25 ต.ค. 2561 ศาลาญา ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษายกฟ้อง คดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อปี 2557 เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธ และจำเลยอาจถูกทำร้ายร่างกายและข่มขู่ให้รับสารภาพ
09.00 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาคดีที่นายณัฐพรรณ์ หลุ่มบางล้า และนายอภิชาต พวงเพ็ชร ถูกฟ้องฐานครอบครองระเบิดและร่วมทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จากเหตุการณ์ระเบิดที่ชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2557
จำเลยทั้งสองถูกฟ้องร่วมกันใน 3 คดี ได้แก่ คดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. บริเวณ ถ.บรรทัดทอง เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2557 ในศาลอาญากรุงเทพใต้, คดีร่วมกันครอบครองระเบิด RGD5 จำนวน 20 ลูก ในศาลทหารกรุงเทพ, และคดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2557 ในศาลอาญา ทั้งสามคดีใช้พยานหลักฐานคำให้การในชั้นสอบสวนชุดเดียวกัน ซึ่งจำเลยร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้รับสารภาพ
คดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินี้ ศาลอาญายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา โดยข้อหาครอบครองระเบิด ศาลเห็นว่าเป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาในกรณีดังกล่าวไปแล้ว
ส่วนข้อหาร่วมกันทำให้เกิดเหตุระเบิดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โจทก์มีประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่าคนร้ายมีเพียงคนเดียว และไม่มีใครช่วยในการหลบหนี ประกอบกับภาพจากกล้องวงจรปิดและสารพันธุกรรมที่เก็บได้จากเสื้อแจ็กเกตที่คนร้ายทิ้งไว้ระหว่างหลบหนี ชี้ว่าคนร้ายคือนายกฤษฎา ไชยแค เพียงคนเดียว
ในส่วนที่จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้รับระเบิดมาส่งมอบให้นายกฤษฎานั้น โจทก์มีเพียงคำให้การของนายพีรพงษ์ สินธุสนธิชาติ และคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นหลักฐานเท่านั้น
นายพีรพงษ์มาเบิกความต่อศาล ยืนยันว่าไม่เคยให้การตามบันทึกคำให้การ แต่ถูกให้ลงชื่อในเอกสารโดยที่ไม่ได้อ่าน และที่ยอมลงชื่อเพราะขณะนั้นถูกควบคุมตัวโดยทหารตามกฎอัยการศึกเป็นเวลามากกว่า 7 วัน เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ระหว่างนั้นถูกทำร้ายร่างกายเพื่อให้ทำตามคำสั่ง
ในส่วนของจำเลยทั้งสอง แม้จะรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาของศาล และในบันทึกคำให้การจำเลยที่จัดทำโดยพนักงานสอบสวนก็มีพิรุธ เพราะคำให้การที่สอบสวนโดยพนักงานสอบสวน 3 คนมีเนื้อหาเหมือนกัน และโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นใดมาแสดงว่าจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องในคดีนี้ ข้อเท็จจริงจึงไม่แน่ชัดว่านายกฤษฎากระทำการเพียงคนเดียวหรือร่วมกับบุคคลอื่น
แม้โจทก์จะอ้างถึงการซ้อมยิงปืนที่สวนของนายพีรพงษ์ แต่กลับไม่มีการสืบสวนสอบสวนในประเด็นดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีความเกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิดที่ใช้ก่อเหตุในคดีนี้ นอกจากนี้ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง นายทหารผู้ซักถามจำเลยทั้งสองขณะถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ให้การว่า สาเหตุที่ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองเพราะมีคำซักทอดจากนายสมเจตน์ คงวัฒนะ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มอบระเบิดให้นายอภิชาต จำเลยที่ 2 ในคดีนี้
หลังรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา คสช. ถูกร้องเรียนว่าซ้อมทรมานบุคคลระหว่างควบคุมตัวในค่ายทหาร โดย พล.ต.วิจารณ์ เคยให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ที่ไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้พบทนายความเพราะกลัวจะไม่ได้ข้อเท็จจริงจากการซักถาม และฝ่ายทหารได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด รวมทั้งให้แพทย์มาตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมตัว เพื่อป้องกันข้อครหาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ไม่มีภาพวงจรปิดขณะซักถามผู้ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร และไม่มีใบรับรองแพทย์ ทั้งของนายพีรพงษ์และจำเลยทั้งสอง ทนายความไม่ได้อยู่ร่วมขณะเจ้าหน้าที่ทหารซักถามจำเลย และไม่มีการอ้างส่งบันทึกการซักถามโดยเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาในสำนวนของศาล
นอกจากนี้ โจทก์ยังไม่นำอดีตภรรยาของนายณัฐพรรณ์จำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ไปกับนายณัฐพรรณ์ในวันรับระเบิดมาเบิกความต่อศาล และบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่ามีพยานปากดังกล่าวไปรับระเบิดด้วย บันทึกคำให้การของนายสมเจตน์ซึ่งซัดทอดมาถึงจำเลยทั้งสองก็ขัดแย้งกันเอง
จำเลยทั้งสองยังอ้างว่าถูกทำร้ายและข่มขู่ให้รับสารภาพขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ศาลต้องรับฟังพยานหลักฐานอย่างหนักแน่น พยานโจทก์ที่นำสืบยังมีความสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา แต่กระเดื่องระเบิดของกลางให้ริบ และมีคำสั่งขังจำเลยทั้งสองระหว่างอุทธรณ์คดี