เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดสืบพยานต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 2 จากกรณีที่ 13 นักศึกษา/นักกิจกรรมเป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในคดีละเมิด เพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวน 16,468,583 บาท ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จากเหตุเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังควบคุมตัวนักศึกษา/นักกิจกรรมด้วยความรุนแรง ในระหว่างทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยโจทก์ทั้งหมดยืนยันว่าตนเพียงใช้สิทธิตามกรอบรัฐธรรมนูญซึ่งควรจะได้รับการยอมรับ ส่งเสริมเเละคุ้มครองจากรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากวิธีการใด
สืบเนื่องจากการสืบพยานนัดแรก (อ่านต่อที่นี่) ทนายโจทก์นำพยานอีก 6 คนขึ้นเบิกความ ซึ่งประกอบด้วย 1. นายรังสิมันต์ โรม (โจทก์ที่ 1) 2. นางสาวกรชนก คำตา (โจทก์ที่ 7) 3. นายรัฐพล ศุภโสภณ (โจทก์ที่ 8) 4. นายนัชชา กองอุดม (โจทก์ที่ 11) 5.นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ (โจทก์ที่ 12) และ 6. นายปกรณ์ อารีกุล (โจทก์ที่ 13) ซึ่งมีประเด็นการเบิกความของโจทก์นอกเหนือจากคำให้การที่ยื่น ดังนี้
พนักงานอัยการถามพยานทั้ง 6 คนว่า ขณะเกิดเหตุนั้นบ้านเมืองอยู่ในสภาวะไม่ปกติ อีกทั้งประกาศและคำสั่งของคสช. ถือเป็นกฎหมายใช่หรือไม่ ซึ่งพยานทุกคนตอบว่า ใช่ และความไม่ปกตินั้นหมายความรวมถึงระบอบกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ด้วย
นายรังสิมันต์ โรม เบิกความเพิ่มเติมต่อศาลว่า กฎหมายในความหมายของตนต้องสอดคล้องกับหลักการคุณค่าประชาธิปไตยและกฎหรือคำสั่ง/ประกาศของคสช.ที่ออกมาบังคับใช้ระหว่างที่บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติหรืออยู่ในสภาวะการณ์มิใช่ประชาธิปไตยนั้น จะถูกนับว่าเป็นกฎหมายได้ก็ต้องสอดคล้องกับคุณค่าดังกล่าว นอกจากนั้น ผู้ที่ละเมิดกฎหมายที่คสช.กำหนด ยังถูกดำเนินคดี แต่ก็มิใช่ทุกคนหรือทุกกรณีไปที่จะถูกดำเนินคดี
พนักงานอัยการยังถามต่อไปว่า กิจกรรมที่พยานเข้าร่วมเป็นการชุมนุมทางการเมืองใช่หรือไม่ ซึ่งนางสาวกรกนก คำตา เบิกความว่า ตนเห็นเป็นเพียงลักษณะงานศิลปะเท่านั้นและมาเข้าร่วมตามคำชักชวนของรุ่นพี่ที่มหาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนนายรังสิมันต์ โรม เบิกความว่า ตามคำสั่งคสช.หรือแม้แต่กฎหมายอื่นยังไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดนิยามหรือองค์ประกอบของคำว่าการชุมนุมทางการเมือง และในความเห็นของตน เห็นว่าหากเป็นการชุมนุม ผู้เข้าร่วมย่อมแสดงความร่วมมือร่วมใจและมีข้อเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบกับคำเบิกความของพยานอื่นที่ระบุว่า เหตุการณ์ในวันดังกล่าวเป็นเพียงการรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ คือ การกระทำรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งปีที่แล้วและหากตีความตามดุลพินิจของรัฐว่าการจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันสำคัญในอดีตเป็นการชุมนุมทางการเมืองทั้งสิ้น เช่นนี้ ย่อมกระทบต่อทุกกิจกรรมที่ทั้งหน่วยงานรัฐและประชาชนจัดการรำลึกอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น งานรำลึกวันที่ 6 ตุลา 14 ตุลา หรือ 7 สิงหา
พนักงานอัยการยังย้ำถามว่า พยานเชื่อจริงหรือว่ากรอบรัฐธรรมนูญจะช่วยคุ้มกันมิให้การกระทำของพยานเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย กล่าวคือ จะทำให้ไม่ผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งพยานทุกคนเบิกความว่า ตนเชื่อและกระทำในสิ่งที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามกรอบรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ซึ่งก็คือมาตรา 4 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 พยานเห็นว่าสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกด้วยการมองนาฬิกาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีนับแต่รัฐประหารของตนควรได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ ไม่ว่าจะเป็น “แกนนำในการชุมนุม” ตามที่พนักงานอัยการถามหรือไม่
นอกจากประเด็นการใช้สิทธิตามกรอบรัฐธรรมนูญแล้ว พยานทุกคนต้องตอบคำถามพนักงานอัยการว่ามีรายได้ในการยังชีพเท่าไร และเหตุใดจึงเรียกค่าเสียหายจากรัฐถึงคนละ 1,200,000 บาท พยานคำนวณจากความคับแค้นใจของตนใช่หรือไม่ ซึ่งพยานส่วนใหญ่แม้ในขณะเกิดเหตุจะเป็นนักศึกษา พยานก็เบิกความว่ามูลเหตุซึ่งเป็นฐานในการเรียกค่าเสียหายคือ ตนต้องการสร้างบรรทัดฐานให้รัฐบาลซึ่งไม่ว่าจะมาจากวิธีการใด ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ การจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา การกดดันพยานด้วยถ้อยคำหยาบคาย และการไม่อนุญาตให้ติดต่อทนายความหรือแม้แต่การกัดกั้นมิให้ปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บเบื้องต้น ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติการณ์ที่รัฐต้องแสดงความรับผิดชอบและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต
ท้ายที่สุด พนักงานอัยการถามพยานทุกคนว่า พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้เขตพระราชฐานประกอบกับระยะเวลาที่ล่วงเลยมาจนค่ำอาจเป็นการก่อความไม่สงบได้ ซึ่งพยานเบิกความว่านับตั้งแต่เวลา 18.00 น. สถานการณ์ในบริเวณดังกล่าววุ่นวายมาก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบล้อมรอบอยู่ในพื้นที่ ตนไม่ได้รับการแจ้งผ่านเครื่องมือสื่อสารใดว่าให้แยกย้ายกลับบ้านเพราะเหตุอยู่ใกล้พระราชฐาน มีเพียงแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจท่านหนึ่งซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจปทุมวันมาเจรจาก่อนเกิดเหตุวุ่นวายมาให้แยกย้ายกลับบ้านก่อนเท่านั้น ทั้งนี้ นายปกรณ์ อารีกุล ยังเบิกความว่ามีเจ้าหน้าที่มาขอให้ตนเข้าไปเจรจากับกลุ่มคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ล้อมรอบอยู่ แต่ตนไม่สามารถทำได้เนื่องจากตนมิได้ประสงค์มาเข้าร่วมกิจกรรมเพียงแต่มาสังเกตการณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายนายปกรณ์ยังถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปด้วยโดยมิได้แจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
ในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 21 กรกฏาคม 2650) ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์อีกจำนวน 6 คน ประกอบด้วย พยานบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ บุคคลที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ และอาจารย์ธีระ สุธีวรางกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวหลังจากเหตุการณ์วันที่ 22 พฤษภาคม 2558
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คดีนักกิจกรรมฟ้องละเมิด คสช. เหตุสลายชุมนุมรำลึก 1ปีรัฐประหาร หน้าหอศิลป์ฯ ปี 58 เริ่มแล้ว
ศาลรับฟ้อง กรณีนักศึกษาฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิฯหน้าหอศิลป์ พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
คดี NDM ฟ้องจนท.รัฐละเมิดสิทธิฯหน้าหอศิลป์กทม. ศาลแพ่งนัดไต่สวนคำร้องใหม่ 5 ก.ย.
เปิดคำฟ้อง NDM เรียกค่าเสียหาย 16 ล้าน สร้างบรรทัดฐานกรณีรัฐละเมิดสิทธิฯหน้าหอศิลป์