#24มิถุนาบอกลา112
คนเข้า – ออกเรือนจำด้วยคดีมาตรา 112 ยังมีให้เห็นอยู่ทุกเดือน
เวลาต้อง ‘เข้า’ ดูเหมือนว่าจะง่ายกว่าเวลาต้อง ‘ออก’ โดยเฉพาะออกด้วยการได้รับสิทธิประกันตัว ทำให้ปัจจุบันยังคงมีประชาชนหลากหลายช่วงวัยและอาชีพถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 อย่างน้อยถึง 26 คน
ในโอกาสครบรอบ 92 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทุกคนรับฟังเรื่องเล่าสารพัดมุมมองและประสบการณ์ที่มีต่อ ‘มาตรา 112’ จากผู้ต้องขังในคดีนี้ทั้ง 3 คน ได้แก่ “ภูมิ หัวลำโพง”, “แม็กกี้” และ “นารา เครปกะเทย”
เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกบทสนทนาและทุกความคิดเห็นต่าง
ผู้ใหญ่ที่กำลังถูกขังในคดีเด็ก – ภูมิ หัวลำโพง
สถานที่ควบคุมตัว – บ้านเมตตา
ไร้อิสรภาพมาแล้ว – 251 วัน
สาเหตุที่ถูกดำเนินคดี ม.112 – การปาอาหารสุนัขใส่พระบรมฉายาลักษณ์
สถานะคดี – ศาลเยาวชนฯ ให้เข้ามาตรการพิเศษ โดยควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจฯ 1 ปี และฝึกอบรมหลักสูตรชาชีพ 2 หลักสูตร
ในความเห็นของภูมิ เขาเห็นว่ามาตรา 112 ควรจะต้องได้รับการแก้ไข เพราะมาตรานี้มีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานผู้มีความเห็นต่าง ไม่ว่าผู้ใดก็สามารถแจ้งได้และจะแจ้งความที่ไหนก็ได้ด้วย รวมถึงมีอัตราโทษที่สูงมากอีกด้วย
ภูมิได้ย้ำอีกว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างแน่นอน เป็นคดีการเมือง เพราะต้นตอของคดีเริ่มต้นมาจากเรื่องการเมือง เมื่อมีคนแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองและผู้มีอำนาจไม่พอใจก็จะใช้สถาบันฯ เป็นข้ออ้างและปิดปากประชาชนด้วยมาตรา 112
“เขาไม่ได้แยกสถาบันฯ ออกจากการเมืองอย่างชัดเจน” ภูมิกล่าว
จนถึงปัจจุบัน ภูมิถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตามานานกว่า 8 เดือนแล้ว ด้วยอายุ 20 ปีที่ไม่ใช่เยาวชนแล้วก็ตาม ก่อนหน้านี้ในภูมิเองเคยถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระยะเวลาหนึ่งในคดีเกี่ยวกับการชุมนุมที่ดินแดง ทำให้เขาเห็นปัญหาและความแตกต่างหลายอย่างของสถานที่คุมขังของผู้ใหญ่กับของเด็กและเยาวชน
- สถานพินิจฯ ควบคุมตัวทุกคนรวมอยู่ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีประเภทใดมาก็ตาม อย่างที่บ้านเมตตาภูมิต้องอยู่รวมกับเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีอย่างหลากหลาย มีทั้งกรณีฆ่าคนตาย ลักทรัพย์ ยาเสพติด ฯลฯ ทำให้การอบรมและฝึกสอนมีเนื้อหาที่หลากหลายและเข้มข้น เช่น การสอนถึงโทษและความรุนแรงของยาเสพติด ซึ่งภูมิเห็นว่าไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าอบรมเรื่องเหล่านั้น เพราะคดี ม.112 ไม่ใช่คดีอาชญากรรมร้ายแรงและภูมิก็ไม่ได้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านั้นอยู่แล้ว
- คำสั่งให้ต้องอยู่บ้านเมตตาของศาลมาพร้อมกับเงื่อนไข ‘ให้ฝึกวิชาชีพ’ ด้วย แต่ภูมิมองว่าตัวเองมีอาชีพอยู่แล้ว โดยเป็น ‘อาสากู้ภัย’ ก่อนหน้านี้ภูมิเคยให้หัวหน้างานและนำหนังสือรับรองการทำงานเอาเป็นหลักฐานแสดงต่อศาลแล้ว ทว่าศาลก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่อย่างใด
- ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตา ภูมิได้ประสบอุบัติเหตุทำให้หัวไหล่หลุด แต่จนถึงปัจจุบันผ่านมาหลายเดือนแล้วเขายังคงไม่ได้รับการผ่าตัด เนื่องจากต้องรอคิวของโรงพยาบาลรัฐอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นภูมิสะท้อนปัญหาให้ฟังเล่าว่า การได้รับการรักษากรณีเจ็บป่วยในสถานพินิจฯ นั้นไปเป็นอย่างยากลำบาก ต่างจากเรือนจำผู้ใหญ่ที่มี รพ.ราชทัณฑ์ คอยให้การรักษา
สุดท้าย ภูมิเน้นย้ำถึงผลกระทบสำคัญของการถูกควบคุมตัวในคดี ม.112 ครั้งนี้ว่า ทำให้เขาต้องขาดรายได้และไม่มีคนคอยดูแลอาม่าและน้องสาวที่บ้าน หลังจากที่ภูมิต้องถูกควบคุมตัว แม่ของภูมิที่ทำงานอยู่ต่างประเทศก็ต้องกลับมาบ้านเพื่อดูแลอาม่า ทำให้รายได้ของครอบครัวลดน้อยลงไปมาก
“คนรอบตัวผมได้รับผลกระทบหมด อาม่าร้องไห้ทุกครั้งที่มาเจอผมที่นี่ แม่ก็เครียด ทุกคนในบ้านเครียดหมด แม่ต้องมาแบกภาระทุกอย่าง น้องผมก็ยังเรียนอยู่ การที่ผมเข้ามาอยู่ในนี่มันกระทบทุกอย่างในชีวิตที่ผมมีนั่นแหละ” ภูมิกล่าว
เงินในกระเป๋ามีอยู่แค่ 112 บาท หนูจะหนีไปไหนได้? – แม็กกี้
สถานที่ถูกควบคุมตัว – เรือนจำกลางคลองเปรม
ไร้อิสรภาพมาแล้ว – 247 วัน
สาเหตุที่ถูกดำเนินคดี ม.112 – การทวีต 18 ข้อความ
สถานะคดี – ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 25 ปี (จากโทษเต็ม 50 ปี)
“มาตรา 112 ทำให้เราต้องมาอยู่ในคุก
“ถามว่าแต่ก่อนเรารู้จัก 112 ไหม เรารู้ว่ามีมาตรานี้ แต่เราก็รู้สึกว่ามันไกลตัว ก่อนที่จะโดนคดีนี้ส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นกฎหมายที่มีโทษรุนแรงอยู่แล้ว แต่พอศาลพิพากษาคดีจริง ๆ เรารู้สึกว่าโทษที่โดนสำหรับเรื่องการโพสต์เฉย ๆ มันเยอะไปจริง ๆ
“ที่สำคัญ หลังจากที่เราโดน 112 แล้ว เราไม่ได้รับการประกันตัวเลย สิทธิในการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา สำหรับเราไม่เคยได้รับสิทธินั้นเลย
“112 มันเหมือนฝันร้าย เรานอนลืมตาขึ้นมาในตอนเช้าของทุกวัน เรายังรู้สึกเศร้าและหดหู่ ไม่คิดว่าการโพสต์ในวันนั้น จะทำให้เราต้องมาอยู่คุกและได้รับโทษนานถึงขนาดนี้” แม็กกี้กล่าว
ในมุมมองของแม็กกี้เธอเห็นว่าคดีมาตรา 112 ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็น การโพสต์ข้อความ หรือเพียงเพราะแชร์คลิป แต่การกระทำเหล่านั้นถูกมองว่าเป็นคดีความมั่นคง ซึ่งเธอไม่เข้าใจว่าเพียงเพราะการโพสต์หรือการแชร์ในโซเซียลกลายเป็นเรื่องของความมั่นคงได้อย่างไร
การวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นควรรับฟังได้
เมื่อถามแม็กกี้ถึงเหตุผลว่าทำไมมาตรา 112 ต้องได้รับการแก้ไข เธอตอบว่า “การจับคนเข้าไปอยู่ในคุกเพราะ 112 มันเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม อยากให้มันสิ้นสุด หนูรู้สึกว่า ‘การวิจารณ์’ หรือ ‘การแสดงความคิดเห็น’ มันควรถูกรับฟังได้
“บางเรื่องมันก็เป็นเรื่องจริง แล้วถ้ามันจริงมันเป็นเรื่องที่ไม่ดีก็ควรเตือนกันได้ แต่นี่อะไรคือพอพูดแล้วก็จับเข้าคุกเลย กระบวนการยุติธรรมในคดี 112 มันไม่ได้ทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นจริง”
ตอนนี้ชีวิตเหมือนว่าพังทลาย
ในเรื่องผลกระทบที่ได้รับ แน่นอนว่าต่อตัวเอง แม็กกี้บอกว่าคือการต้องสูญเสียอิสรภาพในการใช้ชีวิต เสียอนาคต เสียเพื่อน เสียทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีอยู่ข้างนอก “ตอนหนูอยู่ข้างนอกหนูทำงานเป็นฟรีแลนซ์ หนูจะวางแผนว่าแต่ละเดือนหนูจะทำงานเท่าไหร่ จะได้เงินยังไง จะออกไปใช้ชีวิตยังไง เพราะหนูชอบเที่ยวและเก็บเงินเพื่อที่จะส่งให้ครอบครัวด้วย แต่พอต้องเข้ามาอยู่ในนี้ ที่หนูวางแผนไว้มัน ‘พังทลาย’ หมดเลย”
“สำหรับคนใกล้ตัว ที่กระทบแน่ ๆ คือ ‘ครอบครัว’ ของหนู เพราะหนูไม่สามารถดูแลครอบครัวได้และหนูเข้ามาอยู่ในนี้ หนูก็ไม่รู้ความเป็นไปของครอบครัว วันเวลาที่อยู่ในนี้มันยาวนานมากและไม่รู้ว่าข้างนอกเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง ไม่รู้ว่าคนที่รักหนูและคนที่หนูรักจะยังมีชีวิตอยู่ไหมตอนที่หนูได้ออกไป
“ช่วงนี้แม่ก็ไม่ค่อยสบาย พ่อก็ไม่ค่อยสบายที่บ้านต้องปลูกมัน ปลูกข้าวเพื่อที่จะใช้หนี้ ธกส. ถ้าหนูยังอยู่ข้างนอกหนูก็คงได้แบ่งเบาภาระเขาบ้าง แต่พอหนูมาอยู่ข้างในหนูก็ช่วยอะไรไม่ได้”
ศาลกลัวว่าจะหลบหนี ทั้งที่มีเงินติดตัวแค่ 112 บาท
ตั้งแต่ถูกจับกุมและถูกฝากขังในชั้นสอบสวน เรื่อยมากระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแม็กกี้ถูกคุมขังตลอดมานานกว่า 247 วัน โดยไม่เคยได้รับสิทธิประกันตัวเลย โดยศาลสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าอัตราโทษในคดีนี้สูงจึงกลัวว่าจะหลบหนี ทั้งตอนถูกจับกุมเธอมีติดตัวเพียง 112 บาท และทำงานหาเช้ากินค่ำ สิ่งนี้ทำให้เธอรู้สึกเหมือนว่ากำลังถูกกลั่นแกล้ง
“ศาลให้เหตุผลว่าโทษของหนูสูง กลัวว่าจะหลบหนี
ทั้งที่ตอนถูกจับตอนนั้นหนูมีเงินติดตัวในกระเป๋าอยู่แค่ 112 บาท”
“เรื่องนี้พูดแล้วก็น่าหัวเราะ เพราะตอนที่เจ้าหน้าที่จะให้หนูขึ้นรถไปเรือนจำ เขาให้เอาของทุกอย่างในกระเป๋าออกมาวางไว้ทั้งหมด แล้วเจ้าหน้าที่ก็มาตรวจมานับดูเหรียญ แล้วก็เจอว่าเงินของหนูมีอยู่ 112 บาทพอดี เจ้าหน้าที่ก็พูดยิ้ม ๆ ว่า “จงใจใช่มั้ย” หนูก็บอก “ไม่ใช่ หนูมีติดตัวเท่านี้จริง ๆ”
“แล้วตอนนั้นนะ หนูมีเงินในธนาคารไม่ถึงหมื่นด้วยซ้ำ แล้วเขาบอกว่าหนูจะหลบหนี หนูจะเอาเงินที่ไหนไปหนี หนูเป็นคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ เขาบอกว่ากลัวหนูจะหนี กลัวหนูจะไปยุ่งกับพยานหลักฐาน หนูคนธรรมดาหนูจะเอาอะไรไปยุ่งได้”
แม็กกี้เล่าเสริมอีกว่า ทักษิณเข้ามาไม่กี่ชั่วโมงก็ป่วย ถ้าเป็นหนูป่วย ก็ได้กินแค่ยาก่อน ต้องอาการหนักจริง ๆ ถึงจะไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ ไม่ใช่ว่าป่วยแล้วจะไปโรงพยาบาลทันทีเลย
สุดท้ายแม็กกี้มองว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีการเมืองแน่นอน โดยเธอบอกว่า มันเป็นเรื่องของการต่อรองคนที่มีเงินเยอะ อย่างทักษิณที่ไม่ต้องเข้าไปสัมผัสชีวิตในคุกเลยสักวัน มาตรฐานการใช้ 112 มันต่างกัน ไม่เท่าเทียมกัน
“หนูคิดว่ามันเป็นเรื่องทางการเมืองนะ”
กว่าศาลจะตัดสิน ชีวิตก็เสียหายมากแล้ว – นารา
สถานที่ควบคุมตัว – เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ไร้อิสรภาพมาแล้ว – 102 วัน (หลังถูกฟ้องคดี ม.112 คดีที่ 2)
สาเหตุที่ถูกดำเนินคดี ม.112 – การโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก
สถานะคดี – คดีที่ 2 อยู่ระหว่างรอสืบพยานในชั้นศาล
สำหรับ “นารา” เธอถูกคุมขังครั้งนี้ด้วยคดีฉ้อโกง โดยระหว่างถูกคุมขังศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 คดีแรกของเธอไปแล้ว ซึ่งเป็นคดีที่ถูกฟ้องจากการถ่ายคลิปโฆษณาลาซาด้า 5.5 เมื่อปี 2565 แต่ต่อมาไม่นาน เธอก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเดิมอีกเป็นคดีที่ 2 จากการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปี 2563 ซึ่งปัจจุบันอัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาลแล้ว
“สมมติว่าถ้าเราหลุดจากคดีฉ้อโกงก็จะเหลือแค่คดี 112 คดีนี้
ซึ่งเท่าที่รู้อัยการคัดค้านการประกันตัว เราคิดว่ามีโอกาสที่จะไม่ได้ประกันตัวและถูกขังต่อ …”
นาราย้อนเล่าถึงผลกระทบจากคดีมาตรา 112 คดีแรกว่า “คดีนี้ศาลยกฟ้อง ศาลบอกว่าไม่ผิด แต่ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา เราต้องสูญเสียโอกาสและสูญเสียอะไรในชีวิตไปเยอะมาก เราเสียเงิน ทั้งเงินจ้างทนาย เงินประกันตัว ค่าใช้จ่ายทุกอย่าง เราโดนเลิกคบ โดนคนมาด่าฟรี ๆ คนมองเราไปอีกแบบ
สิ่งเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้น เราไม่ควรได้รับในฐานะที่เราเป็นมนุษย์
“ต่อให้ศาลตัดสินว่าไม่ผิด แต่ผลกระทบมันเริ่มตั้งแต่โดนตั้งข้อหา 112 แล้ว
เพราะคนเหล่านั้นกลัวในอำนาจของ 112
“พอคดีแรกศาลยกฟ้อง แต่ก็มีอีกคนมาแจ้งความเป็นคดีที่ 2 เหมือนกับมีคนอยากให้เราโดน 112 ให้ได้ ซึ่งถ้าดูในรายละเอียดแล้วเราจะเห็นคนกลุ่มหนึ่งพยายามไปแจ้งความข้อหา 112 กับคนเห็นต่าง เขาคงอยากให้เราโดน 112 เพื่อให้เราทำตามที่เขาอยากให้ทำ อยากให้เรารักเหมือนที่เขารัก แค่เรื่องการแสดงความเห็น แสดงจุดยืนไม่สมควรถูก 112 มันไม่สมควรเลย …
“ข้อหา 112 ไม่ใช่คดีที่ไปฆ่าใครตาย ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน 70- 80 % ของคนที่โดน 112 เขาก็แค่พูด แค่แสดงความคิดเห็น คนเหล่านั้นอยากแสดงความคิดเห็น อยากแสดงความรู้สึก อยากแสดงจุดยืนในแบบของเขา แต่เขาต้องมาถูกตัดอนาคต ถูกตัดอิสรภาพ เพียงเพราะเขาแสดงความคิดเห็นเท่านี้เองเหรอ
“เรามองว่าคนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ 100% ทุกคนต้องมีข้อบกพร่องบ้าง และเราก็ควรสามารถถูกวิจารณ์ได้ ควรยอมรับการวิจารณ์ได้ เหมือนเรื่องติเพื่อก่อ สมัยตอนเด็กผู้ใหญ่เคยพูดกับหนูว่าจะสอนไม่ได้ก็จะไม่สอน บอกไม่ได้ก็จะไม่บอก ซึ่งเพราะเขารักนั่นแหละ เขาถึงบอก”
นิรโทษกรรมต้องรวม ม.112
เมื่อพูดถึงบทสนทนาของสังคมเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมว่าสมควรรวมคดีมาตรา 112 ทันทีหรือไม่ นาราให้ความเห็นของตัวเองว่า การนิรโทษกรรมต้องรวมคดีมาตรา 112 ด้วย เพราะไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพราะคดีมาตรา 112 เรื่องนี้มันเรียบง่ายมาก นาราอยากให้สังคมเปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้มากกว่านี้
“การนิรโทษกรรมเป็นอีกเรื่องที่ควรทำ เพราะจะทำให้สังคมเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เราไม่ต้องการเห็นมาตรา 112 ทำให้ชีวิตของคนต้องถูกแช่แข็ง” นารากล่าว
ม.112 ต้องแก้ไข หยุดใช้เป็นเครื่องกลั่นแกล้งกันทางการเมือง
เมื่อถามถึงเหตุผลของการจะต้องแก้ไขมาตรา 112 นาราให้ความเห็นว่า “112 มันต้องมีการตรวจสอบมากกว่านี้ ตอนที่สืบพยานคดีแรก ไล่ดูพยานก็คือกลุ่มคนเดิม ๆ ที่คอยแจ้งความ แล้วก็จ้องจับผิดคนที่แสดงความคิดเห็น เรามองว่า 112 มันกลายเป็นเครื่องมือของการกลั่นแกล้ง”
ด้านผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีที่นาราได้รับ เธอเล่าว่า “อย่างแรกเลยที่เห็นได้ชัดคือ ‘เรื่องงาน’ เราสูญเสียงานไปเยอะมากจากการที่เราโดนคดี 112 แม้ต่อมาในคดีนั้นศาลจะมีคำพิพากษาว่าเราไม่ผิด แต่ ณ วันนั้น วันที่เรารุ่งสุด ๆ เรามีงาน เราเป็นพรีเซนเตอร์ เราได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรที่มหาลัยฯ
“ตอนนั้นเราแค่โดนคดี 112 ตอนนั้นยังไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีเลย น้องที่เคยมาติดต่อเราไปเป็นวิทยากรโทรมาบอกว่าคณบดีเรียกไปพบและบอกว่าไม่ให้เราไปเป็นวิทยากรแล้ว สิ่งนี้เห็นได้ชัดเลยว่าท้ายที่สุดแม้คุณจะถูกบอกว่าไม่ผิด 112 แต่แค่คุณโดน 112 คุณก็เสียโอกาสในชีวิตไปแล้ว
“อย่างที่ 2 ที่เห็นได้ชัดเลย เพื่อนกลัว กลัวที่จะรู้จักเรา กลัวที่จะเป็นเพื่อนกับเรา เราโดนคดี 112 มันทำให้เราเสียคนที่รักไป มันไม่เกี่ยวกับว่าทำให้รู้ว่าใครอยู่กับเราจริง ๆ มันไม่เกี่ยว เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะรักชีวิตตัวเอง พอถูก 112 เข้ามา ทุกคนไม่แม้แต่ที่จะอยากรู้จักเรา เพื่อนในวงการไม่อยากรู้จักเรา ทุกคนตีตัวออกห่าง เพียงเพราะเราโดนคดี 112 และตัวเราเองก็กลัวแทนคนอื่นที่เข้ามายุ่งกับเราด้วย กลัวว่าเขาจะเป็นอันตราย
“เราเสียความเป็นตัวเองไปเยอะมาก แต่ก่อนเราเฮฮา แต่พอเราโดนคดี 112 มันเหมือนทุกอย่างพังทลายลงไปต่อหน้า ชีวิตเราพัง เงินเราหายเราสูญเสียมิตรภาพในชีวิต เพียงเพราะเราแสดงความคิดเห็น อย่าลืมเรื่องนี้เราไม่ได้ไปฆ่าใครตายไม่มีคนตายจากการกระทำของเรา”
112 คือคดีการเมือง
สุดท้าย นาราไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างว่าคดีมาตรา 112 ไม่ใช่คดีการเมือง โดยเธอให้เหตุผลว่า “ครั้งหนึ่งจำได้ว่ารัชกาลที่ 9 เคยบอกว่าไม่ควรเอาคดี 112 มาทำให้ประชาชนกลัว แต่พอเป็นยุคหนึ่งของประยุทธ์ที่คนออกมาด่า เพราะอยู่มา 7-8 ปี ผลงานไม่มี เศรษฐกิจตกต่ำ คนด่าประยุทธ์แล้วก็พูดไปถึงปัญหาที่มันสะสมอยู่ในสังคมไทย แล้วอยู่ ๆ มาตรา 112 ก็ถูกนำมาใช้ มองยังไงมันก็เป็นเรื่องทางการเมือง
“มันก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนกลัวที่จะพูด กลัวที่จะแสดงจุดยืนของตัวเอง”