ้นบริษัทผลิตแอสตราเซนเนกา เป็นการเอ่ยถึงชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 10
สมาชิก ศปปส. เบิกความ สิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นความเท็จ ใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 – สถาบันกษัตริย์
ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เบิกความโดยสรุปว่า ข้อความแรกที่จำเลยปราศรัยเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ พยานเห็นว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์ที่จะใส่ร้ายว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 เอาวัคซีนไปให้ลูกของตัวเอง คือ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี
ข้อความที่สองที่จำเลยปราศรัยเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทผลิตแอสตราเซนเนกา พยานเห็นว่า ผู้พูดเจตนาใส่ร้ายว่า รัชกาลที่ 10 เป็นเจ้าของบริษัทแอสตรา ใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ว่า คนในวังได้วัคซีน แต่ประชาชนไม่ได้ เท่าที่พยานทราบในหลวงถือหุ้นบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนบริษัทแอสตราเซนเนกา เป็นบริษัทต่างประเทศ
สำหรับข้อความที่จำเลยปราศรัยกล่าวถึงการบริจาคเครื่องมือแพทย์ว่า มาจากเงินบริจาคของประชาชนนั้น พยานเห็นว่า ผู้พูดมีเจตนาใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ว่า อ้างผลงานต่างๆ ที่เป็นของประชาชนมาเป็นของตัวเอง ซึ่งตัวผู้พูดเองก็ยังไม่ทราบว่า ท่านได้ใช้เงินส่วนพระองค์หรือไม่ แต่ปักใจเชื่อไปแล้วว่าใช้ภาษีประชาชน
ในส่วนข้อความสุดท้ายที่จำเลยปราศรัยว่า ชีวิตหนึ่งที่เกิดมาได้ใช้คุ้มแล้วที่ไม่ยอมตกเป็นทาสให้ศักดินา พยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไทยอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เคยถูกกดขี่ข่มเหงจากในหลวงรัชกาลที่ 10
ถ้อยคําทั้งสี่ดังกล่าวนั้น เมื่ออ่านโดยรวมแล้ว พยานเข้าใจว่า เป็นการหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากมีการเอ่ยพระนามของท่านออกมาโดยตรงในบางถ้อยคำ
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ระพีพงษ์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้รู้จักกับจำเลยเป็นการส่วนตัว แต่เคยเห็นผ่านสื่อออนไลน์ ทราบว่าเป็นนักเคลื่อนไหวในลักษณะต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งพยานมีความเห็นตรงข้ามกับจำเลย
พยานเป็นผู้ประสานงานกลุ่ม ศปปส. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ หากมีคนล่วงเกินสถาบันกษัตริย์ทั้งในโลกออนไลน์และในสังคมทั่วไป สมาชิกกลุ่มก็จะไปแจ้งความดำเนินคดี
วันเกิดเหตุพยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ที่พนักงานสอบสวนประสานงานพยานไปให้ปากคำ เนื่องพยานเป็นสมาชิกกลุ่มที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์และกล้าให้การในเรื่องต่างๆ โดยพนักงานสอบสวนให้พยานอ่านบันทึกถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยเกือบ 13 หน้า แต่ไม่ได้ให้ดูคลิปการปราศรัย
พยานทราบว่า วันเกิดเหตุเป็นวันแรงงาน ส่วนหนึ่งจำเลยกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับสิทธิของผู้ใช้แรงงาน แต่มีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ด้วย 1 ครั้ง
เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีไม่ใช่องค์รัชทายาท และพยานไม่ทราบว่า พระองค์ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่าได้วัคซีนไฟเซอร์แล้วและไปเที่ยวฝรั่งเศส จริงหรือไม่
ในช่วงเกิดเหตุมีการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการจัดสรรวัคซีน ทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึง และพยานทราบจากข่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ โดยบริษัทแอสตราเซนเนกาเลือกสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซนเนกาในประเทศไทย แต่พยานปราศรัยว่า รัชกาลที่ 10 ถือหุ้นในบริษัทแอสตรา
ในความคิดเห็นของพยาน คำว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
พนักงานสอบสวนเป็นผู้ตั้งประเด็นเกี่ยวกับถ้อยคํา 4 ประโยค และมาสอบถามความคิดเห็นจากพยาน ซึ่งพยานคิดว่า พนักงานสอบสวนคงพิจารณาว่า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นความผิดตามมาตรา 112
ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ถามความเห็นต่อถ้อยคำอื่นที่จำเลยปราศรัยในวันเกิดเหตุ แต่ระพีพงษ์ไม่ขอตอบ ระบุว่า ขอตอบคําถามเฉพาะประเด็นที่ให้การกับพนักงานสอบสวนเท่านั้น
ในระหว่างการพิจารณาคดีระพีพงษ์ได้แสดงออกด้วยว่า เขาไม่พอใจที่คนในห้องพิจารณาคดีถือรูป “บุ้ง” เนติพร” โดยเขากล่าวกับศาลว่า คนที่อยู่ในรูปนั้นเป็นนักโทษคดีมาตรา 112
ทนายความให้ความเห็นถ้อยคำปราศรัยจำเลยเป็นเท็จ อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทย แต่รับว่า โดยภาพรวมจำเลยปราศรัยเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน
ปภัสรา ทัพพะรังสี โบดาน ทนายความอิสระ เบิกความให้ความเห็นต่อถ้อยคำตามฟ้อง สำหรับข้อความแรก พยานเห็นว่า เป็นการพูดตามความเชื่อส่วนตัวของจำเลย แสดงถึงความคับข้องใจ ทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่า ขณะที่ประชาชนยังไม่ได้วัคซีน แต่เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีได้รับวัคซีน ซึ่งพยานเห็นว่า จำเลยควรจะตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะพูดให้คนอื่นรับฟัง
ในส่วนประโยคที่สองที่มีข้อความว่า รัชกาลที่ 10 ถือหุ้นใหญ่ในแอสตรานั้น พยานเห็นว่า ผู้พูดควรจะตรวจสอบข้อมูลก่อน เพราะผู้ฟังอาจจะเชื่อตามและส่งผลกระทบต่อสังคมได้ แต่ในบางถ้อยคำก็แสดงเจตนาที่ดีของจำเลยที่เรียกร้องวัคซีนให้ประชาชนอย่างทั่วถึง
ประโยคที่สามเรื่องเงินบริจาค พยานไม่เห็นด้วยกับที่จำเลยพูด ถ้าเราไม่มีข้อเท็จจริงจะกลายเป็นการพูดเท็จ ต้องตรวจสอบให้แน่ชัด เช่น ต้องมีบัญชีและเอกสารแสดงออกมา การพูดของจำเลยเป็นการพูดโดยความเชื่อส่วนตัว แต่เมื่อนำมาปราศรัยให้ผู้อื่นฟังจะเป็นการชี้นำให้คนคล้อยตาม ซึ่งจะเป็นอันตราย
สุดท้ายประโยคที่สี่เรื่องความเป็นทาส พยานเห็นว่า จำเลยพูดจากความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง และอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย
ในภาพรวม พยานเห็นว่า ผู้พูดพูดจากความเชื่อ ความเสียใจ ความคับข้องใจ และมีความปรารถนาให้สังคมเท่าเทียม แต่ไม่มีข้อเท็จจริงมารองรับ ในทางกฎหมายถือว่าเป็นความเท็จซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวผู้พูดเอง และหากมีผู้ฟังที่คล้อยตามก็จะทำให้เกิดความแตกแยก
พยานไม่รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ปภัสราตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุมีการระบาดของโรคโควิด-19 และรัฐบาลบริหารจัดการไม่ได้ ประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน ในฐานะที่จำเลยเป็นนักกิจกรรมคงจะได้รับฟังเรื่องทุกข์ยากลำบากของประชาชนมามาก จึงพูดด้วยความคับข้องใจและต้องการให้มีการจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม แต่จำเลยไม่ได้มองถึงความดีงามของสถาบันกษัตริย์ในส่วนอื่น
พยานได้ดูคลิปการปราศรัยของจำเลยขณะเข้าให้การกับพนักงานสอบสวน โดยภาพรวมจำเลยปราศรัยเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ แต่ก็มีบางส่วนที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์
เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถอดเทปคำปราศรัยเบิกความ การปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายผิดมาตรา 112 แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า เรื่องที่ปราศรัยเป็นเรื่องจริงหรือไม่
พ.ต.ต.เอกยุทธ อดิสร สารวัตรกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้พยานได้รับมอบหมายให้ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ และตรวจพบว่า ประมาณเดือนเมษายน มีการโพสต์เชิญชวนชุมนุมในเฟซบุ๊กของเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พยานจึงรายงานผู้บังคับบัญชา ซึ่งผู้บังคับบัญชามอบหมายให้พยานติดตามการชุมนุมดังกล่าว
วันที่ 1 พ.ค. 2567 เวลาประมาณ 08.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน รวมตัวกันที่หน้าบ้านพิษณุโลกพร้อมกับรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง ก่อนเคลื่อนตัวไปหน้าทำเนียบหน้ารัฐบาล กระทั่งเวลา 10.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมติดอยู่บริเวณแยกพณิชยการ เนื่องจากมีแผงเหล็กกั้น
เวลา 10.12 น. พยานพบจำเลยขึ้นปราศรัยในประเด็นวัคซีนโควิด และมีบางตอนเสียดสีสถาบันกษัตริย์ ใช้เวลาปราศรัยประมาณ 23 นาที หลังการชุมนุมพยานได้จัดทำรายงานการสืบสวน รวมไปถึงถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยจากเพจสํานักข่าวราษฎร
พยานเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายผิดมาตรา 112 พยานจึงได้จัดการรวบรวมหลักฐานส่งให้พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง จากการสืบสวนพบว่า จำเลยทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2564
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พ.ต.ต.เอกยุทธ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า วันเกิดเหตุเป็นวันแรงงาน ซึ่งโดยปกติจะมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิในทุกปี
พยานไม่ได้สืบสวนว่า ใครเป็นผู้จัดการชุมนุมและนำเครื่องขยายเสียงมาในวันเกิดเหตุ พยานไปแค่เพื่อติดตามบุคคลที่พูดปราศรัยเข้าข่ายมาตรา 112 และเห็นเพียงว่าจำเลยได้รับเชิญให้ขึ้นปราศรัยเท่านั้น ซึ่งตามรายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำระบุว่า ผู้จัดการชุมนุมคือเครือข่ายสิทธิแรงงานและพรรคก้าวไกล
พยานถอดคำปราศรัยของจำเลยตามคลิปในเพจสํานักข่าวราษฎร ซึ่งคลิปดังกล่าวจะมีการตัดต่อหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ
พยานไม่ได้ตรวจสอบด้วยว่า เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องได้รับไฟเซอร์แล้วและจะไปเที่ยวฝรั่งเศสจริงหรือไม่ เพราะไม่ได้เล่นเฟซบุ๊ก ซึ่งหากเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีได้โพสต์เรื่องดังกล่าวจริง ก็ไม่นับว่าเป็นการเสียดสีดูหมิ่นพระองค์
พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เห็นว่า จำเลยผิด ม.112 มีความเห็นสั่งฟ้อง แต่รับ ไม่ได้ตรวจสอบว่า คำปราศรัยของจำเลยเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
พ.ต.ท.สำเนียง โสธร รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 เวลา 14.00 น. ร.ต.อ.ทองธาดา มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับจำเลย โดยได้มอบรายงานการสืบสวน พร้อมทั้งแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียง พยานได้รับคำร้องทุกข์ไว้
พยานได้เข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน พยานได้สอบคำให้การ ร.ต.อ.ทองธาดา, พล.ร.ต.ทองย้อย, ปภัสรา, ระพีพงษ์, พ.ต.ต.เอกยุทธ และสุเฑพ ศิลปะงาม เกี่ยวกับความเห็นต่อคำพูดของโสภณ หลังจากการรวบรวมพยานหลักฐาน พยานเห็นว่า โสภณมีความผิดตามมาตรา 112 จึงได้ขอศาลออกหมายจับ ต่อมา วันที่ 20 พ.ค. 2565 พยานได้แจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่เรือนจำ จำเลยให้การปฏิเสธ
เกี่ยวกับการชุมนุมในคดีนี้พบว่าไม่ได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจากสำนักงานเขตดุสิตแต่อย่างใด คณะพนักงานสอบสวนเห็นว่า จำเลยมีความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต จึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลย
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พ.ต.ท.สำเนียง เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีนี้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 โดยมี พ.ต.อ.พงศ์จักร จักษุรักษ์ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน การมีความเห็นทางคดีต้องเป็นมติของคณะพนักงานสอบสวน
ร.ต.อ.ทองธาดา มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับจำเลยเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 ในวันเดียวกัน พยานได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายจับจำเลย โดยไม่ได้มีการออกหมายเรียกก่อน
วันเกิดเหตุตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ ตามรายงานการสืบสวนระบุว่า การจัดการชุมนุมเป็นการดำเนินการของกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและพรรคก้าวไกล ไม่ปรากฏในทางสืบสวนว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่ทราบว่ารถยนต์กระบะที่ติดลำโพงขยายเสียงเป็นของใคร และคดีนี้ไม่ได้มีการดำเนินคดีกับบุคคลอื่นนอกจากจำเลย
พยานจำไม่ได้ว่า ได้โทรศัพท์เรียกให้ระพีพงษ์และสุเฑพมาให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนหรือไม่ เนื่องจากเป็นการทำงานในรูปแบบของคณะทำงาน และจำไม่ได้ว่าเคยรู้จักบุคคลทั้งสองมาก่อนหรือไม่ ไม่ทราบด้วยว่า ทั้งสองเป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ที่เคลื่อนไหวต่อต้านบุคคลที่แสดงออกพาดพิงสถาบันกษัตริย์หรือไม่ โดยในการสอบคำให้การพยานทั้งสอง พยานได้นำถ้อยคำทั้งสี่ประโยคให้พยานดูแล้วถามความเห็น
พยานไม่ได้เรียกบุคคลที่ร่วมชุมนุมและฟังการปราศรัยของจำเลยมาสอบเป็นพยาน ทั้งไม่ได้สอบสวนเกี่ยวกับถ้อยคำของจำเลยในประเด็นพระมหากษัตริย์ถือหุ้นในแอสตาเซเนกาว่าเป็นความจริงหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความจำเป็น
พยานไม่ได้ตรวจสอบด้วยว่า เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีได้โพสต์ว่าฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว และไปเที่ยวฝรั่งเศส จริงหรือไม่ พยานรับว่า เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีใช่บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112 แต่ไม่มีคณะพนักงานสอบสวนคนใดเห็นว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวพาดพิงถึงเจ้าฟ้าหญิงหญิงสิริวัณณวรีไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112
หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนรับ ฟ้าหญิงสิริวัณณวรีไม่ได้อยู่ในความหมายของรัชทายาท แต่มีความเห็นควรสั่งฟ้อง
พ.ต.อ.พงศ์จักร จักษุรักษ์ ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานสืบสวนสอบสวน หลังจากได้รับการแต่งตั้ง พยานได้ประชุมคณะทำงานเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำพยานผู้เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นได้ประชุมและมีความเห็นร่วมกันว่า ควรสั่งฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พ.ต.อ.พงศ์จักร เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเป็นหัวหน้าคณะทำงานสืบสวนสอบสวน ไม่เคยเข้าร่วมสอบปากคำพยาน แต่ได้ฟังเทปการปราศรัยของจำเลย และตรวจสอบบันทึกการถอดเทป พนักงานสอบสวนที่สอบพยานเป็นส่วนมากคือ พ.ต.ท.สำเนียง
การกำหนดว่าจะสอบปากคำพยานคนใดเป็นความเห็นของคณะทำงานฯ พยานไม่ทราบว่า ระพีพงษ์และสุเฑพเป็นสมาชิกของกลุ่ม ศปปส. ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มของจำเลย และไม่ทราบว่าทั้งสองคนอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ รวมทั้งจำไม่ได้ว่าเหตุใดคณะทำงานฯ จึงเลือกทั้งสองเป็นพยาน
คณะทำงานฯ จะดำเนินการเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 โดยพิจารณาจากคำปราศรัยของจำเลยว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 112 ส่วนความผิดเกี่ยวกับการจัดการชุมนุมนั้นเป็นหน้าที่ของ สน.นางเลิ้ง
ถ้อยคำปราศรัยของจำเลยส่วนใหญ่พูดเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งขณะเกิดเหตุวัคซีนที่จัดสรรให้กับประชาชนมีไม่เพียงพอ แต่พยานไม่ได้เรียกพยานผู้เชี่ยวชาญเรื่องโควิดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามาสอบเป็นพยาน
นอกจากนี้ พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีโพสต์ว่าได้ฉีดไฟเซอร์แล้วจากนั้นได้เดินทางไปดูแฟชั่นที่ฝรั่งเศส จริงตามที่จำเลยปราศรัยหรือไม่ ทั้งไม่มั่นใจว่าเคยเห็นโพสต์ดังกล่าวหรือไม่ พยานรับด้วยว่า เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีไม่ได้อยู่ในความหมายของรัชทายาท จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112
พยานไม่ได้ตรวจสอบด้วยว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นในสยามไบโอไซเอนซ์จริงหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
ผช.ผอ.เขตดุสิต เบิกความ การชุมนุมปราศรัยวันแรงงาน เข้าข่ายยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง
สรรเสริญ เรืองฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิต เบิกความว่า ในการขอใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อโฆษณาตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงนั้น ต้องทำเรื่องขออนุญาตที่สถานีตำรวจในพื้นที่ก่อน จากนั้นสถานีตำรวจก็จะนำเรื่องเสนอให้ผู้อำนวยการเขตในพื้นที่ที่จะมีการใช้เครื่องขยายเสียงพิจารณา
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2566 ทางตำรวจ สน.นางเลิ้ง ได้มีหนังสือมายังสำนักงานเขตดุสิตขอให้ตรวจสอบการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในวันที่ 1 พ.ค. 2565 จากการตรวจสอบไม่พบการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในวันดังกล่าว จึงมีหนังสือตอบกลับไปยัง สน.นางเลิ้ง
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
สรรเสริญตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 8 มีข้อยกเว้นกรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตไว้ โดยวันเกิดเหตุตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ ปกติจะมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิบริเวณหน้าทำเนียบหลายกลุ่ม ซึ่งไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อสำนักงานเขตดุสิต เนื่องจากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 8 ดังกล่าว
วันเกิดเหตุพยานทราบว่า มีการใช้รถติดลำโพงขยายเสียงขณะชุมนุมในคดีนี้ ซึ่งถ้าดูตามข้อกฎหมายแล้วน่าจะไม่ต้องขออนุญาต และตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง รวมทั้งกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะมาแสดงต่อสำนักงานเขต
นักวิชาการสังคมวิทยาระบุ จำเลยกล่าวปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เจตนาให้ปฏิบัติกับประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่การหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายกษัตริย์
สรัช สินธุประมา นักวิจัยนโยบายสาธารณะ เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารของคนในยุคดิจิทัลใหม่ หรือ Digital Anthropology และนโยบายสาธารณะ
เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยตามฟ้องมีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่ถูกต้อง จนเกิดวิกฤต ประชาชนเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวให้กับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ทั่วถึง
นอกจากนี้ พยานเห็นว่า ส่วนใหญ่จำเลยปราศรัยเกี่ยวกับสิทธิผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีภาระในการดูแลประชาชนอย่างหนัก เนื่องจากมีจำนวนไม่เพียงพอกับประชาชนที่เข้ารับการรักษา ต้องทำงานโดยไม่มีวันพักผ่อน หลายคนมีอาการเจ็บป่วยแต่ยังต้องทำงานตลอดเวลา จำเลยได้พูดยกย่องผู้ใช้แรงงานว่า เป็นบุคคลสำคัญ เป็นผู้สร้างชาติ สร้างประเทศ แต่ไม่ได้รับความสนใจใด ๆ จากรัฐ
และในตอนสุดท้าย จำเลยได้ปราศรัยเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาลว่า ไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับวัคซีน แต่คนบางกลุ่ม เช่น ดารา หรือบุคคลที่มีฐานะสูง กลับได้รับวัคซีน
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา พยานเห็นว่า ในการจะทำความเข้าใจคำปราศรัยของจำเลย ต้องเข้าใจบริบทก่อนว่า เป็นการปราศรัยในวันแรงงาน ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองและให้เกียรติคนกลุ่มที่ทำงานหนักแต่ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19
เมื่อพิจารณาจากบริบทดังกล่าวจะพบว่า การปราศรัยของจำเลยไม่ได้พุ่งเป้าไปที่บุคคลเพื่อกล่าวหาว่าใครเป็นผู้ได้รับสิทธิพิเศษ แต่พุ่งเป้าไปที่การวิจารณ์สภาพสังคมไทยว่า ในวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 นั้นมีปัญหารุนแรงมากและมีบุคคลที่มีฐานะทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ต่างได้รับโอกาสในการดูแลสุขภาพและเข้าถึงวัคซีนดีกว่าชนชั้นแรงงานทั้งสิ้น
พยานเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงบุคคลที่มีโอกาสดังกล่าว ย่อมทำได้ ถกเถียงกันได้ในสังคมทั่วไป ไม่ใช่การอาฆาตมาดร้าย
พยานเห็นว่า การตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมของการดำเนินการเรื่องวัคซีนเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพื่อให้ดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยได้รับสิทธิพิเศษใด ๆ ในประเทศนี้ การวิจารณ์ว่ามีบุคคลได้รับสิทธิพิเศษ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำที่ธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นซีพี หรือกลุ่มธุรกิจใดได้รับผลประโยชน์ ก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตัวรัฐบาลทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่การกล่าวถึงบุคคลใดเป็นการเฉพาะ เป็นกรณีที่จำเลยมีเจตนาให้รัฐบาลปฏิบัติกับประชาชนอย่างเท่าเทียม
การพิจารณาถ้อยคำของจำเลยจึงต้องพิจารณาบริบทวันแรงงาน และบริบทคำพูดทั้งหมด หากตัดถ้อยคำออกมาบางส่วนจะทำให้ไม่สามารถเข้าใจความหมายทั้งหมดได้
ส่วนคำว่า “ทาส” เป็นคำที่ผูกพันกับแนวคิดชนชั้นแรงงานและผู้คนที่เรียกร้องสิทธิแรงงานเสมอมา ผู้ใช้แรงงานมักเปรียบตนเองว่าเป็นทาสในระบบทุนนิยม การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่การพูดความไม่จริง เห็นได้ชัดว่าที่จำเลยพูดเป็นการเปรียบเปรยว่า ผู้ใช้แรงงานซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เปรียบเหมือนกับทาส ซึ่งเป็นความจริงของสังคมไทย
จากการอ่านถ้อยคำของจำเลยทั้งหมด พยานไม่เห็นว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชินี หรือองค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแต่อย่างใด
สำหรับข้อมูลที่จำเลยพูดถึงบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ซึ่งผลิตวัคซีนแอสตราเซนเนกาในประเทศไทยว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้นใหญ่นั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนทั่วไปทราบโดยทั่วกันอยู่แล้ว บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ก็ระบุข้อมูลดังกล่าว
แกนนำเครือข่ายแรงงานฯ ยืนยัน จำเลยปราศรัยเรียกร้องสิทธิผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิดที่มีคุณภาพ
ธนพร วิจันทร์ แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล และทางราชการกำหนดให้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันหยุดของผู้ใช้แรงงาน มีการเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศและทั่วโลก และโดยประเพณีแล้ว องค์กรด้านแรงงาน และผู้ใช้แรงงาน จะมีการรวมตัวกันเดินขบวน ปราศรัยตามที่ต่าง ๆ เพื่อพูดถึงประเด็นปัญหาในสังคมและเรียกร้องสิทธิแรงงาน เช่น เรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานที่ต่ำและสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้น
ในวันแรงงานแห่งชาติก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ พยานในฐานะประธานสหภาพแรงงานและตัวแทนของผู้ใช้แรงงานได้ร่วมจัดงานดังกล่าวมาทุกปี โดยไม่เคยมีการขอใช้เครื่องขยายเสียง
วันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ อีกทั้งเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก มีประชาชนล้มป่วยเป็นจำนวนมาก เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนซึ่งเป็นองค์กรที่สหภาพแรงงานและผู้ใช้แรงงานได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้น ได้นัดหมายให้ประชาชนและผู้ใช้แรงงานมารวมตัวกันที่หน้าบ้านพิษณุโลกในเวลาประมาณ 18.30 น. เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาค่าแรงและสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งจัดสรรวัคซีนให้ผู้ใช้แรงงานอย่างถ้วนหน้า โดยมีการตระเตรียมเครื่องเสียงติดตั้งบนรถเพื่อใช้ในการปราศรัยและนำขบวน
ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว พยานเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแจ้งการชุมนุมหรือขอใช้เครื่องขยายเสียงกับทางราชการ เพราะเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากเป็นการจัดงานตามประเพณีสากลในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งมีเป็นประจำทุกปี รวมทั้งเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานโดยไม่หวังค้ากำไร จึงเป็นองค์กรการกุศล เป็นการจัดตามประเพณีที่
พยานทราบดีว่า จำเลยในคดีนี้ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว และไม่ได้เป็นผู้จัดหาเครื่องเสียงมาแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้ได้รับเชิญให้ขึ้นไปพูดเท่านั้น เช่นเดียวกับพยาน
สำหรับเนื้อหาที่จำเลยปราศรัยนั้น พยานจำได้ว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมที่ชนชั้นแรงงานได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในสายงานของจำเลย คือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นคนที่อยู่ด่านหน้าในช่วงโควิด-19 แต่ไม่ได้รับการสนใจเหลียวแลจากรัฐบาล ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนที่มีคุณภาพพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ในช่วงท้ายมีการเปรียบเทียบว่า ดารา ผู้มีบารมี หรือผู้ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจ ได้รับวัคซีน แต่มีการทอดทิ้งแรงงานให้ต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บอย่างไม่เป็นธรรม
พยานจำได้ว่า คำปราศรัยของจำเลยมีเนื้อความที่พูดถึงพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านาย แต่ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชินี หรือรัชทายาท แต่อย่างใด เป็นการกล่าวถึงข้อมูลที่มีปรากฏอยู่แล้วในสังคมและตามข่าวทั่วไป และเป็นที่ชัดเจนว่าเป็นการกล่าวด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ
กิจกรรมในวันเกิดเหตุ นอกจากจำเลย ไม่ปรากฏว่ามีผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นถูกดำเนินคดีในข้อหาใด ๆ
ตอบโจทก์ถามค้าน
อัยการโจทก์ถามว่าการปราศรัยของจำเลยผิดมาตรา 112 หรือไม่ ธนพรตอบอัยการถามค้านว่า พยานจำคำปราศรัยของจำเลยได้คร่าว ๆ ว่า เกี่ยวกับเรื่องการจัดสรรวัคซีนแก่ผู้ใช้แรงงานอย่างไม่เหมาะสม ส่วนถ้อยคำอื่นจำรายละเอียดไม่ได้ และไม่ได้อ่านบันทึกถอดเทปคำปราศรัย ทั้งนี้ พยานเห็นว่า ที่จำเลยปราศรัยไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการพูดถึงชนชั้นแรงงานที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างไม่เป็นธรรมเท่านั้น
2 ผู้ใช้แรงงานชี้ จำเลยปราศรัยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน จัดสรรวัคซีนป้องกันโควิดให้คนงานอย่างเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น
ธนภัทร ธรรมโชติ และชลิต รัษฐปานะ สมาชิกสหภาพคนทำงาน เบิกความในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ พยานได้ไปร่วมกิจกรรมที่จัดโดยสหภาพแรงงานทุกแห่งร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทยด้วย โดยผู้ใช้แรงงานได้ร่วมกันเดินไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้จัดสรรวัคซีนโควิดให้ผู้ใช้แรงงานอย่างทั่วถึง แต่ถูกตำรวจตั้งแผงเหล็กกั้นบริเวณแยกพาณิชยการ กลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงจัดให้มีการปราศรัย
พยานจำได้ว่า มีผู้ปราศรัยหลายคนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใช้แรงงาน ทั้งหมดปราศรัยเรียกร้องให้รัฐบาลสนใจแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับคนงานอย่างเพียงพอ และเท่าเทียมกับบุคคลในอาชีพอื่น ตลอดจนพูดถึงปัญหาบ้านเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่ทราบกันดีในสังคม มีการรายงานในหน้าข่าว
พยานจำได้ว่า จำเลยในคดีนี้ได้รับเชิญจากกลุ่มผู้จัดการชุมนุมให้ขึ้นพูดปราศรัยเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยจำเลยกล่าวปราศรัยถึงสิทธิของผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องมีภาระอย่างหนักในการดูแลประชาชนในช่วงโควิดระบาด แต่ไม่ได้รับความสนใจใด ๆ จากรัฐ และในตอนสุดท้ายจำเลยได้ปราศรัยเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล ทำให้ผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับวัคซีน ขณะที่บุคคลบางกลุ่ม เช่น ดาราหรือบุคคลผู้มีฐานะสูง ได้รับ
พยานฟังการปราศรัยของจำเลยในส่วนนี้แล้วเห็นว่า จำเลยปราศรัยด้วยความรู้สึกว่าการจัดสรรวัคซีนของรัฐบาลไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจำเลยไม่เห็นด้วยกับการเลือกปฏิบัติ ส่วนถ้อยคำที่จำเลยกล่าวในช่วงท้ายนั้น พยานเห็นว่าเป็นการเปรียบเทียบถึงความไม่เป็นธรรม การกล่าวถึงบริษัทแอสตราเซนเนกาก็เป็นส่วนหนึ่งของบริบทในการทักท้วงการจัดการวิกฤติโควิด จึงไม่ใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด พยานฟังแล้วก็ไม่เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์
พยานเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยยังอยู่ในขอบเขตการรณรงค์ในวันแรงงานตามปกติประเพณี
ตอบโจทก์ถามค้าน
ธนภัทรและชลิตเบิกความตอบอัยการโจกท์ถามค้านว่า พยานได้ฟังคำปราศรัยของจำเลยตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนเป็นหลัก ยืนยันว่า ถ้อยคำที่จำเลยปราศรัยบนเวทีตรงกับถ้อยคำในบันทึกการถอดเทป
อาจารย์นิติศาสตร์ระบุ หลักคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ต้องพิจารณาควบคู่กับหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากการแสดงความเห็นไม่ได้เสนอให้เปลี่ยนรูปแบบของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ชี้ การกระทําของจําเลยไม่ชัดเจนว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านกฎหมายมหาชน ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์มาแล้ว 26 ปี ปัจจุบันรับผิดชอบสอนวิชานิติปรัชญา รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ
ในการพิจารณาต่อข้อกล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดมาตรา 112 พยานเห็นว่า ต้องพิจารณาประเด็นสําคัญทางรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ และเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความเห็น จึงจะทําให้สามารถวินิจฉัยการกระทําความผิด ตามมาตรา 112 ได้อย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยมีประเด็นสําคัญดังต่อไปนี้
- ความหมายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”
เพื่อให้การพิจารณาถึงขอบเขตและความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบด้าน และสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงต้องทําความเข้าใจทั้งในด้านที่มาของบทบัญญัติและในเชิงหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนี้
ในด้านของที่มาของบทบัญญัติว่าด้วยสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ บทบัญญัติที่รับรองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้อธิบายความหมายของมาตรานี้ไว้ว่า
“คําว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้เราหมายความว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่า ถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทําอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้นตามแบบเรียกว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษร้ายส่วนแพ่ง”
คำอธิบายนี้แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัตินี้มุ่งหมายให้ความคุ้มกันพระมหากษัตริย์จากการถูกประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องคดีต่อศาล อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการอภิปรายว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด เป็นการฟ้องร้องไม่ได้เฉพาะในคดีอาญา หรือรวมถึงในคดีแพ่ง และเป็นการฟ้องร้องไม่ได้เฉพาะในการกระทําตามรัฐธรรมนูญ หรือรวมไปถึงการกระทําที่ถือว่าเป็นการส่วนพระองค์
ความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวที่ต้องการไม่ให้ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 โดยมีบทบัญญัติเพิ่มเติมจากการกําหนดให้ดํารงอยู่ในฐานะอันล่วงละเมิดอีกหนึ่งมาตราว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” การเพิ่มเติมถ้อยคําดังกล่าวเพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับการกําหนดสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะซึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ พระยาอรรถการีนิพนธ์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า
“คือตามมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า ‘ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้’ ความจริงแม้ว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ เราก็มาใช้ความในมาตรา 5 ซึ่งมีความว่า ‘ผู้ใดจะละเมิดพระมหากษัตริย์มิได้’ นี่ก็เป็นการคุ้มครองที่ชัดว่า จะไม่ให้บุคคลฟ้องร้องพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว”
มีการถกเถียงต่อบทบัญญัตินี้โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีสมาชิกรัฐสภาได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้อาจไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่บางส่วนมีความเห็นว่าต้องมีการให้ความคุ้มกันต่อพระมหากษัตริย์แตกต่างไปจากประชาชนทั่วไป แม้จะมีความเห็นที่ต่างกันอย่างมากแต่ความหมายซึ่งเป็นที่เข้าใจร่วมกันก็คือ บทบัญญัตินี้เป็นไปเพื่อไม่ให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐทําการฟ้องคดีพระมหากษัตริย์ต่อศาล
ในเชิงหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ศจ.ดร.หยุด แสงอุทัย นักกฎหมายซึ่งถือเป็นปรมาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ให้คําอธิบายเกี่ยวกับสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ที่รับรองไว้ ดังนี้
หนึ่ง สถานะของพระมหากษัตริย์ บุคคลย่อมมีฐานะเสมอกันยกเว้นพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมีฐานะประมุขของประเทศ และเป็นหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องทําการเคารพเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ การไม่กระทําการเคารพนั้นอาจไม่มีโทษทางกฎหมายแต่อาจมีโทษทางสังคมได้
การกําหนดให้พระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นที่เคารพสักการะย่อมหมายถึงการกําหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องดํารงอยู่เหนือการเมือง พระมหากษัตริย์จะไม่หารือกับนักการเมืองฝ่ายใด ยกเว้นองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี การเป็นคนกลางในทางการเมืองทําให้หยุดเห็นว่า พระมหากษัตริย์ถือเป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยเมื่อมีการกระทําที่สําคัญของรัฐ เช่น การยุบสภาฯ แต่หากมีการกระทําที่ไม่ถูกต้องตามวิถีรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อกฎหมาย กษัตริย์ก็จะไม่ลงพระปรมาภิไธย อย่างไรก็ตาม การสงเคราะห์ต่อประชาชนเป็นสิ่งที่ทําได้ ตามหลักพระมหากษัตริย์จะต้องไม่แยกตนเองออกจากประชาชน
สอง ความหมายของคําว่า “ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้” คําว่า “ล่วงละเมิด” หมายถึง ห้ามประชาชนกล่าวหาหรือฟ้องร้องต่อพระมหากษัตริย์ สําหรับผู้มีหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร หมายถึง การห้ามอภิปรายให้เสื่อมเสียเกียรติของพระมหากษัตริย์ หากมีการกล่าวหาหรือฟ้องร้องว่าพระมหากษัตริย์ได้กระทําความผิดไม่ว่าทางแพ่งหรืออาญา พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานของรัฐ หรือศาลจะต้องไม่รับข้อกล่าวหา คําร้อง หรือคําฟ้องไว้พิจารณา โดยการล่วงละเมิดนั้น พิจารณาได้เป็น 3 ทาง
หนึ่ง ในทางรัฐธรรมนูญ “ผู้ใดจะตําหนิติเตียนกษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญไม่ได้” ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาหรือผู้มีหน้าที่แทน จะต้องมีการห้ามอภิปรายในสภาซึ่งจะทําให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติของพระมหากษัตริย์ ห้ามมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อความยกเลิกการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หยุด แสงอุทัย มีความเห็นว่า การยกเลิกการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นไม่สามารถทําโดยวิธีทางสภาผู้แทนราษฎร แต่อาจทําได้โดยการปฏิวัติหรือรัฐประหาร
สอง ในทางอาญา หยุด แสงอุทัย มีความเห็นว่า พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือกฎหมายธรรมดา ดังนั้น แม้ว่ากษัตริย์จะทําผิดทางอาญาไม่ว่าก่อนหรือหลังการเป็นกษัตริย์ กฎหมายอาญาก็ไม่สามารถใช้บังคับกับกษัตริย์ได้ จะมีการจับกุม รับฟ้อง หรือพิพากษาในความผิดอาญาของกษัตริย์ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สามารถใช้กลไกทางสังคมบังคับให้กษัตริย์สละราชสมบัติได้เมื่อกระทําผิดทางอาญา
สาม ในทางแพ่ง ผู้ใดจะใช้สิทธิตามกฎหมายแพ่งฟ้องพระมหากษัตริย์โดยตรงไม่ได้ แต่ราษฎรอาจฟ้องสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ได้ กรณีที่เป็นการกระทําละเมิด ผู้เสียหายจะทําได้เพียงแต่ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระมหากรุณาธิคุณ หรือใช้อํานาจทางสังคมบังคับพระมหากษัตริย์ได้เช่นกัน
ดังนั้น ในการพิจารณาถึงสถานะอันล่วงละเมิดมิได้จึงเป็นการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง หรือมีอีกความหมายหนึ่งก็คือ กษัตริย์มิอาจกระทําความผิด (King can do no wrong) จึงหมายถึงว่า ในการดําเนินภารกิจต่าง ๆ ทางการเมืองมิได้เป็นการกระทําของพระมหากษัตริย์โดยตรง หากแต่เป็นการกระทําของสถาบันทางการเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น นายกรัฐมนตรี, ประธานรัฐสภา เป็นต้น เมื่อมิได้เป็นการกระทําโดยพระมหากษัตริย์แล้วจึงไม่ต้องมีความรับผิดติดตามมา เพราะถือว่ามิได้เป็นการกระทําที่เกิดขึ้นโดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดําเนินการแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากเป็นการกระทําในลักษณะส่วนพระองค์หรือ เป็นการกระทําที่มิได้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติในส่วนใดที่ห้ามประชาชนแสดงความเห็นหรือกล่าวถึงพระมหากษัตริย์
2. ความหมายและขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
นอกจากบทบัญญัติในมาตรา 6 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนเอาไว้ในมาตรา 34 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”
เสรีภาพในการแสดงความเห็นถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สําคัญของการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย การให้การรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ย่อมถือเป็นการให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพดังกล่าวว่าต้องได้รับการคุ้มครอง แม้อาจจะสามารถจํากัดได้ภายใต้ข้อยกเว้นบางประการที่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ก็ต้องดําเนินไปอย่างชัดแจ้งและไม่ปล่อยให้มีการตีความขยายออกอย่างกว้างขวาง เพราะมิฉะนั้น จะถือว่าเป็นการทําลายสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้
สําหรับกรณีการแสดงความเห็นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 6 นั้น ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิที่เป็นหลักคุณค่าทางรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบต่อหลักคุณค่าอื่นทางรัฐธรรมนูญ กรณีเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “การปะทะกันแห่งคุณค่าในกฎหมายรัฐธรรมนูญ” ย่อมทําให้เกิดคําถามขึ้นว่าจะมีแนวทางในการวินิจฉัยปมปัญหานี้อย่างไร
รศ.ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอความเห็นต่อแนวทางการพิจารณาประเด็นดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย นอกจาก “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แล้ว ไม่อาจถือเอาคุณค่าใดเป็นคุณค่าสูงสุดหรือคุณค่าที่ “แตะต้องไม่ได้” โดยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการยอมรับให้มนุษย์มีอิสระในการกําหนดชะตาชีวิตตนเอง และกลายเป็นหลักพื้นฐานในการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ
นอกจากนั้นแล้ว การตีความกฎหมายมหาชนต้องไม่ให้คุณค่าใดมีลักษณะสัมบูรณ์เหนือกว่าคุณค่าอื่น ๆ แบบสิ้นเชิง เพราะจะเป็นการทําลายสิทธิเสรีภาพด้านอื่น ๆ ลง ในการตีความต้องรักษาคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากไม่ชัดเจนว่าการแสดงความเห็นกระทบหรือทําลายคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงก็ย่อมจะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็น
ดังนั้น การแสดงความเห็นที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองจึงต้องเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จะส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบของรัฐจากรัฐราชอาณาจักรสู่การปกครองในระบอบสาธารณรัฐ การปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองจากประชาธิปไตยสู่สังคมนิยม เป็นต้น
3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่กําหนดความผิดและโทษทางอาญา แต่มิใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ เพราะไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยแท้ดังที่ใช้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากเป็นเพียงกฎหมายที่ใช้คุ้มครองเกียรติยศส่วนบุคคลของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ซึ่งเกียรติยศส่วนบุคคลนั้นย่อมมิใช่ความมั่นคงของรัฐ
ในส่วนของบทบัญญัติ เมื่อจะพิจารณาถึงการกระทําที่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาต้องพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามนิติวิธีในกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ องค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 ประกอบไปด้วยการกระทํา 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) การดูหมิ่น 2) การหมิ่นประมาท และ 3) การแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อบุคคล 4 สถานะ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดต้องมีเจตนาในการกระทําความผิด ได้แก่ เจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาย่อมเล็งเห็นผล
ในส่วนของการตีความ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่มีบทลงโทษทางอาญาซึ่งเป็นการลงโทษบุคคล การตีความจึงต้องกระทําโดยเคร่งครัด ไม่อาจขยายความหมายให้กว้างขวางหากถ้อยคําไม่มีความชัดเจน เช่น การกระทําที่เป็นการ “ดูหมิ่น” ก็ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นการดูหมิ่น
หรือคําว่า “พระมหากษัตริย์” ก็ต้องหมายความถึงเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น โดยไม่อาจตีความให้ขยายไปจากถ้อยคําตามความเห็นของผู้ตัดสิน เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ต้องการลงโทษแก่บุคคล ซึ่งในระบบกฎหมายสมัยใหม่แล้วจําเป็นต้องวางอยู่บนหลักกฎหมายที่มีความชัดเจนแน่นอน
4. กรณีพฤติการณ์ที่เป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลและหลักฐานที่ปรากฏในคดีนี้ พยานมีความเห็นว่า ข้อกล่าวหาของโจทก์ยังไม่ชัดเจนว่าการกระทําของจําเลยเป็นการกระทําความผิดตามมาตรา 112 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
หนึ่ง ในการปราศรัยที่มีเนื้อความพาดพิงถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี กรณีดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112 จํากัดไว้เพียง พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระวงศ์ กรณีนี้จึงอยู่นอกขอบเขตของมาตรา 112
สอง ในการปราศรัยที่เกี่ยวข้องกับการแจกวัคซีน หรือการใช้งบประมาณในการสร้างโรงพยาบาล อุปกรณ์ทางแพทย์ ซึ่งได้มีการกล่าวถึง “สถาบันกษัตริย์” ในหลายครั้ง จะเห็นได้ว่า มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองบุคคลที่ดํารงอยู่ในสถานะดังกล่าวมิให้ถูกหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่คํากล่าวที่เกิดขึ้นเป็นการมุ่งอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ อันมิใช่หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
สถาบัน ในฐานะคํานามตามพจนานุกรม อธิบายว่า “สิ่งซึ่งคนในสังคมจัดตั้งให้มีขึ้นและยึดถืออย่างมั่นคงเพราะเห็นว่ามีคุณค่า และจําเป็นแก่วิถีชีวิต เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา” สถาบันจึงลักษณะเป็นนามธรรม มีองค์ประกอบ มิใช่เป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังนั้น กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถาบันจึงเป็นคนละกรณีกันกับการวิจารณ์ถึงบุคคลที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในสถาบันนั้น ๆ
นอกจากนั้นแล้ว การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่าง ๆ ย่อมถือเป็นสิทธิอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความถือว่าเป็นหลักคุณค่าสําคัญที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ
พยานย้ำอีกครั้งในตอนท้ายว่า การวินิจฉัยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องควบคู่ไปกับการพิจารณาถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ให้หลักคุณค่าใดมีลักษณะเหนือกว่าคุณค่าอื่น ๆ แบบสิ้นเชิง ต้องรักษาคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากไม่ชัดเจนว่าการแสดงความเห็นกระทบหรือทําลายคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ ก็ย่อมจะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็น
ดังนั้น ในการวินิจฉัยการกระทําของจําเลยในคดีนี้ก็เช่นกัน จําเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงหลักคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ควบคู่ไปกับหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อมิให้เกิดการตีความโดยปล่อยให้หลักคุณค่าอันใดอันหนึ่งมาทําลายหลักคุณค่าอีกประการหนึ่งลงไป อันถือเป็นการวินิจฉัยที่ขัดกับหลักการของระบบกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง
ความฝันของ “เก็ท โสภณ” ขอให้ตุลาการเป็นที่พึ่งของประชาชนและประเทศนี้ไม่มีความเหลื่อมล้ำ
โสภณเบิกความเป็นพยานในตนเองว่า ตนจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล สาขารังสีการแพทย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และขณะนี้กําลังรอการศึกษาต่ออยู่ในระดับปริญญาตรี ที่คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยพยานมีความต้องการที่จะประกอบอาชีพแพทย์ที่สามารถบรรเทาทุกข์ รักษาโรค ดูแลผู้ยากไร้ได้
ที่ผ่านมานอกจากศึกษาเล่าเรียนแล้ว พยานได้ทํากิจกรรมเพื่อสังคมมาตลอด ได้เดินทางไปยังพื้นที่ภาคใต้กรือเซะ ตากใบ เพื่อศึกษาปัญหาทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นอาสาสมัครที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวพม่าเสมอมา ความฝันของพยานคือเห็นประเทศไทยไม่มีความเหลื่อมล้ำอีกต่อไป
เกี่ยวกับคดีนี้ วันที่ 1 พ.ค. 2565 พยานได้เดินทางไปร่วมงานวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งปกติพยานจะเดินทางไปร่วมกิจกรรมเป็นประจําทุกปี เนื่องจากเห็นว่า แรงงานเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่มากในสังคมไทย แม้จะต้องทํางานหามรุ่งหามค่ํา ก็ไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐ ในวันดังกล่าวพยานมีจุดประสงค์ที่จะเป็นกําลังใจให้พี่น้องแรงงาน เนื่องจากในช่วงนั้นประเทศยังตกอยู่ภายใต้ผลกระทบจากวิกฤตโควิด -19 มีผู้คนที่เดือดร้อนมากมาย คนงานตกงาน เจ็บป่วยล้มตายจํานวนมาก โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ
นอกจากนี้ เนื่องจากพยานศึกษาเล่าเรียนและประกอบอาชีพอยู่ในสายวิชาทางการแพทย์ เป็นบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์คนหนึ่ง และมีบิดาเป็นทันตแพทย์ จึงเข้าใจเป็นอย่างดีว่าในสถานการณ์วิกฤตโควิด -19 นั้น แรงงานที่อยู่ในสายงานแพทย์และพยาบาลศาสตร์ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างและเป็นจํานวนมาก มีการติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตเป็นจํานวนมาก
พยานในฐานะผู้มีความรู้ด้านแพทยศาสตร์ และบุคลากรทางการแพทย์หลายคนเห็นตรงกันว่า หากมีการจัดการที่ดีกว่านี้จากรัฐบาล จะไม่มีเรื่องน่าเศร้าสลดเช่นนี้เกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ต้องเจ็บป่วยล้มตายมากถึงเพียงนี้ บุคลากรทางการแพทย์คงไม่ต้องแบกภาระเกินความรับผิดชอบของตน จนนํามาสู่ความตึงเครียด การบริหารสาธารณสุขคงจะทําได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้
ตราบมาจนถึงวันที่พยานขึ้นปราศรัยตามฟ้อง ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลมีการจัดการแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น และไม่ปรากฏว่ามีแนวทางจัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส แรงงาน และบุคลากรที่เป็นแรงงานแนวหน้าซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงได้อย่างเพียงพอทั่วถึง นอกจากนั้นแล้ว นายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แสดงความไม่เหมาะสมหลายครั้งในการตอบคําถามสื่อมวลชนในเรื่องของวิกฤตการณ์โควิด-19
ดังนั้น พยานจึงเห็นว่าเป็นการเหมาะสมแล้วที่ในวันแรงงานในปีนั้นมีข้อเรียกร้องจํานวนมากที่เกี่ยวกับสิทธิของแรงงาน มีการพูดถึงวิกฤตโควิด และการเดินขบวนไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม ขบวนเคลื่อนตัวไปไม่ถึงที่หมาย เนื่องจากตํารวจได้นําแผงเหล็กมากั้นบริเวณแยกพาณิชยการ จึงมีการตั้งจุดปราศรัยให้แรงงานและผู้มีความคิดเห็นสามารถขึ้นปราศรัยได้ มีประชาชนจากหลายภาคส่วนขึ้นปราศรัย ขณะพยานยืนฟังอยู่ผู้จัดได้เชิญให้ขึ้นปราศรัย เนื่องจากเห็นว่าพยานเป็นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งตรงกับข้อเรียกร้องหลายประการของขบวน
ทั้งนี้ การปราศรัยของพยานมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิทางแรงงาน ไม่ใช่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์
เกี่ยวกับกรณีฟ้าหญิงสิริวัณณวรี พยานมองว่า ไม่มีใครสมควรได้รับอภิสิทธิ์เหนือใครเพียงเพราะเขามีสายเลือด วัฒนธรรม สังคม ตีตราว่าเขาสูงกว่า ประชาชนทุกคนควรจะได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า หากมีใครต้องแซงไปรับสิทธิหรือสวัสดิการก่อนใครก็ต้องมีเหตุอันสมควรหรือมีความจําเป็นจริง ๆ ไม่ใช่เหตุจากสายเลือด
ฟ้าหญิงสิริวัณณวรีก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงแม้ไม่ได้เป็นรัชทายาท แต่ก็ควรดํารงตนให้สถาพร สิ่งที่พยานทักท้วงนั้นไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย หากแต่ต้องการแสดงความคิดเห็นให้พระองค์ดํารงตนให้สมฐานะที่ตนได้รับมาแต่กําเนิด อีกนัยหนึ่งพยานต้องการสื่อสารถึงประชาชนว่า เราก็ล้วนเป็นประชาชนเสมือนกัน สิทธิและสวัสดิการควรเป็นสิ่งที่ได้รับอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า
ตามธรรมเนียมไทยไม่ได้ห้ามพูดถึงราชวงศ์ชั้นสูงลําดับรองจากพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏตามเอกสารประวัติศาสตร์ว่า ในอดีตมีพระองค์เจ้าหญิงหลายพระองค์ถูกถอดฐานันดรศักดิ์จากการกระทําผิดกฎมณเฑียรบาลและจากการทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ซึ่งล้วนแล้วมาจากการที่มีประชาชนนําขึ้นกราบทูลและวิพากษ์วิจารณ์ หากพระราชวงศ์ชั้นสูงทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศจะต้องมีการตักเตือน เพื่อเป็นการรักษาเกียรติและทํานุบํารุงสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่ลงโทษผู้ตักเตือน
เกี่ยวกับกรณีแอสตราเซนเนกา พยานเห็นว่า ใครก็มีสิทธิทําธุรกิจ และกษัตริย์ก็มีสิทธิที่จะทําธุรกิจได้เหมือนคนปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดใหม่ แต่หากมีการเอื้ออํานวยให้ธุรกิจที่มีผลต่อคนทั้งประเทศและเป็นนโยบายสาธารณะ ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้เพราะเราปกครองกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นสังคมใหม่ ไม่ใช่ปกครองภายใต้ระบอบเก่าหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว
ในทางการแพทย์ การวิพากษ์วิจารณ์ยา หรือบริษัทยา หรือการผลิตยา หรือการจัดสรรยา เป็นเรื่องทําได้เพราะเป็นสาธารณประโยชน์ กรณีของวัคซีนแอสตราเซนเนกาทั้งในส่วนคุณภาพและในส่วนการผลิตหรือการจัดสรรก็เช่นกัน จะต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
ในมุมมองทางธุรกิจ เมื่อเป็นที่ทราบกันแล้วว่า กษัตริย์ถือหุ้นบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ 99.99 % นิติบุคคลอื่นอาจจะเกิดความเกรงใจที่จะนําวัคซีนตัวอื่นเข้ามาแข่งขันในตลาด เพราะผู้ที่ถือหุ้นเป็นประมุขของรัฐ เป็นการปิดช่องในการวิจารณ์ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตราเซนเนกา อีกแง่หนึ่งเมื่อบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จําหน่ายวัคซีนแอสตราเซนเนกา ทําให้กษัตริย์ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลจากการขายวัคซีนอาจจะได้กําไรหรือขาดทุน จึงไม่อาจกล่าวได้เลยว่า แอสตราเซนเนกาจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เป็นวัคซีนที่พระราชทานให้ประชาชน
ในห้วงขณะนั้นที่มีการผลิตวัคซีนหลายชนิด มีภาพสะท้อนผ่านงานวิจัยให้เห็นว่าวัคซีนแต่ละตัวมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน ประชาชนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จึงสมควรได้รับโอกาสในการเลือกรับวัคซีนตามความเหมาะสมของร่างกายตน แต่โอกาสกลับตีบแคบเมื่อเราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ เนื่องจากเราขาดเสรีภาพในการพูด หากใครพูดแม้จะเป็นข้อเท็จจริงก็จะถูกดําเนินคดีเหมือนเช่นพยาน
หากเมื่อไหร่ที่พระมหากษัตริย์มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม และนโยบายสาธารณะ หรือความเป็นความตายของผู้คน แต่ถูกตีความว่าวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ จะเกิดความลักลั่นต่อมาตรฐานในการวิพากษ์วิจารณ์โดยทันที เนื่องจากไม่เป็นมาตรฐานที่ตรงกัน และทําให้ประเทศชาติสูญเสียผลประโยชน์ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลตัดสินใจที่จะให้ธุรกิจของพระมหากษัตริย์มาจัดการปัญหาเรื่องนโยบายสาธารณะแล้ว รัฐบาลจะต้องจัดการไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำใด ๆ และจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาที่จะระคายต่อชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้นแล้ว จะต้องให้คนทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์สินค้า การผลิต การจัดการต่าง ๆ ของธุรกิจดังกล่าวได้
ธุรกิจซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งคุณภาพและการจัดการ ต้องไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของมาตรา 112 และการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบต้องสามารถทําได้ ต้องไม่ทําให้ประชาชนติดคุกจากกรณีเช่นนี้ ไม่เช่นนั้นแล้ว จะไม่มีใครสามารถพูดอะไรเกี่ยวกับการกระทําใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์และอาจส่งผลต่อชีวิตของประชาชนและความเป็นความตายของประชาชนได้เลย
เกี่ยวกับคําว่าทาสที่พยานได้กล่าวถึง พยานไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะพูดโกหก คําว่า ทาส เป็นคําที่ใช้แพร่หลายในชนชั้นแรงงาน เช่น ทาสแรงงานในระบบทุนนิยม พยานโจทก์ปากระพีพงษ์เป็นพยานอคติและเป็นพยานปฏิปักษ์ เคยมาเบิกความหลายครั้งเพื่อต่อต้านแนวความคิดใหม่ และเป็นพยานที่ไม่เคารพระบบกระบวนการยุติธรรม ขอให้ศาลไม่รับฟังพยานปากนี้
พยานจะไม่ขอความเมตตาต่อศาล แต่ขอให้สถาบันศาลเมตตาต่อประชาชนที่หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมจากสถาบันตุลาการ และขอให้เห็นแก่สถาบันตุลาการอันควรศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เรากําลังเผชิญเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของภูเขาน้ำแข็งลูกใหญ่ ผู้พิพากษาทุกท่านต้องเผชิญความยากลําบากและท้าทายต่อความเป็นอิสระในคดีการเมือง เพราะมีคณะกรรมการที่คอยพิจารณาคดีของพยานรวมถึงคดีการเมืองอื่น ซึ่งมีผลต่อความน่าเชื่อถือว่า คําพิพากษาในคดีการเมืองเป็นอิสระจริงหรือไม่ หรือบางทีคําพิพากษาในคดีการเมืองอาจมีคําตอบก่อนเริ่มพิจารณาคดีเสียด้วยซ้ำ
พยานหวังว่า เมื่อสืบพยานมาถึงจุดนี้ ประชาชนที่ร่วมรับฟัง เจ้าหน้าที่รัฐ และศาล จะตระหนักถึงความจริงและสัจธรรมบางอย่างได้บ้าง
ในช่วงวันแรกของการสืบพยานมีบุคคลได้กล่าวกับพยานและครอบครัวว่า ศาลเองก็มีความยุติธรรมในคดี 112 มีทั้งการลงโทษ ยกฟ้อง และรอการลงอาญา พยานเห็นว่า ในความเป็นจริงคดีการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีมาตรา 112 ตุลาการมีความเป็นอิสระน้อยมากและถูกแทรกแซงจนขาดมาตรฐานของตุลาการ
หากพวกเรา ประชาชน ผู้คนที่ทํางานในสถาบันตุลาการ อยากจะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาลยุติธรรมไว้ บุคลากรของศาลต้องยืนหยัดอยู่บนหลักความเป็นอิสระและเป็นกลาง ตลอดจนหลักเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย พยานก็เป็นแค่คนหนึ่งที่รับไม่ได้กับการกดทับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ในสังคมที่ไม่สามารถพูดคุยกันได้อย่างบริสุทธิ์ใจและปลอดภัย
เหตุที่พยานถือรูปคุณเนติพร เสน่ห์สังคม ตลอดการพิจารณาคดี ก็เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนถึงข้อเรียกร้องของคุณเนติพร ที่ได้ใช้ร่างกายประท้วงอดอาหารจนตัวตาย ข้อเรียกร้องของเขาคือขอให้กระบวนการยุติธรรมถูกปฏิรูป รูปของคุณเนติพรคือเครื่องย้ำเตือนต่อพยานถึงความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของตุลาการ เป็นเครื่องย้ำเตือนว่า สถาบันตุลาการจําเป็นต้องปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น พยานหวังว่า คุณเนติพรจะเป็นเครื่องย้ำเตือนและทําให้ท่านผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้เจริญ ตาสว่างและระลึกได้ว่า ต่อจากนี้เราควรจะจัดการกับภูเขาน้ำแข็งลูกใหญ่ที่เป็นปัญหากัดกร่อนระบบยุติธรรมไทยนี้อย่างไร
หากชีวิตของคุณเนติพรยังไม่สามารถทําให้สถาบันตุลาการตระหนักได้ว่า สิ่งใดคือสิ่งที่ถูกต้องสมควรกระทํา พยานเองก็พร้อมใช้อีกหนึ่งชีวิตของตนเพื่อจุดไฟให้กระบวนการยุติธรรมนั้นสว่าง
เหตุที่พยานเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากประชาชนชาวไทยทุกคนหวังพึ่งสถาบันตุลาการในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีต่าง ๆ แต่หลังจากพยานและเพื่อน ๆ ที่ต่อสู้เรียกร้องเผชิญหน้ากับการพิจารณาคดีในศาล พบว่าการตัดสินมีมาตรฐานต่างกันในเรื่องเดียวกัน บางคนได้รับโทษไม่เท่ากัน และพยานคิดว่า การแสดงความคิดเห็นนั้น ผู้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ไม่สมควรต้องถูกดําเนินคดีและได้รับโทษ
การปราศรัยของพยานนั้น เป็นการกระทําในขอบเขตที่รัฐธรรมนูญมาตรา 34 บัญญัติไว้ พยานไม่ได้ไปล่วงละเมิดกับบุคคลที่ระบุไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ตอบโจทก์ถามค้าน
โสภณตอบโจทก์ถามค้านว่า พยานโจทก์ที่มาเบิกความในคดีนี้ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับตนมาก่อน เว้นแต่ระพีพงษ์ที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหากระทบกระทั่งเกี่ยวกับแนวความคิด และระพีพงษ์เคยจะเข้ามาทําร้ายพยานครั้งหนึ่งแล้ว
พยานขึ้นปราศรัยในวันเกิดเหตุโดยไม่ทราบว่ามีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ ซึ่งในวันนั้นมีคนขึ้นปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงเป็นจำนวนหลายสิบคน
ดูฐานข้อมูลคดีนี้
คดี 112 “เก็ท-โสภณ” ปราศรัยหน้าทำเนียบฯ วันแรงงาน ปี 65
ดูเรื่องที่เกี่ยวข้อง