เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2567 ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งหนังสือถึง พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ระบุว่า ร่างดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 134 และให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก่อนบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนนี้ เป็นร่างกฎหมายเพื่อยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง และเป็นก้าวแรกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย โดยมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมลงชื่อจำนวน 36,723 คน
ปัจจุบันสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน บนเว็บไซต์ของรัฐสภา โดยประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้เป็นเวลาหนึ่งเดือน
สำนักงานฯ มีประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเว็บไซด์ ดังนี้
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มี “คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยการกระทำที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม และเห็นด้วยหรือไม่กับองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ และระยะเวลาดำเนินงานของคณะกรรมการนี้
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามฐานความผิดในร่างมาตรา 5 โดยที่คณะกรรมการไม่ต้องพิจารณา
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการไม่นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหรือการสลายการชุมนุมที่ได้กระทำไปเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้บุคคลที่อาจเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม หรือสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว มีสิทธิยื่นคำร้องเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการลบทะเบียนประวัติอาชญากรรมของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องมีการร้องขอจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง
7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้บุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ได้
8. ท่านเห็นว่าการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่ เพียงใด
9. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)
สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้ว สำนักงานฯ ต้องรวบรวมความเห็นส่งต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
.
จับตา! การทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
หลังจากภาคสังคมหลายฝ่ายรณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรมและผลักดันให้มีการนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมขึ้น โดยมี ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการ และมี สส. หรือผู้เชี่ยวชาญ สัดส่วนของพรรคต่าง ๆ ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวมจำนวน 35 คน
จนถึงปัจจุบัน กมธ. ชุดนี้ประชุมกันไปแล้ว 10 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดในวันที่ 2 พ.ค. 2567 ที่ประชุมยังมีมติขอขยายเวลาศึกษาเพิ่มเติมออกไปอีก 60 วัน โดยชูศักด์กล่าวว่า กมธ. จะทำรายงานสรุปให้เสร็จก่อนเปิดสภาสมัยประชุมในเดือน ก.ค.
ทั้งนี้ กมธ. จะมีนัดประชุมครั้งต่อไป (ครั้งที่ 11) ในวันที่ 16 พ.ค. 2567 เวลา 13.00 น. โดยการประชุมในครั้งต่าง ๆ ของกรรมาธิการได้ทยอยถูกเผยแพร่บันทึกการประชุมโดยละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ของสภา โดยประชาชนสามารถอ่านบันทึกการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมาที่นี่
นอกจากนี้ กมธ. ชุดนี้ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการอีก 2 ชุด ได้แก่
- คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 โดยมี นิกร จำนง เป็นประธาน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลคดีและสถิติคดีทางการเมืองในรอบเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา
- คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ตั้งเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 โดยมีรองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย เป็นประธาน ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลที่คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมืองรวบรวม เพื่อจำแนกการกระทำและคดีตามกลุ่มเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองอันจะนำมาซึ่งการนิรโทษกรรม
อนึ่ง ในระหว่างที่การพิจารณาของ กมธ. และคณะอนุ กมธ.ทั้งสองชุด ยังไม่มีข้อสรุปออกมาสู่สาธารณะ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ได้ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 2567 ถึงวันที่ 12 มิ.ย. 2567 บนเว็บไซต์ของรัฐสภา (สามารถแสดงความเห็นได้ที่นี่)
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ชวนจับตา-อ่านบันทึกประชุม กมธ.ศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองฯ หลังขยายเวลาศึกษาออกไปอีก 60 วัน
อ่านร่างนิรโทษกรรมฉบับเต็ม – นิรโทษกรรมประชาชน ก้าวแรกของทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง