ยกฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่าคดีระเบิดบรรทัดทอง จำคุก 2 ปีฐานครอบครองระเบิด

20 ต.ค. 2559 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาอย่างย่อคดีระเบิดบรรทัดทอง ยกฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลได้ว่า จำเลยทั้งสองคนได้ร่วมปาระเบิดที่ ถ.บรรทัดทองด้วย แต่ให้ลงโทษในข้อหาครอบครองระเบิดคนละ 2 ปี

  • เหตุแห่งคดี

คดีนี้เกิดเหตุเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2557 เกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณ ถ.บรรทัดทอง ใกล้ปาก ซ.จุฬาฯ 4 ขณะที่ผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เคลื่อนขบวนผ่าน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 26 คน และเสียชีวิต 1 คน คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นคนร้ายในที่เกิดเหตุ ไม่มีบันทึกภาพคนร้าย และไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้

กระทั่งผ่านไปประมาณ 6 เดือน ปลายเดือน ก.ค. 2557 ทหารจับกุมนายอภิชาต พวงเพ็ชร และนายณัฐพรรณ์ หลุ่มบางล้า ควบคุมตัวไว้โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ก่อนจะนำตัวส่งตำรวจและถูกแจ้งข้อหาในฐานะผู้ต้องหาคดีระเบิด

  • ฟ้องคดี

คดีถูกฟ้องขึ้นสู่ศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2558 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น, มีและใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มี และใช้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย, มีเครื่องกระสุนปืน ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย, มีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์ ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย, พาวัตถุระเบิดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมนุมชน และฝ่าฝืนประกาศที่ห้ามนำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ออกนอกเคหสถานเข้าไปภายในเขตพื้นที่ที่ได้ประกาศสถาการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ในคำฟ้องระบุว่า ช่วงเดือน ก.ย. 2556 ถึง 17 ม.ค. 2557 จำเลยกับพวกมีลูกระเบิด RGD5 1 ลูก ไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และพาติดตัวไปบริเวณปากซอยจุฬาฯ 4 ถ.บรรทัดทอง และขว้างกลิ้งระเบิด RGD5 1 ลูก ทำให้เกิดระเบิดขึ้น 1 ครั้ง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 7 ราย และได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ 26 ราย รวมถึงทำให้รถกระบะซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย

  • สืบพยานโจทก์

การสืบพยานเริ่มในวันที่ 21 มี.ค. 2559 อัยการนำ พ.ต.กิตติ ฉ่ำศาสตร์ ทหารผู้เก็บของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน เบิกความว่า ได้รับแจ้งว่ามีเหตุระเบิดที่ ถ.บรรทัดทอง จึงเดินทางมาที่เกิดเหตุ พบผู้บาดเจ็บ รถเครื่องขยายเสียงได้รับความเสียหาย และผู้ชุมนุม กปปส. จำนวนหนึ่งรื้อรั้วสังกะสีเข้าไปในบริเวณที่มีคนตะโกนว่า มีคนปาระเบิดมาจากด้านหลังรั้ว ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 1 เมตรเศษ

จากนั้นมีชายคนหนึ่งนำชิ้นส่วนระเบิดมาจะมอบให้ตำรวจ แต่ผู้ชุมนุมบอกให้มอบให้ทหาร จึงถ่ายรูปไว้ แล้วให้ชายคนดังกล่าวนำไปชี้จุดที่พบชิ้นส่วนระเบิดโดยไม่ได้สอบถามชื่อ – สกุลของชายคนดังกล่าว หลักฐานที่ได้รับ พ.อ.กิตติ ไม่ได้มอบให้ตำรวจทันที แต่ส่งให้รองผู้บัญชาการกรมทหารม้าที่ 1 เพื่อมอบให้ ศอ.รส. แล้วจึงนำไปมอบให้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ในวันที่ 19 ม.ค. 2557 พร้อมให้การเป็นพยาน หลักฐานที่ส่งมอบให้ตำรวจ ได้แก่ กระเดื่องระเบิด สะเก็ดระเบิด ภาพถ่ายที่เกิดเหตุ 7 ภาพ

อดีตภรรยาของสมเจตน์ คงวัฒนะ ผู้ถูกกล่าวหาว่า นำระเบิดมาให้อภิชาติ ให้การว่ามีทหาร 10 กว่านายมาค้นบ้านในวันที่ 17 มิ.ย. 2557 ทหารที่มาตรวจค้นแต่งชุดเครื่องแบบ 3 คน นอกนั้นใส่ชุดนอกเครื่องแบบและปิดบังใบหน้า รวมถึงไม่ได้ทำการตรวจค้นต่อหน้าของหฤทัย การตรวจค้นครั้งนั้นพบอาวุธจำนวนหนึ่งซึ่งหฤทัยยืนยันว่าไม่ใช่ของเธอ หลังจากนั้นจึงทราบข่าวว่าสมเจตน์ถูกจับกุมไว้ในค่ายทหาร ถูกซ้อมทรมาน ก่อนจะหลบหนีไปจากค่ายทหาร หฤทัยให้การอีกว่าเธอไม่พบทั้งณัฐพรรณ์และอภิชาตมาก่อน รวมถึงสมเจตน์เองก็ไม่เคยกล่าวถึงจำเลยทั้งสองคนด้วย

พล.ต.วิจารณ์ จดแตง คณะทำงานกฎหมาย คสช. เบิกความต่อศาลว่า ฝ่ายทหารสืบทราบว่าณัฐพรรณ์มีความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่ ถ.บรรทัดทอง จึงเชิญตัวมาซักถามตามกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2557

พล.ต.วิจารณ์ ให้การว่า ซักถามณัฐพรรณ์และอภิชาตได้ความว่า ณัฐพรรณ์เป็นคนพากฤษฎา ผู้ต้องหาในคดีนี้ที่ สน.ปทุมวันออกหมายจับ ไปรับระเบิดจากอภิชาต ซึ่งรับมาจากธานินทร์ และสมเจตน์เป็นทอด ๆ ตามลำดับ เมื่อได้ทราบข้อมูลดังนี้จึงนำตัวทั้งสองส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามดำเนินคดี เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2557 และยอมรับว่าผู้ถูกเชิญตัวมาซักถามโดยฝ่ายทหารจะไม่มีทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจอยู่ร่วมในการซักถามด้วย เนื่องจากจำเลยเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยอยู่ในชั้นกฎอัยการศึก ไม่จำเป็นต้องจัดหาทนายความให้

พ.ต.อ.อรรถพล อนุสินธิ์ พนักงานสอบสวนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีครอบครองระเบิด ให้การต่อศาลว่า เป็นผู้สอบปากคำสมเจตน์เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2557 สอบปากคำอภิชาต เมื่อ 22 ก.ค. 2557 และสอบปากคำณัฐพรรณ์ เมื่อ 29 ก.ค. 2557

พ.ต.อ.อรรถพลสอบปากคำทั้งสามคนได้ความว่า อภิชาตเป็นคนมารับระเบิดไปจากสมเจตน์ แล้วณัฐพรรณ์จึงติดต่อขอรับระเบิดจากอภิชาตอีกทอดหนึ่ง ส่วนณัฐพรรณ์ให้การว่า กฤษฎาเป็นผู้ปาระเบิดที่ ถ.บรรทัดทอง แต่ในการสอบสวนของ พ.ต.อ.อรรถพล ไม่มีทนายความและญาติผู้ต้องหาอยู่ด้วย

ร.ต.อ.วิสูตร บุญยังมาก พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ให้การต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับกุมอภิชาตมาที่กองบังคับการปราบปรามเมื่อ 23 ก.ค. 2557 ขณะที่ ร.ต.อ.วิสูตรเป็นเวรพนักงานสอบสวน เมื่อสอบปากตำอภิชาต ได้ความว่าอภิชาตรับระเบิดมาจากสมเจตน์ แล้วณัฐพรรณ์จึงติดต่อขอรับระเบิด โดยไปรับพร้อมกับกฤษฎา ซึ่งระหว่างการสอบปากคำอภิชาต ไม่มีทนายความรับฟังอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ร.ต.อ.วิสูตร เป็นผู้รวบรวมสำนวนส่งอัยการทหารฟ้องคดีครอบครองระเบิด RGD5 ที่มีอภิชาตและณัฐพรรณ์เป็นจำเลยต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยไม่ทราบว่าระเบิดในคดีที่ศาลทหารกรุงเทพเป็นชุดเดียวกับในคดีนี้หรือไม่

ขณะที่ ร.ต.ต.หญิง กีรัณ มิสเซอร์ พยานผู้ตรวจลายนิ้วแฝง ให้การว่าตรวจไม่พบลายนิ้วมือใด ๆ บนชิ้นส่วน และกระเดื่องระเบิดที่เจ้าหน้าที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ แต่พยานตอบคำถามค้านทนายความว่า จากประสบการณ์ของพยานหากมีเก็บหลักฐานเป็นอย่างดี ลายนิ้วแฝงจะปรากฏได้นาน 5-6 เดือนก็สามารถตรวจเจอได้ หากมีคนไปจับกระเดื่องระเบิดก็อาจจะตรวจพบลายนิ้วมือของคนที่สัมผัสได้

พ.ต.อ.นพศิลป์ พูนสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของณัฐพรรณ์และกฤษฎา โดย พ.ต.อ.นพศิลป์ทราบจากสายสืบว่า ณัฐพรรณ์เกี่ยวข้องกับกฤษฎาซึ่งตำรวจเชื่อว่าเป็นผู้ปาระเบิด จึงขอข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของทั้งสองคนไปยังผู้ให้บริการ พบว่าข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของกฤษฎาในวันที่เกิดเหตุ เคลื่อนที่ในลักษณะตามกลุ่มผู้ชุมนุมไป และมีการติดต่อกับณัฐพรรณ์ในวันนั้นด้วย

อย่างไรก็ตามข้อมูลโทรศัพท์ดังกล่าว พ.ต.อ.นพศิลป์ขอข้อมูลด้วยตนเองโดยไม่ได้ขออนุญาตให้ศาลส่งหมายเรียกให้ ไม่ทราบว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่  และเอกสารยังผ่านการแก้ไขโดย พ.ต.อ.นพศิลป์ อีกด้วย

เจ้าของอาคารสำเพ็งสแควร์ สถานที่ที่ถูกอ้างว่าเป็นที่ส่งมอบระเบิดระหว่างอภิชาต ณัฐพรรณ์ และกฤษฎา ให้การต่อศาลว่า อภิชาติเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอาคาร ห้องทำงานมีลักษณะเล็ก โปร่ง ไม่สามารถซุกซ่อนสิ่งของได้ และหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยมาคอยดูบันทึกภาพวงจรปิดที่เกี่ยวกับคดีนี้เลย ส่วนณัฐพรรณ์นั้น เคยว่าจ้างให้มาจัดการผู้ที่ขายสินค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่อาคารเป็นคราว ๆ เท่านั้น

ธานินทร์ ซึ่ง พล.ต.วิจารณ์เบิกความว่าเป็นผู้มอบระเบิดให้สมเจตน์ ให้การต่อศาลว่า เขาเข้ามอบตัวต่อฝ่ายทหารเมื่อ 7 ก.ค. 2557 หลังทราบว่ามีหมายจับศาลทหารสระบุรีในคดีครอบครองอาวุธ ระหว่างถูกควบคุมตัว ทหารนำเอกสารหลายฉบับมาให้เซ็นชื่อ ก่อนถูกพาตัวไปให้ตำรวจสอบปากคำที่สถานีตำรวจภูธรภาค 1 ในการสอบปากคำ ตำรวจสอบถามเฉพาะข้อมูลส่วนตัวและที่เกี่ยวกับครอบครัวเท่านั้น ระหว่างสอบปากคำมีทหารร่วมด้วย

ธานินทร์ให้การว่า เขาถูกตำรวจขู่ให้เซ็นชื่อในเอกสาร ไม่อย่างนั้นทหารจะไม่ช่วยประกันตัว ทุกครั้งที่ถูกพาตัวมาให้ตำรวจสอบสวน ธานินทร์จะถูกปิดตาและใส่กุญแจมือ นอกจากนี้ และถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวของฝ่ายทหารด้วย นอกจากนี้ ธานินทร์ให้การว่าไม่เคยพบจำเลยในคดีนี้มาก่อน

พ.ต.ท.จักริน พันธ์ทอง พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เบิกความต่อศาลว่า เมื่อได้รับแจ้งเหตุระเบิดจึงเดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุ แต่มวลชน กปปส. โห่ร้องด่าทอเจ้าหน้าที่จนต้องถอนกำลังออกมา และได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุอย่างละเอียดในวันถัดมาแทน ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพูดว่า ระเบิดที่ใช้ก่อเหตุเป็นระเบิด RGD5 1ลูก ในที่เกิดเหตุมีประชาชนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา 1 ราย ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย

พ.ต.ท.จักริน ได้สอบปากคำ พ.ต.อ.นพศิลป์ เกี่ยวกับข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์ของกฤษฎาและณัฐพรรณ์ จากนั้นจึงเรียกณัฐพรรณ์มาสอบปากคำในฐานะพยาน ซึ่งณัฐพรรณ์ให้การว่า กฤษฎาเป็นคนโทรมาแจ้งเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดที่ ถ.บรรทัดทอง ด้วยตนเอง พ.ต.ท.จักริน ได้สอบปากคำคนอื่นที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ ยกเว้นชายเสื้อดำซึ่งเป็นผู้เก็บกระเดื่องส่งให้ทหาร และไม่ได้สอบสวนต่อว่า หมายเลขโทรศัพท์ที่ พ.ต.อ.นพศิลป์ รายงานมาเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของณัฐพรรณ์และกฤษฎาจริงหรือไม่

พ.ต.ท.จักรินแจ้งข้อหาณัฐพรรณ์ อภิชาต และสมเจตน์ ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดีอื่นอยู่ก่อนแล้วในข้อหาตามฟ้อง แต่สมเจตน์ได้รับการประกันตัวออกไป ขณะที่กฤษฎาอยู่ระหว่างหลบหนียังติดตามตัวมาดำเนินคดีไม่ได้ บันทึกคำให้การของณัฐพรรณ์และอภิชาต ที่จัดทำโดย พ.ต.ท.จักรินระบุว่าจำเลยทั้งสองคนให้การรับสารภาพ

อย่างไรก็ตาม ทนายความจำเลยตั้งข้อสังเกตว่า บันทึกคำให้การของจำเลยมีบางส่วนที่เหมือนกับคำให้การที่พนักงานสอบสวนคนอื่นเคยสอบสวนไว้ก่อนหน้าทุกตัวอักษร แต่ พ.ต.ท.จักรินยืนยันว่าเป็นผู้สอบปากคำด้วยตนเอง ไม่ได้คัดลอกจากบันทึกคำให้การของพนักงานสอบสวนคนอื่น

  • สืบพยานจำเลย

ณัฐพรรณ์ จำเลยที่ 1 ให้การต่อศาลว่าไม่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นการกระทำผิดในคดีนี้ เพราะวันที่ 17 ม.ค. 2557 ที่เกิดเหตุระเบิด เขาขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ ถ.เพชรบุรี ซ.5 ตั้งแต่ 06.00-20.00 น.

ณัฐพรรณ์เบิกความว่า ถูกทหารควบคุมตัววันที่ 22 ก.ค. – 13 ส.ค. 2557 ที่กรมสารวัตรทหาร ซ.โยธี ที่ทราบเพราะมองออกไปจากที่ควบคุมตัวเห็นอาคารพญาไทเกสต์ ระหว่างการควบคุมตัวถูกทหารทำร้ายร่างกาย และบังคับให้ให้การตามที่ทหารบอก ไม่เคยรู้จักสมเจตน์และธานินทร์มาก่อน และไม่เคยไปรับระเบิดจากอภิชาตตามที่กล่าวหา เพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูลูก

ด้านอภิชาต จำเลยที่ 2 ให้การว่า ถูกทหารควบคุมตัววันที่ 18 ก.ค. 2557 ที่กรมสารวัตรทหาร ซ.โยธี ในห้องสี่เหลี่ยมปิดทึบ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาตหรือทนายความ ระหว่างถูกควบคุมตัว ทหารจะเข้ามาสอบถามว่ารู้จักใครบ้าง หากตอบว่าไม่รู้จักจะถูกทำร้าย

เมื่อถูกพาตัวไปพบตำรวจ อภิชาตถูกทหารบังคับให้การตามที่เตรียมไว้ ก่อนจะได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนกลับมาอยู่ในความควบคุมของทหารต่อ เรื่องของการถูกทำร้ายร่างกายมีองค์กรกาชาดสากลมาตรวจสอบหลังจากที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว เขายืนยันว่าไม่รู้จักสมเจตน์ ธานินทร์ และกฤษฎามาก่อน

  • ประเด็นในคดี

พยานหลักฐานที่สามารถมัดตัวทั้งณัฐพรรณ์และอภิชาตในคดีนี้ มีเพียงคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของตัวจำเลยเอง และคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานอย่างธานินทร์และสมเจตน์ ซึ่งณัฐพรรณ์ อภิชาต และธานินทร์ต่างให้การต่อศาลว่าให้การรับสารภาพเพราะถูกซ้อมทรมาน ขณะที่อดีตภรรยาของสมเจตน์เองก็ให้การว่า ทราบข้อมูลว่าสมเจตน์ถูกซ้อมทรมานด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ มีตัวอย่างคดีความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ที่ศาลทั้งรับฟังและไม่รับฟังคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนที่จำเลยอ้างว่า เป็นการรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ ได้แก่ คดียิงระเบิด M79 ใส่พื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม กปปส. บริเวณห้างบิ๊กซี ราชดำริ และคดีระเบิดเวที กปปส. จ.ตราด

สำหรับคดีระเบิดบิ๊กซีราชดำริ ศาลรับฟังคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน เนื่องจากเชื่อว่าพยานนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมซักถามในชั้นกฎอัยการศึก ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย น่าเชื่อถือกว่าคำให้การของจำเลยที่อ้างว่ามีการซ้อมทรมาน ศาลพิพากษาประหารชีวิตจำเลยในคดีนี้ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการยื่นฎีกา

ส่วนคดีระเบิดเวที กปปส. จ.ตราด ศาลเชื่อคำให้การในศาลและพยานหลักฐานของจำเลยที่อ้างว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นไปโดยไม่สมัครใจ เพราะจำเลยถูกซ้อมทรมาน ซึ่งตามกฎหมายศาลไม่อาจนำคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนดังกล่าวมารับฟังได้  ขณะที่พยานหลักฐานอื่น ๆ ของโจทก์ก็ไม่สามารถพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัยได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ ศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่โจทก์ขออุทธรณ์ จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยทั้งสองจะถูกควบคุมตัวมามากกว่า 2 ปี แต่ทั้งณัฐพรรณ์และอภิชาตก็ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ โดยณัฐพรรณ์ขอต่อสู้คดีครอบครองระเบิด RDG5 ที่ศาลทหารกรุงเทพ ขณะที่อภิชาตรับสารภาพในคดีเดียวกัน ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุก 10 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 5 ปี ซึ่งมีความคลุมเครืออยู่ว่าระเบิดที่ถูกนำมาฟ้องในคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้กับในศาลทหารกรุงเทพเป็นระเบิดชุดเดียวกันหรือไม่

ทั้งนี้คำพิพากษาฉบับเต็มจะเผยแพร่ในภายหลังจากที่ได้คัดถ่ายจากศาลในเร็วๆ นี้

.

X