8 ส.ค. 2567 ศาลแขวงขอนแก่นนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีที่ “บอส” อิศเรษฐ์ เจริญคง นักกิจกรรมขอนแก่น วัย 25 ปี ตกเป็นจำเลยในข้อหา “ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กําลังประทุษร้าย, พยายามทำร้ายเจ้าพนักงาน และใช้กําลังประทุษร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตราย” จากเหตุชุลมุนหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นหลัง รอง ผบช.ภ.4 แย่งไมค์ผู้ชุมนุม ขณะ “ราษฎรขอนแก่น” จัดกิจกรรมต่อต้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564
คดีนี้อิศเรษฐ์ให้การปฏิเสธมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล ยืนยันตามหลักสากลว่า บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวได้ (Not Twice for the Same) เนื่องจากเขาเคยถูกเปรียบเทียบปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตและขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไปแล้วจากเหตุการณ์เดียวกันนี้ และเขาไม่ได้ชก พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.ภ.4 ตามที่ถูกกล่าวหา แค่ใช้มือผลักเพื่อป้องกันไนซ์ที่ถูก พล.ต.ต.ไพศาล เข้าแย่งไมค์ อันเป็นการขัดขวางการใช้เสรีภาพการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกระทำของเขาเป็นการใช้สิทธิป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ศาลแขวงขอนแก่นมีคำพิพากษาให้อิศเรษฐ์มีความผิดตามฟ้อง โดยการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ให้ลงโทษฐาน พยายามทำร้ายเจ้าพนักงานฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนด 1 ปี โดยศาลไม่ได้หยิบข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยมาประกอบการพิจารณาพิพากษาเลย
ทำให้ต่อมา อิศเรษฐ์และทนายความยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยืนยันว่า การกระทำของเขาเป็นการใช้สิทธิป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตำรวจขัดขวางการใช้เสรีภาพการแสดงออกของผู้ชุมนุมซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยพิพากษายกฟ้อง
.
ราว 09.30 น. อิศเรษฐ์และทนายความเดินทางถึงห้องพิจารณาคดี โดยมีเพื่อนของอิศเรษฐ์เดินทางมาให้กำลังใจและร่วมฟังคำพิพากษาด้วย เวลาต่อมา ศาลได้ออกนั่งอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีใจความโดยสรุปว่า
พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จําเลยกระทําความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย และฐานพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 296 ประกอบมาตรา 80 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นพ้องด้วย
ส่วนฐานใช้กําลังประทุษร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตราย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จําเลยกระชากหมวกนิรภัยออกจากศีรษะของผู้เสียหายที่ 3 จําเลยจึงไม่มีความผิด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น
คฝ.ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวภาณุพงศ์และอิศเรษฐ์ (ภาพโดย The Isaan Record)
รายละเอียดของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีดังนี้
.
ตร.ยึดไมค์ผู้ชุมนุมได้โดยชอบ เหตุปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ละเมิดเสรีภาพผู้ชุมนุมตามที่จำเลยอุทธรณ์ จำเลยจึงผิดฐานต่อสู้ขัดขวาง-พยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยประการแรกว่า จําเลยกระทําความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย และฐานพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง และ มาตรา 296 ประกอบมาตรา 80 ตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
จําเลยอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานตํารวจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีอํานาจตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 34 บัญญัติให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทําไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เป็นบทบัญญัติที่กําหนดให้ผู้จะใช้เครื่องขยายเสียงต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานก่อน ตราขึ้นเพื่อใช้กับการโฆษณาทั่วไป แต่การใช้เครื่องขยายเสียงของผู้ชุมนุมเป็นการส่งข้อความไปยังรัฐบาล เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารในสถานการณ์โควิด-19 บทบัญญัตินี้จึงไม่อาจนํามาใช้กรณีของผู้ชุมนุม
และการที่เจ้าพนักงานตํารวจอ้างว่า แจ้งเตือนให้ยุติใช้เครื่องขยายเสียงในการยึดเครื่องขยายเสียง จึงไม่มีกฎหมายรับรอง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งกฎหมายดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับข้อยกเว้นตามมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญฯ
ประกอบกับพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจําเลยว่า การใช้เครื่องขยายเสียงไม่ใช่ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ปกติจะมาดําเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืนภายหลัง และมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมนําอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุม
พยานจําเลยในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเมืองการปกครองเบิกความว่า รัฐธรรมนูญมีน้ำหนักและศักดิ์ของกฎหมายใหญ่กว่า พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ การที่ตํารวจจะแย่งไมโครโฟนเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เมื่อการกระทําของเจ้าพนักงานไม่มีอํานาจตามกฎหมาย จําเลยย่อมมีสิทธิโต้แย้งคัดค้าน การกระทําของจําเลยเป็นการป้องกันสิทธิที่ถูกละเมิด
ทั้งจําเลยยืนยันว่า ไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนให้ยุติการใช้เครื่องขยายเสียง และไม่ได้กระชากหมวกนิรภัยของเจ้าพนักงานตํารวจ
โจทก์มี พ.ต.ท.เมธี ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า ขณะ พล.อ.ประวิตร และคณะเดินทางมาตรวจราชการที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ภาณุพงศ์กับพวกประมาณ 30 คน มาร่วมกันจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น และพูดใส่ไมโครโฟนประกาศเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมต่อต้านการทํางานของรัฐบาล จากการสอบถามเบื้องต้นผู้ชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รองผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 4 ผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 จึงประกาศแจ้งเตือนผู้เข้าร่วมชุมนุมให้หยุดดําเนินการ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ผู้เสียหายที่ 1 จึงปิดลําโพงเครื่องขยายเสียง กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจเข้าประชิดตัว ผู้เสียหายที่ 1 จึงยึดไมโครโฟนจากภาณุพงศ์ ภาณุพงศ์เข้าผลักอกผู้เสียหายที่ 1 และพยายามจะแย่งไมโครโฟนคืน
ในขณะเดียวกันจําเลยเข้ามาประชิดและใช้กําปั้นชกมายังผู้เสียหายที่ 2 โดยมุ่งหมายจะชกที่บริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 แต่ผู้เสียหายที่ 2 สามารถหลบทัน
โจทก์ยังมีพยานปากตำรวจควบคุมฝูงชนหลายนายเบิกความสอดคล้องกันว่า ผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรเมืองขอนแก่นประกาศให้ผู้ชุมนุมงดใช้เครื่องขยายเสียงเนื่องจากไม่ได้ขออนุญาต แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม
เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เป็นลําดับมีรายละเอียดสมเหตุผล สอดคล้องกับภาพเคลื่อนไหว ทั้งพยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงาน ไม่รู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลย เชื่อว่าปฏิบัติราชการตามอํานาจหน้าที่ คําเบิกความจึงมีน้ำหนัก ส่วนจําเลยและพยานจําเลยเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน จึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
การที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี มาตรวจราชการ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 6 (4) แห่ง พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีอํานาจสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมหยุดใช้เครื่องขยายเสียง เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม
และในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ดําเนินการไม่ให้มีการใช้เครื่องขยายเสียงอันเป็นการปฏิบัติตามอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว จําเลยเงื้อกำปั้นจะชกแต่กลับเป็นผลักไปที่ผู้เสียหายที่ 1 อย่างแรง จากนั้นจําเลยชกไปที่ผู้เสียหายที่ 2 แต่ผู้เสียหายที่ 2 หลบได้ทัน การกระทําของจ๋าเลยจึงเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย
ที่จําเลยอุทธรณ์ว่า รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 บัญญัติให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การจํากัดเสรีภาพดังกล่าว จะกระทําไม่ได้ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มิใช่ข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำของตํารวจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ตำรวจปิดลําโพงและยึดไมโครโฟน เป็นเพียงการห้ามใช้เครื่องขยายเสียง เพราะอาจเป็นการรบกวนคณะของรองนายกรัฐมนตรีที่กําลังตรวจราชการ ทําให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อันเนื่องมาจากจําเลยและผู้ชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง จําเลยและผู้ชุมนุมยังคงมีสิทธิที่จะพูดแสดงความคิดเห็นและสื่อความหมายโดยวิธีอื่นได้ การกระทําของเจ้าพนักงานตํารวจจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว อุทธรณ์ของจําเลยข้ออื่นไม่ทําให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่วินิจฉัยให้
พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จําเลยกระทําความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย และฐานพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 296 ประกอบมาตรา 80 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจําเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
.
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจําเลยกระชากหมวกนิรภัย คฝ. ยกฟ้องฐานใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยประการสุดท้ายมีว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระชากหมวกนิรภัยออกจากศีรษะของ ด.ต.สุทธิลักษณ์ ผู้เสียหายที่ 3 โดยโจทก์มี พ.ต.ท.เมธี ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า ขณะจําเลยจะแหวกการควบคุมนั้น จําเลยกระชากหมวกนิรภัยออกจากศีรษะของผู้เสียหายที่ 3
เห็นว่า แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะเบิกความดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาภาพเคลื่อนไหวไม่ปรากฏว่าจําเลยได้กระทําการดังกล่าว ส่วนพยานโจทก์ปากอื่นไม่มีปากใดเบิกความว่า จําเลยกระชากหมวกนิรภัยออกจากศีรษะของผู้เสียหายที่ 3 โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 3 เองก็ไม่ยืนยันว่า จําเลยกระชากหมวกนิรภัยออกจากศีรษะของตน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จําเลยกระชากหมวกนิรภัยออกจากศีรษะของผู้เสียหายที่ 3 จําเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจําเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น
.
องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วย พิทยา หมื่นแก้ว, ศุทธิพงศ์ ภูสุวรรณ และบัณฑิต สีอุไรย์
.