เปิดประมวลสืบพยานคดี ม.112 “เสี่ยวเป้า” ร้องเพลงโชคดีมีคนไทย ก่อนนัดฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้

วันที่ 20 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ วรินทร์ทิพย์ วัชรวงษ์ทวี หรือ “เสี่ยวเป้า” อายุ 53 ปี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565 

คดีนี้มี “อานนท์ กลิ่นแก้ว” แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีที่ สน.ประชาชื่น

พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาคือ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565 วรินทร์ทิพย์ได้ร้องเพลงชื่อว่า “โชคดีที่มีคนไทย” บริเวณหน้าเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ และมีการไลฟ์สดผ่านช่องยูทูป ผู้กล่าวหาเห็นว่ามีเนื้อหาใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายทําให้พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 และรัชกาล 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ

.

ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์ระบุร้องเพลง “โชคดีมีคนไทย” เป็นการหมิ่นพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ด้านจำเลยกลับคำให้การรับสารภาพ

สำหรับคดีนี้ จำเลยได้ให้การรับว่าตนเป็นผู้ร้องเพลง “โชคดีมีคนไทย” ตามที่โจทก์ฟ้องจริง ทำให้มีการรับพยานปากต่าง ๆ ของฝ่ายโจทก์ และนัดสืบพยานไปเมื่อวันที่ 6-7 ก.พ. 2567 ได้แก่ อานนท์ กลิ่นแก้ว ผู้กล่าวหา, ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่ม ศปปส., กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิกกลุ่ม ศปปส., พ.ต.ท.สุนทร ไชยรักษา พนักงานสืบสวน, เจษฎ์ โทณะวนิก นักวิชาการด้านกฎหมาย  โดยฝ่ายจำเลย มีอานนท์ นำภา เป็นทนายความในการถามค้าน

ทั้งนี้ พยานโจกท์ทั้งหมดเบิกความไปในทำนองเดียวกัน เห็นว่าการร้องเพลงของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 เป็นการอาฆาตมาดร้ายและทำให้เสื่อมพระเกียรติ 

อย่างไรก็ตามหลังเริ่มสืบพยานโจทก์ไป จำเลยได้แถลงขอกลับคำให้การเดิมจากปฏิเสธข้อกล่าวหา เป็นรับสารภาพ โดยมีความหวังว่าเมื่อมีคำพิพากษา จะได้รับโอกาสให้รอการลงโทษไว้ เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน

จากนั้นศาลจึงให้งดการสืบพยาน พร้อมมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลยประกอบ ก่อนนัดคำพิพากษาในวันที่ 20 มิ.ย. 2567

ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้พิพากษาให้รอลงอาญา ในคดีของ “โชคดี-วรัณยา” และคดีของ “โชคดี” กรณีถูกกล่าวหาว่าเปิดและร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ในกิจกรรมทางการเมืองเช่นกัน 

ดูฐานข้อมูลคดี: คดี 112 “เสี่ยวเป้า” เหตุร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

.

แกนนำ ศปปส. แจ้งความ ม.112 ระบุเนื้อเพลงมีการกล่าวให้ร้ายในหลวง ประชาชนอาจหลงเชื่อ 

อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565 เวลา 15.00 น. ผู้กล่าวหาอยู่ที่บ้านและเปิดดูช่องยูทูป “สามารถพาทัวร์” ซึ่งมีการจัดกิจกรรมของกลุ่ม “สาบกีบ” 

สำหรับวิดีโอผู้กล่าวหาจำไม่ได้ว่าเป็นการถ่ายทอดสด หรืออัปวิดีโอลงยูทูป คลิปดังกล่าวเป็นการทำกิจกรรมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นผู้หญิงผมสั้น รูปพรรณสัณฐานอวบท้วม กำลังร้องเพลงที่ชื่อ ‘โชคดีที่มีคนไทย’ 

ในความเห็นของผู้กล่าวหา เห็นว่าเนื้อเพลงมีการกล่าวถึงในหลวง ให้ร้ายในหลวง พยายามจะสื่อว่าคนไทยโชคร้ายที่มีในหลวง และในหลวงในที่นี้หมายถึงกษัติรย์ทุกพระองค์ ผู้กล่าวหารู้สึกว่าเพลงนี้ทำให้ในหลวงเสื่อมเสียพระเกียรติ ประชาชนอาจจะเชื่อฟังตามเนื้อเพลง และในฐานะที่เกิดเป็นคนไทยไม่ควรทำแบบนี้ 

ดังนั้น ในวันที่ 11 ก.ย. 2565 ผู้กล่าวหาได้ไปสน.ประชาชื่น และแจ้งความมาตรา 112 เพื่อดำเนินคดีต่อไป พร้อมกับได้ให้การตามบันทึกสอบสวน 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ผู้กล่าวหาเบิกความโดยสรุปว่า ตนเคยมีเรื่องกับ ‘กลุ่มสามนิ้ว’ มาก่อน โดยมีเรื่องกับ “สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชน ซึ่งเป็นคดีความที่ศาลแขวงดุสิต อานนท์กล่าวว่าตนได้รับสารภาพและถูกโทษปรับ 

ผู้กล่าวหาเบิกความว่า สาเหตุที่ตนมีปากเสียงกับนักกิจกรรมฝั่งประชาธิปไตย เพราะว่าพวกเขาชอบจัดกิจกรรมยกเลิกมาตรา 112 ที่หน้าศาล ผู้กล่าวหาเห็นว่าหากจะให้มีการยกเลิกมาตรา 112 ควรไปเรียกร้องในสภา 

อานนท์รับว่า ตนเคยไปแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในหลัก 100 คดี คดีส่วนใหญ่อยู่ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

เกี่ยวกับโครงสร้างของกลุ่ม ศปปส. อานนท์เบิกความว่า ตนเป็นประธานกลุ่ม และกล่าวว่าสมาชิกของกลุ่มมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ไม่ทราบว่ามีกี่คน 

ผู้กล่าวหารับว่าเคยฟังเพลง ‘โชคดีมีคนไทย’ จากวงไฟเย็น แต่ไม่ทราบว่าวงไฟเย็นยังอยู่ไหม แต่รู้ว่า ‘จอม ไฟเย็น’ นักกิจกรรมวงไฟเย็นอยู่ต่างประเทศ นอกจากนี้อานนท์เบิกความว่า บุคคลดังกล่าวเคยเอาประวัติลูกสาวตนไปเปิดเผยในสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้ครอบครัวโดนล่าแม่มดจากสังคม  

นอกจากนี้ อานนท์เบิกความว่า ขณะนั้นพวก “กลุ่มสามกีบ” หัวรุนแรงมาก มีคนเข้ามาชี้หน้าด่าตน โพสต์บอกประวัติ ปักหมุดบ้านที่อยู่ ครอบครัวตนตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายมาก

อานนท์รับว่าตนเคยร่วมชุมนุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มาก่อน โดยเป็นทั้งมวลชนและกลุ่มการ์ด

.

สมาชิก ศปปส. เบิกความเนื้อเพลงสื่อถึงรัชกาลที่ 10 แม้ไม่ได้ระบุว่าเป็นในหลวงรัชกาลใด 

ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่ม ศปปส. เบิกความโดยสรุปว่า พยานทราบคดีนี้จากยูทูป “สามารถพาทัวร์” เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565 โดยเห็นว่าจำเลยได้ปรากฏในคลิปร้องเพลง หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเป็นเพลงที่มีเนื้อหาดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ในมุมมองของพยานไม่ทราบว่าแต่งในสมัยไหน แต่จำเลยร้องในยุคปัจจุบัน จึงสื่อความหมายถึงรัชกาลปัจจุบัน 

พยานมองว่าการร้องเพลงดังกล่าว เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ เพราะเพลงนี้แต่งโดยผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี หากไม่มีใจที่เป็นปรปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ คงไม่หนีไม่ต่างประเทศ นอกจากนี้ในยูทูปผู้ต้องหาดังกล่าวยังมีการโจมตีสถาบันกษัตริย์อยู่ทุกวัน ถ้าอยู่เมืองไทยพยานคงแจ้งความไปแล้ว 

พยานเบิกความว่า หลังจากฟังเนื้อเพลงแล้ว สื่อถึงสถาบันกษัตริย์เพราะมีคำกล่าวถึงในหลวง แม้ไม่ได้ระบุว่าในหลวงรัชกาลใด 

ระพีพงษ์ เบิกความว่า ในหลวงสามารถวิจารณ์ได้ แต่ “พวกสามกีบ” ไม่ได้วิจารณ์ แต่ด่าทอสถาบันฯ สำหรับพยาน ในการวิจารณ์จะต้องไม่มีการละเมิดสิทธิคนอื่น ไม่พูดจาใส่ร้าย

ระพีพงษ์ เบิกความว่า ตนไม่ได้กลั่นแกล้งจำเลยแต่อย่างใด เพราะการแจ้งความต้องมีการกลั่นกรองหลายชั้นหลายขั้นตอน พนักงานสอบสวนมีการตั้งคณะกรรมการ ตั้งบอร์ดกองบัญชาการตำรวจนครบาล กว่าตำรวจจะส่งสำนวนให้อัยการ จะต้องผ่านคณะกรรมการ 3-4 กรรมการ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 พยานได้เดินทางไปพบตำรวจพร้อมกับผู้กล่าวหา เพื่อให้การเกี่ยวกับคดีนี้ 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ระพีพงษ์เบิกความว่าตนเป็นประธานกลุ่ม ศปปส. ไม่ได้เป็นแอดมินเพจแต่อย่างใด  

พยานเบิกความ หากจะบอกว่าตนไม่ชอบ “กลุ่มสามกีบ” ถือเป็นการปรักปรำมากเกินไป เพราะกลุ่มนี้ด่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ตลอด ทั้งเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ทั้งด่าทอหยาบคาย บางคดีก็โดนตัดสินไปแล้ว พยานเห็นว่าสามารถวิพากษ์วิจารณ์ในหลวงได้ แต่ห้ามด่า 

พยานเบิกความว่า  การร้องเพลงไม่ผิด ถ้าร้องเพลงไม่จาบจ้วงสถาบันฯ เนื่องจากพยานไม่อยากให้ร้องเพลงดังกล่าวเลยมาร่วมฟ้องร้องเป็นคดี 

.

อาจารย์กฎหมาย ม.เอเชีย ระบุมาตรา 112 คุ้มครอง 3 ส่วน “กษัตริย์-ประมุขของรัฐ-สถาบันกษัตริย์”

เจษฎ์ โทณะวนิก อาจารย์สอนหนังสือที่วิทยาลัยบัณทิตเอเชีย จังหวัดขอนแก่น จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ. 2538 ต่อมาจบปริญญาโทและเอกด้านกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา มีความรู้เชี่ยวชาญด้านทางทรัพย์สินทางปัญญา การค้าระหว่างประเทศ 

เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้เรียกพยานมาให้การเกี่ยวกับเพลง โดยเปิดคลิปที่จำเลยร้องเพลงให้ดู  พยานฟังแล้วเห็นว่า ถ้อยคำมีการจาบจ้วงล่วงเกินด่าทอว่ากล่าวในหลวงรัชกาลที่ 10 และ 9 หากปรับเป็นบทบัญญัติกฎหมายก็คือการดูหมิ่นฯ

เจษฎ์เบิกความว่า คำว่า “ในหลวง” มีความหมายถึงกษัตริย์ และในหลวงเป็นพื้นฐานคำไทย มาจากคำว่า “ขุนหลวง” ในอยุธยา และ“พ่อขุน” ส่วนในกิจการของพระองค์จะเรียก “ในขุนหลวง” โดยรวมแล้วในหลวงแปลว่ากษัตริย์ 

พยานเบิกความว่า วิจารณ์กับดูหมิ่นแตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างเช่น “ไอ้เหี้ยเจษฎ์” เป็นการดูหมิ่น ถ้า “เจษฎ์แต่งตัวไม่เรียบร้อย” เป็นการวิจารณ์ ตลอดทั้งเพลงไม่ได้สื่อว่าเป็นการวิจารณ์ แต่เป็นการจาบจ้วงล่วงเกินด่าทอ 

พยานไม่รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

ทั้งนี้ เจษฎ์เบิกความว่า มาตรา 112 คุ้มครองกษัตริย์สามส่วน คือ องค์พระมหากษัตริย์ กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ และสถาบันกษัตริย์ ในส่วนของพระราชินีถือเป็นองค์เดียวกับพระมหากษัตริย์ รัชทายาทเป็นรัชทายาทของพระมหากษัติรย์ ทั้งหมดนี้เป็นที่สืบสาน และรักษาความมั่นคงของพระมหากษัตริย์

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่าเคยไปให้การคดี 112 หลายครั้งรวมถึงคดีของ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ จากการปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกจับกุมกลางดึกตามหมายจับในคดี 112 เจษฎ์กล่าวว่ากรณีดังกล่าวศาลได้มีการยกฟ้องไป แต่ไม่ได้หมายความว่าพยานให้การผิด 

ทั้งนี้ เจษฎ์เบิกความว่า ตนไม่เคยได้ยินปรีดี พนมยงค์ แทนระบอบประชาธิปไตย ว่าราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ   ส่วนคำถามที่ว่าพยานเห็นด้วยหรือไม่ที่ให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เจษฎ์เบิกความว่าที่ใช้อยู่เราสามารถเรียกกันได้ว่า Consitutional Monarchy หมายถึงพระกษัตริย์ทรงเสมอด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้าหากอยู่ใต้รัฐธรรมนูญจะหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์จะทรงอยู่ใต้กฎหมายที่ทรงตราขึ้นเอง กษัตริย์นั้นเสมอด้วยรัฐธรรมนูญเพราะพระองค์ตราขึ้นมา 

เจษฎ์เบิกความว่า มาตรา 112 นั้นครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์ ดังนั้นบูรพกษัตริย์จึงได้รับการคุ้มครองทั้งสิ้น คุ้มครองไปถึงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์

ทนายจำเลยถามค้านว่า เพลงที่ด่าพระเจ้าเอกทัศถือว่าดูหมิ่นหรือไม่ พยานตอบว่าเป็นการหมิ่นประมาท ทนายจำเลยจึงถามค้านต่อว่า ทำไมพยานจึงไม่แจ้งความจับคนที่ร้องเพลง พยานบอกว่าทำไมพยานต้องแจ้งความด้วย

ทนายจำเลยถามค้านว่า มาตรา 112 ตีความคุ้มครองถึงพ่อขุนเม็งรายหรือไม่ พยานเบิกความว่า พ่อขุนเม็งราย ไม่น่าจะตีความถึงเพราะเป็นเจ้าครองนคร แต่ต้องดูว่าสิ่งที่ท่านก่อร่างสร้างมาทำให้เป็นประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้หรือไม่  

ทนายจำเลยถามค้านว่า ประเทศไทยนับเป็นประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ พยานเบิกความว่า ตนอ่านตำราวิชาการทั้งของฝรั่งและญี่ปุ่น ซึ่งมีการระบุไว้ว่าประเทศไทยเรียกว่าเป็นประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่พระมหากษัตริย์สามารถนับได้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย

พยานรับว่ามาตรา 112 ต้องตีความโดยเคร่งครัด คุ้มครองคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่คนที่ตายแล้ว 

พยานเบิกความว่า ตนมาเป็นพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112 เกินกว่า 10 คดี ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการปฎิรูปสถาบันกษัติรย์ ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 หากจะแก้ไขต้องดูรายละเอียด

.

แอดมินกลุ่ม ศปปส. เห็นว่าการร้องเพลงในห้วงเวลานี้คำว่า “ในหลวง” ย่อมหมายถึง ร.10 

กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล แอดมินกลุ่ม ศปปส. เบิกความว่า ตนเจอคลิปร้องเพลง เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565 เห็นผ่านทางช่องยูทูป ช่วงเวลาประมาณ 15.00 – 16.00 น. ซึ่งจำเลยร้องเพลงอยู่หน้าเรือนจำคลองเปรม

พยานเห็นว่าจำเลยกำลังร้องเพลงบิดเบือนใส่ร้ายในหลวง โดยได้ร้องเพลงด่าทอใส่ร้ายบิดเบือนข้อมูล ตั้งแต่ในหลวงองค์แรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในเนื้อเพลงนั้นหมายถึงรัชกาลที่ 1-10 พยานเห็นคลิปแล้วจึงไปร่วมแจ้งความที่ สน.ประชาชื่น

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน

พยานเบิกความว่าตนจบการศึกษา ปวศ. ด้านการตลาด และเป็นแอดมินกลุ่ม ศปปส. ซึ่งทางกลุ่มได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์เกือบ 100 คดี โดยจะมีสมาชิกกลุ่มส่งคลิปวิดีโอที่มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มาให้พยาน หน้าที่ของพยานคือไปแจ้งความและไปเป็นพยาน 

พยานเบิกความว่า พยานติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ ทราบว่ามีการไล่นายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าเป็นเรื่องการเมืองขับไล่นายกฯ พยานจะไม่ยุ่งด้วย 

ทนายจำเลยถามค้านว่า มาตรา 112 ควรถูกแก้ไขหรือไม่ พยานเบิกความว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ปกป้องกษัตริย์ ทำไมต้องแก้ไข อย่างไรก็ตามหากจะแก้ไขก็สามารถแก้ไขได้ แต่ “กลุ่มสามกีบ” มักด่าทอและบิดเบือนข้อมูล พยานเห็นว่าคนที่อยากแก้ไขมาตรา 112 ไม่น่าจะหวังดีกับสถาบันกษัตริย์ 

เกี่ยวกับเพลงนี้ พยานเบิกความว่าเคยได้ยินคนที่ทำผิดกฎหมายมาร้องเพลงกันมาตั้งแต่ปี 2563-65 ตามความเข้าใจของพยาน ในหลวงแปลว่าพระมหากษัตริย์ และการร้องเพลงในห้วงเวลานี้ย่อมหมายถึงรัชกาลที่ 10 

สำหรับใจความหลักของเพลงนี้ ต้องการบอกว่าในหลวงเป็นคนไม่ดี มีการยกเหตุการณ์สนับสนุนต่าง ๆ ว่าในหลวงเป็นคนไม่ดี 

.

ตำรวจสืบสวนระบุเห็นจำเลยกระทำผิด ร้องเพลงปราศรัยเรียกร้องสิทธิประกันตัว 

พ.ต.ท.สุนทร ไชยรักษา รับราชการตำรวจตำแหน่งสารวัตรสืบสวน สน.ประชาชื่น คดีนี้ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนคดีนี้ หลังสืบสวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 มีกลุ่มกิจกรรมการเมืองโพสต์เชิญชวน วันที่ 10 ก.ย. 2565 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อร่วมชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง

ในวันเกิดเหตุ เวลา 14.00 น. กลุ่มทะลุแก็ซได้มาตามนัดหมาย มีมวลชนวางอุปกรณ์เครื่องเสียง ติดป้ายผ้า ร้องเพลง มีจำเลยขึ้นปราศรัย ก่อนร้องเพลงมีการปราศรัยในเรื่องสิทธิการประกันตัว และร้องเพลงถึงในหลวง โดยมีมวลชนส่วนหนึ่งกีดขวางทางจราจร 

ต่อมา มวลชนได้อ่านแถลงการณ์ พับกระดาษเป็นรูปจรวด และปาเข้าไปในเรือนจำ พอฝนตกก็แยกย้ายกันกลับ 

พยานได้ทำรายงานการสืบสวนให้ สน.ประชาชื่น พยานดาวน์โหลดคลิป “สามารถพาทัวร์” และส่งให้พนักงานสอบสวน  พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย แต่รู้จักจำเลยในแง่ที่เคยสอบสวน และเห็นว่ามาร่วมการชุมนุมบ่อย

ทนายจำเลยไม่ถามค้าน

.

จำเลยถอนคำให้การเดิม ศาลสั่งสืบเสาะและนัดฟังคำพิพากษา

ในการนัดสืบพยานต่อเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2567 ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า จำเลยประสงค์จะกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ พร้อมกับสัญญาว่าจะยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด  

เนื่องจากจำเลยกลับคำให้การ ศาลจึงยกเลิกนัดสืบพยานที่เหลือ พร้อมมีคำสั่งสืบเสาะพินิจพฤติการณ์ของจำเลยเพิ่มเติม กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. 

.

X