ศาลไม่เชื่อ “บอส” ผลัก รอง ผบช.ภ.4 ชี้ไม่มีสิทธิทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าด้วยสาเหตุใด พิพากษาผิดฐานพยายามทำร้าย จพง. ปรับ 10,000 จำคุก 6 เดือน ก่อนรอลงอาญา

31 ม.ค. 2566 ศาลแขวงขอนแก่นนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ “บอส” อิศเรษฐ์ เจริญคง นักกิจกรรมชาวขอนแก่น วัย 25 ปี ตกเป็นจำเลยในข้อหา “ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กําลังประทุษร้าย, พยายามทำร้ายเจ้าพนักงาน และใช้กําลังประทุษร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตราย” จากเหตุชุลมุนหลัง รอง ผบช.ภ.4 แย่งไมค์ผู้ชุมนุมขณะ “ราษฎรขอนแก่น” จัดกิจกรรมต่อต้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564

10.00 น. ศุภกร โกจารย์ศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงขอนแก่น เจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า เห็นว่า พ.ต.ท.เมธี, ส.ต.อ.ธราธร, ส.ต.ท.ธนวุฒิ, ด.ต.สุทธิลักษณ์ และ พ.ต.ท.ณัฏฐ์ ซึ่งเป็นตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างเบิกความยืนยันว่า จำเลยใช้กำปั้นชกไปที่ พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของ พ.ต.ท.ณัฏฐ์ อีกทั้งก่อนเกิดเหตุ เหตุการณ์ไม่ได้ชุลมุน เชื่อว่า พยานโจทก์แต่ละคนเห็นเหตุการณ์ที่จำเลยใช้กำปั้นชก พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี จริง

นอกจากนี้ ด.ต.สุทธิลักษณ์ ยังเบิกความว่า ขณะพยานกับพวกเข้าจับกุมจำเลย มีบุคคลเข้ามาดึงหมวก จนหมวกหลุดออกจากศีรษะและได้รับบาดเจ็บบริเวณคอ ซึ่งเกิดจากสายรัดหมวก ซึ่งขณะนั้นจำเลยดิ้นรนต่อสู้ จึงเชื่อว่า จำเลยเป็นผู้กระชากหมวกของ ด.ต.สุทธิลักษณ์ จนทำให้ ด.ต.สุทธิลักษณ์ ได้รับบาดเจ็บ

ที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสารีกิจ ผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น ได้ประกาศข้อกฎหมายเกี่ยวกับโควิด แต่ไม่ได้ประกาศห้ามใช้เครื่องขยายเสียง ขณะนั้นไนซ์ได้ใช้ไมค์พูดไม่ถึงนาที พล.ต.ต.ไพศาล ได้เข้ามาพยายามปิดลำโพง และกระชากไมค์จากไนซ์ ตนเห็นว่า การที่ พล.ต.ต.ไพศาล แย่งไมค์จากไนซ์ เป็นการกระทำที่ไม่ถูก จึงเข้าไปผลักเพื่อช่วยแย่งไมค์คืน และใช้กำปั้นชกไปที่โล่ของ คฝ. ที่กรูเข้ามา ไม่ได้ชก พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี ตามฟ้อง เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยขัดแย้งกับคลิปเหตุการณ์ที่เห็นชัดว่า จำเลยเหวี่ยงกำปั้นไปที่ พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี อย่างแรง  

ส่วนที่จำเลยเบิกความว่า หมวกของ ด.ต.สุทธิลักษณ์ หลุดอยู่ก่อนแล้ว โดยตนไม่ได้ใช้มือกระชาก ก็เป็นการที่จำเลยอ้างไปเอง จำเลยมีเพียง น.ส.ขวัญข้าว และ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยใกล้ชิด เบิกความเป็นพยาน พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาไม่สามารถหักล้างภาพเคลื่อนไหวตามคลิปเหตุการณ์ได้ 

ส่วนที่พยานจำเลยเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ประกาศให้งดใช้เครื่องขยายเสียง แต่พยานโจทก์ที่เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้งดใช้เครื่องขยายเสียงแล้ว แต่จำเลยและพวกไม่ปฏิบัติตาม การที่ พล.ต.ต.ไพศาล เดินเข้าไปปิดลำโพง ทำให้เชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการประกาศให้งดใช้เครื่องขยายเสียงแล้ว พล.ต.ต.ไพศาล จึงเข้าใจว่า ผู้ชุมนุมจะไม่สามารถใช้เครื่องขยายเสียงได้ จึงเดินเขาไปปิด

แม้จำเลยจะอ้างว่า จำเลยใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง แต่จำเลยไม่มีสิทธิทำร้ายผู้อื่น ซึ่งตามคลิปเหตุการณ์ไม่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าทำร้ายจำเลยก่อน การที่จำเลยพยายามทำร้าย พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี ไม่ว่าการทำร้ายจะมีมูลเหตุประการใด ก็ถือเป็นการทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐาน ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย, พยายามทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และใช้กําลังประทุษร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง, มาตรา 296 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 391 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ให้ลงโทษฐาน พยายามทำร้ายเจ้าพนักงานฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนด 1 ปี

หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ ตำรวจประจำศาลได้ควบคุมตัวอิศเรษฐ์ลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล อย่างไรก็ดี 10 นาที ต่อมา อิศเรษฐ์ก็ได้รับการปล่อยตัว เมื่อทนายความใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์จำนวน 10,000 บาท ชำระเป็นค่าปรับ

อิศเรษฐ์และพัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1 ในทนายจำเลยกล่าวภายหลังว่า เรื่องที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้นหรือไม่นั้นจะต้องปรึกษาหารือกันอีกครั้ง อย่างน้อยในประเด็นโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ซึ่งฝ่ายจำเลยมีความเห็นว่า ศาลลงโทษหนักเกินไป

คดีนี้อิศเรษฐ์ให้การปฏิเสธมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล ยืนยันตามหลักสากลว่า บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวได้ (Not Twice for the Same) เนื่องจากเขาเคยถูกเปรียบเทียบปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตและขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไปแล้วจากเหตุการณ์เดียวกันนี้ และเขาไม่ได้ชก พล.ต.ต.ไพศาล ตามที่ถูกกล่าวหา แค่ใช้มือผลักเพื่อป้องกันไนซ์ที่ถูก พล.ต.ต.ไพศาล เข้าแย่งไมค์ อันเป็นการขัดขวางการใช้เสรีภาพการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกระทำของเขาเป็นการใช้สิทธิป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้ง รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด เบิกความในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาการเมืองชี้ว่า การที่ตำรวจเข้าปิดลำโพงและแย่งไมค์ถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกที่รัฐธรรมนูญรับรอง ในทางปฏิบัติถ้าประชาชนใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาตก็ไปดำเนินคดีในภายหลัง แต่จะห้ามใช้เครื่องขยายเสียงหรือห้ามพูดไม่ได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาลไม่ได้หยิบข้อต่อสู้ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาพิพากษา

.

อ่านบันทึกสืบพยาน 

ตร.รับ ตามคลิปไม่ปรากฏ “บอส” ชก รอง ผบช.ภ.4 หลังแย่งไมค์ผู้ชุมนุม เจ้าตัวยันไม่เจตนา “ทำร้าย” ด้านนักวิชาการชี้ ตร.ใช้อำนาจล้นเกิน

.

X