วันที่ 8 พ.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก นักกิจกรรม กรณีการโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง โดยให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 ปี
.
คดีนี้มี แน่งน้อย อัศวกิตติกร อดีตกลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา
ต่อมาในวันที่ 23 ก.ย. 2564 วิวัฒน์ ศิริชัยสุทธิกร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก ได้โพสต์ข้อความว่า “#คุณคิดว่า คุณยืนบนซากปรักหักพังของประชาธิปไตย หรือศพของประชาชนแล้วคุณจะสง่างามหรอ … #ประชาสาส์น #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” (ระบุชื่อของรัชกาลที่ 10)
อัยการกล่าวหาว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ดูหมิ่น ทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศไทยและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย อันเป็นความผิดตามมาตรา 112
คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค., 1 ก.ย. 2566 และ 31 ม.ค. 2567 ภาณุพงศ์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยรับว่าโพสต์ข้อความตามฟ้องจริง แต่มีข้อต่อสู้ว่า โพสต์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112
นอกจากนี้ จำเลยไม่ได้มีเจตนาใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 แต่ต้องการตั้งคำถามถึงสถานการณ์ตอนนั้นที่รัฐกับประชาชนขัดแย้งกัน โดยถามว่าพระมหากษัตริย์จะมีบทบาทในการเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร และในข้อความไม่มีคำด่า ไม่มีคำหยาบคาย
กรณีนี้เดิมมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 มี.ค. 2567 เวลา 09.00 น. แต่เนื่องจากภาณุพงศ์ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษาวันนี้ (8 พ.ค. 2567)
.
ศาลลงโทษจำคุก 4 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี ไม่รอลงอาญา ชี้ข้อความมิใช่การตั้งคำถาม ยืนยันข้อเท็จจริงอันเป็นการประทุษร้ายต่อเกียรติของกษัตริย์
วันนี้ (8 พ.ค. 2567) เวลาประมาณ 9.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 714 ผู้รับมอบฉันทะทนายความและนายประกันเดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา ต่อมาศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้
พิเคราะห์พยานโจทก์และจำเลย รับฟังเป็นที่ยุติว่า วันที่ 8 พ.ย. 2563 จำเลยโพสต์ข้อความตามฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่
เห็นว่า ถ้อยคำว่า “คุณ” หมายถึง รัชกาลที่ 10 เนื่องจากข้อความที่จำเลยโพสต์ส่วนท้ายมีถ้อยคำว่า “วชิราลงกรณ์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระนามรัชกาลที่ 10 ประกอบกับจำเลยเบิกความเป็นพยานและตอบโจทก์ถามค้านยอมรับว่า “คุณ” และ “วชิราลงกรณ์” หมายถึง รัชกาลที่ 10 ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการโพสต์ข้อความดังกล่าวสื่อตรงถึงรัชกาลที่ 10
คำพิพากษาอ้างอิงถึงความคิดเห็นของพยานโจทก์ ทั้ง คมสัน โพธิ์คง, แน่งน้อย อัศวกิตติกร, นพคุณ ทองถิ่น และ พัลลภา เขียนทอง ที่เบิกความว่าเห็นว่าข้อความเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ในลักษณะดูหมิ่นพระเกียรติ
นอกจากนี้ จำเลยยังอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความและตอบโจทก์ถามค้านว่า สาเหตุที่โพสต์เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในช่วงโควิด-19 มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากและรัฐไทยมีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง
เมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยโพสต์โดยรวมแล้ว ข้อความเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงในลักษณะที่ว่ารัชกาลที่ 10 ยืนบนซากปรักหักพังของประชาธิปไตยหรือศพประชาชน วิญญูชนทั่วไปที่เข้ามาอ่านข้อความที่จำเลยโพสต์อาจจะเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงเป็นผู้ที่มีส่วนรู้เห็นทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยชำรุดทรุดโทรมลง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนในช่วงโควิด-19 อันเป็นการประทุษร้ายต่อเกียรติของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของสังคมไทยที่เกื้อกูลแผ่นดินและเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจอันเป็นที่เคารพรักของประชาชน
การที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวบนเฟซบุ๊กซึ่งมีการตั้งค่าแบบสาธารณะ ทำให้บุคคลทุกคนสามารถพบและแสดงความคิดเห็นใต้ข้อความที่จำเลยโพสต์ได้ ในลักษณะที่ลดทอนคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำร้ายจิตใจของปวงชนชาวไทยที่มีความเคารพรักและเทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ฯ และอาจก่อให้เกิดความขุ่นเคืองขึ้นในหมู่ประชาชน โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติรับรองว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
แม้จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความและตอบทนายโจทก์ถามค้านในทำนองเดียวกันว่า สาเหตุที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวถึงพระมหากษัตริย์เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และรัฐบาลมีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ไม่มีบุคคลใดสามารถควบคุมรัฐบาลได้ จำเลยจึงต้องตั้งคำถามถึงพระมหากษัตริย์เพื่อให้เป็นผู้ที่เข้ามาห้ามปรามรัฐบาลในขณะนั้น แต่เมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยโพสต์แล้ว ไม่มีถ้อยคำตอนใดหรือส่วนใดที่มีกล่าวถึงหรือสื่อความหมายไปในทำนองที่ทำให้เข้าใจได้ว่าต้องการให้พระมหากษัตริย์ทรงระงับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน
นอกจากนี้ข้อความที่จำเลยโพสต์มีการทำสัญลักษณ์ (#) ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า “ปฏิรูป” ไว้ว่า ปรับปรุงให้สมควร เมื่อพิจารณาถ้อยคำดังกล่าวประกอบกันแล้วแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการโพสต์ข้อความที่สื่อความหมายเพื่อให้มีการปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ฯ ไปยังกลุ่มบุคคลที่สามที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว โดยไม่มีลักษณะที่จะสื่อความหมายให้เห็นว่าให้พระมหากษัตริย์ระงับความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนตามที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด
ทั้งข้อความที่จำเลยโพสต์มิใช่เป็นเพียงการตั้งคำถามตามที่จำเลยอ้าง แต่เป็นรูปแบบของข้อความที่ไม่ต้องการคำตอบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สถาบันกษัตริย์ฯ เป็นสถาบันหลักและมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ การที่จำเลยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กจึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามฟ้องด้วย
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 ปี
ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากคดีอื่นนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก
ผู้พิพากษาซึ่งลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ เอกพงษ์ ช้อนสวัสดิ์ และ มนูญ แสงงามทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่ไมค์ถูกกล่าวหาและศาลมีคำพิพากษาออกมา โดยภาณุพงศ์ถูกกล่าวหาในข้อหานี้ทั้งหมด 9 คดี