อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง คดีสลายนักศึกษาชุมนุมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร

วานนี้ (24 ม.ค. 62) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี จากการสลายการชุมนุมในกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหาร 22 พ.ค. หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2558 โดยศาลพิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น (ดูคำพิพากษาฉบับเต็ม) ขณะที่โจทก์เตรียมขออนุญาตยื่นฎีกาต่อไป

09.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 705 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลได้อ่านคำพิพากษา คดีที่รังสิมันต์ โรม, ชนกนันท์ รวมทรัพย์, กรกช แสงเย็นพันธ์, ชลธิชา แจ้งเร็ว, ณพัทธ์ นรังศิยา, ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร, กรกนก คำตา, รัฐพล ศุภโสภณ, ปณต ศรีโยธา, กันต์ แสงทอง, นัชชชา กองอุดม, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, และปกรณ์ อารีกุล โจทก์ที่ 1-13 ตามลำดับ ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ เป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 16 ล้านบาท โดยคำพิพากษาแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1: โจทก์ทั้ง 13 เข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่

1.1) ศาลเห็นว่าการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ยืนดูนาฬิกาและการชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ชุมนุม เป็น “การชุมนุมที่ติดพันและเป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องกัน” ประกอบกับเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่บอกว่าจะไปส่งนัชชชา (โจทก์ที่ 11) แต่นัชชชารีบลงจากอาคารหอศิลป์ไปที่ลานกิจกรรมซึ่งกำลังมีการจับกุมผู้ชุมนุมอยู่นั้น เป็นการเข้าไปรวมกลุ่มชุมนุมกับเพื่อน ไม่ได้มีความตั้งใจจะกลับบ้าน นัชชชาจึงเป็นผู้ร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุด้วย

1.2) ศาลเห็นว่าการชุมนุมทำกิจกรรมไม่จำต้องมีพฤติกรรมเหมือนกันทั้งหมด มีการแบ่งหน้าที่กันทำก็ได้ ตามภาพถ่าย เฟชบุ๊คหมาย ล.6 (พยานหลักฐานฝั่งจำเลย) มีการระบุแผนการ 7 ข้อ หนึ่งในจำนวนนั้นเขียนว่าให้ถ่ายภาพตอนชุลมุนไว้มาก ๆ ถ้ามีคนบาดเจ็บ ให้รีบเอาลงเฟสบุ๊ค และระบุว่าทีมแต่งภาพให้เก็บภาพทำกราฟฟิคและปล่อยให้เร็ว แสดงว่าผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งมีหน้าที่ถ่ายรูปเพื่อนำไปลงในโลกโซเชียล โดยปกรณ์ (โจทก์ที่ 13) รู้จักกับผู้ชุมนุม เคยทำกิจกรรมทางสังคมด้วยกัน ทั้งยังได้ถ่ายภาพในที่ชุมนุมและยังรับว่าคอยซื้อน้ำให้ผู้ชุมนุม จึงถือว่าปกรณ์ร่วมชุมนุมด้วย

ประเด็นที่ 2: การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เป็นการกระทำละเมิดโจทก์ทั้ง 13 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยทั้ง 3 ต้องร่วมรับผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร หรือไม่

2.1) ศาลเห็นว่าการกระทำที่จะเป็นการละเมิดไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม ต้องเป็นการกระทำโดยผิดกฏหมาย ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย โดยจำเลยที่ 1 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และจำเลยที่ 2 (กองทัพบก) อ้างว่า โจทก์ทั้ง 13 กระทำผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 โดยขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบังคับแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 อาศัยบทบัญญัติมาตรา 44 ที่ได้ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ดังนี้

“ในกรณีที่หัวหน้าคสช.เห็นเป็นความจำเป็นในการ…ป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ … ให้หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. มีอำนาจระงับ ยับยั้งกระทำการใด ๆ ได้….และให้ถือเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด..”

กรณีนี้ แม้ว่าคำสั่ง 3/58 จะถือว่าเป็นการแทรกแซงหรือจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามที่โจทก์ทั้ง 13 กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ แต่การออกคำสั่งที่ 3/58 ข้อ 12 นั้นถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 ให้มีคำสั่งดังกล่าวได้ ทั้งคำสั่งดังกล่าวไม่ได้กว้างขวาง คลุมเครือ ไม่มีความแน่นอนชัดเจนจนไม่อาจเข้าใจได้ดังที่โจทก์ทั้ง 13 รายอุทธรณ์ อีกทั้งรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2560 ยังไม่มีผลบังคับใช้

2.2) ส่วนกติการะหว่างประเทศ การเป็นภาคีสมาชิกในพันธกรณีดังกล่าวเพียงแต่เป็นการแสดงว่าประเทศไทย เห็นด้วยและจะปฏิบัติตามและจะอนุวัติกฎหมายภายในของประเทศให้สอดคล้อง แต่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บัญญัติว่ากฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับพันธกรณีระหว่างประเทศ เป็นผลให้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่มีผลบังคับ

2.3) เมื่อคำสั่ง 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร มีอำนาจเข้าไปยับยั้งการชุมนุม การกระทำดังกล่าวจึงไม่ใช่การกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นองค์ประกอบของการละเมิดผู้อื่น ถ้าการกระทำนั้นทำโดยสุจริตและพอสมควรแก่เหตุ โดยการจับกุมโดยไม่ใช้เครื่องพันธนาการ อาวุธ บาดแผลโจทก์บางคนที่ปรากฏ ส่วนใหญ่เกิดจากการฉุดกระชาก ลากถู อันเกิดจากการขัดขืนของโจทก์เอง ขณะจับกุม

2.4) การนำตัวไป สน.แล้วมีการเจรจาต่อรองและว่ากล่าวตักเตือนในทำนองขอร้องแกมบังคับไม่ให้โจทก์ทั้ง 13 ไปชุมนุมลักษณะดังกล่าวอีก ก็เป็นเพียงวิธีการอันหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ โจทก์ทั้ง 13 ไปกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งคำสั่งหัวหน้า คสช. อีก

2.5) แม้ต่อมาจะมี การตราพรบ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่คำสั่งที่ 3/58 ยังไม่ยกเลิกหรือแม้จะมี รธน.60 ม.44 แต่ในวรรค 2 ยังเปิดช่องให้ออกกม.เพื่อความมั่นคงของรัฐได้ ทั้ง มาตรา 279 ก็บัญญัติให้ประกาศ คำสั่ง มีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกม.

การกระทำของ เจ้าหน้าที่จึงไม่ใช่เป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการละเมิด จำเลยทั้ง 3 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่น เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น (ยกฟ้อง) โดยโจทก์ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ ขณะที่โจทก์เตรียมขออนุญาตยื่นฎีกาต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X