ธงชัย ปาฐกถา 10 ปีรัฐประหาร 10 ปีศูนย์ทนายฯ ชี้รัฐไทย สถาปนา “นิติรัฐอภิสิทธิ์ และราชนิติธรรม” ระบุ รัฐสร้างระบบกฎหมาย ขัดหลักสากล สร้างสภาวะ ‘กฎหมายพิเศษ’ กดปราบประชาชน
ระหว่างวันที่ 21-26 พ.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดแสดงงานนิทรรศการ “วิสามัญยุติธรรม” พร้อมกับกิจกรรมที่น่าสนใจอีกหลายอย่างต่อเนื่องตลอด 6 วัน ที่ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
วันที่ 26 พ.ค. วันสุดท้ายของการจัดแสดงงานนิทรรศการ ได้มีปาฐกถานำโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ในหัวข้อ “นิติรัฐอภิสิทธิ์ และราชนิติธรรม ทำงานอย่างไรในระบบกฎหมายไทย” มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ปาฐกถาในห้อข้อ “ราชนิติธรรมของนิติรัฐอภิสิทธิ์ ทำงานอย่างไรในระบบกฎหมายไทย” โดย ธงชัย วินิจจะกูล
ในงานวันนี้ ธงชัยได้กล่าวปาฐกถานาน 1 ชั่วโมง ตั้งแต่ 13.20 – 14.30 น. โดยได้เริ่มต้นจากการวิจารณ์การจัดงาน Policy Fest ครั้งที่ 1 ของพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมาว่า พบปัญหาใหญ่ ๆ 6 ด้าน ซึ่งไม่มีระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมรวมอยู่ด้วย
ธงชัยตั้งข้อสังเกตว่า พรรคก้าวไกลพูดถึงกฎหมาย ในแง่การเป็นเครื่องมือเพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะ มีการพูดถึงการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม มีการพูดถึงผู้คนเดือดร้อนจากความอยุติธรรมของกฎหมาย แต่จัดปัญหาเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “เผด็จการ” ไม่ใช่ปัญหาเชิงระบบของกระบวนการยุติธรรมอย่างที่พูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือปัญหาการศึกษา หรือปัญหาการเมืองในเชิงโครงสร้าง ดังนั้น จึงไม่มีการพูดถึงว่าจะแก้ปัญหาเชิงระบบของกระบวนการยุติธรรมอะไรบ้าง และจะต้องแก้ไขอย่างไร
“ดูเหมือนผู้คนในสังคมไทยยังไม่ตระหนักพอว่าประชาธิปไตยเป็นไปไม่ได้เลยหากกระบวนการยุติธรรมยังร่อแร่” ธงชัยกล่าว
ธงชัยบอกอีกว่า เป็นปัญหาทำนองเดียวกันกับที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจกันว่า ความอยุติธรรมในสังคมไทยเกิดจากการใช้กฎหมายผิด ๆ เป็นปัญหาที่ตัวบุคคล แต่ตัวกฎหมายและระบบไม่ใช่ปัญหา โดยส่วนมากแล้วคนจะกล่าวโทษ 2 สาเหตุ คือ หนึ่ง บุคลากรที่ยังไม่ได้คุณภาพหรือไม่เที่ยงธรรม เพราะเงิน หรืออำนาจ หรือเพราะความกลัว และ สอง ภาคการเมืองที่มากำหนด บีบบังคับ หรือ “ได้ใบสั่ง”
ธงชัยเห็นว่า แท้จริงแล้วระบบกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาเชิงระบบ เพราะมีรากฐานทางความคิดและรากฐานทางนิติศาสตร์ที่ผิดปกติ การบังคับใช้ และพฤติกรรมของคนเป็นผลผลิตของระบบที่บิดเบี้ยวตั้งแต่รากฐาน การเมืองที่สามารถเป็นใบสั่งต่อคดีความได้เป็นเพียงแค่ปัญหาส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาให้พวกเราเห็น ในขณะที่ระบบกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ผิดปกติกลับซ่อนตัว พ้นการจับจ้องของสาธารณชน การยกเครื่องระบบกระบวนการยุติธรรมจึงอาจจะยากลำบากกว่าและนานกว่าการพัฒนาสถาบันทางการเมืองเสียอีก
ธงชัยย้ำว่าปัญหาความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมเกิดจากการลงรากฐานที่ ‘ผิดพลาด’ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งการแก้ไขนั้นจะต้องรื้อลงไปจนถึงรากที่หยั่งลึกเท่านั้น ไม่สามารถแก้ได้เพียงองค์ประกอบเล็กน้อยทั่วไป
ใจความสำคัญตอนหนึ่ง ธงชัยกล่าวว่า “ประเด็นใหญ่ที่จะเสนอในวันนี้ หากกล่าวโดยสรุป คือ ศูนย์ทนายฯ เกิดขึ้นและกำลังต่อสู้กับ ‘ความถดถอย’ ที่มีลักษณะเฉพาะในประวัติศาสตร์ระบบกฎหมายไทย ไม่ใช่เพราะความอ่อนแอไร้ความสามารถของผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่เพราะใบสั่ง (ถ้ามี) แต่เป็นเพราะการผนึกกำลังกันจนเข้มแข็งของนิติศาสตร์อำนาจนิยม 2 กระแสที่กำลังพยายามสถาปนานิติศาสตร์ ‘อปกติ’ ให้กลายเป็นปกติในสังคมไทย”
“ศูนย์ทนายฯ อาจไม่ตระหนักถึงความหนักหน่วงที่ตนกำลังเผชิญอยู่ แต่ก็ได้ยืนปักหลักสู้อย่างน่ายกย่อง และผมขอภาวนาว่าทุกคนจะยืนหยัดเข้มแข็งเช่นนั้นไปได้อีกนาน จนกว่าจะถึงงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จดังที่อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้กล่าวถึงในวันเปิดงาน (21 พ.ค. 2567) เมื่อความยุติธรรมเข้าร่องเข้ารอยก็ไม่จำเป็นต้องมีศูนย์ทนายฯ อีกต่อไป”
จากนั้นธงชัยได้กล่าวต่อว่า ภายหลังการตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญ (ตลก.รธน.) ในกรณียุบพรรคก้าวไกลเมื่อปี 2563 มีเสียงออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าเป็นคำตัดสินที่ละเมิดหลักกฎหมายหลายประเด็นด้วยกัน เหลือเชื่อว่าศาลทรงอำนาจสูงสุดของประเทศไม่เคารพหลักกฎหมายเสียเอง ผมก็รู้สึกเช่นนั้น แต่อีกใจหนึ่งกลับรู้สึกว่าเราไม่ประหลาดใจ นักสังเกตการณ์ทางการเมืองส่วนใหญ่ก็คาดการณ์ผลได้ ไม่ประหลาดใจแต่อย่างใด นี่หมายความว่าอย่างไรกัน
ถ้าหากเราสังเกตคำตัดสินที่ผิดเพี้ยนจากหลักกฎหมายหรือผิดปกติ นับตั้งแต่ตุลาการภิวัตน์ที่มีควบคู่กับการรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา แรก ๆ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองและนักกฎหมายโดยมากประหลาดใจและอธิบายถึงความผิดปกติไปต่าง ๆ นานา บ่อยครั้งเข้าก็เริ่มคาดการณ์ได้ถูกต้องขึ้น ประหลาดใจน้อยลงทุกที
ความประหลาดใจหรือคาดการณ์เหล่านั้นเริ่มจากการยึดตามหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น นานวันเข้าทุกคนทุกฝ่ายก็ตระหนักได้ว่าต้องไม่ใช้เหตุผลหลักการอย่างที่ควรจะเป็นเท่าไหร่นัก
โดยมากมักเห็นว่าเป็นการยืนยันว่าคำตัดสินของ ตลก.รธน. ถูกกำหนดโดยการเมือง ที่มักเรียกตามทฤษฎีสมคบคิดว่า “ใบสั่ง” แต่ธงชัยไม่ค่อยชอบการอธิบายแบบทฤษฎีสมคบคิดเท่าไรนัก ต้องมีคำอธิบายอย่างอื่นได้ ตัวระบบมีปัญหา และเอื้ออำนวยให้มีใบสั่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งเป็นครั้ง ๆ ไป
ถ้าหากเราสังเกตให้ดีการละเมิดหลักกฎหมายหลายต่อหลายครั้งนั้น ดูเหมือนจะอิงกับหลักหรือความเป็นเหตุเป็นผลอีกชุดหนึ่งอย่างค่อนข้างคงเส้นคงวา คำตัดสินและเหตุผล รวมทั้งการออกคำสั่งที่ไม่มีคนลงนาม และดูเหมือนอ่อนปวกเปียกนั้น อาจยึดถือหลักกฎหมาย และความเป็นเหตุผลคนละชุดกับที่เราคาดหวัง นั่นคือยึดหลักนิติศาสตร์แบบไทย ๆ เป็นหลักเสียยิ่งกว่าหลักกฎหมายตามบรรทัดฐาน (Normative legal system) ที่ทั้งโลกใช้อยู่
ธงชัยกล่าวย้อนเมื่อครั้งได้ขึ้นกล่าวหัวข้อ “นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย” ในงานปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 ว่า นิติศาสตร์แบบไทยเป็นนิติศาสตร์แบบ “ราชนิติธรรม” และ “นิติรัฐอภิสิทธิ์” แต่ในครั้งนั้นอาจจะมีผู้ ‘เข้าใจผิด’ ว่าผลิตคำขึ้นมาเพื่อกระทบเสียดสีระบบกฎหมายไทย ทั้ง ๆ ที่ธงชัยจริงจังกว่านั้นมาก กล่าวคือเขาเห็นว่านิติศาสตร์ 2 กระแสนี้ต่างหาก คือรากฐานของระบบกฎหมายไทย
อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นได้อธิบายถึงการปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นหลัก แล้วกระโดดไปเสนอว่าปัจจุบันเป็นมรดกของการปฏิรูปฯ ดังกล่าว โดยที่ยังไม่สามารถอธิบายพัฒนาการจากจุดเริ่มจนถึงปัจจุบันได้
นอกจากนี้ ในครั้งนั้นธงชัยเสนอว่า “ราชนิติธรรม” และ “นิติรัฐอภิสิทธิ์” เป็นนิติศาสตร์ 2 กระแสที่ต่างกัน แต่ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า 2 กระแสสัมพันธ์กันอย่างไรในปัจจุบัน ยังคงเป็น 2 กระแสแยกจากกันหรือผนวกประสานกันอย่างไร
“วันนี้ขอย้ำว่า “ราชนิติธรรม” ของไทยในปัจจุบันเป็นนิติศาสตร์แบบหนึ่งของ “นิติรัฐอภิสิทธิ์”
ธงชัยทิ้งท้ายในประเด็นแรกนี้ว่า ประการสำคัญที่อยากให้ทุกคนตระหนักในวันนี้ คือ ธงชัยคิดว่ากำลังมีความพยายามอย่างแข็งขันที่จะเปลี่ยนระบบกฎหมายของไทย ทำให้ราชนิติธรรมลงหลักปักฐานตั้งมั่นอย่างมั่นคง ทั้ง ๆ ที่ขัดกับหลักกฎหมายตามบรรทัดฐานในหลายลักษณะ คำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นก้าวสำคัญของความพยายามสถาปนานิติศาสตร์ที่ผิดปกติดังกล่าว
“กล่าวคือ ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจที่จะสถาปนากฎหมายคนละแบบที่โลกกำลังยึดถือใช้” ธงชัยกล่าว
สาแหรก (Genealogy) ของราชนิติธรรมและนิติรัฐอภิสิทธิ์ของไทย
ธงชัยได้กล่าวต่อในประเด็นที่ 2 นี้ว่า รากฐานของระบบกฎหมายไทยปัจจุบันมาจากการปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยรัชการที่ 5 มีลักษณะเป็นระบบกฎหมายแบบ (หลัง) อาณานิคม ซึ่งผสมผสานระหว่าง 2 อย่าง ได้แก่
หนึ่ง นิติศาสตร์และธรรมเนียมกฎหมายก่อนสมัยใหม่ ซึ่งสำคัญที่สุดคือหลักที่ถือว่า ‘พระมหากษัตริย์’ เป็นต้นธารของกฎหมายและความยุติธรรมทั้งหมด
สอง ระบบกฎหมายสมัยใหม่ ซึ่งเน้นความมีระบบระเบียบเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Rationalization)
แต่ในการปฏิรูปฯ ครั้งนั้นเป็นต้นมา สยามไม่ได้รับเอาหลักการที่เป็นหัวใจของระบบกฎหมายตามบรรทัดฐานสากลมาด้วย นั่นคือ “การปกป้องสิทธิและทรัพย์สินของพลเมืองให้ปลอดพ้นจากการคุกคามของอำนาจรัฐ” ในร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 (พ.ศ. 2451) ซึ่งเป็นกฎหมายสมัยใหม่ฉบับแรกของไทย (และคงทนถาวรราวกับเป็นรัฐธรรมนูญแบบไทย) นั้น ได้ระบุไว้ในเชิงอรรถอย่างชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงสิทธิของพลเมือง เพราะไม่เคยมีความคิดข้อนี้อยู่ในสังคมไทย
“กฎหมายสมัยใหม่ของสยามจึงไม่มีหัวใจของระบบกฎหมายตามบรรทัดฐานมาตั้งแต่ต้น”
ผลออกมาจึงมิใช่ระบบกฎหมายตามมาตรฐานสากล แต่เป็นการผสมผสานหลักการและธรรมเนียมหลายอย่างจากจารีตกฎหมายแต่เดิมที่ปรับแปรให้ไปกันได้กับความเป็นระบบระเบียบเป็นมาตรฐานเดียวกันของกฎหมายสมัยใหม่แค่นั้นเอง
รากฐานของนิติศาสตร์และระบบกฎหมายไทยดังกล่าวมีคุณสมบัติ 2 ด้านประกอบกัน คือ
หนึ่ง ด้านที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐ ค้ำจุนความมั่นคงของรัฐเป็นจุดหมายสูงสุด ไม่มีสิทธิของปัจเจกชน เสรีภาพของประชาชนที่กฎหมายมุ่งปกป้องรักษาไว้ไม่ให้รัฐละเมิด ซึ่งไม่มีในกฎหมายไทย ธงชัยเรียกสิ่งนี้ว่า ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์’
สอง ด้านที่ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ธงชัยเรียกด้านนี้ว่า ‘ราชนิติธรรม’
สองด้านนี้อยู่ควบคู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองยกเลิกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้วนั้น ความขัดแย้งระหว่างทหารกับวัง (ธงชัยไม่ได้ระบุถึงบุคคลใดหนึ่ง แต่พูดในฐานะพลังทางการเมือง) ทำให้สองด้านนี้หันออกห่างจากกัน ถึงขนาดต่อสู้กันต่อมาหลายทศวรรษ รัฐทหารเลือกสืบทอดนิติรัฐอภิสิทธิ์ แต่ไม่เอาราชนิติธรรมมาด้วย ผู้ที่ต่อต้านเผด็จการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จึงโจมตี “สำนักกฎหมายบ้านเมือง” ว่าเป็นนิติศาสตร์ที่หนุนเผด็จการทหาร และเรียกร้องให้นิติศาสตร์ของไทยสนับสนุน “สำนักกฎหมายธรรมชาติ” ที่ให้ความสำคัญแก่ความคิดหลักการและธรรมเนียมทางกฎหมายแต่เก่าก่อน ทว่าแนวคิดนี้กลับช่วยฟื้นพลังของ ‘ราชนิติธรรม’ ขึ้นมาอีกครั้ง
นิติศาสตร์ทั้ง 2 แบบในประวัติศาสตร์แนวคิดทางกฎหมายของไทยจึงไม่ใช่นิติศาสตร์มาตรฐานหรือแบบฉบับด้วยกันทั้งคู่ ทั้งสองเป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นอนุรักษนิยมทั้งคู่ เป็นอำนาจนิยมทั้งคู่
ทั้งสองกระแสต่อสู้กันบ้าง ค่อย ๆ กลับมาประสานกันอีกบ้างในระยะที่มีการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่มีระบอบทหารผู้จงรักภักดี จนในที่สุดเมื่อ “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (Democracy with the King as the Head of the State ย่อว่า DKHS) ถูกสถาปนาอย่างมั่นคงในความเป็นจริง โดยวังครองอำนาจนำ และ “ทหารพระราชา” ครองกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในบริบทเช่นนี้เองที่นิติศาสตร์สองกระแสที่มีรากฐานร่วมกันและเคยแยกกันเดินจึงกลับมาประสานกันสนิทอีกครั้ง และเผยตัวปรากฏตัวให้เห็นได้ชัดเมื่อรู้สึกถูกคุกคามนับจาก “ตุลาการภิวัตน์” ในปี 2549 เป็นต้นมา เป็นปรากฏการณ์ที่นิติศาสตร์สองกระแสประสานกันได้สนิท
การประสานกันในครั้งนี้ที่เราเห็นได้นับจากปี พ.ศ. 2549 นั้น เป็น “ราชนิติธรรม” ซึ่งเป็นนิติศาสตร์แบบหนึ่งที่ค้ำจุน “นิติรัฐอภิสิทธิ์” แบบ DKHS
ทวิลักษณ์ของระบบกฎหมายของนิติรัฐอภิสิทธิ์
ในเมื่อราชนิติธรรมเป็นชนิดหนึ่งของนิติรัฐอภิสิทธิ์ ในที่นี้ธงชัยได้เริ่มจากอธิบายแบบแผนโดยทั่วไปของนิติรัฐอภิสิทธิ์ (Prerogative State) ว่าทำงานอย่างไร แต่นิติรัฐอภิสิทธิ์เป็นคำที่ครอบคลุมระบบกฎหมายที่มีลักษณะแตกต่างกันพอควร สุดโต่งไปข้างหนึ่ง คือ ระบอบกฎหมายนาซีสมัยสงครามโลก ในขณะที่เราสามารถเรียกระบบกฎหมายในประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบันว่าเป็น Prerogative State แบบหนึ่ง แบบแผนที่จะกล่าวถึงจึงเน้นเฉพาะลักษณะร่วม และความแตกต่างระหว่างระบบต่าง ๆ ไว้ก่อน
โดยพื้นฐาน นิติรัฐอภิสิทธิ์จะต้องให้รัฐนั้นมีระบบกฎหมาย 2 ชนิดดำรงอยู่ด้วยกัน Frankel ผู้อธิบายเรื่องนี้เป็นคนแรกจึงกล่าวว่าทำให้เกิดภาวะ “ทวินิติรัฐ” (Dual State) ในรัฐเดียวกันได้แก่ :
หนึ่ง นิติรัฐตามบรรทัดฐาน (Normative Legal State) ระบบศาลและระบบบริหารราชการตามมาตรฐานปกติ ไม่ว่าจะด้อยพัฒนาหรือพัฒนามากน้อยกว่ากัน หรือด้อยประสิทธิภาพกว่ากันก็ตาม
สอง นิติรัฐที่ให้อำนาจเกินปกติแก่รัฐ กล่าวคือ รัฐมีอำนาจแบบภาวะฉุกเฉิน (Emergency Powers) ซึ่งถือเป็น “สภาวะยกเว้น” ทางกฎหมาย (State of Exception) เพราะต้องงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายตามภาวะปกติ แล้วยอมให้รัฐใช้อำนาจพิเศษได้ อำนาจในสภาวะฉุกเฉินส่วนมากเป็นอำนาจที่ละเมิดหลักการ และกระบวนการตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั่นเอง
กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมหมายถึงอำนาจพิเศษในการจับกุมคุมขัง การสอบสวน การริบยึดทรัพย์ของบุคคล การควบคุมจำกัดพื้นที่ของคนและสิ่งของ ฯลฯ อำนาจพิเศษเหล่านี้มักจะกลับหัวกลับหางกับหลักการที่ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน สิทธิการประกันตัว สิทธิการสงวนคำให้การ การสารภาพโดยสมัครใจ ฯลฯ อำนาจพิเศษมักนำไปสู่การซ้อมทรมานและความรุนแรงสารพัดต่อผู้ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
ธงชัยเน้นย้ำว่า อำนาจพิเศษถึงขนาดงดใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้นี่แหละที่นับว่าเป็น ‘อภิสิทธิ์ทางกฎหมาย’
รัฐที่มีกฎหมาย 2 ระบบอยู่ด้วยกันเช่นนี้เองที่จึงถือว่าเป็น รัฐอภิสิทธิ์ (Prerogative State)
แต่การได้อภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิด หมายถึง กฎหมายปกติเอาผิดไม่ได้ ถือว่าเป็น “มหาอภิสิทธิ์ทางกฎหมาย” รัฐอภิสิทธิ์โดยทั่วไปก็ไม่ยอมให้เกิดขึ้น ซ้ำมักถือว่ายิ่งได้อำนาจพิเศษก็ต้องรับผิดชอบหนักขึ้น หากมีการใช้อำนาจพิเศษในทางที่ผิดจึงต้องรับโทษหนักเป็นพิเศษไปด้วย แต่รัฐไทยได้อภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิดด้วยกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เป็นประจำ
ราชนิติธรรม
ธงชัยกล่าวต่อในประเด็นย่อยที่ 4 เรื่อง “ราชนิติธรรม” ว่า รัฐอภิสิทธิ์ของไทยในปัจจุบันแตกต่างกับที่อื่นส่วนมากตรงที่ว่า ชนชั้นผู้มีอำนาจและเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนที่ครองอำนาจนั้น ไม่ใช่เพียง “กลุ่มทหาร” หรือ “จอมเผด็จการ” เท่านั้น แต่ท่ามกลางการต่อสู้นับแต่ 2475 เป็นต้นมา ระหว่างพลังของทหาร ฝ่ายกษัตริย์นิยม และประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยนั้น ลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งครองอำนาจนำ นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา แม้กระทั่งทหารก็สยบลงเป็นทหารพระราชา
ชนชั้นอำนาจทั้งสองพลังดังกล่าวยิ่งผนึกกำลังเข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่นเมื่อถูกพลังประชาธิปไตยแบบบ้านใหญ่ท้าทายอำนาจของรัฐราชการซึ่งเป็นรัฐของทหาร บวกวังเมื่อกลางทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา การรัฐประหารปี 2549 และ 2557 รวมทั้งการเปลี่ยนรัชกาลทำให้การผนึกกำลังนี้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก
นี่เป็นบริบทพื้นฐานที่ทำให้ขบวนการเยาวชนปี 2563 แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับขบวนการเยาวชนเมื่อปี 2516 จนถึงปี 2519 และแตกต่างจากขบวนการประชาชนในช่วงเวลาอื่น ๆ ซึ่งการผนึกกำลังเช่นนี้ยังไม่เกิดขึ้น
การผนึกกำลังของสองพลังชนชั้นอำนาจมีมากขนาดไหน ดูได้จากความเข้มแข็งของ DKHS ถึงขนาดที่ไม่กี่ปีมานี้มีผู้บังอาจเสนอว่าสาระที่แท้จริงของ DKHS ที่ประเทศไทยควรจะไปให้ถึง คือเป็น “ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ” หมายถึง ระบอบการปกครองก่อน พ.ศ. 2475 ที่พระมหากษัตริย์จะให้มีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ให้มีคณะรัฐบาลเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินด้วย แต่อำนาจสูงสุดเหนือรัฐบาลและเหนือรัฐธรรมนูญยังอยู่ที่ “กษัตริย์” ในทางอุดมการณ์ก็มีทั้งการผลิตความรู้เพื่อสนับสนุนระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญมากขึ้นกว่าช่วงใด ๆ นับแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา นี่คือสภาวะการเมืองปัจจุบัน
กล่าวอีกอย่างได้ว่ามีความพยายามทำให้ DKHS เป็น “เสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์” หรือ “กึ่งสมบูรณาญาสิราชย์” นั่นเอง
นี่เป็นบริบทพื้นฐาน และเป็นเงื่อนไขให้ผลักดันให้นิติศาสตร์แบบอำนาจนิยมสองกระแสของไทยกลับมาประสานกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากแยกทางกันต่อสู้กันอยู่พักใหญ่ นี่เป็นบริบทพื้นฐานและเป็นปัจจัยที่ทำให้นิติรัฐอภิสิทธิ์ของไทยในปัจจุบันนั้นเป็นแบบ “ราชนิติธรรม”
ธงชัยระบุว่า ไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีการผลิตทฤษฎีหรือหลักของนิติศาสตร์แบบราชนิติธรรมขึ้นมาอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่ออธิบายว่า
หนึ่ง นิติศาสตร์ของไทยมีที่มาแท้จริงมาจากหลักกฎหมายแต่โบราณที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ต้นทางหรือเป็นอำนาจสถาปนาของระบบกฎหมายทั้งหมด และเป็นต้นธารของความยุติธรรมด้วย เพราะพระมหากษัตริย์ของไทยเปี่ยมด้วยคุณธรรม ดำรงตนอยู่ในกรอบทศพิธราชธรรมเสมอ และใส่ใจทุกข์สุขของราษฎรเสมอมา
สอง อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์เช่นที่เคยเป็นมาตลอด เพียงแต่พระองค์พระราชทานให้ประชาชนได้ทดลองประชาธิปไตย ยามใดที่ล้มเหลว อำนาจอธิปไตยนั้นก็ถูกส่งกลับคืนไปยังพระมหากษัตริย์ ก่อนที่พระองค์จะพระราชทานให้ประชาชนพยายามทดลองประชาธิปไตยกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 ก็มิได้มีผลเปลี่ยนความจริงข้อนี้
สาม รัฐธรรมนูญที่แท้จริงจึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญ “กระดาษ” ที่สร้างกันขึ้นมา แต่คือ “สถาบันหลัก” ซึ่งดำรงอยู่อย่างมั่นคงถาวรมานานหลายร้อยปีในสังคมไทย เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้อยู่ในรูปกฎหมายตัวเขียนบนแผ่นกระดาษ แต่คือ “สถาบันพระมหากษัตริย์” นั่นเอง
นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรมอาศัยความชอบธรรมจากแหล่งไหน?
ธงชัยกล่าวว่า นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรมอาศัยความชอบธรรมมีที่มา ดังนี้
หนึ่ง นิติรัฐอภิสิทธิ์ทุกประเภททุกแห่งถือว่าความมั่นคงของรัฐเป็นเป้าหมายสูงสุดของกฎหมาย ดังนั้น ภัยคุกคามความมั่นคงจึงเป็นเหตุผลของรัฐที่อนุญาตให้รัฐใช้อำนาจพิเศษเกินกว่ากฎหมายปกติได้ อนุญาตให้มีการงด หรือระงับใช้กฎหมายปกติได้ การต่อสู้กับนิติรัฐอภิสิทธิ์ทุกประเภทในโลก จึงหมายถึงการต่อสู้กับนิยาม “ความมั่นคงคืออะไร?” ที่จะต้องไม่ให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและของปัจเจกชน
การต่อสู้กับระบบกฎหมายที่อยุติธรรม จึงไม่ใช่การต่อสู้ในทางคดีหรือในปริมณฑลของกฎหมายเท่านั้น เพราะรากของกฎหมายที่อยุติธรรมมักเป็นอย่างอื่น
สำหรับในประเทศไทย คงไม่ต้องกล่าวถึงกันอีกแล้วว่าความมั่นคงกลายเป็นเหตุผลครอบจักรวาลขนาดไหน ทั้งเพื่อให้กองทัพแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจได้มากมายและเพื่อทำร้ายผู้คนมากมาย
ธงชัย ตั้งคำถามว่า มีประเทศไหนบ้างที่อนุญาตให้กองทัพครอบครองคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ได้ต่อเนื่องกันกว่า 70 ปีแล้วด้วยเหตุผลความมั่นคง กองทัพสามารถนำไปแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจได้มากมายมาแจกจ่ายกันนานกว่าชั่วอายุคน กองทัพยังมีธุรกิจที่อาศัยภาษีประชาชนดำเนินการ แต่เก็บประโยชน์เข้ากองทัพหรือผู้นำกองทัพเอง เช่น มีที่ดินมหาศาลในครอบครอง ซึ่งได้มาด้วยภาษีประชาชน แต่ยามรัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องการใช้ที่ดินเหล่านั้น กลับต้องขอหรือซื้อคืน (ด้วยภาษีประชาชนอีกครั้ง) และแถมด้วยการขอบคุณอีกยกใหญ่ (นี่เป็นความสัมพันธ์แบบมาเฟียชัด ๆ) ความมั่นคงยังเป็นเหตุผลสำหรับการทำลาย ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย ทั้งการปราบปราม อุ้มหาย ขับไล่ผู้คนออกจากที่ทำกิน ฯลฯ
ความมั่นคงเป็นเหตุผลให้สามารถโกหกต่อประชาชนจนนำไปสู่อาชญากรรมของรัฐก็ได้ เช่น กรณีผังล้มเจ้า และที่น่าเศร้าที่สุดคือเป็นเหตุผลให้เอากฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐอย่างมหาศาลหลายฉบับเข้าด้วยกันใช้บังคับในสามจังหวัดชายแดนใต้ตลอดเวลา 20 ปีเต็ม รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ยังต่ออายุให้อำนาจพิเศษนั้นไปอีกเรื่อยๆ ประชาชนที่ทุกคนที่เกิดในเขตนั้นใน 20 ปีที่ผ่านมาไม่รู้จัก “ภาวะปกติ” ของกฎหมายที่เขามีสิทธิ เพราะสภาวะยกเว้นที่พรากเอาสิทธิของเขาไป กลายเป็นภาวะปกตินับแต่เขาลืมตาดูโลก ทำให้ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพลเมืองไทย “ชั้นสอง” ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในนามของความมั่นคง
สอง นิติรัฐอภิสิทธิ์แบบเฉพาะของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าแบบใด จะต้องอ้างอิงประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น ๆ ทั้งสิ้น เช่น ที่สิงคโปร์อ้างถึงประวัติศาสตร์ที่เคยถูกมาเลเซียสลัดทิ้งจนประเทศเกือบเอาตัวไม่รอด ประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ จึงอยู่กับความไม่มั่นคงตลอดเวลา จึงต้องให้อำนาจพิเศษแก่รัฐในการจัดการหากมีเหตุที่อาจนำไปสู่ภัยคุกคามเช่นนั้น
สาม สำหรับราชนิติธรรมของไทยนั้นได้อาศัยเหตุผลหรือความชอบธรรมที่อิงกับประวัติศาสตร์ของไทยที่ไม่เหมือนใครในโลกเช่นกัน สังเกตไหมว่าคำตัดสินคดี 112 จำนวนมากที่มักให้เหตุผลเพียงสั้น ๆ ว่า พระมหากษัตริย์มีความสำคัญอย่างไรและการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนจิตใจของคนไทยทั้งชาติอย่างไร และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีพรรคก้าวไกลล่าสุดก็ได้กล่าวถึงข้อความทำนองเดียวกันเพียงสั้น ๆ ประโยคเดียว
ข้อความสั้น ๆ เหล่านี้อิงอยู่กับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมแบบตื้นเขิน แต่กอดไว้แน่นเป็นคัมภีร์ ราวกับว่าประวัติศาสตร์เป็นความรู้ตายตัวและไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์ที่ตีความเป็นอย่างอื่นได้ดำรงอยู่เลยในโลกนี้ ตุลาการจึงสามารถกล่าวประโยคสั้น ๆ ดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องสาธยายอีกต่อไปว่าทำไมจึงเลือกใช้เหตุผลนั้นเป็นความจริงมารองรับคำตัดสิน กลายเป็นความจริงที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อีกต่อไปแล้ว
ทฤษฎีและหลักการของราชนิติธรรมที่กล่าวถึงในข้อก่อนอิงอยู่กับประวัติศาสตร์การเมืองแบบราชานิยมอย่างตื้นเขินเช่นกัน ไม่มีเหตุผลจากแหล่งอื่นเลยมาประกอบ มีแต่ความเชื่อทางประวัติศาสตร์ที่ง่อนแง่นที่อำนาจทุกชนิดในสังคมไทยช่วยกันค้ำจุนไว้ให้กลายเป็นความจริง แล้วสถาปนาจนมั่นคงแข็งแรง จนกลายเป็นความจริงยิ่งกว่าความจริงใด ๆ ทั้งหมด
ความรู้ที่ดิ้นได้เพราะมีหลายด้านกลายเป็นสัจจะตายตัวที่ใช้ตัดสินชีวิตและอนาคตของผู้คนและครอบครัวได้ ความเชื่อผิด ๆ ทางประวัติศาสตร์ที่บรรดาผู้นิยมเจ้าอุปโลกน์กันขึ้นมาแล้วทำให้มันตายตัวเช่นนี้แหละเป็นเหตุให้เกิดคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งจริงก็ยิ่งผิด” เพราะเป็นความจริงที่ผู้ถูกกล่าวหายกขึ้นมา ไปท้าทายมิจฉาทิฐิของตุลาการและของราชนิติธรรมได้ วิถีทางสู้คดีของ “อานนท์ นำภา” ด้วยความจริงอาจไม่ช่วยให้เขาชนะคดี แต่เป็นการตีเข้าไปที่หัวใจของราชนิติธรรมอย่างตรงที่สุด
ด้วยเหตุนี้เองการต่อสู้ที่เกี่ยวกับความรู้ประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ 2475 และการต่อสู้ในประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยไม่ว่ายุคสมัยไหน จึงเป็นเรื่อง “คอขาดบาดตาย” ในสังคมไทย เพราะความรู้ในประเด็นเหล่านั้นมิใช่เพียงแต่เพื่อการรู้จักคิดไตร่ตรองอีกต่อไป แต่หมายถึงรากฐานที่ทำให้นิติศาสตร์แบบราชนิติธรรมสามารถดำรงอยู่ได้หรือพังครืนลงมาก็เป็นได้นั่นเอง
การต่อสู้กับระบบกฎหมายที่อยุติธรรม จึงไม่ใช่การต่อสู้ในทางคดีหรือในปริมณฑลของกฎหมายเท่านั้น เพราะรากของกฎหมายที่อยุติธรรมมักเป็นอย่างอื่น
หลักปฏิบัติเพื่อให้ระบบกฎหมาย 2 ชนิดอยู่คู่กันไปได้
ประเด็นย่อยที่ 6 นี้ธงชัยกล่าวว่า การปกครองด้วย “สภาวะยกเว้นทางกฎหมาย” (Rule by Legal Exception : RbLE) ด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้
หนึ่ง แยกแยะคดีที่มีนัยเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือกระทบผลประโยชน์ของรัฐ ออกจากคดีอาญาสามัญระหว่างประชาชนด้วยกันเองที่ไม่มีนัยต่อความมั่นคง กรณีอย่างหลังให้ใช้กฎหมายตามบรรทัดฐาน กรณีอย่างแรกหรือสงสัยว่าอาจเป็นอย่างแรก ให้ถือเป็น “สภาวะยกเว้น” จากนั้นให้งดใช้กฎหมายตามบรรทัดฐานแล้วใช้กฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐแทน
ปัญหาใหญ่ คือ เส้นแบ่งระหว่างกรณีและคดี 2 ประเภทดังกล่าวมักคลุมเครือตามใจผู้มีอำนาจหรือตามแต่รัฐกำหนด อาจมีเพียงไม่กี่ประเทศ อย่างสิงคโปร์ที่เส้นแบ่งนี้ค่อนข้างชัดเจนและประกาศเปิดเผยจนประชาชนเข้าใจและคาดการณ์ได้ กำหนดพฤติกรรมของตนได้เพื่อไม่ให้พลาดเข้าไปอยู่ในแดนของอำนาจพิเศษ แต่ประเทศที่เป็นรัฐอภิสิทธิ์ส่วนใหญ่มักปล่อยให้เส้นแบ่งนี้คลุมเครือ แกว่งไปมาไม่คงเส้นคงวา บ่อยครั้งรับใช้การเมืองหรือประโยชน์ส่วนตัวของผู้ทรงอำนาจด้วยซ้ำ ทำให้ประชาชนคาดเดายากว่ากรณีใดหรือเมื่อไหร่รัฐจะเข้าแทรกแซงด้วยอำนาจพิเศษ จึงต้องอยู่อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ หรืออยู่กับความกลัวจนเป็นปกติ
สอง ให้ถือว่ารัฐมีสถานะหรือมีอำนาจเหนือนิติศาสตร์ตามบรรทัดฐานได้ เพราะความมั่นคงของรัฐมีความสำคัญสูงสุดที่กฎหมายต้องผดุงรักษาไว้ กฎหมาย คำสั่ง หรือคำตัดสินที่เกี่ยวกับความมั่นคงมีสถานะและความสำคัญที่สูงกว่ากฎหมายตามบรรทัดฐาน จึงครอบงำ กลบทับ ระงับ ลบล้าง อย่างหลังได้
สาม ในเมื่ออำนาจพิเศษมากับสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย (State of Legal Exception) โดยปกติหมายถึงภาวะสงคราม หรือภาวะฉุกเฉินทั้งจากภัยธรรมชาติ และความขัดแย้งทางสังคม รัฐอภิสิทธิ์ที่อาการหนักอย่างประเทศไทย จึงต้องหาทางอ้างว่าเกิดสภาวะฉุกเฉินขึ้น ยิ่งเกิดบ่อย เกิดกว้างขวาง ก็ยิ่งใช้อำนาจพิเศษเหล่านั้นได้บ่อยและมากขึ้น หากเกิดจนเป็นปกติก็จะงดใช้กฎหมายปกติแล้วใช้กฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษได้จนเป็นปกติ ไม่ใช่ยกเว้นอีกต่อไป เช่นที่เกิดกับสามจังหวัดชายแดนใต้ ถ้าไม่มีสภาวะยกเว้นหรือภัยคุกคาม ก็ต้องสร้างให้เกิดมีขึ้นมา หรือในกรณีที่รัฐต้องการลอยนวลพ้นผิดก็อ้างความมั่นคงเป็นเหตุผลเพื่อไม่ให้มีการสอบสวนหรือเพื่อปกปิดผลการสอบสวน หรือเพื่อปฏิเสธอย่างไม่แยแสว่ายังไง ๆ ก็ไม่มีความผิด
ธงชัยยังได้ตัวอย่างถึงกรณีที่ราชทัณฑ์ปฏิเสธไม่ให้ไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดการรักษากู้ชีพ “บุ้ง” เนติพร ก่อนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้แก่ทนายความและญาติ โดยอ้างเหตุผลหนึ่งในเรื่องความมั่นคงอีกด้วย
สี่ ในกรณีของไทย กฎหมายให้อำนาจพิเศษมีหลายระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ทุกประเทศมีเป็นปกติ ได้แก่ กฎอัยการศึก กฎหมายภาวะฉุกเฉิน ซึ่งตามหลักจะต้องให้สภารับรองโดยเร็วและใช้เพียงระยะสั้น ๆ ในพื้นที่จำกัด แต่ในประเทศไทยช่วงสงครามเย็นเคยมีการใช้กฎหมายครอบคลุมกว่าครึ่งประเทศยาวนานต่อเนื่องกันหลายสิบปี และในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ตั้งแต่ปี 2547 จนปัจจุบัน ไม่ได้ฉุกเฉิน หรือชั่วคราวตามหลักที่ระบุไว้
ระดับที่ 2 มีการออกกฎหมายความมั่นคงในราชอาณาจักรไว้ให้อำนาจพิเศษโดยที่ไม่ต้องออกกฎอัยการศึกหรือประกาศภาวะฉุกเฉิน กฎหมายประเภทนี้ฉบับแรกคือ พ.ร.บ.การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495-2543 และฉบับปัจจุบันคือ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 โดยธงชัยได้ระบุว่า ในช่วง 8 ปีระหว่างการบังคับใช้ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่เทียบเคียงได้กับกฎหมายความมั่นคงฯ ฉบับหนึ่ง
ระดับที่ 3 การระบุภาวะยกเว้นไว้ในกฎหมายปกติสารพัดฉบับ เช่น ในกฎหมายการพิมพ์, ป่าไม้, ข้อมูลข่าวสารฯ, ความเป็นส่วนตัวฯ, จริยธรรมสื่อฯ, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฯลฯ ที่ให้รัฐมีอำนาจพิเศษงดใช้กฎหมายนั้น ๆ ได้หากเกิดกรณีที่ “เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”
ที่ยิ่งกว่าทั้ง 3 ระดับที่กล่าวมา คือ ข้อยกเว้นทำนองเดียวกันที่อยู่ทั้งในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หมวดสิทธิเสรีภาพด้วย หมายความว่างดใช้รัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ถ้าหากเกิดกรณีที่ “เป็นภัยต่อความมั่นคง”
ทั้งนี้ ยังมีกฎหมายอาญาภาค 2 หมวด 1 ที่บัญญัติความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไว้ด้วย ซึ่งบังคับใช้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2451 นานกว่ากฎหมายฉบับใดของไทยและคงทน “แทบไม่มีการแก้ไข” ไม่เคยถูกฉีกทิ้งอย่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายหมวดนี้ซึ่งรวมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ด้วยน่าจะเป็นกฎหมายสำหรับภาวะยกเว้นในยามปกติที่มีมาอย่างยาวนานมากที่สุดแล้ว
ธงชัยระบุว่า ดูเหมือนเราจะเข้าใจผิดกันเองว่าระบบกฎหมายไทยยึดตามหลักนิติธรรมตามแบบฉบับมาตรฐานที่ถือว่าการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นบริสุทธิ์ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิด โดยภาระการพิสูจน์เป็นของผู้กล่าวหา ในความเป็นจริงนั้น กระบวนการยุติธรรมของไทยทั้งหมดรวมทั้งศาลในพระปรมาภิไธยของพระเจ้าอยู่หัวด้วย ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองด้วยสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย หรือ (Rule by Legal Exception – RbLE) ของรัฐอภิสิทธิ์สยาม ซึ่งปกครองด้วยข้อยกเว้นทางกฎหมาย กล่าวคือ ให้ระงับหลักการที่กล่าวมาข้างต้นไว้ก่อนในกรณีผู้กล่าวหาขัดแย้งกับรัฐหรือเป็นอันตรายต่อรัฐ แล้วให้ใช้หลักปฏิบัติที่เป็นมรดกของจารีตกฎหมายแบบโบราณที่ถือว่ามีความผิดไว้ก่อนจนกว่าจะดำน้ำลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ ระหว่างนั้นก็ไม่ให้ประกันตัวเพราะจารีตโบราณไม่รู้จัก “สิทธิการประกันตัว” หรือกล่าวให้ถูกต้องก็คือ ไม่รู้จัก “Rights” สักอย่างเดียว เพราะรัฐสามารถจำกัด เอาไปจากเรา หรือยกเลิก “สิทธิ” ของเราก็ได้ในกรณีที่ “เป็นภัยต่อความมั่นคง” หรือเพียงแค่ประเด็นสิทธิอย่างเดียวก็ทำให้นิติศาสตร์และระบบกฎหมายของไทยไม่เป็นไปตามนิติศาสตร์บรรทัดฐานแล้ว
ห้า กรณีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หมายถึงความผิดทางอาญาระหว่างประชาชนด้วยกัน และการละเมิดทางแพ่งทั้งหลายก็ปล่อยให้กฎหมายและวิธีพิจารณาความตามปกติดำเนินไป แต่ทว่าสำหรับสังคมไทยนั้น ระบบกฎหมายในภาวะปกติของไทยนั้นหมายถึง กฎหมายที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์และเต็มไปด้วยการใช้อภิสิทธิ์สารพัดเช่นเดียวกับด้านอื่น ๆ ของสังคมวัฒนธรรมไทย มีทั้งที่มีเส้นสายกับผู้มีอำนาจและไม่มี ดังที่เราพบเป็นข่าวอยู่เป็นประจำว่าเส้นสายและเงินตราสามารถทำให้กฎหมายคด งอ หรือกระทั่งหายวับไม่มีการบังคับกับอภิสิทธิ์ชนก็ยังได้
นี่ไม่ใช่คุณสมบัติหนึ่งของรัฐอภิสิทธิ์ ซึ่งจำนวนมากที่มิได้อยู่ภายใต้วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ทางสังคมแบบอุปถัมภ์อย่างหนาแน่นแข็งแกร่งเช่นในสังคมไทย แต่นี่เป็นความเป็นจริงหนึ่งของวัฒนธรรมกฎหมายของไทย ดังนั้นโดยปกติแล้ว บุคคลจึงมิได้เสมอภาคกันในทางกฎหมายแต่อย่างใด ข้อนี้ก็ทำให้ระบบกฎหมายของไทยไม่เป็นไปตามแบบฉบับบรรทัดฐานแต่อย่างใด
ในประเด็นนี้ ธงชัยได้แนะนำให้ผู้ฟังได้อ่านงานจากเว็บไซต์ 101.world ซึ่งเป็นซีรีส์ว่าด้วยปัญหากระบวนการยุติธรรมด้านต่าง ๆ ได้ดีมาก ซึ่งสะท้อนจารีตยุติธรรมแบบไทย ๆ และอีกหลายปัญหา
ราชนิติธรรมใช้ปกครองประชาชนที่ขลาดและเขลา ไม่พร้อมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ธงชัยได้กล่าวว่า นิติรัฐอภิสิทธิ์ทุกชนิดรวมถึงราชนิติธรรมของไทยด้วย เป็น “นิติศาสตร์อปกติ” ที่อยู่บนพื้นฐานไม่ไว้ใจประชาชน เห็นว่ายังไม่มีคุณภาพพอที่จะเป็นบุคคลเสมอกันในทางกฎหมาย ในทางการเมืองก็ยังไม่พร้อมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จำเป็นจะต้องมีรัฐ “ผู้รู้ดี” เป็นผู้นำทาง ความมั่นคงของรัฐดังกล่าวจึงจำเป็นเพื่อจะนำพาประชาชนทั้งหมดให้รุ่งเรืองไปด้วยกัน ในกรณีของไทยปัจจุบันหมายถึงรัฐของชนชั้นนำผู้นิยมเจ้า
ความคิดทำนองนี้มีมาอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยอย่างน้อยร้อยกว่าปีแล้ว และคงจะไม่หายไปไหนง่าย ๆ การรัฐประหารทั้งหลายก็เพราะไม่เชื่อว่าประชาชนสามารถทำให้ประชาธิปไตยเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาได้ แม้กระทั่งการตั้งกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง สว. ล่าสุด ก็สะท้อนว่า กกต. ไม่เชื่อว่าประชาชนมืวิจารณญาณเพียงพอที่จะเลือกผู้ที่เหมาะสมเข้าไปเป็น สว.ได้ ต้องจับมือเพื่อให้คัดตัวบรรจง ให้ขีดเส้นใต้หนึ่งเส้นหรือสองเส้น ตรงไหนบ้าง ห้ามหาเสียงเพราะไม่เชื่อว่าการหาเสียงจะเป็นช่องทางที่ประชาชนจะถูกหลอก ไม่เชื่อว่าประชาชนจะเรียนรู้จัดการกับข้อมูลข่าวสาร และตัดสินใจอย่างมีเหตุผลได้
การถกเถียงกันเกี่ยวกับความรู้ประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน อนิเมชั่น 2475 ออกมาโฆษณาว่าเป็นความรู้ใหม่ นักวิชาการบางคนก็ออกมาป่าวร้องเช่นนั้น เพราะเขาเชื่อว่าประชาชนไม่รู้เรื่องไม่รู้ราว โง่พอที่จะจับไม่ได้ไล่ไม่ทันว่าชุดความรู้ในอนิเมชั่นนั้นเป็นความรู้เก่าคร่ำครึ ผลิตขึ้นในช่วงระยะที่เผด็จการครองอำนาจ และฝ่ายกษัตริย์นิยมกำลังฟื้นฟู จึงร่วมมือกันในการกลบฝังความรับรู้เกี่ยวกับ 2475 สนิทและให้ร้ายคณะราษฎร และปรีดี พนมยงค์ ราวกับเป็นอสุรกาย
ชุดความรู้นั้นครอบงำความเข้าใจในสังคมไทยต่อ 2475 นานหลายทศวรรษนับจาก 2490 แต่ถูกตอบโต้วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตั้งแต่ทศวรรษ 2520 ไปแล้ว การที่ใครจะสมาทานความรู้ชุดไหน ไม่ใช่ความผิด แต่อย่ามาหลอกว่าอันนี้เป็นความรู้ใหม่ที่ถูกปิดกั้นโดยพวกเชียร์คณะราษฎร ไม่ยอมให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ อย่ามากล่าวหาว่าความรู้ที่ให้คุณค่าแก่คณะราษฎรและ 2475 นั้นได้ผูกขาดล้างสมองเยาวชน ราวกับชุดความรู้ในอนิเมชั่นนั้นเป็นเหยื่อถูกรังแกปิดปาก เพราะในความเป็นจริงหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์ที่เป็นโบราณสถานยังถูกยกทิ้งหายสาบสูญเพื่อต้องการปิดกั้นกลบฝังความรู้
ธงชัยอ้างถึง การกล่าวหาผลงานของ ‘ณัฐพล ใจจริง’ ก็ใช้วิธีที่สกปรก นั่นคือ ณัฐพลทำพลาดในวิทยานิพนธ์ แต่ในหนังสือซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่านั้นได้แก้ไขข้อผิดพลาดนั้นแล้ว คือยกเอาข้อผิดพลาดนั้นออกไปทั้งหมดเลย แต่ความเข้าใจของผู้นิยมเจ้ากลับเชื่อว่าหนังสือนั้นก็เต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งไม่จริงแต่อย่างใด การตอบรับที่มีต่อหนังสือเล่มนั้นเป็นสิ่งยืนยันแล้วว่าแม้กระทั่งไม่มีข้อความที่ผิดพลาด ข้อเสนอของหนังสือเล่มนั้นก็ยังคงน่าเชื่อถือเช่นเดิม ความผิดพลาดในวิทยานิพนธ์นั้นก็ไม่ควรจัดการด้วยกระบวนการที่ลำเอียง ซึ่งจุฬาฯ ตั้งกรรมการขึ้นมาจ้องเอาผิดราวกับศาลศาสนาในยุคกลางของยุโรป
ความรู้นิติศาสตร์ซึ่งอิงอยู่กับประวัติศาสตร์คนละแบบคนละชนิดควรจะมีโอกาสที่จะพลวัตเติบโตเปลี่ยนแปลงได้ นั่นต่างหากเป็นวิถีทางที่สังคมจะอยู่ด้วยกัน
ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่เห็นว่าควรไปช้า ๆ กินทีละคำกับอีกฝ่ายนั้น ลองคิดให้ดีก็เป็นการกล่าวหาทำนองเดียวกับที่ว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” ทำนองเดียวกับที่คณะราษฎร 2475 ถูกกล่าวหานั่นเอง ความขัดแย้งทำนองนี้เป็นสิ่งปกติเพราะเราท่านประเมินวิธีการได้ต่าง ๆ กัน แต่น่าจะกล้าเสนอในการหาเสียงไปเลยว่าพรรคของตนเป็นตัวแทนฝ่ายกินทีละคำ และเห็นว่าอีกฝ่ายชิงสุกก่อนห่ามจะก่อความเสียหายและไปไม่รอด ประชาชนตัดสินได้และรับผลการตัดสินของตนไปด้วย การที่หาเสียงอย่างแล้วทำอีกอย่างนั้น เพราะไม่เชื่อว่าประชาชนจะคิดและตัดสินได้งั้นหรือ
การใช้กฎหมายเล่นงานกำราบนักกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เพราะเชื่อว่าประชาชนนั้นนอกจากเขลาแล้ว ยังขลาดเกินกว่าจะตอบโต้การคุกคามของรัฐ เราท่านทุกคนอึดอัดไม่ใช่เพราะเราหัวหด แต่เพราะเราพยายามต่อสู้ด้วยช่องทางของระบบแม้จะไม่แฟร์ก็ตาม คนที่ขลาดอย่างแท้จริงคือคนในระบบทั้งหลายที่ไม่กล้าทำตามวิชาชีพอย่างรับผิดชอบ โดยเฉพาะวิชาชีพที่จะผดุงความยุติธรรมไว้ ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ คนเหล่านี้ขลาดกลัวการสูญเสียตำแหน่ง ผลประโยชน์ สถานะ หน้าตา กลัวไม่ได้รับการยกย่องเชิดชู คนเหล่านี้ต่างหากที่ยอมตัวเป็นกลไกให้กับระบบกฎหมายที่อยุติธรรม โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ ที่ธงชัยตั้งคำถามถึงบทบาทว่า เป็นการลงทัณฑ์ประชาชนโดยรัฐ มากกว่าบำบัด พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกการตีตรวนผู้ต้องขัง ซึ่งถ้ารัฐบาลทำได้ อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ
ชนชั้นนำผู้มีอำนาจเชื่อว่า ประชาชนจะยอมศิโรราบและมีชีวิตต่อไปอย่างสิ้นหวังในที่สุด คงไม่มียุคใดอีกแล้วที่ความสิ้นหวังต่ออนาคตของประเทศจะแผ่กว้างอย่างในขณะนี้ น่าเสียดายที่รัฐบาลปัจจุบันก็ยังเพิกเฉยทั้งที่เคยรับปากไว้ระหว่างการหาเสียงว่าจะจัดการให้ความเกิดความยุติธรรม แต่ยังคงปล่อยให้กฎหมายพิเศษที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ดำเนินไป ไม่ยกเลิกการใส่ตรวน ไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคดีการเมือง
ราชนิติธรรมเป็นนิติอปกติที่มุ่งสยบให้เรายอมจำนน เพราะเชื่อว่าเราขลาดและเขลา แล้วเราเขลาหรือ? เราขลาดหรือ?
ธงชัยอยากให้ผู้คนที่อยู่ในและเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางโปรดขบคิดพิจารณาอย่างจริงจังว่าถ้าหากท่านไม่กล้าหาญที่จะประกอบวิชาชีพอย่างรับผิดชอบ สังคมไทยที่ท่านรัก ที่ท่านต้องการทำให้ดีขึ้นคงจะไม่มีทาง
อยากฝากให้ทุกท่านที่คิดถึงประชาธิปไตย โปรดตระหนักว่าถ้าไม่มีความกล้าหาญในการจัดการในการทำอะไรก็ตามที่ระบบกฎหมายดีขึ้น ประชาธิปไตยเป็นไปไม่ได้ภายใต้การปกครองหรือข้อยกเว้นทางกฎหมายอย่างทุกวันนี้
หากรัฐบาลมีความกล้าหาญ พยายามผลักประตูให้เปิดออกเพียง 1-2 บาน ธงชัยเชื่อว่าความหวังของผู้คนจะกลับมามากโขในเวลาสั้นๆ ประตูบานที่หนึ่ง คืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดงและผู้เสียชีวิตคนที่วัดปทุมฯ ประตูบานที่สอง นิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมืองทุกคน
ศูนย์ทนายฯ (และนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย)
ธงชัยได้กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายนี้ไว้ว่า 10 ปีที่ผ่านมาศูนย์ทนายฯ ก่อตั้งขึ้นในบริบทดังที่กล่าวมา คือ บริบทที่ระบบกฎหมายค่อย ๆ ถดถอยลงอันเนื่องมาจากนิติศาสตร์อำนาจนิยม 2 กระแสที่เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยกันทั้งคู่ แต่เคยแยกทางออกจากกันนับจาก 2475 แล้วค่อย ๆ กลับมาประสานกันอีกครั้งหนึ่งภายใต้การเมืองยุค “ฉันทามติภูมิพล” จนกลับมาผสานกันอย่างแน่นแฟ้นอีกครั้งโดยอำนาจนำของราชนิติธรรมนับแต่ “ตุลาการภิวัตน์ 2549” เป็นต้นมา
ศูนย์ทนายฯ เกิดขึ้นเพื่อพยายามต่อสู้กับความถดถอยที่มีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพราะความอ่อนแอไร้ความสามารถของผู้บังคับใช้กฎหมายหรือของระบบ แต่เป็นเพราะการผนึกกำลังกันจนเข้มแข็งของนิติศาสตร์อำนาจนิยมแบบไทย ๆ ที่กำลังพยายามสถาปนานิติศาสตร์อปกติให้กลายเป็นปกติในสังคมไทยต่างหาก
เรากำลังต่อสู้เพื่อแก้ไขระบบกฎหมายไทย และนิติศาสตร์ของไทยที่ผิดพลาดระดับรากฐานมาแต่ต้น ภารกิจสำคัญที่สุดคือเอาหัวใจของ Rule of Law ใส่กลับไปในกฎหมาย ซึ่งหมายถึงยุติสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย
ทั้งหมดนี้คือบริบทและเงื่อนไขของการเมืองและระบบกฎหมายที่ศูนย์ทนายฯ เกิดขึ้นและกำลังต่อสู้อยู่
ด้วยเหตุนี้ ภารกิจของศูนย์ทนายฯ เป็นการต่อสู้ของกลุ่มทนายสิทธิฯ และนักกฎหมายอย่างที่ไม่เคยมีมาเป็นมาในรุ่นก่อนหน้า ไม่ประหลาดใจเลยถ้าหากคุณจะเหนื่อย หรืออาจจะรู้สึกสิ้นหวัง แต่ 10 ปีที่ผ่านมา สามารถทำภารกิจได้อย่างน่ายกย่อง
ธงชัยกล่าวถึง จิตร ภูมิศักดิ์ ว่าคงไม่ได้กำลังเปี่ยมไปด้วยความหวังในขณะที่เขาประพันธ์เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ขึ้นมาอย่างงดงาม แต่เดา (และเชื่อมั่น) ว่าเพราะเขากำลังท้อและรู้สึกถึง “พายุฟ้า ครืนข่ม คุกคาม เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน” ต่างหาก แต่เขาสามารถมองเห็น “ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย” ความศรัทธาคืออาวุธที่ดีที่ความสุดในการต่อสู้กับความสิ้นหวัง และเขาเห็นดาวศรัทธาในตัวเขาเอง และเชื่อว่าอยู่ในตัวของบุ้ง ในตัวนักโทษการเมืองทุกคน ในตัวพวกเราทุกคน
ขอบคุณครับ ไม่ใช่ที่เชิญผมมาพูด แต่ขอบคุณศูนย์ทนายฯ และทุก ๆ คนที่เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ทนายฯ และนักโทษการเมืองที่แบกรับความยากลำบากด้วยศรัทธาที่มั่นคงมากกว่าเราในที่นี้หลายเท่า
ขอบคุณครับ