18 พ.ค. 2559 กลุ่มนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณี ถูกควบคุมตัวบริเวณหน้าหอศิลป์ จากการทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ยื่นฟ้องจำเลยคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยเรียกค่าเสียหาจากการถูกละเมิดของทั้ง 13 คนเป็นจำนวนกว่า 16 ล้านบาท ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องขอยกเลิกค่าธรรมเนียมศาล วันที่ 22 ส.ค. 2559 เวลา 13.30 น.
เวลา 10.00 น. กลุ่มนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นำโดยนายรังสิมันต์ โรม และคนอื่นๆรวม 13 คน พร้อมกับทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมาถึงศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับการฟ้องหน่วยงานรัฐต่อสื่อมวลชนที่มารอทำข่าว ก่อนจะเข้าไปภายในศาลเพื่อทำการยื่นฟ้อง
ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 13 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1 กองบัญชาการกองทัพบก เป็นจำเลยที่ 2 และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 3 เรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยเรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนจำนวน 16,468,583 บาท ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
“โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ตามเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ และได้รับการคุ้มครองไว้ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 เวลาต่อเนื่องกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ ซึ่งสังกัดอยู่ในหน่วยงานของจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 กล่าวคือ
1. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เวลาประมาณ 18.00 น. ขณะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 กำลังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?” โดยใช้รูปแบบศิลปะ “Performance Art ใน Concept : Time&Silence” โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ประชาชนจะมาร่วมกันสวมใส่เสื้อสีขาวพร้อมพกสิ่งบอกเวลาที่มีเช่น นาฬิกาข้อมือ , โทรศัพท์, นาฬิกาทราย, นาฬิกาแขวนพนังบ้าน,ปฏิทิน ฯลฯ แล้วมาร่วมยืน นั่ง นอน มองเงียบ ๆ เป็นเวลา 15 นาที โดยจะรวมตัวกันในเวลา 18.00 น. และจบกิจกรรมร่วมกันในเวลา 18.15 น. ด้วยการเปล่งเสียงเพียงครั้งเดียวในกิจกรรมพร้อมกันว่า “เวลาที่ผ่านมา 1 ปี เป็น “1 ปีที่….” สำหรับคุณ” โดยกิจกรรมจัดขึ้นที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 กำลังจะเริ่มทำกิจกรรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัดในหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่ทหาร สังกัดในหน่วยงานของจำเลยที่ 2 และเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจดังกล่าวข้างต้นอยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาและรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งสังกัดจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกันสั่งการและควบคุมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาห้ามไม่ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ใช้เสรีภาพในการชุมนุมจัดกิจกรรม โดยเอารั้วเหล็กสีเหลืองมาปิดกั้นบริเวณลานหน้าหอศิลปฯไว้โดยรอบ ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ไม่สามารถจัดกิจกรรมในบริเวณดังกล่าวได้ จึงต้องทำกิจกรรมบริเวณด้านนอกรั้วที่ถูกกั้นไว้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ฯ ก็ใช้กำลังประทุษร้ายต่อร่างกายและจิตใจ และควบคุมตัวโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 อันถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ
2. เจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยทั้ง 3 ในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ร่วมกันหรือสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบควบคุมตัวโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน โดยไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวไว้ตามกฎหมาย และไม่ใช่การควบคุมตัวไว้เพื่อสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือสอบสวนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 แต่อย่างใด และควบคุมตัว กักขัง หน่วงเหนี่ยว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 กับพวกเป็นเวลาต่อเนื่องกันนานถึง 10 ชั่วโมง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการเดินทาง ไม่สามารถเดินทางไปไหนตามที่ใจปรารถนาได้ อีกทั้งยังทำให้ได้รับผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 13 เสียหาย ถือเป็นการร่วมกันกระทำโดยจงใจ กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ และทรัพย์สิน”
ทั้งนี้ โจทก์ทั้ง 13 เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้ง 3 ต้องร่วมกันหรือแทนกันชดใช้จำนวนทั้งสิ้น 16,468,583 บาท (สิบหกล้านสี่แสนหกหมื่นแปดพันห้าร้อยแปดสิบสามบาทถ้วน) ซึ่งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมศาลพร้อมกับคำฟ้อง
จากนั้น เวลา 11.30 น. ทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล โดยเจ้าหน้าที่ศาลเเจ้งว่ากรณีคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ศาลนัดไต่สวนในวันที่ 22 ส.ค. 2559 เวลา 13.30 น.