30 ต.ค. 2560 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษา คดีที่กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี จากการสลายการชุมุนมในกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหาร 22 พ.ค. หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่จับกุมและควบควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนโดยชอบ ความเสียหายเกิดจากโจทก์ทั้ง 13 คนขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่
09.40 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 705 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ตุลาการศาลแพ่งกรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษา คดีที่รังสิมันต์ โรม, ชนกนันท์ รวมทรัพย์, กรกช แสงเย็นพันธ์, ชลธิชา แจ้งเร็ว, ณพัทธ์ นรังศิยา, ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร, กรกนก คำตา, รัฐพล ศุภโสภณ, ปณต ศรีโยธา, กันต์ แสงทอง, นัชชชา กองอุดม, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, และปกรณ์ อารีกุล โจทก์ที่ 1-13 ตามลำดับ ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองทัพบก, และสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ เป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 16 ล้านบาท
ศาลเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยสองประเด็น ได้แก่ จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้ง 13 หรือไม่ และค่าเสียหายที่จำเลยต้องจ่ายเป็นเท่าไร
ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า โจทก์ทั้ง 13 ทราบข่าวกิจกรรม “ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?” จากทางเฟซบุ๊ก กิจกรรมดังกล่าวใช้รูปแบบ Performance Art ให้ประชาชนสวมเสื้อสีขาว พกอุปกรณ์บอกเวลามายืน นั่ง นอน มองเงียบ ๆ เป็นเวลา 15 นาที และจบกิจกรรมด้วยการเปล่งเสียงว่า “เวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งปีที่ … ” จัดที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 22 พ.ค. 2558 เวลา 18.00 น. เมื่อโจทก์ทั้ง 13 คนมาถึงบริเวรณที่จัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนไปไว้ที่ สน.ปทุมวัน ก่อนที่โจทก์ทั้ง 13 คนจะยอมให้เจ้าหน้าที่ทำประวัติจึงได้รับการปล่อยตัว ต่อมามีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมจำนวน 9 คนในข้อหาชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง
ศาลมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า กิจกรรม “ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?” เป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่
ศาลเห็นว่า การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โจทก์ทั้ง 13 จึงมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แต่มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. เสรีภาพในการชุมนุมจึงถูกจำกัดภายใต้คำสั่งนี้
การที่โจทก์อ้างว่าใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และเห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่มีฐานะเป็นกฎหมายเป็นความเข้าในที่คลาดเคลื่อนของโจทก์ ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น
เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการให้ผู้มาร่วมกิจกรรมมาแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการบริหารงานของ คสช. ครบ 1 ปี ประกอบกับนายอังเดร จิออเก็ตตา พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์ เชื่อว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมทางการเมือง เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานผู้เชี่ยวชาญของโจทก์อีกคน เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมทางการเมืองเช่นกัน เมื่อพิจารณารวมกับภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวที่คู่ความนำสืบสอดคล้องกันว่า มีผู้ถูกจับกุมจำนวน 37 คนและการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตจาก คสช. การชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นการชุมนุมทางการเมืองต้องห้ามตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมามีว่า โจทก์ทั้ง 13 คนเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่
ในกรณีของนัชชชา โจทก์ที่ 11 เข้าร่วมกิจกรรมด้วยหรือไม่ศาลเห็นว่าโจทก์ที่ 11 ถูกควบคุมตัวที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จึงไม่อาจเชื่อได้ว่าโจทก์ที่ 11 กำลังจะเดินทางกลับที่พัก แต่จะมาร่วมชุมนุม และโจทก์ที่ 11 ยังได้ขอให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องสูญเสียเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ที่ 11 เข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้ด้วย
ส่วนปกรณ์ โจทก์ที่ 13 ซึ่งอ้างว่าเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เห็นเจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุมจึงเข้าไปบันทึกภาพใกล้ชิดกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ผลักล้มลง และเดินข้ามโจทก์ที่ 13 ไป ภายหลังจึงถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับกุม แต่ปรากฏในคำให้การพยานจำเลยว่า โจทก์ที่ 13 ได้ซื้อน้ำมาแจกผู้ทำกิจกรรมและเข้าใกล้กลุ่มผู้ชุมนุมระหว่างสังเกตการณ์ เมื่อประกอบกับคำให้การของนายอังเดรที่ให้การว่า การสังเกตการณ์ต้องทำในจุดที่เป็นกลาง เว้นระยะห่างจากผู้ชุมนุม ทั้งพยานจำเลยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ได้ขอให้โจทก์ที่ 13 ช่วยห้ามกลุ่มผู้ชุมนุม แต่โจทก์ที่ 13 ปฏิเสธ เมื่อถูกจับกุมก็ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นเพียงผู้สังเกตการ ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเป็นผู้ร่วมกิจกรรมจึงถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ที่ 13 เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ด้วย เมื่อประกอบกับคำให้การโจทก์ทั้งหมด เชื่อได้ว่าโจทก์ทั้ง 13 คนเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง
ประเด็นต่อมามีว่า เจ้าหน้าที่จับกุมโจทก์โดยชอบหรือไม่
การกระทำของโจทก์เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับกุมตามกฎหมาย ที่โจทก์อ้างว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังในการจับกุม ไม่ได้ประกาศห้ามการชุมนุมและไม่ได้แจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของโจทก์ ที่ไม่สามารถทำกิจกรรมได้เพราะมีแผงเหล็กกั้น และระหว่างนั้นมีกลุ่มนักศึกษามารวมตัวกันประมาณ 10 คน มีนายพรชัย ยวนยี ไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ขอให้สามารถชุมนุมได้ โดยเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตแต่โจทก์ยังคงชุมนุม และผลักดันรั้วเหล็กเข้ามาภายในลานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เมื่อเหตุการณ์วุ่นวายมากขึ้น ผู้ชุมนุมเดินคล้องแขน พยายามเข้ามาภายในลานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตั้งแถวกั้น เมื่อถูกตำรวจตั้งแถวกั้น นักศึกษายังคงคล้องแขนนั่งทำกิจกรรมต่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมาแจ้งให้เลิกกิจกรรม แต่ผู้ชุมนุมอ้างว่ามีสิทธิที่จะทำกิจกรรม และขอให้ตำรวจปล่อยเพื่อนที่ถูกจับกุม แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้ง 13 คนทราบดีว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรม เมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้น ผู้ชุมนุมขัดขืนการจับกุม ผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามดึงรั้งสิ่งของในบริเวณนั้นและพยายามดึงรั้งผู้ชุมนุมอื่นไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวปรากฏภาพการขัดขืนการควบคุมตัวของโจทก์ตามภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวหลักฐานในคดีนี้
นอกจากนี้ยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีอาวุธ กระบอง หรือเครื่องพันธนาการ และใช้เจ้าหน้าที่หญิงในการจับกุมผู้ชุมนุมเพศหญิงและเพศที่สาม ส่วนที่ชลธิชา โจทก์ที่ 4 อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ชายควบคุมตัวและลากไปก็เป็นระยะเพียง 1-2 เมตร ก่อนที่จะให้เจ้าหน้าที่หญิงควบคุมตัวต่อ ถือได้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ชายกระทำไปเนื่องจากเหตุชุลมุน จึงไม่ได้กระทำเกินกว่าเหตุแต่อย่างใด ประกอบกับที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ พยานจำเลยเบิกความไว้ว่า ความเสียหายเกิดมาจากการที่โจทก์ขัดขืนการควบคุมตัว และมีการรายงานข่าวทางลับเชื่อได้ว่าผู้ชุมนุมมุ่งให้เกิดประเด็นทางการเมือง การที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังควบคุมตัวจากเบาไปหาหนัก และไม่ได้แจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อย ถือว่าสมควรแก่พฤติการณ์แล้ว นอกจากนี้ระหว่างการชุมนุมมีการเจรจา ถึง 2 ครั้ง เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้อาวุธ กระบอง หรือโล่ และใช้เจ้าหญิงควบคุมตัวผู้ชุมนุมเพศหญิงและเพศที่สาม การควบคุมตัวที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจึงเป็นการควบคุมตัวที่ชอบแล้ว
ส่วนการถูกควบคุมตัวที่ สน.ปทุมวัน เป็นการควบคุมตัวโดยชอบหรือไม่
ศาลเห็นว่าการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้ใช้เครื่องพันธนาการ ไม่ได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมไว้ในห้องขัง หรือยึดเครื่องมือการสื่อสารของผู้ถูกควบคุมตัว ผู้ถูกควบคุมตัวมีโอกาสได้พบอาจารย์ และให้โอกาสโจทก์ที่ 4 ได้พบแพทย์ ที่การควบคุมตัวกินระยะเวลานาน เพราะโจทก์ปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามยื่นข้อเสนอหลายครั้ง ทำให้ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาแก่ผู้ที่เจ้าหน้าที่ต้องการดำเนินคดี ต่อมาจึงมีการแจ้งความดำเนินคดีภายหลังกับผู้ชุมนุม 9 คน การควบคุมตัวที่ยาวนานนั้นจึงไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นผลมาจากโจทก์ด้วย การควบคุมตัวที่สน.ปทุมวัน จึงถือว่าชอบแล้ว การกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้ต้องรับผิดทางละเมิดแต่อย่างใด ศาลจึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้ง 13 คน
อย่างไรก็ตาม โจทก์ทั้ง 13 คนจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- คดี13 นักกิจกรรมฟ้องละเมิด ศาลแพ่งสืบพยานปากสุดท้าย นัดฟังคำพิพากษา 30ตุลาฯนี้
- สืบพยานวันที่ 3: ประจักษ์พยานเห็นว่า จนท. ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ คดีนักกิจกรรมหน้าหอศิลป์ฯ ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ
- สืบต่อวันที่ 2 คดีนักกิจกรรมฟ้องเจ้าหน้าที่ “โรม” ยืนยันกฎหมายต้องสอดคล้องกับหลักการคุณค่าปชต.
- คดีนักกิจกรรมฟ้องละเมิด คสช. เหตุสลายชุมนุมรำลึก 1ปีรัฐประหาร หน้าหอศิลป์ฯ ปี 58 เริ่มแล้ว
- ศาลรับฟ้อง กรณีนักศึกษาฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิฯหน้าหอศิลป์ พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล