ตำรวจออกหมายเรียก “แดง ชินจัง” คดีระเบิด ป.ป.ช. ปี 57 อีก

ตำรวจออกหมายเรียก ยงยุทธ บุญดี หรือ “แดง ชินจัง” เพื่อส่งตัวให้อัยการ ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมก่อเหตุระเบิดที่หน้าสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานกองสลากเมื่อมีนาคม 2557 อีกครั้ง หลังเคยถูกปล่อยตัวในคดีนี้มาก่อนแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ศาลอาญาเคยพิจารณาว่าคำให้การของเขาถูก “จูงใจ” โดยเจ้าหน้าที่ให้รับสารภาพเพื่อกันเป็นพยานในคดีระเบิดเวที กปปส.แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นคำให้การที่มีรายละเอียดรวมถึงคดีล่าสุดนี้ด้วย

23 ก.ย. 2562 ยงยุทธ บุญดี หรือ “แดง ชินจัง” พร้อมทนายความเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ตามหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2557 ได้ร่วมกันกับพวกรวม 4 คน ยิงระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 3 นัด ใส่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานกองสลากที่มีเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ มีเพียงทรัพย์สินเสียหาย จากนั้นผู้ต้องหาได้หลบหนีไป

คดีนี้ยงยุทธถูกตั้งข้อหา ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ทำให้เกิดระเบิดจนเกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินและชีวิต, มีเครื่องกระสุนและวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ในครอบครอง

พนักงานสอบสวนได้นำตัวยงยุทธพร้อมสำนวนการสอบสวนส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี อัยการได้นัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 10 ต.ค. 2562

ตามบันทึกจับกุม ลงวันที่ 1 ส.ค. 2557 ระบุว่า พ.อ.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานกฎหมายส่วนรักษาความสงบ (คสช.) ได้นำตัวยงยุทธ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 299/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 ไปมอบตัวกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามบันทึกจับกุมดังกล่าวจะเห็นว่า คนที่นำตัวยงยุทธไปส่งให้กับตำรวจนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร

ภาพขณะยงยุทธ ถูกนำตัวมาแถลงข่าว พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมกุล, พ.อ.วิจารณ์ จดแตง (ยืนหลังยงยุทธ) และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง

ก่อนหน้าที่เขาจะถูกจับกุม คสช. เคยออกคำสั่งเรียกยงยุทธเข้ารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. 2557 แล้ว ต่อมาราวเดือนเศษปรากฏข่าวว่า ยงยุทธถูกทหารจับกุมตัวที่บริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันที่ 28 ก.ค. 2557 โดยเขาถูกควบคุมตัวและซักถามในกองพันทหารสารวัตรที่ 11 (พัน.สห.11) ก่อนที่ทหารจะนำตัวไปส่งให้กับตำรวจในวันที่ 1 ส.ค. 2557 และมีการแถลงข่าวในวันเดียวกันว่าเขาได้ร่วมก่อเหตุรุนแรงหลายแห่ง

หลังการแถลงข่าวทั้งแม่ของยงยุทธและทนายความยังไม่สามารถติดตามได้ว่ายงยุทธถูกควบคุมไว้ที่ใด โดยตำรวจปฏิเสธความรับรู้ว่ายงยุทธถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด แต่ได้แจ้งว่ามีการประกันตัวออกไปโดยไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดในการประกันตัวและได้ติดต่อให้เจ้าหน้าที่ทหารมาพบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารได้แสดงเอกสารว่ายงยุทธสมัครใจอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่เอง จนกระทั่งแม่ของยงยุทธได้พบตัวเขาที่เรือนจำมีนบุรีเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เขาถูกนำตัวไปทำแผนและถูกส่งตัวไปขังในเรือนจำ

5 ปีที่ผ่านมา จากคำให้การของยงยุทธระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหารส่งผลให้เขาถูกดำเนินคดีเพียง 2 คดี (ศาลยกฟ้อง 1 คดี และพิพากษาลงโทษจำคุก 1 คดี แต่เพราะรับสารภาพ ศาลจึงได้ลดโทษให้ เหลือโทษจำคุก 4 ปี) และคดีล่าสุดนี้เป็นคดีที่ 3 ซึ่งหลังถูกจับกุม ยงยุทธถูกขังระหว่างการสอบสวนจนกระทั่งครบกำหนดที่ศาลจะอนุญาตให้ฝากขังได้ และได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอในการฟ้องคดี

นอกจากนี้ คำให้การดังกล่าวของยงยุทธยังถูกเจ้าหน้าที่นำมาใช้ และยงยุทธถูกเบิกตัวมาเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธในช่วงการชุมนุมของ กปปส. เมื่อต้นปี 2557 มาก่อนแล้ว

คดีแรก มีจำเลย 2 คนถูกดำเนินคดี โดยถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันยิงเอ็ม 79 เข้าไปกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณตึกชินวัตร 3 โดยคดีนี้ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 คน ส่วนอีกคนศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานนอกจากคำให้การรับสารภาพของจำเลยเอง

คดีที่สอง เป็นกรณีที่ยงยุทธถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันยิงกระสุนระเบิดเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุมของ กปปส. บนถนนแจ้งวัฒนะ 3 ครั้ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2557  คดีที่สาม เป็นกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2557 ได้ร่วมกันยิงกระสุนระเบิดเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส. แจ้งวัฒนะอีกเช่นกัน แต่ระเบิดพลาดตกในกองร้อยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1

ทั้งนี้ ในคดีที่สองและสาม ซึ่งมีจำเลยรวมทั้งหมด 6 คน (มี 3 คนที่ถูกดำเนินคดีในทั้งสองคดี และ 2 คนถูกดำเนินคดีจากเหตุระเบิดที่ตึกชินวัตร 3) ศาลอาญาเคยพิจารณาว่า คำให้การที่ยงยุทธรับสารภาพนั้นเป็นคำให้การที่เจ้าหน้าที่ “จูงใจ” ยงยุทธให้รับสารภาพ โดยได้รับคำมั่นสัญญาจากเจ้าหน้าที่ว่าจะไม่ดำเนินคดี อีกทั้งในสองคดีนี้ยงยุทธยังมีสถานะเป็นเพียงแค่พยานฝ่ายโจทก์เท่านั้นโดยไม่ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย จึงน่าเชื่อว่าเป็นคำให้การที่มาจากการให้คำมั่นสัญญาของเจ้าหน้าที่ จึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟัง

นอกจากนี้ ในคดีที่สองศาลยังได้พิจารณาถึงคำให้การของยงยุทธ ซึ่งเป็นพยานโจทก์ปากสำคัญในคดี ที่ให้การว่าตนเองถูกทำร้ายระหว่างการควบคุมตัวของทหารตามอำนาจของกฎอัยการศึก โดยศาลยกเป็นเหตุในการพิเคราะห์ว่า คำให้การของยงยุทธที่ระบุว่าจำเลยในคดีได้ก่อเหตุนั้นไม่น่าเชื่อถือ

 

X