นอกจากจำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองในช่วงหลังปี 2563 ทั้งในคดีมาตรา 112 และ คดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงการชุมนุมที่ดินแดง ซึ่งพบว่ามีผู้ถูกคุมขังทั้งในส่วนที่คดีสิ้นสุดแล้ว และระหว่างการพิจารณาอยู่ไม่น้อยกว่า 45 คนแล้ว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่า มีผู้ถูกคุมขังในคดีที่กล่าวได้ว่า มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง โดยเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ก่อนการรัฐประหาร 2557 รวมทั้งคดีเกี่ยวกับอาวุธหลังรัฐประหาร ช่วงปี 2558-2559 ซึ่งยังถูกคุมขังมาจนถึงปัจจุบัน จำนวนอย่างน้อย 8 คน
รายงานนี้จึงย้อนทบทวนข้อมูลของผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวข้องหรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองกลุ่มดังกล่าว แม้ทั้งหมดจะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาเรื่องการครอบครองหรือใช้อาวุธ แต่ก็พบว่าหลายกรณีผู้ถูกดำเนินคดี ซึ่งถูกจับกุมในช่วงที่ทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกหลังรัฐประหาร 2557 นั้น ได้ร้องเรียนถึงการถูกทำร้ายและซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว เพื่อให้รับสารภาพตามข้อกล่าวหา และในการต่อสู้คดี ศาลก็ไม่ได้รับฟังความชอบด้วยกฎหมายของคำให้การที่เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าว
หลายคนในกลุ่มนี้เคยเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 และเผชิญกับกระบวนการจับกุมคุมขังโดยทหาร จนหลังจากนั้นได้ถูกคุมขังมาจวนครบ 10 ปี และเผชิญกับโทษรุนแรงจากคำพิพากษาของศาล แต่ละคนถูกคุมขังกระจายไปทั้งที่เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำกลางคลองเปรม และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
.
4 ผู้ถูกกล่าวหา คดียิง M79 หน้าห้างบิ๊กซีราชดำริ ปี 2557
ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ระหว่างที่ยังมีการชุมนุมเรียกร้อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” และขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะนั้น โดยกลุ่ม กปปส. ในกรุงเทพฯ และตามจังหวัดต่าง ๆ
วันที่ 23 ก.พ. 2557 ราว 5 โมงเย็น ได้เกิดเหตุระเบิดที่หน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมของ กปปส. โดยกระสุนระเบิดขนาด 40 มม. หรือที่ถูกเรียกแทนด้วยชื่อ M79 ซึ่งเป็นเพียงชื่อของเครื่องยิงกระสุนระเบิดรุ่นหนึ่ง จากแรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นเด็ก 2 ราย และผู้ใหญ่ 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 21 ราย
หลังรัฐประหารเดือนเศษ ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. 2557 ประชาชน 4 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมตัว ได้แก่ ชัชวาล ปราบบำรุง, สุนทร ผิผ่วนนอก, สมศรี มาฤทธิ์ และทวีชัย วิชาคำ โดยอ้างอำนาจควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร เป็นเวลา 8-9 วัน ทั้งไม่ให้ทั้งสี่ได้ติดต่อญาติหรือทนายความ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอยู่ในการควบคุมตัวของทหารเกินระยะเวลาที่กฎอัยการศึกได้อนุญาตไว้ ก่อนถูกส่งตัวเข้าสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาโดยตำรวจ สน.ลุมพินี ต่อ และทั้ง 4 คน ไม่มีทนายความอยู่ด้วย ทั้งตอนที่อยู่ในการควบคุมของทหารและการสอบสวนของตำรวจ
ทั้งสี่ถูกส่งตัวให้ตำรวจ สน.ลุมพินี เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ก่อนพบว่าตำรวจได้ขอออกหมายจับต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 13 ก.ค. 2557 เป็นการขอออกหมายจับ แม้ผู้ต้องหาจะถูกจับกุมตัวแล้ว จากนั้นพวกเขาถูกตำรวจพาไปแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพในที่เกิดเหตุ ก่อนถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 16 ก.ค. และทำให้พวกเขาถูกคุมขังเรื่อยมา
ต่อมาญาติของผู้ต้องหาทั้งสี่ ได้พยายามร้องเรียนว่า ทั้ง 4 คน ถูกทำร้ายร่างกายและข่มขู่ให้รับสารภาพระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร เข้าข่ายการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ต่อมา ทั้งสี่ถูกสั่งฟ้องในหลายข้อหาประกอบด้วย ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าโดยไต่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน, มีและใช้วัตถุระเบิด อาวุธปืน กระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครอง, พาอาวุธปืนและวัตถุระเบิดติดตัวไปในที่สาธารณะ, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง และฝ่าฝืนประกาศที่ห้ามนำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดออกนอกเคหสถานเข้าไปในเขตพื้นที่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ในชั้นศาลพวกเขาทั้ง 4 คน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุพวกเขาไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุ และการรับสารภาพในขณะถูกควบคุมตัวในค่ายทหารและในชั้นสอบสวนเป็นเพราะพวกเขาถูกซ้อมทรมาน
คดีดังกล่าวมีการต่อสู้ถึงชั้นฎีกา โดยศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาประหารชีวิตทั้ง 4 คน เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2558 แต่เนื่องจากให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกตลอดชีวิต
หลังจากนั้นได้มีการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ในวันที่ 22 ส.ค. 2560 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 4 แต่เนื่องจากรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกตลอดชีวิต โดยทั้ง 4 คน ไม่เคยได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวมาตั้งแต่ชั้นฝากขัง จนถึงปัจจุบันทั้งสี่ถูกคุมขังมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง
นอกจากนี้ยังพบว่าชัชวาลถูกอัยการสั่งฟ้องคดีเกี่ยวกับอาวุธอีก 7 คดี และศาลยกฟ้องไปแล้ว 5 คดี โดยมีคดีที่ถูกลงโทษจำคุกอีก 8 ปี ในข้อหาครอบครองอาวุธปืนและยุทธภัณฑ์ ซึ่งพบในพงหญ้าในหมู่บ้านแถบจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2557 ซึ่งเป็นคดีต่อเนื่องจากคดีการยิง M79 หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีราชดำริข้างต้น
.
กฤษดา: คดีปาระเบิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปี 2557
กฤษดา ไชยแค เป็นผู้ถูกกล่าวหากรณีปาระเบิดใส่เวทีกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ขณะปักหลักบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2557 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
กฤษดาถูกจับกุมตามหมายจับเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ที่ชายแดนไทย ใกล้กับด่านจังหวัดสระแก้ว เขาถูกกล่าวหาในหลายข้อหา ประกอบด้วย ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา, กระทำให้เกิดการระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่น, มีและใช้วัตถุระเบิด อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มีและให้ใช้ไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย, พาอาวุธปืนและวัตถุระเบิดติดตัวไปในเมือง, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง และฝ่าฝืนประกาศ ข้อกำหนด ที่ห้ามนำอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิดออกนอกเคหสถาน
ในปี 2563 กฤษฎาถูกศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต แต่กฤษฎาได้ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้ตลอดชีวิต
จนถึงปัจจุบัน (เม.ย. 2567) กฤษฎาถูกคุมขังมาตั้งแต่ชั้นฝากขังเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีแล้ว โดยถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม
.
สรศักดิ์: คดีครอบครองอาวุธปืนและกระสุน ปี 2559
สรศักดิ์ ดิษปรีชา ประชาชนวัย 57 ปี เคยประกอบอาชีพเก็บของเก่าและเคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง เขาถูกตำรวจเข้าจับกุมที่บ้านเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2559 โดยถูกกล่าวอ้างว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการต่อต้านรัฐบาลและก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย (นปป.) พร้อม ๆ กับผู้ถูกจับกุมคนอื่นอีกรวม 15 คน ทั้งหมดได้ถูกนำตัวไปสอบสวนที่ มทบ.11 หลายวัน ก่อนมีการนำตัวมาให้ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมดว่า เป็นอั้งยี่ และร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558
ต่อมาหลังศาลทหารกรุงเทพฯ ให้ประกันผู้ต้องหาทั้งหมดในคดีข้างต้น เฉพาะสรศักดิ์ได้ถูกอายัดตัวไปแจ้งข้อหาครอบครองยุทธภัณฑ์ อาวุธปืน และกระสุนปืนที่ไม่ได้รับอนุญาต ที่กองปราบ โดยตำรวจกล่าวหาว่า หลังการจับกุม เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าตรวจค้นบ้านพักสรศักดิ์แล้วพบอาวุธปืนเอเค 47 หรือปืนอาก้า และลูกกระสุน 31 นัด พร้อมซอง ซุกซ่อนไว้ในท่อน้ำพีวีซีในบริเวณครัว
ในส่วนคดีอั้งยี่ กรณีถูกกล่าวหาว่าตั้งพรรค นปป. นั้น อัยการทหารได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดแล้ว แต่ในคดีครอบครองอาวุธของสรศักดิ์ อัยการทหารได้ยื่นฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพฯ และถูกโอนย้ายมายังศาลยุติธรรมหลัง คสช. ยุติบทบาท
ก่อนที่เมื่อ 7 ก.ย. 2565 ศาลอาญามีพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษ 1 ใน 4 เหลือโทษจำคุก 3 ปี โดยสรศักดิ์ถูกคุมขังมาตั้งแต่มีคำพิพากษาศาลชั้นต้น เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว ก่อนเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืน และสรศักดิ์ไม่ได้ยื่นฎีกาต่อ ทำให้คดีของเขาสิ้นสุดลง
ในคำพิพากษาระบุถึงคำให้การของสรศักดิ์ว่า เขาถูกทหารจับกุมตัวไว้ระหว่างวันที่ 13-19 ส.ค. 2559 โดยในวันแรกเจ้าหน้าที่ได้นำผ้ามาผูกตาและนำถุงพลาสติกมาคลุมหัวเขา ซักถามในห้องที่มีอุณหภูมิ 17 องศา และเตะต่อยเมื่อสรศักดิ์ปฏิเสธว่าไม่มีอาวุธปืน นอกจากนั้นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่พบในบ้าน เขาไม่รู้ว่าไปอยู่ได้อย่างไร ที่มีภาพเขากับอาวุธนั้นเกิดจากการถูกทหารข่มขู่ให้ชี้ว่าเป็นอาวุธของตนเอง ไม่เช่นนั้นจะถูกพากลับค่ายทหาร
อย่างไรก็ตาม ศาลวินิจฉัยว่า สรศักดิ์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่ยืนยันว่าตนเองถูกทำร้าย เนื่องจากไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ไม่มีร่องรอยการถูกทำร้าย ศาลเชื่อว่าพยานโจทก์ซึ่งประกอบด้วยตำรวจและทหารที่สนธิกำลังกันตรวจค้น ไม่มีเหตุปรักปรำหรือสร้างหลักฐานเท็จให้จำเลยต้องรับโทษ คำเบิกความของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 ครอบครัวของสรศักดิ์ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอพักโทษให้สรศักดิ์ เนื่องจากเมื่อรวมระยะเวลาที่เขาถูกจำคุกมานั้น มากกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษแล้ว เข้าเกณฑ์การพักการลงโทษตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ตามปัจจุบันสรศักดิ์ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยถูกคุมขังมามากกว่า 1 ปี 7 เดือน แล้ว
.
ยุทธนา-มหาหิน: คดีปาระเบิดศาลอาญา ปี 2558
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 มีเหตุการณ์ปาระเบิดที่บริเวณลานจอดรถของศาลอาญา และเจ้าหน้าที่ทหารได้จับกุมตัวประชาชนจำนวน 2 คน ได้แก่ มหาหิน ขุนทอง และยุทธนา เย็นภิญโญ ต่อมา เจ้าหน้าที่ยังได้จับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอีก 12 คน
จำเลยในคดีนี้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก จำเลย 4 ราย ได้แก่ สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, ชาญวิทย์ จริยานุกูล, นรพัฒน์ เหลือผล และ วิชัย อยู่สุข ร้องเรียนว่าถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว โดยการชกต่อย การกระทืบบริเวณศีรษะ ทรวงอก หลัง และข่มขู่ว่าจะทำร้ายเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูล นอกจากนี้ผู้ต้องหาบางรายยังถูกช็อตด้วยไฟฟ้าและยังคงปรากฏร่องรอยดังกล่าวบริเวณผิวหนัง เมื่อถูกนำตัวส่งให้ตำรวจดำเนินคดี
จำเลยทั้ง 14 คน ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย, เป็นอั้งยี่, ร่วมกันพยายามฆ่า และร่วมกันก่อเหตุระเบิด โดยมหาหินและยุทธนา ให้การรับว่า ทั้งสองคนร่วมกันมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ RGD 5 จำนวน 1 ลูก ไว้ในครอบครองจริง และได้ร่วมกันใช้ระเบิดปาเข้าไปในศาลอาญา แต่มีเจตนาเพียงแค่จะให้เกิดระเบิดเท่านั้น จึงให้การปฏิเสธในข้อหาอื่น ๆ ด้านจำเลยอื่น ๆ ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
คดีนี้เริ่มสืบพยานในศาลทหารตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2559 ขณะนั้นจำเลยได้ประกันตัว 9 คน และอีก 5 คน ไม่ได้ประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์มากพอ กรณีของสรรเสริญได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 หลังจากถูกจำคุกกว่า 2 ปี และชาญวิทย์เพิ่งได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2562 หลังจากถูกจำคุกนานกว่า 4 ปี
ต่อมา คดีดังกล่าวถูกโอนย้ายจากศาลทหารไปสืบพยานที่ศาลอาญาในปี 2563 ก่อนศาลอาญามีคำพิพากษาในวันที่ 17 มิ.ย. 2565 โดยลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเฉพาะมหาหินและยุทธนา ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1-2 แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 34 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 3-14 นั้น พิพากษายกฟ้อง
ยุทธนาและมหาหินถูกจำคุกมาตั้งแต่ถูกจับกุมในปี 2558 โดยไม่ได้รับการประกันตัว จนถึงปัจจุบันพวกเขาถูกจำคุกมาแล้วกว่า 9 ปี โดยอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม
.