สืบพยานวันที่ 3: ประจักษ์พยานเห็นว่า จนท. ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ คดีนักกิจกรรมหน้าหอศิลป์ฯ ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ

สืบพยานวันที่ 3: ประจักษ์พยานเห็นว่า จนท. ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ คดีนักกิจกรรมหน้าหอศิลป์ฯ ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ

21 ก.ค. 2560 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดสืบพยานโจทก์ คดีนักกิจกรรมฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมรำลึก 1 ปีรัฐประหารหน้าหอศิลป์ฯ

พยานที่โจทก์นำสืบในวันดังกล่าวล้วนแต่เป็นประจักษ์พยาน ผู้อยู่ในเหตุการณ์ จำนวน 6 คน ได้แก่ นายอานนท์ ชวาลาวัลย์ ผู้สังเกตการณ์จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw, นางสาวขวัญระวี วังอุดม นักสิทธิมนุษยชนที่อยู่เป็นเพื่อนนัชชชา กองอุดม โจทก์ที่ 11 ขณะถูกจับกุม, นางสาวจารุวรรณ สาทลาลัย ประชาชนที่สังเกตการณ์บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, นางสาวธารารัตน์ ปัญญา นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม, ผศ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เดินทางไปเยี่ยมนักศึกษาหลังถูกจับกุมไปไว้ที่ สน.ปทุมวัน, และนายแอนเดรีย จิออเก็ตตา ผู้สังเกตการณ์จากสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล หรือ International Federation for Human Rights: FIDH

ขวัญระวี นักสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในเหตุการณ์ให้การว่า เพิ่งรู้จักนัชชชา กองอุดม จำเลยที่ 11 ในวันเกิดเหตุ โดยอยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครตั้งแต่ประมาณ 16.00 น. นั่งดื่มกาแฟอยู่กับนัชชชาที่ชั้นสาม มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ 7-8 คน คอยติดตามควบคุมนัชชชาอยู่ตลอด ด้วยความเป็นห่วงขวัญระวีจึงอยู่ดูแลนัชชชา ทำให้ไม่ทราบเหตุการณ์การสลายการชุมนุมโดยตลอด

ขวัญระวีเบิกความอีกว่า เธอเห็นว่านัชชชาถูกใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ หลังถูกเจ้าหน้าที่ติดตามใกล้ชิด นัชชชาตัดสินใจจะเดินทางกลับที่พัก แต่เมื่อเปิดประตูชั้นหนึ่งของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครออกไป เจ้าหน้าที่ทั้งชายและหญิงเข้ามาจับกุมจนนัชชชาล้มลุกคลุกคลาน ก่อนหิ้วปีกกลับเข้ามาในหอศิลป์ฯ ระหว่างถูกจับกุมขึ้นรถตู้ นัชชชามีอาการอาเจียน หายใจไม่ออก และเจ็บลิ้นปี่อีกด้วย

ด้านธารารัตน์ หนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมให้การประกอบภาพวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ว่า ตลอดกิจกรรมที่เริ่มประมาณ 18.05 น. เจ้าหน้าที่ไม่ได้ประกาศห้ามหรือให้ยุติการทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายเริ่มดึงณพัทธ์ นรังศิยา โจทก์ที่ 5 ออกจากการทำกิจกรรม จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมที่เหลือจึงรวมตัวกันเเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกควบคุมตัว โดยเธอถูกควบคุมตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายในช่วงค่ำ

ธารารัตน์ตอบคำถามค้านของอัยการว่า การแสดงเสรีภาพต้องมีขอบเขต ขณะนั้นบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ รัฐธรรมนูญถูกล้มล้าง แต่เธอเห็นว่า คำสั่งคณะปฏิวัติไม่ถือเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำเป็นต้องปฏิบัติตาม และทราบว่า คสช. มีคำสั่งห้ามชุมนุม แต่ธารารัตน์เห็นว่า กิจกรรมนี้ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ช่วงบ่าย ธีระ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นเบิกความต่อศาลว่า วันที่เกิดเหตุทราบข่าวการสลายการชุมนุมประมาณ 19.30 น. ว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ทำกิจกรรมไว้ที่ สน.ปทุมวัน หนึ่งในนั้นเป็นคนรู้จักคือรังสิมันต์ โรม โจทก์ที่ 1 และรัฐพล ศุภโสภณ โจทก์ที่ 8 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังทราบข่าวจึงเดินทางไปพร้อมเพื่อนอาจารย์และลูกศิษย์อีกหนึ่งคน ถึง สน.ปทุมวัน ประมาณ 20.30 น. มีประชาชนอยู่บริเวณ สน. จำนวนมาก เขาพยายามสอบถามว่านักศึกษาถูกควบคุมตัวไว้ที่ใด แต่ไม่ได้คำตอบชัดเจน มาทราบภายหลังว่าถูกควบคุมตัวอยู่ในอาคารภายใน สน.ปทุมวัน จึงไปติดต่อขอเยี่ยม แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ให้การต่อว่า ระหว่างรอด้านหน้าอาคารประมาณ 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ได้มาพูดคุยกับเขาและ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ซึ่งอยู่ที่นั่นพอดี เนื่องจากกลัวสถานการณ์บานปลาย เพราะประชาชนมาให้กำลังใจนักศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ

ธีระ กล่าวต่อศาลว่า เขาเสนอให้ตำรวจปล่อยตัวนักศึกษา เพราะการกระทำของนักศึกษาไม่เป็นความผิด แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับฟัง และเสนอฝ่ายเดียวให้ผู้ถูกควบคุมตัวมาแจ้งชื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ว่าเคยชุมนุมมาก่อนหรือไม่ หากมีประวัติเคยชุมนุมจะดำเนินคดี ส่วนคนที่ไม่เคยมีประวัติร่วมการชุมนุมมาก่อนจะปล่อยตัว จากนั้นเขาจึงไปแจ้งข้อเสนอของฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบ ส่วนการตัดสินใจเป็นดุลพินิจของผู้ถูกควบคุม หลังแจ้งข้อเสนอแล้ว ธีระต้องออกจากห้องควบคุมตัวไปรอด้านนอกอาคารจนกระทั่งผู้ถูกควบคุมตัวได้รับการปล่อยตัวเวลา 06.00 น.

ด้านนายแอนเดรีย ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย FIDH เบิกความผ่านล่ามว่า หลังรัฐประหาร 2557มีกรจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง โดยมีการออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น คำสั่ง คสช. และบังคับใช้กฎหมายโดยทหารและตำรวจ วันที่เกิดเหตุ 22 พ.ค. 2558 เขาเดินทางไปสังเกตการณ์ว่าทั้งผู้ชุมนุม ประชาชน และเจ้าหน้าที่ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศหรือไม่

แอนเดรียให้การต่อว่า เขาไปถึงสกายวอล์กหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครประมาณ 18.15 น. ขณะนั้นมีรั้วกั้นบริเวณลนหน้าหอศิลป์ฯ นักศึกษารวตัวกันที่มุมหนึ่ง หันหน้าไปทาง ถ.พญาไท มีเจ้าหน้าที่จำนวนมาก นักศึกษาท่องคำขวัญ หรือร้องเพลงอะไรสักอย่าง ขณะที่เขาไปถึง กลุ่มนักศึกษาและตำรวจยังไม่ได้เข้ามาใกล้กัน จากนั้นประมาณ 20 นาที บรรยากาศเริ่มตึงเครียดขึ้น ตำรวจและนักศึกษาเข้าใกล้กันมากขึ้น แต่เขาไม่ได้ยินการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง หลังจากนั้นจึงเข้าไปสังเกตการณ์ภานในอาคารหอศิลป์ฯ เขาไม่เห็นเหตุการณ์ชุลมุน แต่ประมาณ 19.00 น. เขาเห็นผู้ชุมนุมถูกลากเข้ามาในหอศิลป์ฯ จากนั้น ประมาณ 19.30 น. เขาเห็นนักศึกษาชายคนหนึ่งถูกลากมานอนนิ่งอยู่บริเวณใกล้เครื่องตรวจจับโลหะของหอศิลป์ฯ มีนักศึกษาหญิงคอยดูแลอยู่ แต่นักศึกษาชายคนนั้นนอนแน่นิ่งอยู่อย่างน้อย 30 นาที

ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย FIDH ให้การว่า จากการสังเกตของเขา ฝ่ายเดียวที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุคือเจ้าหน้าที่ ส่วนที่เขาเห็นว่าเป็นการใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุ คือปฏิบัติการนำนักศึกษาออกจากพื้นที่ และเขาไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องยุติการชุมนุม เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ทราบว่ามีเหตุผลใดที่เจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรง อย่างไรเขาทราบดีว่ามีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุม แต่คำสั่งดังกล่าวไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศจะมีกฎเกณฑ์ให้สามารถจำกัดเสรีภาพการชุมนุม แต่สถานการณ์ของประเทศไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์นั้น

แอนเดรียตอบคำถามค้านของอัยการว่า เขาเห็นว่ากิจกรรมครั้งนี้เป็นการชุมนุมทางการเมือง เพราะจัดขึ้นในวันครบรอบหนึ่งปีของการรัฐประหาร และเรื่องการเมืองกับสิทธิมนุษยชนมีความเชื่อโยงกัน และทราบการเกิดรัฐประหารเป็นเหตุการไม่ปกติ แต่เกิดบ่อยในประเทศไทย เขาไม่ทราบว่า คสช. ออกกฎหมายทุกวันหรือไม่ แต่ออกมาจำกัดสิทธิเสรีภาพบ่อยครั้ง และประชาชนจำเป็นต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้นจะถูกจับกุม แต่กฎหมายนั้นจะมีความชอบธรรมหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

คดีนี้ 13 นักศึกษา/นักกิจกรรมเป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในคดีละเมิด เพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวน 16,468,583 บาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จากเหตุเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังควบคุมตัวนักศึกษา/นักกิจกรรมด้วยความรุนแรง ในระหว่างทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยโจทก์ทั้งหมดยืนยันว่าตนเพียงใช้สิทธิตามกรอบรัฐธรรมนูญซึ่งควรจะได้รับการยอมรับ ส่งเสริมเเละคุ้มครองจากรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากวิธีการใด หลังสืบพยานซึ่งเป็นประจักษ์พยานในวันนี้เสร็จสิ้น โจทก์จะนำพยานผู้เชี่ยวชาญเข้าสืบในวันที่ 25 ก.ค. 2560 จากนั้นจึงจะเป็นการสืบพยานจำเลยระหว่างวันที่ 26-27 ก.ค. 2560

X