กำแพงก่อจากอิฐขึ้นมา เว้นช่องกำแพงก่อนจะฉาบปูนเข้าไป ทาสีเข้าไป แล้วจำเลยเอาสีมาพ่นทับ แต่ภายในนั้นน่าจะมีหลายชั้นมาก ๆ กว่าจะไปถึงพระบรมหาราชวัง ทั้งหมดทั้งมวล ก็แค่ก้อนอิฐอีกก้อนในกำแพงใหญ่
ในวันเกิดอายุครบ 25 ปี ของ ‘บังเอิญ’ ศิลปิน Art Punk เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 เขาตัดสินใจเดินทางจากขอนแก่นเพียงลำพังเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ถึงการให้ยกเลิกมาตรา 112 และเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับนักโทษทางการเมืองที่กำลังอดอาหารประท้วงขออิสรภาพคืน
เวลาประมาณ 17.50 น.ของวันนั้นขณะกำลังใช้สีสเปรย์พ่นกำแพงพระบรมมหาราชวังได้เพียงตัวอักษร P และสัญลักษณ์สองอย่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ที่อยู่ละแวกนั้นพอดีก็เข้าจับกุม ก่อนถูกควบคุมตัวไป สน.พระราชวัง และถูกแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธ ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันถัดมา ด้วยหลักทรัพย์ 50,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการใดในลักษณะเดียวกันนี้อีก
ราว 3 เดือนต่อมา วันที่ 10 พ.ค. 2566 พนักงานอัยการส่งฟ้องระบุเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 บังเอิญยืนยันให้การปฏิเสธอีกครั้ง ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม กระทั่งศาลอาญานัดสืบพยานระหว่างวันที่ 28-29 พ.ค. 2567 โดยสืบพยานโจทก์ไป 6 ปาก เป็นตำรวจ 5 ปาก และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรอีก 1 ปาก และสืบพยานจำเลยคือตัวบังเอิญเอง 1 ปาก
สำหรับแนวทางการต่อสู้คดี บังเอิญยอมรับในข้อหาขีดเขียนกำแพงในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ส่วนประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.โบราณสถานฯ สู้ว่า พระบรมหาราชวังไม่ได้เป็นโบราณสถาน เพราะไม่อยู่ในประกาศรายชื่อโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร ตามที่กรมศิลปากรได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2566 และสิ่งที่จำเลยทำไม่ใช่การทำลายโบราณสถาน เป็นเพียงการพ่นสีสัญลักษณ์ข้อเรียกร้องให้ปรากฏต่อสาธารณชน ที่ทำให้เกิดความเลอะเทอะเปรอะเปื้อน แต่กำแพงนั้นยังคงอยู่ไม่ได้เสียหายหรือพังทลาย ทั้งนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 4 ก.ค. 2567
.
อัยการฟ้องระบุ การพ่นสีทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน
สุรชัย รัตนวรรณี พนักงานอัยการสำนักงานอัยการฝ่ายพิเศษคดีอาญา 6 บรรยายฟ้องคดีนี้ระบุว่า วันที่ 28 มี.ค. 2566 บังเอิญกับพวกอีกหลายคน ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถานกำแพงรั้วพระบรมมหาราชวังฝั่งถนนหน้าพระลาน อันเป็นโบราณสถานอสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ทางในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี รวมถึงเป็นแหล่งโบราณคดีแหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ และเป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างซึ่งบุคคลอาจเข้าใช้สอยได้ และเป็นทั้งรั้ววัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535 โดยร่วมกันใช้สีสเปรย์จำนวน 2 กระป๋อง ขีด เขียน พ่นสี ข้อความว่า ตัวอักษร P และเครื่องหมายวงกลม และตัวเลข 112 บนกำแพงรั้วพระบรมหาราชวัง เป็นเหตุให้กำแพงรั้วซึ่งเป็นโบราณสถานได้รับความเสียหาย เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ และเป็นการทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความภาพหรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงรั้วที่ติดกับถนนหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ
คำฟ้องระบุการกระทำของบังเอิญเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าโบราณสถานที่ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์เป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท
พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 ห้ามผู้ใดขูด กระเทาะ ขีดเขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยข้อประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพหรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนน บนถนนที่ต้นไม้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
.
สน.พระราชวัง แจ้งข้อหา ‘ร่วมกัน’ กระทำแต่วันนั้นจับเพียง ‘บังเอิญ’
เนื้อหาพยานที่เข้าเบิกความในคดีนี้โดยสรุป ได้แก่ พยานโจทก์ปากที่ 1 ส.ต.ต.พชรพล แสงดารา ตำรวจสายตรวจ สน.พระราชวัง เบิกความว่า วันเกิดเหตุเข้าเวรสายตรวจตั้งแต่ 08.00 น.-20.00 น. เวลา 17.00 น. ได้ซ้อนท้ายจักรยานยนตร์ที่มี ส.ต.ต.วราวุฒิ เทศวงษ์ เป็นคนขับ เมื่อมาถึงบริเวณหน้าพระลาน พบจำเลยกำลังพ่นสีข้อความจึงจอดรถ แสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัว ระหว่างนั้นมีตำรวจ สน.พระราชวัง นายอื่นผ่านมาพอดี จึงเรียกให้มาร่วมจับกุมด้วย มีการค้นกระเป๋าจำเลย พบกระป๋องสีสเปรย์ โทรศัพท์ และของใช้ส่วนตัว จึงนำตัวไปทำบันทึกการจับกุม และแจ้งข้อกล่าวหา
ส.ต.ต.พชรพล ระบุว่าเหตุที่แจ้งข้อหา ‘ร่วมกัน’ เนื่องจากยังมีคนอื่น ๆ อยู่ด้วย และมีนักข่าวอีก 2 คน บันทึกภาพ โดยขณะจับกุมบังเอิญคนกลุ่มดังกล่าวตะโกนถามว่าจะนำตัวจำเลยไปที่ไหน
พยานโจทก์ปากที่ 2 ส.ต.ต.วราวุฒิ เทศวงษ์ สายตรวจ สน.พระราชวัง เบิกความคล้ายกับ ส.ต.ต.พชรพล ถึงเหตุวันที่ 28 มี.ค. 2566 ว่าขณะออกตรวจพื้นที่ เห็นจำเลยกำลังพ่นสเปรย์สีใส่กำแพงวังจึงเข้าไปทำการจับกุม ขณะจับกุมเห็นช่างภาพและนักข่าว โดยมีนักกิจกรรมอีก 2 คน อยู่ในนั้นด้วย เมื่อจับกุมจำเลยแล้ว ทั้งสองวิ่งเข้ามาถามว่า พี่จะทำอะไรเขา ก่อนนำตัวจำเลยขึ้นรถยนต์ไปที่ สน.พระราชวัง โดยพวกอีก 4-5 คน ติดตามไปด้วย
พยานโจทก์ปากที่ 3 พ.ต.ท. เสกสรรค์ ชุ่มแจ่ม ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับสืบสวน สน.พระราชวัง วันเกิดเหตุได้รับแจ้งทางวิทยุว่ามีผู้ก่อเหตุพ่นกำแพงวัง จึงรีบเดินทางไปที่เกิดเหตุ พบสายตรวจกำลังจับกุมตัวจำเลย เห็นข้อความ 112 สัญลักษณ์คล้ายวงกลม และตัวอักษร P ตำรวจสายตรวจล็อคตัวจำเลยแล้วพาขึ้นรถไป สน.พระราชวัง พยานจึงขับรถตามไป
พ.ต.ท.เสกสรรค์ เบิกความอีกว่าขณะไปจับกุมบังเอิญ ยังพบนักกิจกรรมอีก 2 คน ที่ทราบชื่อในภายหลังและประชาชนอีกหลายคนขณะนั้นยังระบุตัวไม่ได้ ก่อนมีประชาชนหลายคนรวมตัวกันไลฟ์สดเหตุการณ์หน้าสถานีตำรวจ
พ.ต.ท.เสกสรรค์ ตอบคำถามค้านระบุเองว่าแต่ละคนที่เอ่ยชื่อถึงเดินทางมาไม่พร้อมกันต่างคนต่างมา ก่อนตอบคำถามค้านว่าวันเกิดเหตุมีการจับกุมบังเอิญเพียงคนเดียว ไม่ได้จับกุมคนที่ติดตามไปที่ สน.พระราชวังด้วย
พยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.ท.ไพรัตน์ กองแก้ว ผู้แจ้งข้อกล่าวหา ในวันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่เป็นสารวัตรปราบปราม เวลา 17.40 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่ออกตรวจรอบบริเวณพระราชวัง พบตำรวจกำลังทำการจับกุมจำเลย จึงลงไปร่วมทำการจับกุมด้วย โดยมีการยึดของกลางคือสีสเปรย์ 2 กระป๋อง และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง นำส่งพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง
.
จนท.กรมศิลป์ ระบุไม่ได้กำแพงเสียหายยังไง- เพียงกระทบจิตใจประชาชน
พิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ พยานโจทก์ปากที่ 5 จากกรมศิลปากร เบิกความว่าพระบรมหาราชวังสร้างตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีวัดพระแก้วเป็นวัดในวัง ตามนิยามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ โบราณสถานหมายความว่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ก็ถือว่าพระบรมมหาราชวังเป็นโบราณสถาน ที่ครอบคลุมอาคารทั้งหมดรวมถึงกำแพงวังด้วย และกำแพงวังก่อสร้างในลักษณะติดกับที่ดิน
ก่อนเบิกความถึงความเสียหายว่าในทางกายภาพทำให้สกปรก ต้องทาสีซ่อมแซม ความเสียหายประเมินค่าไม่ได้ เพราะมีความเสียหายทางจิตใจด้วย
พิมพ์นาราอธิบายว่า เมื่อกรมศิลปากรพบสถานที่ที่คาดว่าจะเป็นโบราณสถาน ก็จะมีการประเมินเพื่อขอขึ้นทะเบียนและปกปักษ์รักษาดูแล และมีการสำรวจแบบที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนด้วย
ก่อนทนายนำเอกสารประกาศรายชื่อโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่พยานเบิกความว่าพระบรมหาราชวังไม่มีในประกาศฉบับดังกล่าว และอาจจะยังไม่อัปเดตข้อมูลถึงจุดนั้น และเท่าที่ทราบประกาศฉบับนี้เป็นฉบับล่าสุด
ก่อนถามความเห็นเปรียบเทียบว่าหากหยิบปากกาขึ้นมา และดึงใส้ปากกาออก คือการทำลายทำให้เสียหาย ทำให้ใช้งานไม่ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายจึงถามต่อว่ากำแพงเสียหายยังไง ก่อนพยานอธิบายว่าเสียหายเพราะกระทบต่อจิตใจประชาชน และทนายถามอีกว่าการกระทำครั้งนี้ของจำเลยเป็นเพียงการทำให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อนใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ก่อนพยานบอกอีกว่าไม่มีส่วนไหนของกำแพงแหว่งวิ่นหรือเสียหาย
ส่วนที่ทนายถามว่าการดูแลโบราณวัตถุหรือโบราณสถานมีวิธียังไงบ้าง พยานตอบว่าไม่ทราบ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานตน พยานมีหน้าที่ดูแลแค่ว่าที่ไหนบ้างที่น่าจะเป็นโบราณสถาน แล้วหลังเกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระบรมหาราชวังได้ติดต่อให้กรมศิลปกรเข้าไปซ่อมแซมกำแพง และกรมศิลปากรก็ไม่ได้เข้าไปซ่อมแซม มีเพียงตำรวจเข้าไปใช้สีสเปรย์ขาวพ่นทับ พยานรับว่าทั้งบริเวณรอบ ๆ พื้นที่ ก็ไม่มีป้ายเตือนว่าจุดนั้นเป็นเขตโบราณสถาน
พยานโจทก์ปากที่ 6 พ.ต.ต.มนตรี คำขาว พนักงานสอบสวนระบุว่า วันที่ 28 มี.ค. 2566 ได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท.ไพรัตน์ มีเหตุพ่นกำแพงวัดพระแก้ว บริเวณถนนหน้าพระลาน ก่อนควบคุมตัวมา และตนได้สอบสวนผู้ต้องหา พบหลักฐานกระป๋องสีสเปรย์ 2 กระป๋อง และโทรศัพท์มือถือ ก่อนทำบันทึกคำให้การและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อส่งฟ้อง เหตุที่แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันเพราะมีการทำร่วมหลายคน และทราบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีย้อนหลังอีก 4 ราย
ก่อนตอบคำถามว่าหลังเกิดเหตุก็ไม่ได้ตรวจสอบว่า พระบรมหาราชวังอยู่ในการดูแลของหน่วยงานใด ที่จะเข้าไปซ่อมแซมแก้ไขกำแพง และไม่ได้สอบถามหน่วยงานใดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น
.
บังเอิญเจตนาแสดงออกทางการเมืองโดยสันติวิธี ไม่ได้ทราบว่ากำแพงแห่งนั้นมีสถานะเป็นโบราณสถาน
ก่อนจะเบิกความ บังเอิญที่อยู่ในชุดผู้ป่วยในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวคำสาบานตนต่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เริ่มจากเล่าว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 เขาเดินทางโดยลำพังจากขอนแก่นมาที่กรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะไปพ่นกำแพงวัง เจตนาในวันนั้นเพื่อต้องการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขัง อยากให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ทั้งคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง โดยที่ตนไม่ทราบมาก่อนว่าบริเวณนั้นเป็นโบราณสถาน เพราะไม่มีป้ายระบุ โดยข้อความที่พ่นไปมีเพียงตัวอักษร P สัญลักษณ์อนาธิปไตย และตัวเลข 112
บังเอิญย้ำว่าสิ่งที่เขาทำคือทำคนเดียว ไม่มีขบวนการหรือคนไหนเกี่ยวข้องในเบื้องหลัง ไม่ได้ถูกชักจูง ส่วนสีสเปรย์ก็เป็นคนนำมาเอง ขณะที่ถูกจับกุมก็ไม่ได้มีการขัดขืนแต่อย่างใด และมีจังหวะที่ตำรวจกดตัวลงทำให้หน้าแนบกับพื้นที่ทำให้รู้สึกเจ็บ ก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่าเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่อยากออกมาเรียกร้องให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่กำลังอดอาหารประท้วงอยู่ และตนก็เลือกใช้วิธีแบบนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ถนัดและอยากให้รัฐมองเห็นข้อเรียกร้องนี้ เพราะตนรู้สึกเป็นกังวลต่อสถานการณ์ผู้ต้องขัง โดยวันดังกล่าวก็ไปพ่นสีอย่างเดียว ไม่ได้ไปทำอย่างอื่น และสิ่งเหล่านี้คือการแสดงออกโดยสันติวิธี
นอกจากบังเอิญแล้วจากเหตุการณ์นี้ ยังทำให้ ‘เป้’ ณัฐพล เมฆโสภณ นักข่าวประชาไท, ‘ยา’ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ, ‘สายน้ำ’ รวมทั้ง “ตะวัน” ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาลักษณะเดียวกันนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง