ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีเหตุยิง M79 ตกเวที กปปส. Big C ปี 57 จำคุกตลอดชีวิตตามศาลชั้นต้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีเหตุยิงM79 ลงที่ ชุมนุม กปปส.หน้าBig C เมื่อก.พ.57 ให้จำคุกจำเลยทั้ง 4 คนตลอดชีวิตตามศาลชั้นต้น ยกเหตุจำเลยให้การสอดคล้องกัน พนักงานสอบสวนเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่เชื่อถือได้และยังเป็นคดีที่สังคมจับตามองเจ้าหน้าที่ไม่กล้าซ้อมให้สารภาพและหากมีการกระทำดังกล่าวจำเลยก็ไม่เอะอะโวยวายตอนทำแผน แต่ไม่พิจารณาข้อพิรุธในคดี ทนายความจำเลยยืนยันฎีกาต่อ

27 ก.ค.2559 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 3734/2557 หมายเลขแดงที่ 2994/2558 อัยการ ศาลอาญากรุงเทพใต้พิเศษ 4 ฟ้อง ชัชวาล(ชัช) ปราบบำรุง(จำเลยที่ 1), สมศรี(เยอะ) มาฤทธิ์ (จำเลยที่ 2), สุนทร(ทร) ผิผ่วนนอก(จำเลยที่ 3)และทวีชัย(วี) วิชาคำ(จำเลยที่ 4) ว่าได้ร่วมกันยิงกระสุนระเบิดขนาด 40 มม. ด้วยเครื่องยิง M79 ไปตกลงบริเวณที่ชุมนุมของ กปปส. ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส 9 ราย และได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจอีก 12 ราย และทำให้แผงร้านค้าและรถตุ๊กตุ๊กที่จอดอยู่ในบริเวณจุดเกิดเหตุได้รับความเสียหาย

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่คนในข้อหาตามฐานความผิดต่อชีวิต,ความผิดต่อชีวิต (พยายาม), ความผิดต่อร่างกาย, ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน, พ.ร.บ.อาวุธปืน, ลหุโทษ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

10.00น. ศาลอ่านคำพิพากษาสรุปความได้ว่า ประเด็นแรกที่จำเลยอุทธรณ์ คือโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยได้อ้างประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษเรื่อง มติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และบางจังหวัดรวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วยและความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน แต่ในคดีไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกับสุเทพ เทือกสุบรรณหรือพวกในการก่อเหตุ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดี

ประเด็นต่อมาจำเลยได้ร่วมกันกระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ โจทก์ได้นำพ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี เข้าเบิกความว่าพ.ต.อ.อัคราเดช ได้รับการติดต่อจากฝ่ายการข่าวของทหารให้เข้าร่วมการสอบสวนจำเลยที่ค่ายทหารเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2557 จำเลยทั้ง 4 ให้การสอดคล้องกันจำเลยทั้ง 4 ได้ร่วมกันวางแผนที่บ้านของกรรณิการ์ วงศ์ตัวที่ย่านสายไหม โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาอาวุธ วางแผนและกำหนดจุดยิง จำเลยที่ 2 ขับรถคุ้มกัน จำเลยที่ 3 เป็นผู้ซ่อมอาวุธและนั่งอยู่ในรถคันเดียวกับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ยิง พ.ต.อ.อัคราเดช เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ได้ให้การว่าในระหว่างการสอบสวนไม่มีการทำร้ายร่างกายและบังคับให้ถ้อยคำ และยืนยันว่าจำเลยให้การโดยสมัครใจ จึงมีความน่าเชื่อถือจึงรับฟังได้

พ.ต.ท.ยุต ทองอยู่ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษเจ้าของคดี เบิกความว่าจำเลยทั้ง4 คนให้การรับสารภาพว่าวันเกิดเหตุได้ใช้บ้านของกรรณิการ์ วงศ์ตัว เป็นที่ประชุม ต่อมาวันที่ 23 ก.พ.2557 ทั้งหมดได้เดินทางไปยังบริเวณที่เกิดเหตุโดยใช้รถที่ถูกยึดได้ในคดี เดินทางไปถึงสะพานข้ามแยกแยกประตูน้ำในเวลา 17.00 น.เศษ ทวีชัยได้ใช้ M79 ยิงหนึ่งนัดไปที่บริเวณผู้ชุมนุมหน้าห้าง Big C แล้วเดินทางกลับที่บ้านของกรรณิการ์แล้วจึงแยกย้ายกันไป

พิจารณาแล้วจำเลยทั้ง4คนให้การถึงความเป็นมาและขั้นตอนโดยละเอียดในสาระสำคัญสอดคล้องกับรายละเอียดในบันทึกซักถาม แม้ว่าบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนและบันทึกซักถามจะอยู่ในฐานะพยานบอกเล่าตามที่จำเลยอ้าง แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้รับฟังเสียทีเดียวเพียงแต่ต้องมีพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนให้เชื่อว่าพยานบอกเป็นความจริงและที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าถูกทำร้ายบังคับให้ลงชื่อรับสารภาพและไม่มีทนายความระหว่างการสอบสวน นั้นง่ายต่อการกล่าวอ้าง เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบาดแผลและในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนก็มีทนายความร่วมทำการสอบคำให้การด้วย ซึ่งไม่ยากที่จะนำสืบหักล้างโดยการให้ทนายความที่ลงชื่อมาเบิกความ นอกจากนั้นคดีนี้เหตุที่เกิดนั้นน่าจะมีมูลเหตุจากความคิดทางการเมืองไม่ตรงกันและเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่มีบุคคลหลายฝ่ายจับตา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงต้องระวังเป็นพิเศษ จึงไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่เกี่ยวข้องจะกล้าทำอย่างที่จำเลยทั้ง 4 กล่าวอ้าง

พยานโจทก์ยังมี พ.ต.ท.สุทัศน์ ไชยพรหม และ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย พยานตำรวจผู้เชี่ยวชาญเบิกความตรงกันว่า จากการตรวจสอบเชื่อว่าทิศทางการยิงมาจากแยกประตูน้ำ และในประเด็นภาพกล้องวงจรปิดที่ถ่ายภาพรถยนต์ที่ขึ้นสะพานข้ามแยกมีพยานศุภกร พุ่มชาวสวน พนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างแพลตตินั่ม ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิดและเป็นผู้มอบบันทึกภาพวิดีโอซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีเพื่อตรวจสอบได้ระบุตำแหน่งของกล้องวงจรปิดด้านหน้าห้างที่บันทึกภาพของรถยนต์ที่มุ่งขึ้นสะพานข้ามแยกประตูน้ำ ซึ่งสามารถบันทึกภาพรถกระบะสีทอง รถยี่ห้ออีซูซุ มิวเซเว่น สีดำ และ รถกระบะโตโยต้าสีดำไว้ได้ ซึ่งตรงกับประเภทรถและสีที่จำเลยทั้งสี่ให้การ หากข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสี่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่รถยนต์ของกลางทั้งสามคันจะไปแล่นในเวลาสถานที่และเวลาเดียวกันได้

พ.อ.วิจารณ์ จดแตง เบิกความว่าจับกุมนายชัชวาลได้เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2557 ต่อมาวันที่ 9 ก.ค. ชัชวาลได้นำทหารไปตรวจค้นที่บริเวณหมู่บ้านพฤกษาB คลองสาม พบอาวุธ 9รายการ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นปืน M79 และกระสุนระเบิดขนาด 40มม. แต่จำเลยก็ไม่ได้นำพยานมาเบิกความพิสูจน์ทั้งที่กล่าวอ้างว่าอาวุธที่ตรวจพบเป็นของเพื่อน

อีกทั้งเมื่อจำเลยทั้งสี่คนถูกนำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพก็เป็นโอกาสดีที่จะแสดงความบริสุทธิ์และชี้แจงว่าตัวเองถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการทำบันทึกซักถามของทหารต่อสื่อมวลชนจำนวนมากที่มารอทำข่าว เพื่อเป็นหลักฐานในเบื้องต้นซึ่งจะนำไปสู่การร้องเรียนต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นหลักฐาน แต่ก็ไม่มีการแสดงออกดังกล่าว

ศาลจึงเชื่อว่าบันทึกซักถามและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสี่เป็นการนำสืบลอยๆ ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานพยานโจทก์ได้ ศาลจึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ภายหลังศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จำเลยทั้ง 4 ตัดสินใจที่จะยื่นฎีกาคดีต่อ

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2558 โดยตัดสินประหารชีวิตในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพกพาอาวุธไปที่สาธารณะลง 2 ปี แต่การสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษ 1 ใน 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษคงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และพกพาอาวุธคงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษแล้วศาลให้ลงโทษเพียงสถานเดียวคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น และศาลสั่งให้ริบเครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 และเครื่องกระสุนไว้เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุส่วนรถยนต์ทั้ง 3 คันเป็นเพียงพาหนะที่ใช้อำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดจึงไม่สามารถริบได้ ให้คืนเจ้าของ

ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยทั้งสี่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีในประเด็นว่าพวกตนไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และพวกตนถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวนภายในค่ายทหารระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและถูกบังคับให้สารภาพและไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพด้วย

ทนายความจำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นบันทึกปากคำในชั้นกฎอัยการศึกและบันทึกคำให้การของพนักงานสอบสวนได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ไม่นำร.ท.ปริวัฒน์ ทองประจง พยานทหารที่เข้าร่วมการสอบสวนที่ปรากฏชื่อในบันทึกซักถามว่าเป็นผู้ซักถามจำเลยมาเบิกความและไม่ปรากฏลายมือชื่อท้ายบันทึกซักถาม แต่กลับนำพล.ต.อ.อัครเดช พิมลศรี ที่เพียงลงชื่อในด้านข้างของเอกสารซึ่งอาจเป็นการลงชื่อในภายหลังและยังเบิกความถึงสถานที่ร่วมสอบสวนขัดแย้งกับหลักฐานว่าตนเข้าร่วมการสอบสวนที่กองพันทหารสารวัตรที่ 11 แต่ในบันทึกซักถามลงว่าทำบันทึกที่พัน.ร.มทบ.11 ซึ่งตั้งอยู่คนละที่กัน และได้เบิกความว่าพ.อ.วิจารณ์ จดแตง ร่วมซักถามด้วยแต่พ.อ.วิจารณ์ฯ กลับเบิกความว่าไม่ได้เข้าร่วมการซักถาม คำเบิกความของพยานโจทก์จึงขัดแย้งกันและไม่น่าเชื่อถือ

นอกจากนั้นจากคำเบิกความของพ.ต.ท.ยุต ทองอยู่ พนักงานสอบสวนคดีนี้ ที่ใช้หลักฐานและบันทึกซักถามที่ทำโดยทหารเพื่อขอออกหมายจับ จึงเห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนได้เห็นและทราบบันทึกซักถามของจำเลยทั้งสี่ก่อนแล้ว จึงได้จัดทำบันทึกคำให้การจำเลยทั้งสี่ในชั้นสอบสวนในภายหลังซึ่งมีข้อความทำนองเดียวกัน อีกทั้ง ขณะสอบสวน แถลงข่าว และทำแผนประกอบคำรับสารภาพในที่เกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมอยู่ด้วยตลอดเวลา เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสี่กลัวว่าจะถูกนำตัวกลับไปควบคุมตัวที่ค่ายทหารและถูกทำร้ายร่างกายอีก จึงยอมลงชื่อในบันทึกคำให้การทั้งที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การตามบันทึกคำให้การแต่อย่างใด

ประเด็นกล้องวงจรปิดของห้างแพลตินั่มนั้นโจทก์มีเพียงพยานเอกสารที่อ้างว่า เป็นภาพถ่ายที่ได้จากกล้องวงจรปิดหน้าห้างแพลทตินั่มเท่านั้น ซึ่งเป็นเอกสารที่มิใช่ต้นฉบับ อีกทั้งจากคำเบิกความของพ.ต.ท.ธเนศ มีทอง ว่าจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดและมีการทดแทนเวลากันแล้วเชื่อได้ว่าเหตุเกิดเวลา 16.51น. ของวันเกิดเหตุ แต่กลับจำเวลาที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด หลังจากที่มีการทดเวลาแล้วไม่ได้ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้นำวีดีโอวงจรปิดซึ่งเป็นต้นฉบับแสดงต่อศาล ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโจทก์จงใจที่จะปกปิดพยานหลักฐาน และนายศุภกรซึ่งมีหน้าที่ดูแลกล้องวงจรปิดของห้างยังเบิกความว่าจากกล้องวงจรปิดดังกล่าวไม่สามารถเห็นรายละเอียดของทะเบียนรถได้ และไม่เห็นคนขับและผู้โดยสารภายในรถ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กลับไม่กล่าวถึงในรายละเอียดในประเด็นเหล่านี้ของอุทธรณ์ของทนายความจำเลยแต่อย่างใด

คดีนี้จำเลยทั้ง 4 คนในคดีนี้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2557 โดยทหารและใช้อำนาจควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก พวกเขาทั้ง4คน ถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร โดยไม่มีโอกาสได้ติดต่อญาติหรือทนายความ จึงไม่มีใครทราบสถานที่ควบคุมตัวเป็นเวลา8-9 วัน ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอยู่ในการควบคุมตัวของทหารเกินระยะเวลาที่กฎอัยการศึกได้อนุญาตไว้ ก่อนถูกส่งตัวเข้าสู่กระบวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พวกเขาถูกกล่าวหาตามพฤติการณ์และข้อหาตามที่กล่าวถึงข้างต้น ภายหลังทนายความสามารถเข้าถึงได้จึงได้รับการร้องเรียนจากจำเลยว่าพวกตนถูกซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวนของทหาร

สามารถอ่านคำอุทธรณ์ของจำเลย คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ที่นี่

คำอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ก่อนฟังคำพิพากษาคดีระเบิด M79 ตกหน้า Big C ราชดำริ 

พิพากษาประหาร 4 คนคดี M79 ระเบิดหน้าบิ๊กซีราชดำริ รับสารภาพชั้นสอบสวนเหลือคุกตลอดชีวิต

 

ภาพประกอบจากเว็บไซต์ Panoramio

 

X