ศาลฎีกาพิพากษาคดียิง M79 กปปส. บิ๊กซี ยืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารจำเลย แต่รับสารภาพเหลือคุกตลอดชีวิต

วันนี้ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกายิง M79 ที่ชุมนุม กปปส. หน้าบิ๊กซี ราชดำริ เมื่อกุมภาฯ 57 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 4 แต่เนื่องจากรับสารภาพในชั้นสอบสวนเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต

22 ส.ค.2560 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ 3734/2557 หมายเลขแดงที่ 2994/2558 อัยการศาลอาญากรุงเทพใต้พิเศษ 4 ฟ้อง ชัชวาล(ชัช) ปราบบำรุง(จำเลยที่ 1), สมศรี(เยอะ) มาฤทธิ์ (จำเลยที่ 2), สุนทร(ทร) ผิผ่วนนอก(จำเลยที่ 3)และทวีชัย(วี) วิชาคำ(จำเลยที่ 4) ว่าได้ร่วมกันยิงกระสุนระเบิดขนาด 40 มม. ด้วยเครื่องยิง M79 ไปตกลงบริเวณที่ชุมนุมของ กปปส. ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2557 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส 9 ราย และได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจอีก 12 ราย และทำให้แผงร้านค้าและรถตุ๊กตุ๊กที่จอดอยู่ในบริเวณจุดเกิดเหตุได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาสรุปความได้ว่า ตามที่จำเลยอุทธรณ์ประเด็นที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากคดีนี้อยู่ในอำนาจสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามมติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และบางจังหวัดรวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วยและความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน แต่การกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 4เป็นการกระทำต่อผู้ชุมนุม กปปส. ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดร่วมกับสุเทพ เทือกสุบรรณหรือพวกในการก่อเหตุ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ประเด็นที่จำเลยฎีกาจึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างว่าระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหารตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา7 วัน มีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพ ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น และในตอนที่ถูกส่งต่อให้ตำรวจก็ไม่มีการแจ้งต้องพนักงานาอบสวนในเรื่องนี้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ที่เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่ม นปช. น่าจะเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างดีแต่เมื่อมีการนำตัวมาแถลงข่าวและทำแผนก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ และหากมีการทำร้ายร่างกายจำเลยทั้ง 4 จริงวันแถลงข่าวและทำแผนก็น่าจะปรากฏร่องรอยอยู่บ้าง นอกจากนั้นในคำให้การของนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ที่เข้าตรวจจำเลยทั้ง 4ในเรือนจำ ก็ไม่ได้มีการตรวจพบบาดแผลและตามที่จำเลยอ้างถึงเอกสารการประชุม กสม. ก็ไม่ปรากฏว่ามีการพูดถึงกรณีของจำเลยทั้ง 4 คน

อีกทั้งในการแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพก็เป็นโอกาสที่จำเลยทั้ง 4 จะได้ชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัว ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เบิกความว่าตนเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม นปช.น่าจะเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างดีจึงน่าจะมีการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในวันดังกล่าวจำเลยทั้ง 4ก็ยังไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพและขอขมาต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย และหากมีการทำร้ายร่างกายจริงก็ต้องปรากฏร่องรอยบาดแผลหลงเหลืออยู่ให้เห็นในระหว่างการแถลงข่าว

จำเลยอ้างว่าเมื่อถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนแล้วในระหว่างการสอบปากคำไม่มีผู้ที่ไว้วางใจและทนายความ ในเอกสารสอบปากคำจำเลยได้ปรากฏลายมือชื่อของทนายความและยังมีเอกสารรับรองของทนายความที่เข้าร่วมการฟังสอบปากคำมาด้วย อีกทั้งพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบปากคำพยานจำเลยยังมาเบิกความยืนยันอีกด้วยว่ามีการให้ทนายความเข้าร่วมฟังการสอบปากคำด้วย ศาลจึงเห็นว่าพนักงานสอบสวนคงไม่นำผู้ที่ไม่ได้เป็นทนายมาเข้าร่วมฟังการสอบสวน

ศาลฎีกาจึงพิจารณาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือ ตัดสินประหารชีวิตในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพกพาอาวุธไปที่สาธารณะลง 2 ปี แต่การสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษ 1 ใน 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษคงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และพกพาอาวุธคงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษแล้วศาลให้ลงโทษเพียงสถานเดียวคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น และศาลสั่งให้ริบเครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 และเครื่องกระสุนไว้เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุส่วนรถยนต์ทั้ง 3 คันเป็นเพียงพาหนะที่ใช้อำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดจึงไม่สามารถริบได้ ให้คืนเจ้าของ

คดีนี้จำเลยทั้ง 4 คนในคดีนี้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2557 โดยทหารและใช้อำนาจควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก พวกเขาทั้ง4คน ถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร โดยไม่มีโอกาสได้ติดต่อญาติหรือทนายความ จึงไม่มีใครทราบสถานที่ควบคุมตัวเป็นเวลา8-9 วัน ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอยู่ในการควบคุมตัวของทหารเกินระยะเวลาที่กฎอัยการศึกได้อนุญาตไว้ ก่อนถูกส่งตัวเข้าสู่กระบวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พวกเขาถูกกล่าวหาตามพฤติการณ์และข้อหาตามที่กล่าวถึงข้างต้น ภายหลังทนายความสามารถเข้าถึงได้จึงได้รับการร้องเรียนจากจำเลยว่าพวกตนถูกซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวนของทหาร(อ่านประมวลคดีนี้ได้ ที่นี่)

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2558 ให้ตัดสินประหารชีวิตในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพกพาอาวุธไปที่สาธารณะลง 2 ปี แต่การสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษ 1 ใน 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษคงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และพกพาอาวุธคงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษแล้วศาลให้ลงโทษเพียงสถานเดียวคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น และศาลสั่งให้ริบเครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 และเครื่องกระสุนไว้เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุส่วนรถยนต์ทั้ง 3 คันเป็นเพียงพาหนะที่ใช้อำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดจึงไม่สามารถริบได้ ให้คืนเจ้าของ(อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ที่นี่)

ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยทั้งสี่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีในประเด็นว่าพวกตนไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และพวกตนถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวนภายในค่ายทหารระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและถูกบังคับให้สารภาพและไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพด้วย ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณายืนตามศาลชั้นต้น (อ่านสรุปคำพิพากษาอุทธรณ์ได้ ที่นี่)

X