วันที่ 4 ก.ค. 2567 ‘บังเอิญ’ ศิลปินชาวขอนแก่น วัย 26 ปี เดินทางไปศาลอาญาเพื่อฟังคำพิพากษา กรณีถูกฟ้อง 2 ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากเหตุพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ผู้ต้องขังทางการเมือง ในช่วงวันเกิดอายุครบ 25 ปีของเขาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 904 บังเอิญและประชาชนที่มาร่วมให้กำลังใจระหว่างฟังคำพิพากษา เดินทางมาถึงศาลตั้งแต่ 09.30 น. ก่อนต้องรอผู้พิพากษาออกพิจารณาคดีราว 10.00 น. กระทั่งก่อนจะอ่านคำพิพากษาศาลแจ้งให้ตำรวจศาลใส่กุญแจจำเลยรอไว้ แม้ทนายจะพยายามทัดทาน แต่ศาลยืนยันให้ใส่กุญแจมือ
ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 (1) พิเคราะห์ว่าพระบรมหาราชวังสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2325 มีการก่อสร้างทั้งกำแพงและปราสาท ทั้งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สืบทอดกันมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา
พระบรมหาราชวังครอบคลุมจากเขตพระราชฐานชั้นในถึงกำแพงวัง การที่จำเลยพ่นสีทำให้เสียหายทางกายภาพและส่งผลต่อจิตใจของผู้ประชาชนที่เคารพสักการะ แม้พระบรมหาราชวังจะไม่เป็นโบราณสถานตามประกาศของกรมศิลปากร และไม่ปรากฏว่ามีการขึ้นทะเบียน แต่มีสถานะเป็นโบราณสถานตามนิยามกฎหมายมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ระบุ “โบราณสถาน” หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดย ลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำลาย ทำให้โบราณสถานเสื่อมค่า ทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบต่างสอดคล้องต้องกัน โดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย
การกระทำของจำเลยถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทที่หนักที่สุด คือความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ พิพากษาจำคุก 1 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 8 เดือน ไม่รอลงอาญา ให้ริบของกลาง คือกระป๋องสีสเปรย์จำนวน 2 กระป๋อง
หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นตำรวจศาลก็ควบคุมตัวบังเอิญไปไว้ใต้ถุนศาล ก่อนที่ทนายและนายประกันจะยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 50,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
กระทั่งเวลา 15.20 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
สำหรับบังเอิญเป็นศิลปิน ที่ผลิตภาพแนว Dark Art เขานิยามว่าเป็นงานศิลปะที่อยู่นอกขนบธรรมเนียมของไทย โดยเวลาคิดผลงานจะค้นคว้าหาข้อมูล บางครั้งเป็นภาพในช่วงเหตุการณ์ ณ เวลานั้น หรือเกี่ยวกับวันสำคัญในไทย อย่างวันรัฐธรรมนูญ วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต และวันที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
ในการต่อสู้คดีนี้ บังเอิญยอมรับในข้อหาขีดเขียนกำแพงในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ส่วนประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ได้ต่อสู้ว่า พระบรมหาราชวังไม่ได้เป็นโบราณสถาน เพราะไม่อยู่ในประกาศรายชื่อโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร ตามที่กรมศิลปากรได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2566 และสิ่งที่จำเลยทำไม่ใช่การทำลายโบราณสถาน เป็นเพียงการพ่นสีสัญลักษณ์ข้อเรียกร้องให้ปรากฏต่อสาธารณชน ที่ทำให้เกิดความเลอะเทอะเปรอะเปื้อน แต่กำแพงนั้นยังคงอยู่ไม่ได้เสียหายหรือพังทลาย
นอกจากบังเอิญแล้วจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ยังทำให้ ‘เป้’ ณัฐพล เมฆโสภณ นักข่าวประชาไท, ‘ยา’ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ, ‘สายน้ำ’ รวมทั้ง “ตะวัน” ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาลักษณะเดียวกันนี้ด้วยเช่นเดียวกัน แต่คดียังอยู่ในชั้นตำรวจ
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
Behind the wall: การต่อสู้คดีพ่นสีกำแพงวังของ “บังเอิญ” กับคำถามว่าด้วยสถานะโบราณสถาน