เปิดคำพิพากษาคดีระเบิดบรรทัดทอง

เปิดคำพิพากษาคดีระเบิดบรรทัดทอง

photo_2016-10-21_20-18-57

เปิดคำพิพากษาคดีระเบิดขบวนผู้ชุมนุม กปปส. ที่เคลื่อนผ่าน ถ.บรรทัดทอง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน ได้รับบาดเจ็บ 33 คน และรถกระบะได้รับความเสียหาย ศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินลงโทษณัฐพรรณ์ หลุ่มบางล้า จำเลยที่ 1 และอภิชาต พวงเพ็ชร จำเลยที่ 2 เฉพาะข้อหาครอบครองระเบิดคนละ 2 ปี ส่วนข้อหาอื่น ๆ ศาลยกฟ้อง

ชาญพงศ์สัณห์ จันทร์ดอก และชูชัย อุชชิน ผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่าคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัย 3 ประการ คือ 1. จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันครอบครองวัตถุระเบิดตามฟ้องหรือไม่ 2. จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องหรือไม่ และ 3. จำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะตามฟ้องหรือไม่

1.

เกี่ยวกับความผิดฐานร่วมกันครอบครองวัตถุระเบิด ศาลเห็นว่า พยานโจทก์ ได้แก่ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง นายทหารผู้ซักถามจำเลยระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก พ.ต.อ.อรรถพล อนุสิทธิ์ และ ร.ต.อ.วิสูตร บุญยังมาก พนักงานสอบสวน เบิกความสอดคล้องตรงกันเป็นลำดับขั้นตอน เชื่อมโยงในการที่จำเลยทั้งสองกับบุคคลอื่นนัดรับและส่งมอบวัตถุระเบิดยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งยากที่จะปรุงแต่งลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ขึ้นมา

ศาลให้เหตุผลเพิ่มว่า แม้พยานดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาภาพถ่ายที่อภิชาต จำเลยที่ 2 นำชี้สถานที่ที่นำวัตถุระเบิดไปทิ้ง และพบวัตถุระเบิดดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากอภิชาตไม่ได้ครอบครองหรือเกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิดดังกล่าว คงไม่สามารถนำชี้สถานที่ที่นำวัตถุระเบิดไปทิ้งได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ พยานโจทก์ที่เป็นนายจ้างของอภิชาต ยังได้เบิกความไว้ว่า อภิชาต จำเลยที่ 2 เป็นเพื่อนกับณัฐพรรณ์ จำเลยที่ 1  ณัฐพรรณ์เคยมาช่วยอภิชาตแก้ปัญหากรณีมีผู้วางแผงขายสินค้ารุกล้ำเข้าไปในบริเวณอาคาร 2 ครั้ง พยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ ศาลเห็นว่ามีน้ำหนักรับฟังได้ว่า อภิชาตเป็นผู้ครอบครองและส่งมอบวัตถุระเบิด RGD5 จำนวน 1 ลูก ให้แก่ณัฐพรรณครอบครองจริง

ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่า ไม่เคยรู้จักนายสมเจตน์ คงวัฒนะ นายพีรพงษ์หรือธานินทร์ สินธุสนธิชาติ และนายกฤษฎา ไชยแค ณัฐพรรณ์ไม่เคยไปรับระเบิด หรือส่งมอบระเบิดให้บุคคลใด ๆ อภิชาตถูกบังคับให้ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ศาลเห็นว่า เป็นเพียงข้ออ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้หักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ศาลเห็นว่า คดีรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันมีระเบิดขว้างสังหารแบบ RGD5 จำนวน 1 ลูก ไว้ในครอบครอง

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า มูลเหตุคดีนี้เกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิดที่จำเลยทั้งสองกับพวกถูกฟ้องที่ศาลทหารกรุงเทพแล้ว คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีของศาลทหารกรุงเทพนั้น ศาลเห็นว่า ตามคำฟ้องคดีของศาลทหารกรุงเทพ บรรยายฟ้องว่า ระหว่างเดือน มิ.ย. 2556 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 23 ก.ค. 2557 จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีลูกระเบิดขว้างสังหารแบบ RGD5 จำนวน 20 ลูก ไว้ในครอบครอง

ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อเดือน ก.ย. 2556 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 17 ม.ค. 2557 จำเลยทั้งสองร่วมกันมีลูกระเบิดขว้างสังหารแบบ RGD5 จำนวน 1 ลูก ไว้ในครอบครอง จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องทั้งสองคดีในมูลคดีว่าครอบครองระเบิดขว้างสังหารแบบ RGD5 ในวันเกิดเหตุคนละวันกัน และไม่มีข้อเท็จจริงใดที่บ่งชี้ว่า ระเบิดดังกล่าวทั้งสองคดีเป็นระเบิดจำนวนเดียวกัน ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีของศาลทหารกรุงเทพ

2.

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า แม้โจทก์จะมี พ.ต.ท.พนม เชื้อทอง พ.ต.อ.นพศิลป์ พูนสวัสดิ์ และ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เป็นพยานเบิกความ แต่พยานโจทก์ดังกล่าวล้วนแต่เป็นพยานบอกเล่า โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดที่เชื่อมโยงพอที่จะให้รับฟังว่า เหตุระเบิดเกิดจากระเบิดที่จำเลยทั้งสองเคยครอบครอง และจำเลยทั้งสองร่วมกันทำให้เกิดระเบิด

นอกจากนี้ แม้ พ.ต.อ.นพศิลป์ จะเบิกความว่า พยานตรวจพบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของณัฐพรรณ์กับนายกฤษฎา ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ใช่เหตุที่จะชี้ชัดว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันก่อให้เกิดระเบิด  ส่วนพยานอีกสองปากที่อยู่ในที่เกิดเหตุก็เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุมีเสียงระเบิดดังขึ้น แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนร้ายขว้างระเบิด

ส่วนพยานโจทก์ปาก พ.อ.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ และ พ.ต.กิตติ ฉ่ำสาตร์ เบิกความว่า มีการตั้งจุดตรวจที่ ซ.จุฬาฯ 12 ภายหลังได้รับแจ้งจึงเดินทางไปที่เกิดเหตุ และมีพลเมืองคนหนึ่งแจ้งว่าพบกระเดื่องระเบิด เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ พบจุดที่ระเบิดตก และพบสะเก็ดระเบิด แต่ไม่ปรากฏข้อมูลใด ๆ ของคนร้ายจากพยานโจทก์ดังกล่าว

ส่วนพยานโจทก์ปาก พ.ต.ต.ยุทธศักดิ์ ไข่ทา เบิกความว่า พยานรับมอบสะเก็ดระเบิดหลายชิ้นเพื่อตรวจพิสูจน์ ผลปรากฏว่า เป็นวัตถุระเบิดสังหารแบบ RGD5 แต่การตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือคนร้ายนั้น เนื่องจากชิ้นส่วนสะเก็ดระเบิดค่อนข้างเล็ก จึงไม่สามารถตรวจหาลายพิมพ์นิ้วมือได้ สำหรับกระเดื่องโลหะของกลาง ผลการตรวจพิสูจน์ก็ไม่พบลายนิ้วมือ และฝ่ามือแฝง

ทั้งนี้ แม้โจทก์จะมีบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา และบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของจำเลยทั้งสอง ซึ่งให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ว่าเป็นผู้ลงมือกระทำความผิด แต่ในชั้นพิจารณา จำเลยทั้งสองก็นำสืบต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิด ไม่มีส่วนรู้เห็นใด ๆ การลงลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองในบันทึกดังกล่าวเกิดขึ้นจากการถูกข่มขู่ หากไม่ลงลายมือชื่อจะถูกทำร้าย ข้อความในบันทึกดังกล่าวถูกจัดทำไว้แล้ว จำเลยทั้งสองไม่สมัครใจรับสารภาพ

ศาลเห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่มีพยานยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้ อีกทั้งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองก็จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2557 อันเป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุนานหลาย และผลการตรวจสอบสะเก็ดระเบิดและกระเดื่องระเบิดที่พบในที่เกิดเหตุก็ไม่สามารถระบุได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบและพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดดังที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามฟ้องในส่วนนี้

3.

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันก่อให้เกิดระเบิด และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่า จำเลยทั้งสองพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม สะเก็ดระเบิดและกระเดื่องระเบิดเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงให้ริบ

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 87 วรรคหนึ่ง พรก.การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 11 วรรคสอง (9), 18 พ.ร.บ.ควบคุมบุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 42 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก

หากทั้งโจทก์และจำเลยไม่ขออุทธรณ์คดี คดีนี้จะถือเป็นที่สิ้นสุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งฝ่ายจำเลยไม่ได้อื่นอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งณัฐพรรณ์ และอภิชาตจะถูกควบคุมตัวมานานเกินกว่า 2 ปี จึงไม่ต้องรับโทษจำคุกต่อในคดีนี้แล้ว แต่อภิชาตรับสารภาพในคดีครอบครองระเบิด RGD5 ที่ศาลทหารกรุงเทพไปก่อน ศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 5 ปี อภิชาตจึงยังอยู่ระหว่างรับโทษในคดีดังกล่าว ส่วนณัฐพรรณ์ที่ขอต่อสู้คดีครอบครองระเบิดยังคงถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยศาลทหารกรุงเทพเพิ่งนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก 27 ม.ค. 2560

ดาวน์โหลดคำพิพากษาฉบับเต็มที่นี่ คำพิพากษา.pdf

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X